จาก ‘ทีมหมูป่า’ ถึง ‘ทีมชาติฝรั่งเศส’ อย่ากีดกันศักยภาพมนุษย์ด้วย ‘สัญชาติ’

ระหว่างช่วงการช่วยเหลือนักเตะทีมหมูป่าและโค้ช เกิดคำสัญญามากมายว่าหากออกมาได้จะให้รางวัลนั่นนี่ ตั้งแต่พาไปเที่ยวพัทยา ตั๋วดูบอลตลอดชีพ รับเข้าสโมสรอาชีพ จนถึงมอบทุนการศึกษาถึงปริญญาเอก

ที่น่าสนใจคือเรื่องการให้สัญชาติ ซึ่งมหาดไทยยืนยันว่าจะตรวจหลักฐานเอกสารตามขั้นตอนกฎหมาย

ทีมหมูป่าที่ไม่มีสัญชาติจากข้อมูลพบว่ามี 4 คน โดยมีผู้ยื่นขอสัญชาติไทยไว้แล้ว ประกอบด้วย 1.โค้ชเอก-เอกพล จันทะวงษ์ 2.ตี๋-พรชัย คำหลวง 3.ดุล-อดุลย์ สามอ่อน 4.มงคล บุญเปี่ยม

ปฏิบัติการช่วยชีวิตครั้งนี้ถูกสายตาจากทั่วโลกจับตามอง พร้อมกับกำลังใจที่หลั่งไหลท่วมท้นทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ

Advertisement

ความสนใจทั่วโลกที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความห่วงใยชีวิตเพื่อนมนุษย์ หรือความร่วมใจที่เกิดขึ้นนี้มีที่มาจากองค์ประกอบอื่น?

หากเหตุผลเป็นเพราะความห่วงใยเพื่อนมนุษย์เพียงอย่างเดียว ก็มีอีกหลายคำถามตามมา

กรณีโรฮีนจามีเด็กจำนวนมากถูกทิ้งให้ลอยคอกลางทะเล แต่ถูกผลักไส และคนไทยร่วมใจกันพ่นความเกลียดชังให้กลับไปตายในทะเล (กับประโยคซ้ำซากและไม่สร้างสรรค์ “ถ้าอยากช่วยก็รับไปเลี้ยงสิ”)

Advertisement

กรณีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความเห็นอกเห็นใจและเอาใจช่วยทีมหมูป่า แต่ก็มีการ์ตูนเสียดสีเปรียบเทียบกรณีเด็กผู้ลี้ภัยที่ถูกกักขังแยกกับพ่อแม่โดยไม่มีความผิดจากนโยบายสกัดผู้อพยพของทรัมป์เอง เหตุเพราะพ่อแม่ของเด็กๆ ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

น่าเศร้าที่ปัญหาผู้ลี้ภัยถูกทำให้เป็นเรื่องปกติที่ประเทศอื่นจะเมินเฉย-ผลักกลับสู่ความตาย เพราะไม่อยากร่วมรับผิดชอบ

แน่นอน คำตอบสำหรับทุกเหตุการณ์คือไม่มีใครควรถูกทิ้งให้ตาย ทุกชีวิตต้องถูกช่วยเหลือจากภัยอันตรายอย่างไม่กีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา

ถ้าเราเคารพคุณค่าของชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน

การ์ตูนเสียดสีช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาให้กำลังใจทีมหมูป่า

‘ผู้ลี้ภัยฝรั่งเศส’ ความหลากหลายสู่ ‘แชมป์บอลโลก’

ฝรั่งเศสเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาก จะพูดให้ถูกคือมีความพยายามลบคำว่า “เชื้อชาติ” ออกจากกฎหมายหลายฉบับและล่าสุดได้ถอดคำนี้ออกจากรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมไม่แบ่งแยก เพราะเชื่อว่าเชื้อชาติไม่มีอยู่จริง

บอลโลกที่เพิ่งผ่านไปขยายให้เห็นภาพความหลากหลายของฝรั่งเศสได้ชัดเจน และสะท้อนว่าฝรั่งเศสใช้ทรัพยากรมนุษย์อันหลากหลายนี้อย่างมีคุณค่า

Vox ทำคลิปสารคดีลงยูทูบตอบคำถามถึงสาเหตุที่ฝรั่งเศสเป็นประเทศส่งออกนักฟุตบอลลงเตะในบอลโลกมากที่สุด จากกฎฟีฟ่าที่อนุญาตให้นักเตะลงเล่นทีมชาติที่เขามีสายสัมพันธ์ชัดเจน รวมถึงประเทศบ้านเกิดของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย

เวิลด์คัพปีนี้มีนักเตะ 82 คน ที่ไม่ได้เล่นให้ประเทศที่พวกเขาเกิด และน่าสนใจว่าประเทศฝรั่งเศสสร้างนักเตะกระจายไปเล่นให้ทีมชาติต่างๆ มากที่สุด (เตะให้ทีมชาติฝรั่งเศส 21 คน ชาติอื่นๆ 29 คน รวม 50 คน) รองมาคือประเทศบราซิลรวม 28 คน

ย้อนไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสรับแรงงานจากยุโรปตะวันออกและยุโรปใต้เข้ามาฟื้นฟูประเทศ รวมถึงแรงงานจากประเทศอาณานิคมในแอฟริกาเหนือ ช่วงปี 1940-1950 ฝรั่งเศสรับผู้อพยพมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป

ต่อมาช่วงทศวรรษ 1960 เศรษฐกิจฝรั่งเศสเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจากอาณานิคมฝรั่งเศส ในแอฟริกาและแคริบเบียน

เวลาเดียวกันก็เกิดวิกฤตในวงการกีฬาฝรั่งเศส โดยเฉพาะนักฟุตบอลทีมชาติ ช่วง 1960-1974 ฝรั่งเศสไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานบอลโลก 3 ครั้ง และบอลยูโร 3 ครั้ง

เป็นจุดเริ่มต้นที่สหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสพยายามสร้างระบบศูนย์ฝึกฟุตบอล และจับมือกับสโมสรฟุตบอลทั่วประเทศสร้างเครือข่ายค้นหาและฝึกซ้อมเยาวชนท้องถิ่น

จนช่วงต้นทศวรรษ 1990 ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบนักเตะดีที่สุดในโลกในการค้นหาดาวเด่นจากทั่วประเทศ และเป็นระบบที่ทำให้ได้คนหลากหลาย

ดูเหมือนว่าฝรั่งเศสได้พัฒนาไปสู่ความเป็นพหุวัฒนธรรม เมื่อนักเตะหลายคนเป็นผู้อพยพหรือลูกผู้อพยพที่เข้าฝรั่งเศสมาช่วงศตวรรษที่ 20 จนต่อมาทีมชาติถูกเรียกว่า “Black, Blanc, Beur” ที่แปลว่า ดำ ขาว และอาหรับ

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สนับสนุนความหลากหลาย โดยเฉพาะนักการเมืองชาตินิยมอย่าง ฌอง-มารี เลอเปน (พ่อ มารีน เลอเปน ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งล่าสุด)

“ผมว่ามันดูปลอมๆ ที่เอาคนต่างชาติมาผ่านพิธีศีลจุ่มทำให้เป็นทีมชาติฝรั่งเศส ผมว่าทีมชาติประเทศอื่นเขาร้องเพลงชาติอย่างเต็มเสียงด้วยหัวใจที่พองโต แต่ทีมชาติฝรั่งเศสส่วนใหญ่ไม่ร้องเพลงหรือกระทั่งไม่รู้จักเพลงชาติเลย”

แต่เหล่านักเตะผู้อพยพก็ยังเดินหน้าสร้างความโดดเด่นให้ทีมชาติฝรั่งเศสไม่หยุด

หลายคนมาจากที่เดียวกัน เพราะ 38% ของผู้อพยพเข้ามาอาศัยที่ปารีส ส่วนใหญ่อยู่ในเขต Banlieues ที่หมายความว่าชานเมือง แต่ยังใช้เรียกชุมชนผู้อพยพด้วย หลายปีที่ผ่านมาเขตนี้เกิดจลาจลบ่อย มีตัวเลขคนว่างงาน อาชญากรรม และความยากจนสูงระดับวิกฤต พร้อมกับเป็นเขตที่สร้างนักฟุตบอลฝีเท้าฉกาจด้วย

พอล ป็อกบา-คีเลียน เอ็มบัปเป้ สองดาวรุ่งทีมชาติฝรั่งเศส (REUTERS/Kai Pfaffenbach)

ตั้งแต่ปี 2002 จำนวนนักเตะที่เกิดในปารีสมีมากขึ้นเรื่อยๆ นักเตะฝรั่งเศส 50 คน ที่เล่นในบอลโลกปีนี้มี 16 คน เกิดและโตในปารีส และในทีมชาติฝรั่งเศสมี 8 คน มาจากเขต Banlieues ทั้งหมดเป็นผู้อพยพ รวมถึง คีเลียน เอ็มบัปเป้ ดาวรุ่งวัย 19 เจ้าของค่าตัว 180 ล้านยูโร ที่มีแม่ชาวแอลจีเรียและพ่อชาวแคเมอรูน

แต่นักเตะปารีเซียงไม่ได้เล่นให้ฝรั่งเศสเท่านั้น อย่างที่ปีนี้ทีมชาติเซเนกัลมีนักเตะจากปารีสถึง 4 คนเท่าๆ กับทีมชาติตูนิเซีย

ในทีมชาติยังมีนักเตะที่ไม่ได้เกิดในฝรั่งเศสด้วยซ้ำ อย่าง ซามูเอล อุมติตี ปราการหลังที่เกิดในแคเมอรูน แล้วอพยพมาฝรั่งเศสกับครอบครัวตั้งแต่ 2 ขวบ

อีกหนึ่งนักเตะระดับตำนานที่ฝรั่งเศสมอบให้โลกคือ ซีเนอดีน ซีดาน อดีตดาวเตะเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ปี 1998 พ่อแม่ของซีดานเป็นชาวแอลจีเรียที่ลี้ภัยเข้าฝรั่งเศสก่อนเกิดสงครามเรียกร้องเอกราชปี 1954

ไม่นานนี้มีข่าวว่าฝรั่งเศสมอบสัญชาติให้ โมอูโดอู กาสซามา ผู้ลี้ภัยชาวมาลีที่ปีนตึก 4 ชั้นช่วยชีวิตเด็กริมระเบียง เขาอพยพเข้าฝรั่งเศสอย่างผิดกฎหมายและเพิ่งได้สถานะผู้ลี้ภัยแต่ยังไม่อยู่ในข่ายได้รับสัญชาติ ซึ่งรัฐบาลจะมอบสัญชาติให้เป็นกรณีพิเศษ

เป็นรางวัลที่มีค่ากว่าเงินทอง คือการยอมรับความเป็นมนุษย์ และให้สิทธิพลเมืองที่เท่าเทียม

แน่นอนว่าแต่ละประเทศมีเกณฑ์การให้สัญชาติแตกต่างกัน แต่กรณีนี้นอกจากได้ใจประชาชนจำนวนมากแล้วประเทศชาติยังได้พลเมืองคุณภาพเพิ่มขึ้นมา

สิ่งสำคัญคือการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างมีคุณค่า นักเตะดาวรุ่งฝรั่งเศสหลายคนคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากถูกกักกันในค่ายผู้ลี้ภัย เป็นคนไร้สัญชาติที่ถูกจำกัดสิทธิตลอดชีวิต

คำสัญญาจากชื่อเสียงในวาบแฟลช

ความน่าเป็นห่วงหนึ่งในกรณีทีมหมูป่าคือความฉาบฉวยของชื่อเสียงที่ตามมา

แน่นอน พวกเขาคือผู้ประสบภัย ไม่ใช่ฮีโร่ แต่ชื่อเสียงก็นำพาหลายอย่างตามมา เห็นได้จากความพยายามเกาะกระแสหยิบยื่นรางวัลให้จากองค์กรต่างๆ

หากมีการตกรางวัลคนที่ควรได้คือผู้ที่เข้าไปร่วมกู้ภัยทุกเชื้อชาติ และที่สำคัญไม่ควรลืมการช่วยเหลือระยะยาวของครอบครัวจ่าแซม เมื่อขาดเสาหลักของบ้าน

คำเตือนหนึ่งจากคนงานเหมืองชิลีที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน หลุยส์ เออร์ซัว หนึ่งในผู้ประสบภัยติดในเหมืองถล่มนาน 69 วัน เมื่อปี 2010 ฝากถึงทีมหมูป่าว่าให้ระวังผู้คนที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์

สถานการณ์ของคนงานเหมืองชิลีนั้นไม่ต่างจะหมูป่าที่มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้ประสบภัย หลังรอดชีวิตก็ต้องเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อ จนมีทนายอาสาดูแลเรื่องผลประโยชน์ มีนักการเมืองเข้ามาโหนกระแส แต่ละคนรับปากจะให้นั่นนี่แต่สุดท้ายก็ถูกลืมเลือน

เป็นเรื่องรับมือยากและน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นในกรณีหมูป่าที่เป็นเยาวชน

นั่นเป็นเหตุว่าทำไมการหยิบยื่นอะไรที่ยั่งยืนอย่างการมอบสัญชาตินั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่ใช่การกระทำในกรณีพิเศษ แต่รัฐควรใส่ใจปัญหานี้ในภาพรวม

หม่อง ทองดี กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

รัฐไทยกำลังย่ำยีความฝันใครหรือเปล่า?

ชื่อของ หม่อง ทองดี เป็นที่รู้จักดีสำหรับคนไทย และเป็นภาพสะท้อนว่ารัฐไทยทิ้งขว้างทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างน่าเสียดาย

หนักหนากว่านั้นคือตัดโอกาส ทำลายอนาคตของคนคนหนึ่ง ให้อยู่กับคำสัญญาเรื่องให้สัญชาติที่ไม่เป็นจริง

หม่องเป็นลูกผู้ลี้ภัยเผ่าปะโอที่หนีมาจากรัฐฉาน เมียนมา ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งเครื่องบินพับกระดาษนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยพาสปอร์ตชั่วคราว คว้ารางวัลที่ 3 กลับมา

ครั้งเป็นข่าวใหญ่มีผู้ใหญ่สัญญาจะให้สัญชาติจนถึงทุนการศึกษาถึงปริญญาเอก

จากเด็กร่อนจรวดกระดาษ เขาฝันอยากขับเครื่องบินจริงๆ แต่ถึงวันนี้ผ่านมา 9 ปี เขายังไม่ได้สัญชาติ ทำงานเป็นช่างก่อสร้างและครูสอนบังคับโดรน พร้อมกับเรียน กศน.ระดับ ม.ปลาย

คนไร้สัญชาติอย่าง หม่อง ทองดี เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพ ที่ผ่านมาเขายังเคยไปช่วยบังคับโดรนในภารกิจค้นหาเฮลิคอปเตอร์ตก สร้างชื่อเสียงให้ประเทศแล้วถูกลืมเลือน

มนุษย์ทุกคนมีโอกาสฝันและทำตามศักยภาพ แต่ชีวิตที่ถูกตัดโอกาส ยากที่จะทำฝันให้เป็นจริง

อีกกรณีของ เพียว-เพ็ญพร (ไม่มีนามสกุล) หญิงสาวไร้สัญชาติชาวกะเหรี่ยงจากแม่สอด ฝันอยากเรียนหมอแต่ด้วยความยุ่งยากทางเอกสารจึงสอบเข้าสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร

เพียวเข้าไม่ถึง กยศ. และสิทธิการรักษาพยาบาล กระทั่งการเดินทางยังต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่ทุก 6 เดือน เธอเรียนจบด้วยเกียรตินิยมมาได้ด้วยศักยภาพตัวเอง แต่พอเรียนจบก็เข้าทำงานโรงพยาบาลรัฐไม่ได้

ทั้งที่ประเทศไทยขาดบุคลากรทางการแพทย์ หากเปิดโอกาสให้เยาวชนที่ถูกลืมเหล่านี้ได้เข้ามาทำงานในระบบมีสิทธิเท่าเทียมพลเมืองอื่น นอกจากสร้างโอกาสในชีวิตของคนคนหนึ่งแล้วยังสร้างประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

เพราะเป็นการยากที่คนจะพัฒนาตัวเองให้ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ในเงื่อนไขที่ถูกจำกัดทางเลือก

ถึงเวลาสังคายนาปัญหาคนไร้รัฐ

ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยปี 2560 ระบุว่าคนต่างด้าวหรือไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการสำรวจ มีเลขประจำตัวพิสูจน์ตัวบุคคลอยู่ 2.5 ล้านคน เป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน 1.5 ล้านคน, กลุ่มชาติพันธุ์และบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน 4.8 แสนคน, ผู้ลี้ภัยการสู้รบจากเมียนมา ในค่ายพักพิงชายแดน 1 แสนคน และอื่นๆ

จากที่เคยพูดคุยกับคนไทยพลัดถิ่นที่บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ มีคนจำนวนมากที่เคยถือบัตรหมายเลขศูนย์ (บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน) แต่ต่อมากลับถูกจำหน่ายชื่อออกกลายเป็นบุคคลไม่มีเอกสารยืนยันตัวใดๆ

ผู้ได้รับผลกระทบเปิดเผยว่า มีการทุจริตสวมสิทธิชื่อคนอื่นในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับผู้นำท้องถิ่น ซึ่งสร้างความยุ่งยากในกระบวนการขอสัญชาติต่อมา

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการออกบัตรประชาชนให้คนไร้สัญชาตินั้นถือผลประโยชน์มหาศาลของเพื่อนมนุษย์

หากในกระบวนการมีผู้ไม่หวังดีฉกฉวยผลประโยชน์ ผลร้ายคือการรอคอยไม่มีสิ้นสุดหรือการเสียเงินก้อนใหญ่แลกกับสิทธิที่ควรได้

มองย้อนมาถึงทีมหมูป่าที่ยังไม่มีสัญชาติ ไม่ต้องสัญญาว่าจะให้ไปบอลโลก ยังไม่ต้องไปถึงจะให้เป็นนักบอลทีมชาติ เริ่มต้นที่การทำให้เขามีตัวตนในทะเบียนให้มีศักดิ์ศรีเท่าคนอื่น รวมถึงการเร่งพิสูจน์สัญชาติของคนไร้รัฐในประเทศ

ถึงที่สุดแล้ว ทั้งทีมหมูป่า ทั้งคนงานเหมืองชิลีก็ถูกสปอตไลต์จากทั่วโลกสาดส่องในฐานะ “ผู้ประสบภัย” สิ่งที่ควรหยิบยื่นให้ผู้ประสบภัยคือการฟื้นฟูทั้งร่างกาย-จิตใจ ให้ได้รับชีวิตอันเป็นปกติกลับคืนมา ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของคนมักง่ายที่หยิบฉวยกระแส ให้คำมั่นชั่วคราวเหมือนที่ หม่อง ทองดี ประสบมาแล้ว

ดีใจชั่ววันแต่อยู่กับความผิดหวังทั้งชีวิต เมื่อคำสัญญานั้นไม่เป็นจริง และมีแต่คำถามซ้ำไปซ้ำมาว่าได้สัญชาติหรือยัง

ความเป็นจริงหนึ่งคือกระบวนการสืบสัญชาติต้องใช้คนมาก เจ้าหน้าที่งานล้นมือ แต่นี่คือโอกาสสำคัญที่ชี้ให้ภาครัฐเห็นถึงจุดอ่อนของการไม่ดึงศักยภาพในทรัพยากรมนุษย์มาใช้อย่างเต็มที่

ไม่มีใครอยากเห็นการมอบอภิสิทธิ์ให้ทีมหมูป่าหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่คงไม่มีใครอยากเห็นมนุษย์ด้วยกันถูกกีดกันโอกาสตลอดไป

อย่าให้ชีวิตของหมูป่าหรือเด็กไร้สัญชาติคนอื่นๆ ต้องถูกทำลายเพียงเพราะความเชื่องช้าของระบบราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image