สุจิตต์ วงษ์เทศ : เข้าทรง และ ไหว้ครู มาจากพิธีเลี้ยงผี หลายพันปีมาแล้ว

การละเล่นเข้าทรงผีสิงเครื่องมือทำมาหากินในพิธีเลี้ยงผีประจำปี (อ. บ้านลาด จ. เพชรบุรี) ราว พ.ศ. 2543 (ซ้าย) เล่นผีข้อง เป็นภาชนะใส่ปลาที่จับได้ (ขวา) เล่นผีลิงลม

เข้าทรงสมัยแรกเริ่มเป็นพิธีกรรมส่วนรวมของชุมชนหมู่บ้าน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และรอดพ้นโรคภัยไข้เจ็บ (โดยไม่เป็นกิจกรรมเพื่อส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง)

ไหว้ครูสมัยแรกเริ่มเป็นพิธีกรรมร่วมกันของครูปัจจุบันกับศิษย์ปัจจุบัน คารวะหลักการทางนามธรรมโดยไหว้ครูผีขวัญที่ตายไปแล้ว (โดยไม่ใช่ศิษย์ปัจจุบันไหว้ครูปัจจุบัน)

เข้าทรงและไหว้ครู มีรากเหง้าดั้งเดิมจากพิธีเลี้ยงผีบรรพชนตามความเชื่อในศาสนาผีของชุมชนดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

พิธีเลี้ยงผีบรรพชนของชุมชนดึกดำบรรพ์ มีการละเล่นเข้าทรงให้คนใส่หน้ากากคลุมหัวรูปสามเหลี่ยม ราว 2,500 ปีมาแล้ว น่าจะเป็นรากเหง้าผีตาโขน (จ. เลย) ทุกวันนี้
แต่นักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งสันนิษฐานว่ารูปสามเหลี่ยมเป็นตุ้มดักปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งไม่เข้ากับสังคมยุคนั้นเป็นเศรษฐกิจยังชีพ ที่ทุกคนจับปลาได้เองพอได้กินเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน ไม่มีการซื้อขายเพราะไม่ใช่เศรษฐกิจการตลาดที่ต้องจับปลามากๆ ไปขาย
(ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร จากภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี)

ศาสนาผี

ไทย (และเพื่อนบ้านอาเซียน) สมัยดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ล้วนนับถือศาสนาผีเป็นความเชื่อพื้นเมือง มีพิธีเลี้ยงผีแล้วมีเข้าทรง

Advertisement

ผี หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติที่บันดาลได้ทั้งสิ่งดีและไม่ดี โดยเฉพาะผีบรรพชนให้ความคุ้มครองชุมชนพ้นจากสิ่งชั่วร้าย แล้วอำนวยความอุดมสมบูรณ์

ศาสนาผี มีเลี้ยงผีและเข้าทรง เป็นพิธีกรรมส่วนรวมของชุมชน (ไม่เป็นส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง) หัวหน้าทำพิธีกรรมเลี้ยงผีและเข้าทรง เป็นผู้หญิง เรียกหมอผี ซึ่งมีอำนาจเป็นหัวหน้าโดยได้รับยกย่องจากชุมชน

เลี้ยงผี

เลี้ยงผี เป็นพิธีกรรมต้องทำประจำสม่ำเสมอตามฤดูกาล หรือช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์แก่ชุมชนในพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหาร และขับไล่ผีร้ายออกจากชุมชน เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยของคนในชุมชน

เข้าทรง

เข้าทรง เป็นพิธีกรรมเชิญผีบรรพชน (ซึ่งเชื่อว่ารวมกันเป็นแถนอยู่บนฟ้า) มาสิงในร่างคนทรง หรือหมอผี แล้วมีคำทำนายทายทักถึงพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหารต่อไปข้างหน้าจะดีหรือร้ายอย่างไร? น้ำท่าฟ้าฝนจะมากหรือน้อยขนาดไหน? เพื่อชุมชนเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ

ไม่เป็นกิจกรรมส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง

การละเล่นเข้าทรงผีสิงเครื่องมือทำมาหากินในพิธีเลี้ยงผีประจำปี (อ. บ้านลาด จ. เพชรบุรี) ราว พ.ศ. 2543 (ซ้ายบน) เล่นผีนางด้ง หรือผีกระด้ง (ขวาบน) เล่นผีลอบผีไซ

หน้าแล้งเลี้ยงผี

เลี้ยงผีประจำปีอยู่ในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังฤดูเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตใหม่ครบถ้วน แล้วเก็บไว้กินทั้งปีในยุ้งฉาง เพื่อรอฤดูการผลิตใหม่

ภาคกลาง หน้าแล้งอยู่ราวมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม หรือทางจันทรคติเป็น เดือน 4, 5, 6 มีพิธีเลี้ยงผีบรรพชน (ซึ่งเป็นเพศหญิง) ได้แก่ นางนาค, แม่สี, ผีฟ้า รวมทั้งมีการละเล่นเข้าทรงผีสิงเครื่องมือทำมาหากิน ได้แก่ ผีครก, ผีสาก, ผีนางด้ง (กระด้งฝัดข้าว) เป็นต้น

ศาสนาไทย

ต่อมาอีกนานจนสมัยหลังๆ ศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ฮินดูจากอินเดียเข้าถึงไทย ราว 1,500 ปีมาแล้ว (หรือมากกว่านั้น) แล้วผสมกลมกลืนกับศาสนาผีที่มีอยู่ก่อน

จึงกลายเป็นศาสนาใหม่ เรียก ศาสนาไทย (หรือศาสนาอุษาคเนย์) ที่เจือปนด้วยเลี้ยงผีและเข้าทรง

ศาสนาไทย หมายถึงศาสนาในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่นับถือ มีศาสนาผีเป็นฐานราก หรือเป็นแกนหลักอันแข็งแกร่ง แล้วศาสนาผีก็เลือกสิ่งละอันพันละน้อยของพุทธกับพราหมณ์ฮินดูที่ไม่ขัดกับหลักผี เข้าไปประดับประดาหรือคลุมภายนอกของศาสนาผีเพื่อให้ดูดีมีความทันสมัยเพิ่มขึ้น จะได้แข็งแกร่งกว่าเดิม

ทั้งนี้โดยศาสนาผีรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม ส่วนพุทธกับพราหมณ์ฮินดูรักษาทางจิตวิญญาณของบุคคล (ปรับปรุงใหม่จากนิยามคำอธิบาย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2554)


พิธีเข้าทรง ให้กำเนิดละคร

(ซ้าย) เล็บปลอมยาวทําด้วยโลหะสวมนิ้วเต็มสองมือของผู้เล่นใส่หน้ากากในระบําโตแปง (Topeng) บนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย (ขวา) การละเล่นศักดิ์สิทธิ์ต้องใส่หน้ากากและใส่มือปลอมทําด้วยไม้ มีนิ้วและเล็บยาวกว่าปกติขยับได้ ในพิธีศพชาวบาตัค แถบที่ราบสูง บนเกาะสุมาตราเหนือของอินโดนีเซีย ราว พ.ศ. 2473

ละครในไทยและอาเซียนโบราณ มีรากเหง้าจากพิธีเข้าทรงของหมอผีในชุมชนดึกดำบรรพ์ คนทรง (ละคร) ยุคแรกๆ ใส่เล็บปลอม (นิ้วปลอม) ทําด้วยใบตอง ครั้นสมัยหลังทําจากกระดาษ หรืออื่นๆ เช่น ทองเหลือง (เป็นต้นแบบเล็บปลอม ของละครชาวบ้านสมัยอยุธยา)

เล็บปลอม ขนาดใหญ่โตและยาวเกินจริง หมายถึง บรรพชนผู้มีพลังอํานาจเหนือธรรมชาติ สามารถปกป้องคุ้มครองและกําจัดผีร้าย ขณะเดียวกันก็บันดาลให้ชุมชนมีความมั่นคงมั่งคั่งมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์

หน้ากาก เป็นเครื่องสวมเพื่อพรางหน้าจริง เป็นพิธีกรรมเข้าทรงที่ต้องพรางหน้าจริงโดยสวมหน้ากากเพื่อเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับพลังศักดิ์สิทธิ์ตามหน้ากากที่สวม (เป็นต้นแบบหน้าพรานในโนรา และหน้าโขน หรือหัวโขน ดังนั้นคนที่ใส่หน้ากากศีรษะโขนแสดงโขน แท้จริงแล้วกำลังเข้าทรง)

เฉพาะในไทยมีหลักฐานจากภาพเขียนสีตามเพิงผาและผนังถ้ำ พบหลายแห่งทั่วทุกภาค ตั้งแต่เหนือ, อีสาน, กลาง, ใต้ ไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

คนสวมหน้ากากต้องเป็นคนสําคัญของเผ่าพันธุ์ เช่น แม่มดหมอผี, หัวหน้าเผ่าพันธุ์

เพื่อติดต่อเชื่อมโยงบรรพชนที่มีพลังอํานาจเหนือธรรมชาติให้กําจัดเหตุร้ายต่างๆ


ครูอาวุโสทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารระหว่างครูผีขวัญบรรพชนกับผู้เข้าร่วมพิธี (เรียกอ่านโองการ) ด้วยภาษาร่าย เป็นคำคล้องจองที่ยกย่องเป็นภาษาพิเศษและศักดิ์สิทธิ์มากแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว [ครูมนตรี ตราโมท ประธานพิธีไหว้ครู ครอบครู ดนตรีไทย (ภาพจากหนังสือ ลักษณะไทย 3 ศิลปะการแสดง ธนาคารกรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2551 หน้า 26)]

ไหว้ครู

ไหว้ครู หมายถึงแสดงคารวะหลักการทางนามธรรมที่แสดงออกด้วยพิธีเลี้ยงผีครูที่ตายแล้วได้รับยกย่องเป็นผีขวัญบรรพชนครู ซึ่งสิงสู่อยู่ในเครื่องมือต่างๆ เป็นประเพณีทางนาฏศิลป์และดนตรีไทย

บรรดาครูมนุษย์ (หรือครูปัจจุบัน) กับเหล่าลูกศิษย์ ร่วมกันแสดงคารวะ ครูผี, เจ้า, เทพ, เทวดา (เช่น พระอีศวร) ผู้เป็นครูในอดีตที่ตายไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งรวมกันแสดงคารวะหลักการทางนามธรรมอย่างหนึ่ง โดยยกย่องครูอาวุโสคนหนึ่งทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารระหว่างครูผีขวัญกับผู้เข้าร่วมพิธีด้วยภาษาร่าย (คือคำคล้องจองที่ยกย่องเป็นภาษาพิเศษ)

พิธีไหว้ครูอย่างนี้สืบเนื่องจากพิธีเลี้ยงผีของชุมชนดั้งเดิม แต่ปรับเข้ากับวัฒนธรรมหลวง (ซึ่งจำลองพิธีพราหมณ์พื้นเมืองของรัฐจารีต) พบเก่าสุดยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัย ร.4

นาฏศิลป์และดนตรีในไทย ยกย่องครูที่ตายแล้วเป็นผีขวัญบรรพชนครู สิงสู่อยู่ในเครื่องมือต่างๆ ได้แก่ เทริด, หน้ากาก, อาวุธ, เครื่องดนตรีทุกชนิดทุกประเภท เมื่อใช้ประกอบอาชีพทำมาหากินได้ปีหนึ่งต้องทำพิธีเลี้ยงผีเพื่อขอขมา แล้วเรียกใหม่ว่าไหว้ครู และครอบครู โดยเชิญเครื่องมือเหล่านั้นไว้บนแท่นพิธี


ยกมือไหว้เครื่องดนตรี เพราะเชื่อว่ามีครูผี, ครูเทวดา สิงอยู่ ถือเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์

ฉะนั้น เมื่อจะใช้งาน หรือใช้งานแล้ว ต้องยกมือไหว้เครื่องดนตรีนั้นๆ เพื่อแสดงความนอบน้อมเคารพเครื่องมือทำมาหากินอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความเชื่อสืบเนื่องจากผีสิงในเครื่องมือเครื่องใช้ทำมาหากินยุคดึกดำบรรพ์


ครอบครู หมายถึงเริ่มประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้นั้นๆ เช่น ความรู้ด้านดนตรี, นาฏศิลป์, ฯลฯ

ครูผู้ทำพิธีครอบ จะยกศีรษะพ่อแก่ (พระอีศวร) สัญลักษณ์ของครูผี หมายถึง วิชาความรู้ (หรือหลักการทางนามธรรมอย่างหนึ่ง) ครอบลงบนศีรษะของลูกศิษย์หรือผู้เรียนวิชา แสดงว่าเริ่มต้นเรียนวิชาความรู้อย่างสมบูรณ์และมั่นใจแล้ว

ครูอ่านโองการในพิธีไหว้ครู ครอบครู ต้องเข้าทรงเชิญพลังศักดิ์สิทธิ์จากครูผีมาครอบงำ หรือสิงสู่อยู่ในตัวตนครูอ่านโองการเสียก่อน ถึงจะเชื่อมพลังศักดิ์สิทธิ์จากครูผีมาครอบให้ลูกศิษย์ปัจจุบัน

การแต่งตัวของครูอ่านโองการในพิธีไหว้ครู ครอบครู ต่างจากปกติ เช่น โจงกระเบนชุดนุ่งขาวห่มขาว, ฯลฯ เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าขณะนั้นถูกสิงด้วยพลังลี้ลับของครูผีอย่างสมบูรณ์แล้ว

รำถวายมือ หรือจับมือทำเพลงดนตรี เครื่องมือต่างๆ หมายถึงวิชาความรู้จากครูผีได้ถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์แล้ว

ไม่มีในอินเดีย

ไม่เคยพบหลักฐานตรงๆ สนับสนุนตามที่เชื่อต่อๆ?กันมา ว่าไหว้ครู ครอบครู ได้จากอินเดีย เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มีแต่อ้างตามความเชื่อส่วนบุคคล


ไหว้ครูไม่ควรไหว้ สมัยปัจจุบัน

ไหว้ครูสมัยปัจจุบันเป็นประเพณีเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ไม่นานมานี้

กำหนดให้ศิษย์ปัจจุบันไหว้ครูมนุษย์ปัจจุบัน ด้วยกิริยาอาการยกย่องเทิดทูนสูงส่งอย่างยิ่ง โดยไม่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีดั้งเดิม เพื่อครอบงำและกล่อมเกลาให้ยอมจำนนต่อความเหลื่อมล้ำทุกอย่างจนไม่กล้าแสดงความคิดต่างๆ แล้วไม่สร้างสรรค์ความคิดได้ด้วยตนเอง

ครูมนุษย์ปัจจุบันส่วนมากยังถูกครอบงำด้วยอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นมลทินอย่างยิ่ง เป็นที่รู้เห็นของศิษย์และของสาธารณชน เช่น คอร์รัปชั่นทุกอย่างที่ขวางหน้า กระทั่งงบอาหารกลางวันเด็กนักเรียนก็ถูกเบียดบังไปเป็นส่วนตน เป็นต้น

ไหว้ครูที่ไม่ควรไหว้สมัยปัจจุบัน จึงต้องทบทวนว่าสมควรทำต่อไปหรือไม่? ถ้าจำเป็นต้องทำจะทำแบบไหน? อย่างไร?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image