แนวทางพัฒนาประเทศของมหาอำนาจ ‘จีน’ ขจัดความยากจนสู่ความมั่งคั่ง

ภายในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ละประเทศมุ่งพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้ดีมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาความยากจนของคนภายในประเทศให้สามารถมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างไม่ยากลำบาก

ประเทศที่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วอย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่สามารถแก้ไขปัญหาลดความยากจนของประชาชนภายในประเทศได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ จนสามารถก้าวเข้ามาเป็นประเทศมหาอำนาจในศตวรรษที่ 21 ได้

เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีความสามารถลดความยากจนได้รวดเร็วที่สุดในโลก ในช่วงปี 2001-2004 สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดสัมมนา Independent Choice of Development Model of China and Indochina Countries : Opportunities and Challenges แลกเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาประเทศและการลดความยากจนของประชาชนในประเทศไปพร้อมๆ กัน

“ควรแสดงความยินดีกับทั้ง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา เพราะสามารถก้าวมาได้ไกลกว่าที่คาดไว้เยอะ”

Advertisement

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ และอธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวและบอกว่า เคยเดินทางไปทั้งจีน กัมพูชา หลายรอบมาก ทำให้ได้มีโอกาสเห็นการเจริญเติบโตหรือการพัฒนาในด้านต่างๆ ของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งยิ่งทำให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมากเกินกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ความสำเร็จของทั้งสองประเทศเป็นความสำเร็จร่วมกันของชาวเอเชีย มีผลหนุนเนื่องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ผมได้ศึกษาค้นคว้าการพัฒนาของโลกมาร่วม 30 ปีแล้ว แบ่งเป็นประเทศโลกที่ 1, 2, 3 ตามลำดับ เมื่อถึงคราวที่ประเทศใดประกาศเอกราชไม่ยินยอมอยู่ภายใต้อำนาจประเทศแม่อีกต่อไป ก็มักจะมีเสียงตามมาว่าประเทศที่ 3 ไม่มีทางไปรอดหากขาดประเทศแม่ไป หรือประเทศที่กำลังพัฒนาจะไม่มีวันพัฒนาได้ ผู้คนที่อยู่ใต้อิทธิพลแถบตะวันตกมักจะมองเช่นนั้น คนไทยเองก็มองอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่คิดว่าประเทศของตนจะก้าวไปได้ไกลขนาดนี้ เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ยากจนในระดับหนึ่ง”

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ศ.ดร.เอนกกล่าวอีกว่า เมื่อโลกมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าโลกไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจีนก็เป็นประเทศที่ได้แสดงให้เราเห็นว่าสามารถพัฒนาและเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วงหลังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในหลายเรื่อง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศจีนเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ และจากที่เคยไปดูงานที่ประเทศจีนมา ทำให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาของจีนเป็นของจริง ซึ่งจีนถือว่าโชคดีมากที่ได้ผู้นำที่ดีติดต่อกัน ต้องชื่นชมผู้นำประเทศที่สามารถทำให้จีนก้าวมาได้ไกลขนาดนี้

จากเดิมที่จีนเคยเป็นประเทศที่ไม่มีการเปิดสมาคมกับภายนอก และมีประชาชนที่ยากจนกว่าหลายล้านคน ต่อมาเมื่อมีการวางแผนบริหารจัดการ ทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

รศ.ดร.โจว ฟางเย่อ นักวิจัยสถาบันยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศแห่งชาติแห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวถึงเส้นทางการพัฒนาของจีนหลังการปฏิรูปและการเปิดประเทศว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและรวดเร็วของจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ถึง 2560 จีดีพีของจีนเติบโตขึ้นทุกปีโดยเฉลี่ย 9.3 เปอร์เซ็นต์ และจีดีพีของจีนขยายตัวจาก 367 พันล้านหยวนไปเป็น 710 พันล้านหยวน เทียบเท่า 12 ล้านล้านบาท จากการเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้จีนกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีสัดส่วนของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจีนในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นจาก 1.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 16 เปอร์เซ็นต์

“การพัฒนาสังคมโดยรวม ในปี พ.ศ.2521 จีดีพีต่อหัวของจีนเท่ากับ 381 หยวน ซึ่งเป็นเพียง 2 ใน 3 ของอินเดียเท่านั้น นับว่าเป็นประเทศที่มีรายได้น้อยเทียบกับทุกประเทศในโลกช่วงเวลานั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2560 จีดีพีต่อหัวของจีนมีมูลค่าสูงถึง 59,660 หยวน (8,800 เหรียญสหรัฐ) จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูง ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การปฏิรูปและการเปิดประเทศ สามารถช่วยประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ถึง 700 ล้านคน

จีนสามารถดึงการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกได้ ในปี พ.ศ.2521 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของจีนอยู่ที่ 35.5 พันล้านหยวน ต่อมาภายในปี พ.ศ.2560 การนำเข้าและส่งออกของจีนมีมูลค่า 27.8 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 782.82 เท่าของปี พ.ศ.2521 การนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมดของจีนคิดเป็น 9.7 เปอร์เซ็นต์ ของยอดรวมของโลก ในปี พ.ศ.2559 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนมีมูลค่าถึง 196 พันล้านเหรียญดอลลาร์ และเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองของโลก สัดส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลกมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นครั้งแรก”

รศ.ดร.โจว ฟางเย่อ

แนวคิดในการบริหารประเทศของจีนมีทั้งหมด 14 ข้อ

1.ดูแลให้พรรคเป็นผู้นำในการทำงานทั้งหมด ใช้พรรคผู้นำดูแลรวมในทุกพื้นที่

2.มุ่งมั่นในแนวทางที่เน้นผู้คนเป็นหลัก เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ

3.การปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นจัดการกับความล้าสมัย

4.ใช้วิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนา นวัตกรรมการประสานงานการพัฒนาและเปิดกว้างสำหรับทุกคน

การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น เมื่อปี 2523

5.เห็นว่าคนที่ทำงานในประเทศ สนับสนุนและปรับปรุงระบบการประชุมของประชาชน โดยการนำแนวความคิดของทุกฝ่ายมาหารือร่วมกัน

6.ดูแลให้ครอบคลุมทุกมิติ กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย

7.การสนับสนุนคุณค่าทางสังคมนิยมหลัก ได้แก่ ความเจริญรุ่งเรือง ประชาธิปไตย สุภาพ สามัคคี เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม กฎของกฎหมาย รักชาติ อุทิศตน ความสมบูรณ์ และมิตรภาพ

8.ดูแลและปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนา

9.สร้างความสามัคคีระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ พัฒนาสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

10.แสวงหาแนวทางแบบองค์รวมเพื่อความมั่นคงของชาติ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าทั้งการพัฒนาและการรักษาความปลอดภัยพร้อมที่จะปกป้องเมื่อถึงเวลาอันตราย

11.เสริมสร้างความเป็นผู้นำของพรรคอย่างเข้มแข็งต่อกองกำลังของประชาชน

12.การสนับสนุนหลักการของ “หนึ่งประเทศสองระบบ” และการส่งเสริมการรวมชาติ

13.การส่งเสริมการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมวลมนุษยชาติ

14.การบริหารจัดการอย่างเต็มที่และเข้มงวด

ด้าน รศ.หวี ไห่ฉิว ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาประเทศไทย สถาบันศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้แห่งสถาบันสังคมศาสตร์หยุนหนาน กล่าวว่า ความสำคัญของการทำงานบรรเทาความยากจนของจีนคือการขจัดความยากจนพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน มุ่งสู่ความมั่งคั่งร่ำรวยร่วมกัน เรื่องนี้เป็นความต้องการพื้นฐานของสังคมนิยม สําหรับประชาชนยากจนนั้นเราต้องให้ความสนใจ ความรักความห่วงใย และดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ช่วยให้พวกเขาหมดทุกข์ไร้กังวลด้วยวิธีการต่างๆ ใส่ใจทุกช่วงเวลาของประชาชน ไม่ว่าจะสุขทุกข์หรือยากดีมีจน ส่งความอบอุ่นของรัฐบาลและพรรคการเมืองไปให้ถึงทุกครัวเรือน

ตั้งแต่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีมานี้ มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจีนในภาพรวมมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ในขณะเดียวกัน เนื่องจากประเทศจีนยังคงอยู่ในระบบสังคมนิยมจึงยังคงมีประชาชนที่มีความยากลําบากและอยู่ในฐานะยากจนอยู่ไม่น้อย

“ความยากลําบากและหนักหน่วงที่สุดในการสร้างสังคมที่พอกินพอใช้อย่างถ้วนหน้านั้น คงอยู่ที่การพัฒนาพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ยากจน หากพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะพื้นที่ยากจน ไม่เป็นสังคมที่พอกินพอใช้แล้วก็ไม่อาจมีสังคมพอกินพอใช้ถ้วนหน้าได้ รัฐบาลกลางให้ความสําคัญอย่างยิ่งต่อการ ดําเนินงานนี้

“การพัฒนายกระดับพื้นที่ยากจนคณะกรรมการพรรคและทางการแต่ละระดับต้องเสริมสร้างความรับผิดชอบและการตระหนักในภารกิจด้านการพัฒนายกระดับพื้นที่ยากจนให้ดี โดยมีการวางแผนมีเงินทุนมีเป้าหมายมีมาตรการ และมีการตรวจสอบที่ถูกต้องชัดเจน ทุกคนต้องร่วมมือกัน พยายามทําให้ญาติพี่น้องในพื้นที่ชนบทหลุดพ้นจากความยากจนมุ่งสู่ความมั่งมี และก้าวสู่สังคมพอกินพอใช้ให้เร็วยิ่งขึ้น

รศ.หวี ไห่ฉิว

“จากประสบการณ์การลดความยากจนของจีน มีหมู่บ้านหนึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน ติดกับมณฑลเสฉวน ห่างจากคุนหมิง 600 กม. ใช้เวลาเดินทาง 16 ชั่วโมง ที่หมู่บ้านนี้มีประชากรทั้งหมด 650 คน ทุกคนทำอาชีพปลูกข้าวโพด ปลูกใบยาสูบ เลี้ยงปศุสัตว์มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 3,000 หยวน หรือไม่ถึง 15,000 บาทต่อปี มีการสำรวจสาเหตุความยากจนของชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ว่าเกิดจากอะไร พบว่าสาเหตุมาจากการเดินทางที่ไม่สะดวก ขาดแรงงานในการทำงาน ไม่มีทักษะ บางคนติดสุราเรื้อรัง หรือบางคนขาดความเชื่อมั่นในชีวิตเพราะการเสียชีวิตของพ่อแม่และญาติพี่น้อง”

รศ.หวี ไห่ฉิว กล่าวต่อมาว่า จำเป็นต้องหามาตรการลดความยากจนเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์นี้ โดยการให้ข้าราชการหรือผู้ที่ได้รับรายได้จากราชการจับคู่ช่วยสนับสนุนผู้ที่มีฐานะยากจน คนละ 1-2 ครัวเรือน จัดทําแผนลดความยากจน เตรียมเงินทุนเริ่มต้น มีการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ขั้นพื้นฐานให้ครอบครัวที่ถูกเลือก สร้างห้องน้ำให้ เพื่อพัฒนาสุขอนามัยที่ดี ช่วยเหลือในด้านการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และการชวนก่อสร้างอาคารที่พักให้ เนื่องจากกรณีภัยพิบัติต่างๆ

จากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทำให้จีนสามารถแก้ไขและบรรเทาปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมถึงการพัฒนาประเทศและระบบเศรษฐกิจจนสามารถกลายเป็น 1 ในประเทศมหาอำนาจได้ นับว่าเป็นความภูมิใจร่วมกันของชาวเอเชีย

การทดลองเขตการค้าเสรีแห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ปี 2556
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image