‘ต้อกระจก’ อันดับ 1 ทำโลกมืด รักษาก่อนสาย คืนการมองเห็นให้สว่างไสวแม้ในค่ำคืน

ไม่มีใครอยากใช้ชีวิตอยู่ในความมืด แต่ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคตาที่นำไปสู่ภาวะตาบอดได้จากหลายสาเหตุ

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตา เผยว่า สถานการณ์โรคตาในไทยตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงคือภาวะตาบอด โดยมีสาเหตุหลักจาก 1.ต้อกระจก 52% 2.ต้อหิน 9% 3.จอประสาทตา 6%

ต้อกระจกเป็นสาเหตุภาวะตาบอดอันดับหนึ่ง สะท้อนว่าหากเราสามารถรักษาผู้ป่วยต้อกระจกได้ จะช่วยคนจากภาวะตาบอดได้มากกว่าครึ่ง

โดยมากต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตาที่ขุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนทึบแล้วทำให้มองไม่เห็น จึงมักเกิดกับผู้สูงอายุ ส่วนสาเหตุอื่นมีทั้งเกิดจากอุบัติเหตุเมื่อโดนกระทบบริเวณจอประสาทตาอย่างรุนแรง และเกิดจากยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์บางชนิด อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้น

Advertisement
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร

“ดวงตาเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่สำคัญกับร่างกายมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุถ้าตามองไม่เห็นจะช่วยเหลือตัวเองลำบากมาก จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะการปล่อยให้ต้อกระจกสุกมากๆ จะทำให้กลายเป็นต้อหินและมีโอกาสตาบอดถาวรได้ แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกก็สามารถผ่าตัดแล้วกลับมามองเห็นได้ จึงต้องตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ”

หมอพรเทพเล่าว่า ในอดีตการพบแพทย์นั้นลำบากและมีค่าใช้จ่ายมาก เขาเลือกทำงานในวิชาชีพนี้ เพราะอยากช่วยคนยากจนให้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องเสียเงินมาก

การเรียนจักษุแพทย์ ทำให้เขาพบว่ามีคนจำนวนมากต้องทนทุกข์กับภาวะตาบอด โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงหมอตา นอกจากความทุกข์ที่มองไม่เห็นแล้ว ญาติที่ดูแลคนตาบอดก็ต้องร่วมทนทุกข์ไปด้วย

Advertisement

เป็นเหตุผลในการทำ โครงการผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ออกหน่วยรักษาผู้ป่วยตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“เป็นความฝันที่ต้องการทำมากที่สุด ทำมากว่า 14 ปี ช่วยคนมาแล้วกว่าแสนคน และช่วยคนในต่างประเทศที่มีฐานะยากจนแล้วต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะตาบอด เช่น พม่า ภูฏาน และกัมพูชา ตั้งเป้าไปอย่างน้อยปีละครั้ง ผมไม่ได้สนใจว่าเขาเป็นคนไทยหรือไม่ ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใด ถ้าเขาทุกข์ร้อนเราต้องช่วย” นพ.พรเทพกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ทุกวันนี้มีคนต้องรับการผ่าตัดต้อกระจก เฉลี่ยปีละ 1.2 หมื่นคนทั่วประเทศ ในอดีต รพ.บ้านแพ้วออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อวนไปแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศอย่างทั่วถึง จนระยะหลังมีหน่วยจักษุแพทย์ในชนบทเพิ่มขึ้น จึงลดการออกหน่วยเหลือเดือนละ 2 ครั้ง ผ่าตัดครั้งละ 200-300 ดวงตา

ออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกในเมียนมา

หมอพรเทพบอกว่า แม้โรงพยาบาลประจำจังหวัดจะสามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ แต่โรงพยาบาลประจำอำเภอมักไม่มีหมอตา ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจึงพลาดโอกาส เขาเคยไปออกหน่วยที่สุรินทร์พบคุณยายคนหนึ่งตาบอดและหูหนวก มีหลานวัย 13 ขับมอเตอร์ไซค์พายายมาหาหมอ หลานเล่าว่าที่ผ่านมาไม่ได้พายายไปหาหมอในตัวจังหวัด เพราะขับมอเตอร์ไซค์ไปอาจโดนตำรวจจับ พอมีหน่วยเคลื่อนที่จึงได้พายายมารักษา

ด้วยความชำนาญของทีมแพทย์ รพ.บ้านแพ้ว ทำให้ใช้เวลาในการผ่าตัดต้อกระจกหนึ่งข้างเพียง 6-7 นาที คนไข้เปิดตาได้เร็วและมองเห็นได้ทันที ซึ่งช่วงเวลาที่พิเศษคือวินาทีที่คนไข้เปิดตาแล้วกลับมามองเห็น

“เราเดินทางไปผ่าตัดหลายพื้นที่ ชายแดนภาคใต้ก็ไปมา พบคุณยายท่านหนึ่งตาบอด มีลูกชาย 1 คน ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ด้วยความเป็นแม่จึงเลือกอยู่ดูแลลูกชายก่อนจนตัวเองตาบอด เมื่อลูกชายเสียชีวิตจึงเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก หลังผ่าตัดคุณยายพูดว่า ‘ก่อนผ่าตัดกลางวันก็มืดเหมือนกลางคืน แต่หลังผ่าตัด กลางคืนก็สว่างเหมือนกลางวัน’ สะท้อนความทุกข์ทรมานที่ต้องเจอ ทำให้รู้ว่ามีคนไข้อีกมากที่รอคอยความหวังจะกลับมามองเห็นอีกครั้ง”

กว่าจะมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญขนาดนี้ ต้องผ่านการผ่าตัดยากๆ ท่ามกลางความเครียดและความกดดัน หมอพรเทพบอกว่า เขาพบผู้ป่วยที่สงขลาเป็นคุณยายตาบอดทั้งสองข้าง นั่งรถเข็น และร่างกายผอมมาก อีกทั้งเป็นโรคทางระบบสมอง ผงกหัวตลอดเวลา ทำให้ไม่มีแพทย์คนไหนกล้าผ่าตัดให้ จะดมยาสลบก็อาจเสี่ยงชีวิตด้วยร่างกายที่ผอมมาก

“ผมตัดสินใจผ่าให้ ตอนผ่าก็ยังโยกอยู่เลย แต่อาศัยความชำนาญ คล้ายคนหั่นผักที่คุยไปด้วยหั่นไปด้วยไม่กลัวมีดบาด ทุกวันนี้เวลาผ่าตัดผมไม่ได้มองเห็นต้อทั้งหมด ต้องอาศัยความชำนาญ เราทำเยอะ เจอเคสยากจำนวนมาก เป็นส่วนที่ทำให้เราผ่าตัดเคสแบบนี้ได้”

รพ.บ้านแพ้วปัจจุบันมีผู้ป่วยมากจนแออัด

หมอพรเทพบอกว่า การผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี 1.ผ่าตัดแบบขยายแผล กรีดแผลประมาณ 11 มม. เอาต้อออกมา ใช้แค่กล้องผ่าตัด 2.ใช้เครื่องสลายต้อกระจก เปิดแผล 3 มม. เครื่องจะสลายต้อเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วดูดออกมา เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด ซึ่งบ้านแพ้วใช้เครื่องสลายต้อกระจกเกือบทั้งหมด เป็นเครื่องมือค่อนข้างแพง แต่ดีกับผู้ป่วย แผลเล็กหายเร็ว ไม่ต้องดูแลนาน ไม่เกิดภาวะสายตาเอียง ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่ามาก

“เราใช้เลนส์พับขนาด 6 มม. เลือกใช้เลนส์ดีมากของอเมริกา เพราะเลนส์ถูกฝังในร่างกายตลอดชีวิต จึงขอให้เขาได้ใช้ตาที่ดีที่สุดอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะไปผ่าที่ไหนก็ใช้เลนส์นี้เพื่อให้คนไข้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด”

การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีเดียวกันที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 35,000 บาทต่อข้าง โดยทุกวันนี้ รพ.บ้านแพ้วได้งบสนับสนุนจาก สปสช. 9,800 บาทต่อตาหนึ่งข้างสำหรับผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะเครื่องมือบางชนิดใช้งานไปสักระยะก็ต้องซื้อใหม่ทดแทนเรื่อยๆ

“คนจำนวนมากเห็นว่าเราทำจริง ช่วยคนไข้ได้จริง ก็บริจาคเครื่องมือให้เราใช้ผ่าตัดผู้ป่วย ขนเครื่องมือไปต่างจังหวัดแต่ละครั้งมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท คนไข้จำนวนมากโชคดีที่ได้เครื่องมือที่ทันสมัย เวลาไปเราก็ตั้งใจมากที่สุด”

ด้วยชื่อเสียงในการเป็นโรงพยาบาลโรคตาชั้นนำและมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้มีผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่ รพ.บ้านแพ้วจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 500 รายต่อวัน ทั้งที่ รพ.รองรับได้เพียง 200 ราย

“เรามีแพทย์ 14 คน แต่มีห้องตรวจแค่ 7 ห้อง หมอจึงต้องนั่งร่วมห้องกันและต้องต่อคิวผ่าตัด จึงมีการสร้าง โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว ขึ้น เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพราะการรอคอยทุกครั้งจะเปลี่ยนระยะของโรค อาจทำให้คนไข้เสียโอกาส โดยในตึกใหม่จะมีห้องตรวจ 23 ห้อง ห้องผ่าตัด 9 ห้อง ทำให้สามารถผ่าตัดได้เร็วขึ้น”

การก่อสร้างอาคารจักษุบ้านแพ้ว
ของที่ระลึกระดมทุนสร้างอาคารจักษุบ้านแพ้ว จำหน่ายในงานเฮลท์แคร์ 2018

รพ.จักษุบ้านแพ้วสร้างอาคารขึ้นด้วยเงินบริจาค ตั้งเป้า 400 ล้านบาท ตอนนี้ได้มาแล้ว 280 ล้านบาท และเนื่องจากความจำเป็นจึงสร้างอาคารขึ้นมาแล้วจะค่อยๆ ระดมทุนตกแต่งให้บางชั้นใช้ได้ก่อน โดยความคืบหน้าตอนนี้ขึ้นโครงอาคารแล้ว

มติชนจึงร่วมระดมทุนจัดทำของที่ระลึกจำหน่ายในราคา 250 บาท รายได้ทั้งหมดหลังจากหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างอาคารใหม่ โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว

โดยมีกระเป๋า Tote ใบใหญ่, ชุด Travel Bags และเสื้อยืด ออกแบบโดย ยุรี เกนสาคู ศิลปินดังมาสร้างสรรค์ลวดลายแมวน้อย เสือ และม้าลาย ที่สื่อถึงอาการเจ็บตา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตา

ของที่ระลึกจะจำหน่ายในงาน “เฮลท์แคร์ 2018” ที่มาในธีมสายตาดีมีสุข รวบรวมกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพตาแบบจัดเต็ม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 28 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้

ที่สำคัญคือ รพ.บ้านแพ้ว จะมาออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกให้ในงานฟรี 100 ราย

หมอพรเทพเปิดเผยว่า ในงานเฮลท์แคร์จะนำเครื่องมือทันสมัยไปตรวจคัดกรองเพื่อวิเคราะห์ผู้ป่วย หากมีภาวะตาบอดจากต้อกระจกจะผ่าตัดให้ และติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัดอีก 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปมองเห็นได้อย่างปลอดภัยโดยแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image