เปิดตัว ‘นวัตกรรมกำจัดกลิ่น’ เบรกมลพิษอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม (คลิป)

ความขัดแย้งระหว่าง “ชุมชน” กับ “โรงงานอุตสาหกรรม” เป็นปัญหาสะสมต่อเนื่องในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะการร้องเรียนเรื่อง มลพิษอากาศที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากกระบวนการผลิตส่วนใหญ่มักจะเกิดปัญหากลิ่นเหม็นหรือมลพิษที่ก่อให้เกิดผลเสียหายในด้านต่างๆ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

ทำให้บางพื้นที่เกิดการปะทะกันระหว่างโรงงานกับชุมชนออกมาให้เห็น บางแห่งรุนแรงจนถึงขั้นเกิดการประท้วงปิดโรงงานก็มี

Advertisement

แต่ยังมีโรงงานอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน และพยายามหาหนทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบอาคาร ติดตั้งเครื่องมือบำบัดกลิ่น สร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการออกแบบนวัตกรรมใหม่เพื่อแก้ปัญหากลิ่นเหม็นโดยเฉพาะ

ดังเช่น “ไทยฮั้วระยองยางพารา” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการร้องเรียนในเรื่องกลิ่นเหม็นจากโรงงานแปรรูปยางพารา ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

หยวน เชา

หยวน เชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยฮั้วระยองยางพารา จำกัด เล่าว่า ในช่วงปี 57 เริ่มเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องน้ำเน่าเสียและเรื่องกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะกลิ่นจากปล่องควันขึ้น ซึ่งทางบริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการเช่าพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ตอนนั้นก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างนี้ก็พยายามหาทางแก้ปัญหาขณะเดียวกันก็ตัดสินใจลงทุนประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินสร้างบ่อบำบัดด้านหลังโรงงาน

Advertisement

“จนกระทั่งผ่านไป 1 ปี โรงงานที่เช่าบ่อบำบัดน้ำเสียตัดสินใจยกเลิกไม่ให้เช่าต่อ ตอนนั้นบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานก็ยังสร้างไม่เสร็จยังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี ทำให้มีปัญหาพอสมควร แต่ก็ไม่ได้ปล่อยนะครับเราก็พยายามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใช้งบประมาณไปเยอะพอสมควร คิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ” หยวน เชา อธิบาย

เมื่อ’กลิ่น’สร้าง’วิกฤต’ถึงเวลาที่ต้องปรับ!

สำหรับต้นเหตุและปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้น หยวน เชา บอกว่า เป็นกลิ่นเหม็นจากวัตถุดิบ หรือ ยางพารา ซึ่งเกิดจากการใส่กรดลงไปในน้ำยางของเกษตรกรเพื่อให้ยางพาราจับตัวเป็นยางก้อนถ้วย

จากนั้นในกระบวนการผลิตจะต้องทำความสะอาดยางก้อนถ้วยให้สะอาดทำให้น้ำที่ใช้ล้างยางก้อนถ้วยกลายเป็นน้ำเสียที่มีกลิ่นเหม็นมาก ทางโรงงานก็รับรู้ปัญหาก็มีการติดต่อไปยังบริษัทที่มีการผลิตน้ำยาดับกลิ่นต่างๆ ในท้องตลาด ซึ่งมีการติดต่อและนำผลิตภัณฑ์ของเขามาใช้ทั้งในบ่อบำบัดน้ำเสียและรอบโรงงาน แต่ผลที่ได้ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ระหว่างนั้นมีการร้องเรียนจากชาวบ้าน

“เมื่อต้นปี 61 มีการประชุมไตรภาคี เป็นครั้งแรกที่องค์การบริหารส่วนตำบลกะเฉด มีประธานคือนายอำเภอ พร้อมด้วยผู้นำจากท้องถิ่น เช่น นายก อบต.และกำนัน ร่วมประชุมกับ ตัวแทนศูนย์ดำรงธรรม หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับโรงงานไทยฮั้วมาประชุมร่วมกัน ตอนนั้นก็มีการตกลงกันแล้วว่าจะเชิญทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้ามาแก้ปัญหากลิ่นเหม็นในโรงงาน” หยวน เชา กล่าว

และว่า สาเหตุที่ติดต่อให้อาจารย์จาก มจพ.เข้ามาคิดค้นนวัตกรรม เกิดจากการแก้ปัญหากลิ่นเหม็นมานานแต่ยังไม่เห็นผลที่ดีเท่าไหร่ จึงปรึกษากับ โทนี่ เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศจีน และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมยางแห่งชาติประเทศจีน ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของโรงงานไทยฮั้ว และ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้คำแนะนำว่าให้ติดต่อมหาวิทยาลัยให้เข้ามาทำการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรม

“ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะอาจารย์ก็ได้เข้ามาสำรวจ เก็บข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมต่างๆ ผ่านไปประมาณ 4 เดือน ระบบต่างๆ ทั้งระบบปล่องควัน ระบบรางน้ำ ระบบฉีดพ่นบ่อน้ำเสีย มีการออกแบบดีไซน์และติดตั้งจนเสร็จ เริ่มใช้งานจริงได้ประมาณ 7 วัน ปัญหาด้านกลิ่นเหม็นหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งคณะอาจารย์สอบถามชุมชนรอบข้างผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ หลังจากนี้จะทดลองใช้งานอย่างต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด เหมือนเวลาที่หมอสั่งให้กินยาเป็นประจำและต่อเนื่อง” หยวน เชา กล่าว

ด้วยผลที่ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ หยวน เชา ยอมรับว่าแม้การใช้สารบำบัดกลิ่นจะเพิ่มต้นทุนขึ้นมาพอสมควรถ้าเทียบกับการใช้สารตัวเก่า แต่อย่างไรก็ตามด้วยผลที่ออกมาบริษัทก็มีความยินดีที่จะทำเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุข

วิกฤต’กลิ่น’ยางแก้ได้ด้วย’นวัตกรรม’

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี

สำหรับกระบวนการแก้ปัญหามลพิษอากาศที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ทีมงานวิจัย นำโดย ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ เปิดเผยว่า หลักๆ ปัญหากลิ่นของยางพาราที่พบจะมีเรื่องก๊าซไข่เน่า หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์

ซึ่งการทำงานในรอบ 4 เดือน กระบวนการแรกที่เข้ามาทำ คือ การสำรวจระบบบำบัดกลิ่นของโรงงาน และสำรวจว่ากลิ่นมาจากไหนบ้าง

จากนั้นมีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อบำบัดกลิ่นเบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหา 3 ส่วนคือ

1.ปัญหากลิ่นจากปล่องควัน แก้ไขด้วยระบบจับประจุอนุภาคของกลิ่นเหม็นด้วยสารผสม smell janitor โดยวิธีการคือ จะนำสารผสมกับน้ำพ่นเป็นละอองในปล่องควัน จากนั้นทำงานตามปกติ

2.ปัญหากลิ่นภายในกระบวนการผลิตรอบโรงงานและกองขี้ยางหรือยางถ้วย แก้ไขด้วยสารจับกลิ่น ODL โดยวิธีการ คือ จะนำระบบรถที่เรียกว่าเทอร์โบแฟน เป็นตัวฉีดพ่นเข้าไปในกองขี้ยาง

3.ปัญหากลิ่น บริเวณบ่อชะล้าง ซึ่งเป็นบ่อที่รวมน้ำล้างยางพาราครั้งแรกมารวมไว้ ทำให้มีกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก แก้ไขด้วยการเดินระบบอัติโนมัติสเปรย์ที่มีสารผสม smell janitor ฉีดพ่นรอบบ่อ

“การบำบัดกลิ่นเบื้องต้น คือการใช้แร่ที่เป็นประจุบวก เข้ามาดับก๊าซไข่เน่า แล้วมันจะแตกตัวก่อนจะจับคู่โมเลกุลใหม่ทำให้กลิ่นของไฮโดรเจนซัลไฟด์หมดไปอย่างทันที และกลิ่นก็จะกลายรูปเป็นของแข็ง มีลักษณะเหมือนดิน เป็นธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่อันตรายสามารถสัมผัสได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนสิ่งที่เหลืออยู่ในโรงงานจะเป็นกลิ่นยางแท้ๆ ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็น”

“ตามหลักการทางเคมี เมื่อก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์บวกกับแร่ที่มีประจุบวก จะรวมกันกลายเป็นตัวใหม่ในกลุ่มซัลเฟต เช่น แคลเซียมซัลเฟต แมกนีเซียมซัลเฟต โซเดียมซัลเฟต ซึ่งภาษาวิชาการเรียกว่าเกลือ”

ผศ.ดร.ระพีพันธ์อธิบายต่อว่า หลังจากเริ่มฉีดพ่นสารประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ช่วยลดกลิ่นได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับระบบเดิมซึ่งลดได้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งมีการเก็บข้อมูลนอกโรงงาน โดยทีมงานวิจัยลงไปคุยกับชาวบ้านต่อเนื่อง 7 วัน วันละ 4 ครั้ง ซึ่งแนวโน้มออกมาค่อนข้างดี

ผศ. ดร. กัมปนาท ศิริเวทิน

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษได้กำหนดสเกลกลิ่นออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับที่ 1 กลิ่นอ่อนมาก ระดับที่ 2 กลิ่นจาง กลิ่นอ่อน ระดับที่ 3 มีกลิ่นที่รับได้ ระดับที่ 4 กลิ่นแรง ในระดับความเข้มข้นของกลิ่นที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกได้ และเกิดความเดือดร้อนรำคาญ และ ระดับที่ 5 กลิ่นแรงมาก หมายถึงกลิ่นที่เกิดขึ้นเข้มข้นรุนแรงมาก จนไม่เหมาะที่จะใช้เป็นอากาศหายใจ

“เดิมโรงงานถูกประเมินที่ระดับ 4.5 หลังจากการใช้สารบำบัดกลิ่นเบื้องต้นประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่าแนวโน้มเรื่องกลิ่นเหม็นลดลงเรื่อยๆ จาก 4.5 ลดลงมาอยู่ที่ 2.5 ถึง 3 ในชุมชนรอบโรงงาน ส่วนชุมชนที่อยู่ในระยะไกลจากโรงงานพบว่าแทบไม่มีกลิ่นเลย เชื่อว่าหากมีการใช้สารต่อเนื่องน่าจะทำให้กลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นลดลงไปอีก”

ดัน’โรงงาน’เป็นต้นแบบ’อุตสาหกรรม’ บำบัดกลิ่น

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ระ บุว่า โรงงานยางพาราในประเทศไทยมีมากกว่า 1,000 โรงงาน ซึ่งทุกแห่งมีปัญหากลิ่นเหม็นหรือมลพิษทางอากาศเหมือนกันแทบทุกพื้นที่ ซึ่งหากการทดลองที่ไทยฮั้ว เบื้องต้นคือ 3 เดือนจากนี้โรงงานจะต้องมีการประเมินร่วมกับชุมชน หากสำเร็จเห็นผลในการควบคุมกลิ่น ก็จะเป็นเรื่องของนโยบายของโรงงานที่จะดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไป แต่ที่สำคัญคือโรงงานแห่งนี้จะเป็นต้นแบบในเรื่องการบำบัดกลิ่นให้กับอุตสาหกรรมอื่นต่อไป

“สำหรับการใช้งานสารบำบัดกลิ่นเบื้องต้น ในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน อาจจะต้องมีปรับเรื่องความเข้มข้น คือสารเป็นตัวเดียวกันแต่ใช้ปริมาณไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อน หนาว หรือมีฝนตก เพราะในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว ความกดอากาศต่ำจะทำให้กลิ่นเหม็นไม่ลอยตัวขึ้นสูง ก็ต้องปรับความเข้มข้นเพิ่มขึ้น รวมถึงเรื่องกลิ่น หากเป็นอุตสาหกรรมที่มีกลิ่นแรงมากหรือมีกลิ่นแรงสะสมช่วงแรกอาจจะใช้ปริมาณความเข้มข้นมาก” ผศ.ดร.ระพีพันธ์อธิบาย

ทั้งนี้ไม่เพียงแค่โรงงานยางพาราเท่านั้น นวัตกรรมบำบัดกลิ่นสามารถนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงในครัวเรือนได้ด้วย

ผศ.ดร.ระพีพันธ์อธิบายว่า นวัตกรรมดับกลิ่นสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่าง อุตสาหกรรมฟอกหนัง ปศุสัตว์ ฟาร์มสัตว์ ปางช้าง ที่มีกลิ่นเหม็นมูลสัตว์ โดยตัวสารเป็นผงแร่ธรรมชาติสามารถฉีดใส่ตัวสัตว์ได้ และหายใจขณะใช้สารได้ตามปกติไม่เป็นอันตราย รวมถึงสถานที่ที่มีกลิ่นขยะเหม็นรุนแรง อย่างกองขยะ ก็สามารถใช้สารตัวนี้เข้าบำบัดได้ ส่วนในครัวเรือนสามารถใช้ในรูปแบบสเปรย์ ในโรงแรมที่มีกลิ่นบุหรี่ หรือในห้องน้ำที่มีกลิ่นท่อได้อีกด้วย

เป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันของ “ชุมชน” กับ “โรงงานอุตสาหกรรม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image