เปลี่ยนความคิด! กล้าพูด กล้าผิด เตรียมทักษะ ‘ภาษาอังกฤษ’ สู่วัยทำงาน

ทักษะภาษาอังกฤษถือเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานปัจจุบัน และเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในการรับนักศึกษาจบใหม่ จากผลการสำรวจผู้ประกอบการกว่า 400 บริษัท พบว่าทักษะที่นายจ้างต้องการจากนักศึกษาจบใหม่ประกอบด้วย 1.ทักษะการสื่อสารฟังพูดอ่านเขียน 2.ทักษะภาษาอังกฤษ 3.ทักษะในการทำงานที่ตรงกับสาขาวิชาชีพ ซึ่งพบว่าทักษะด้านภาษาเป็นสิ่งที่นายจ้างต้องการมากที่สุดติด Top 3 หรือคิดเป็นร้อยละ 62 โดยต้องการผู้มีทักษะด้านภาษาที่เทียบเท่ากับผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ช่วงมหาวิทยาลัยปิดเทอมนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด จัด โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ตอน “เตรียมตัวสู่โลกของงาน เรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างไรให้ใช้การได้” ถ่ายทอดเทคนิคการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองและจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักศึกษาและสามารถนำไปใช้เขียนเรซูเม่สมัครงานได้

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ หรือ สสส. กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษให้สามารถใช้ได้จริงในการทำงานถือเป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องการมากที่สุด โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อให้น้องๆ นักศึกษาได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพราะส่วนใหญ่เมื่อปิดเทอมจะใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือ จึงอยากดึงทุกคนมาพัฒนาภาษาอังกฤษด้วยกัน ซึ่งโครงการนี้ได้ผู้มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษมาช่วยแนะนำแนวทางการพูด-อ่าน-เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และร่วมเผยข้อมูลโลกของการทำงานจากผู้เชี่ยวชาญบริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย)

อันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า โลกของการทำงานกับทักษะทางภาษาอังกฤษ ณ ปัจจุบันถือว่าการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง ถึงแม้จะมีงานเติบโตมากขึ้น 20 เปอร์เซ็นตลอดทุกปี แต่นักศึกษาจบใหม่ที่ยังหางานไม่ได้กลับมีอยู่มาก เพราะว่าขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษ

Advertisement
อันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย

“สำหรับคุณสมบัติที่นักศึกษาต้องมีเพื่อนำไปใช้สมัครงาน และเป็นสิ่งที่นายจ้างส่วนใหญ่ต้องการคือ 1.ทักษะเฉพาะในอาชีพ 2.ทักษะภาษาไทย การสื่อสาร ฟัง พูดอ่าน เขียน 3.ทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่บางที่ต้องการภาษาที่สาม และภาษาอังกฤษยังต้องเชี่ยวชาญในระดับสูง 4.การเปิดรับความรู้ใหม่ๆ อาทิ ใบประกาศนียบัตรการเข้าร่วมสัมมนาต่างๆ ที่ทำให้ผู้ว่าจ้างมองว่ามีการเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เสมอ และใช้พิจารณาในการรับเข้าทำงาน 5.การทำงานเป็นทีม ซึ่งหลายคนมักจะเจอคำถามเรื่องการทำงานเป็นทีม และส่วนใหญ่จะตอบว่าชอบทำงานคนเดียว 6.ความกระตือรือร้นหรือความมุ่งมั่น”

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมองหาผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษเพื่อรับเข้าทำงาน ซึ่งจากสถิติ ร้อยละ 70 ที่ไปสมัครงานแล้วไม่ได้งานเป็นเพราะว่าขาดทักษะภาษาอังกฤษ

ขณะเดียวกัน คริสโตเฟอร์ ไรท์ หรือ ครูคริส อาจารย์สอนภาษาอังกฤษชื่อดัง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยว่า ทุกวันนี้คนไทยมักคิดว่าภาษาอังกฤษไม่จำเป็นเพราะไม่ค่อยได้ใช้ แต่ความจริงภาษาอังกฤษอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาตลอด ฉะนั้นหากอยากเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เริ่มเปลี่ยนที่การคิดก่อน ถ้าเปลี่ยนการคิดได้ก็จะเปลี่ยนการกระทำได้

คริสโตเฟอร์ ไรท์

“แม้เด็กไทยจะเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลแต่ก็ไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะสังคมไทยไม่ได้สอนอะไรที่สนุกและง่ายต่อการเข้าใจ เรามักข้ามไปเรียนรู้หลักไวยากรณ์เพื่อนำไปใช้สอบอย่างเดียว เริ่มต้นในสิ่งที่ยากและเยอะเกินไป นอกจากนี้เด็กส่วนใหญ่ที่จะเก่งภาษาอังกฤษมักเคยถูกเลี้ยงดูจากคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชอบพูด ชอบเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และนำไปสู่การเปิดรับสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เช่นการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ซึ่งเด็กเหล่านั้นจะไม่ดูผ่านๆ แต่จะตั้งใจลอกเลียนสำเนียงและคำศัพท์ที่พบเจอ จนทำให้สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง โดยส่วนตัวแล้วการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับผมไม่ใช่แค่การเรียนแค่ทฤษฎี แต่คือการเลียนแบบมาจากเจ้าของภาษา จดจำการพูด การฟัง การเขียนมาจากเขาทั้งหมด ซึ่งถ้ามีคนบอกให้ทุกคนหยุดเลียนแบบภาษาอังกฤษมาจากคนอื่น และบอกให้เปิดทฤษฎีในหนังสือเรียนรู้ตามหลักไวยากรณ์ เมื่อนั้นก็คือจุดจบของภาษาอังกฤษในประเทศไทย

“นอกจากนี้เมื่อถึงเวลาต้องพูดภาษาอังกฤษ ก็อย่ากลัวว่าจะพูดผิด เพราะคนไทยมักถูกตีกรอบว่าอย่าใช้ภาษาผิดๆ ซึ่งความจริงแล้วถ้าเรากล้าที่จะผิดและกล้ายอมรับให้ผิดเป็นถูก ภาษาอังกฤษก็กลายเป็นเรื่องง่ายไปเอง” ครูคริสกล่าว

สอดคล้องกับเรื่องราวของ น้องแชมป์-ธนโชติ เปี่ยมลาภธนบูรณ์ นักเรียนชั้น ม.2 ร.ร.อัสสัมชัญธนบุรี ซึ่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองจนผ่านการทดสอบวัดระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในระดับคะแนนสูงสุด

ธนโชติ เปี่ยมลาภธนบูรณ์

น้องแชมป์เผยว่า ตอน ป.1 ครูชาวต่างชาติได้บอกกับตัวเองไว้ว่า “คุณก็เก่งภาษาอังกฤษได้ ถ้าคุณได้ฝึก ได้ตั้งใจและรู้สึกสนุกไปกับมัน” ตั้งแต่นั้นมาน้องแชมป์ก็เริ่มสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น และพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการดูยูทูบ ดูหนังสือ ฟังเพลง ดูหนังที่เป็นภาษาอังกฤษ จึงได้คำศัพท์ ได้เสียง และได้สำเนียงไปพร้อมกัน นอกจากนี้ที่โรงเรียนยังมีครูต่างชาติเยอะ พอมีโอกาสก็มักจะไปพูดคุยด้วยเสมอ พอพูดไม่ถูกครูก็จะช่วยสอน ช่วยขัดเกลาให้

“บางคนไม่กล้าพูดเพราะกลัวว่าจะพูดผิด เกิดเป็นปมว่าคนอื่นจะดูถูก การเรียนรู้ภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่เรียนแต่ทฤษฎีหรือไวยากรณ์ใส่หัวอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ได้ฝึก ได้ปฏิบัติจริง และที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับภาษาอังกฤษก่อนว่ามันคือทักษะที่สำคัญในโลกของการทำงาน พยายามค้นหาเป้าหมายให้กับตัวเองว่าจะนำไปใช้อย่างไร เพราะผมเชื่อเสมอว่าภาษาอังกฤษก็คือกุญแจที่สามารถเปิดประตูต่อยอดไปสู่อาชีพอื่นๆ ได้” ธนโชติบอก

โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดีจาก สสส. โดยสามารถช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ นำไปใช้ในช่วงปิดเทอมได้อย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเปิดรับภาษาอังกฤษจากสื่อต่างๆ รอบตัว หรือแม้แต่สื่อโซเชียลมีเดียที่นอกจากจะทำให้มีความสุขและสนุกกับเรื่องที่อยากเรียนรู้แล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมเติมทักษะภาษาอังกฤษให้เราพร้อมก้าวไปสู่โลกของการทำงานที่มีการแข่งขันที่เข้มข้นได้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image