ครบขวบปี ‘คลุกวงหุ้น’ ย่อย ‘กระแสการลงทุน’ ให้เข้าใจง่าย

“สวัสดีค่ะแฟนเพจมติชนทุกท่าน กลับมาพบกับรายการคลุกวงหุ้น รายการที่จะแนะนำเรื่องการลงทุนทุกๆ วันจันทร์…”

เป็นเสียงเปิดรายการ “คลุกวงหุ้น” ที่แฟนเพจ “มติชนออนไลน์” ได้ยินกันมากว่า 1 ปีแล้ว

เนื่องในโอกาสอันดีเช่นนี้ จึงนัดคุยนอกรอบกับ “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด หนึ่งใน “กูรูนักวิเคราะห์” ประจำรายการคลุกวงหุ้น ร่วมฉายภาพรายการตลอดปีที่ผ่านมา

“รูปแบบรายการน่าสนใจครับ มาถูกทางแล้ว อย่างน้อยนักลงทุนหรือผู้ที่ไม่ได้เกาะติดตลาด สามารถใช้ข้อมูลจากรายการนี้ได้”

Advertisement

ณัฐชาตกล่าวเช่นนั้น พร้อมขยายความว่า เนื่องจากรายการออกอากาศทุกต้นสัปดาห์ นักลงทุนจะได้ทราบว่ามีงานใดสำคัญรออยู่ หรือนักวิเคราะห์ได้ประเมินทิศทางตลาดช่วงสัปดาห์นี้อย่างไรบ้าง กระทั่งช่วงแนะนำหุ้นแบบสแน็ปช็อต เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นไอเดียในระยะสัปดาห์ด้วย

สำหรับเวลาออกอากาศรายการทุกเช้าวันจันทร์ ช่วง 09.00 น.นั้น ณัฐชาตบอกว่า “จริงๆ ก็ควรเป็นเช่นนี้” เนื่องจากเจ้าตัวเห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการเสพข้อมูลช่วงเช้าวันจันทร์มากพอสมควร เพราะผ่อนคลายในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ไปแล้ว เช้าวันจันทร์เช่นนี้ก็อาจต้องการข้อมูลในทันที เพราะหากเปลี่ยนเวลาเป็นช่วงบ่ายก็อาจล่าช้าเกินไป

ประกอบกับนักลงทุนมีหลายรูปแบบ จำพวกที่ต้องการเสพ “สื่อสั้นๆ” นั้นมีอยู่สูง นั่นหมายความว่า ไม่พึงใจในการรับชมรายงานสถานการณ์ข่าวความยาวเกินกว่า 10 นาที ซึ่ง “คลุกวงหุ้น” ตอบโจทย์นักลงทุนกลุ่มนี้

Advertisement

ในทางกลับกัน นักลงทุนบางกลุ่มอาจต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับตัวหุ้น ทั้งราคาแนะนำ ราคาเป้าหมาย เพื่อประกอบการตัดสินใจแบบล้วงลับ เจาะลึก เอ็กซ์คลูซีฟ โดยเหล่านี้อาจเป็น “ทางเลือกใหม่” ของ “คลุกวงหุ้น” สำหรับการขยายเวลาออกอากาศในอนาคต

ณัฐชาต เมฆมาสิน

รอบปีแห่ง ‘ความเจ็บปวด’ ของนักลงทุนรายย่อย

“เป็นรอบปีที่ยากสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย”

ประโยคสะเทือนใจจากณัฐชาต เมื่อสอบถามว่า การลงทุนตลอดปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

“เข้าใจว่า มากกว่าครึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน พูดง่ายๆ ว่าขาดทุน”

เงียบงันกันชั่วครู่ ก่อนณัฐชาตจะระบุสาเหตุว่า เป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิหุ้นเราอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเยียร์ทูเดต (Year to date) หรือการรวมยอดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงขณะนี้ เกิดการขายไปแล้วกว่าแสนล้านบาท

ประกอบกับ “ความยาก” อีกส่วนหนึ่งของตลาด เกิดจากราวกลางปีที่แล้ว ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (เซตอินเด็กซ์) ขึ้นอยู่ตลอด แต่จำนวนหุ้นที่ขึ้นกลับมี “สัดส่วนลดลงตลอด” นั่นหมายความว่า “หุ้นกระจุกตัว” สุดสุด! โอกาสที่นักลงทุนจะหว่านแหแล้วไม่ประสบความสำเร็จจึงสูงลิ่ว เพราะตลาดโฟกัส “หุ้นบางตัว” เท่านั้น

ผลกรรมจึงตกอยู่ที่นักลงทุนรายย่อย เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ล้วนลำบากใจไปหมด

แล้วต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? ณัฐชาตวิเคราะห์แล้วว่า แรงขายของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) อาจไม่มากเท่า 5-6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เองก็ยังขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ ยังไม่ลดลงมาเหลือ 2 ครั้ง และเป็นไปได้ยากแน่นอน เนื่องจากสภาพคล่องทั่วโลกไม่ได้สูงขึ้น รังแต่จะลดลง

ฉะนั้น สิ่งที่ต้องอาศัยคือ “ตัวดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ” โดยณัฐชาตระบุว่า “ยังไม่เกิดขึ้น” แม้รัฐบาลจะประกาศ “ตัวเลขจีดีพีอันงดงาม” ก็ตาม

“ต้องยอมรับว่าการบริโภคภายในฟื้นก็จริง แต่ฟื้นเฉพาะกลุ่มบนเท่านั้น กลุ่มกลางล่างยังไม่ฟื้น ฉะนั้นกำไรต่อหุ้นจึงปรับลงหรือทรงตัว ทำให้การประเมินมูลค่ายังไม่เป็นที่ดึงดูดสายตานักลงทุนต่างชาติมากนัก”

เพราะ ‘การลงทุน’ มี ‘ความเสี่ยง’

โปรด ‘ศึกษา’ ให้ถี่ถ้วน

ขณะที่หุ้นหรือการลงทุนดูเป็นเรื่องไกลตัวของใครหลายคน ณัฐชาตให้เหตุผลว่า เป็นเพราะหลายคนหนักใจเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยบ้านเราต่ำมานาน โดยดอกเบี้ยนโยบายตรึงไว้ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์หลายปี ฉะนั้น ช่วง 1-2 ปีนี้ ผลิตภัณฑ์จำพวก “เงินฝาก” หรือมันนีมาร์เก็ตไม่ค่อยได้รับความนิยมดังเดิม โดยหันไปลงทุนกับ “พันธบัตร” มากขึ้น

ณัฐชาตวิเคราะห์ต่อว่า ขณะนี้พันธบัตรเริ่มมีความเสี่ยง เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ “มีโอกาสสูง” ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงถัดไป ที่สำคัญคือ หากราคาพลังงานยังสูงเช่นนี้ เงินเฟ้อในช่วงถัดไปของเราจะสูงขึ้นด้วย

แน่นอนว่า หากเงินเฟ้อในช่วงถัดไปสูงขึ้น พันธบัตรทั้งหลายจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ “พันธบัตรระยะยาว”

เมื่อตราสารมันนีมาร์เก็ตและพันธบัตรเริ่มมีความเสี่ยง ที่สุดแล้ว “หุ้น” ก็ยังเป็นตราสารที่ตอบโจทย์ผู้ต้องการลงทุนระยะยาวอยู่ เพียงแต่นักลงทุนที่มีไทม์เฟรมระยะยาวควรเลือกจังหวะที่ “ดัชนีปรับฐานรุนแรง” ช่วงตลาดตกใจ (Sentiment) จะดีกว่า

สำหรับผู้สนใจจะลงทุนหรืออยากเล่นหุ้นนั้น ณัฐชาตแนะนำผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในตลาดทุนว่า อาจเริ่มศึกษาจาก “กองทุนรวม” เพื่อมองความยากง่ายในการลงทุนเรื่องหุ้น เทียบกับความยากง่ายในการให้ “ผู้จัดการกองทุน” ช่วยบริหารจัดการ โดยเริ่มจากกองทุนแพซซีฟฟันด์ (Passive Fund) หรือกองทุนที่ล้อตามดัชนี เนื่องจากช่วงหลังมานี้กองทุนแพซซีฟฟันด์เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาด (เอาต์เพอร์ฟอร์ม)

ส่วนผู้ที่มีประสบการณ์ในตลาดหุ้นบ้าง อาจโฟกัสการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากภาวะหุ้นกระจุกตัว จะหว่านแหลงทุนไม่ได้ เพราะโอกาสแพ้ตลาดมีสูง ฉะนั้น ต้องวางกลยุทธ์ให้รอบคอบ

ด้วยเหตุนี้ บล.ทรีนีตี้จึงเกิดไอเดียออกผลิตภัณฑ์เพื่อบริหารจัดการให้นักลงทุน โดยการเลือกหุ้นและจัดพอร์ตให้ พร้อมมีผู้แนะนำการลงทุนทำการซื้อขายให้อัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็ทำการซื้อขายตามกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทุกอย่าง

“เรามี 2 พอร์ตคือ พอร์ตมั่นคง เน้นหุ้นที่อิงกับปัจจัยพื้นฐาน และ พอร์ตว่องไว เน้นปัจจัยเชิงเทคนิคเป็นหลัก โดยแต่ละโปรดักต์มีหุ้นอยู่ไม่เกิน 5 ตัว น้ำหนักแต่ละตัวอยูที่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน และผู้ที่สมัครสมาชิกเข้ามาในแต่ละพอร์ต เรามองขั้นต่ำไว้ที่ 300,000 บาท

“โปรดักต์ 2 ตัวนี้มาเพื่อตอบโจทย์นักลงทุน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่ยังไม่มีประสบการณ์ในตลาด ต้องการรีเทิร์นที่มากกว่าเงินฝากและมากกว่าพันธบัตร และยังกลัวที่จะเข้าตลาด โดยฝากนักวิเคราะห์ช่วยจัดสรรหุ้นให้ อีกกลุ่มคือ นักลงทุนที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว แต่เริ่มมองว่าตลาดยากเกินกว่าจะเล่นเอง”

สำรวจ ‘ตลาด’ สัปดาห์ก่อน

มอง ‘ล่วงหน้า’ ครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงสถานะ “ซื้อสุทธิหุ้นไทย” และมีแนวโน้มว่าช่วงนี้เม็ดเงินจากต่างชาติยังคง “ไหลออก” ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดเกิดใหม่ประเทศอื่นๆ สอดคล้องกับการประเมินของ บล.ทรีนิตี้ และ บล.อื่นประเมินไว้

การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังลงไม่มาก นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ และนักลงทุนสถาบันในประเทศช่วยค้ำยันตลาดไว้ โดยสัปดาห์นี้จะมีอะไรมาเพิ่มน้ำหนักขึ้นลงบ้าง ต้องรอดูต่อไป เนื่องจาก “ฟุตบอลโลก” มีส่วนช่วยสร้างสีสันให้กับตลาด โดยเฉพาะ “หุ้นค้าปลีก” ที่กำลังคึกคัก รวมถึงการเจรจาทางการเมืองและการค้าของประเทศมหาอำนาจ

ส่วนมาตรการทางการเงินนั้น ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก นำโดยเฟด และธนาคารอื่น เช่น ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ได้จัดประชุมไปแล้ว

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างรอการ “ประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน” ว่าจะเป็นเมื่อใด แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังนี้น่าจะได้เห็นดัชนีตลาดหุ้นกลับมายืนเหนือ 1,800 จุดได้จากปัจจัยเด่นหลายข้อ ฉะนั้นช่วงที่รอจังหวะหุ้นปรับฐานใหม่ ใครสนใจจะเก็บหุ้นเข้าพอร์ต หรือเปิดบัญชีพอร์ตหุ้นใหม่ ควรดูจังหวะตอนดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,700-1,740 จุด หรือภายในช่วง 1-2 เดือนนี้นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image