ร้อยปีมีคนเดียว คีตกวีลูกทุ่ง ‘ไพบูลย์ บุตรขัน’

มนต์เมืองเหนือ กลิ่นโคลนสาบควาย ชายสามโบสถ์ ตาสีกำสรวล โลกนี้คือละคร น้ำค้างเดือนหก ฝนเดือนหก น้ำท่วม มนต์รักลูกทุ่ง หนุ่มเรือนแพ ฯลฯ

แม้ไม่ใช่คอเพลงลูกทุ่งแต่คนไทยย่อมคุ้นเคยกับผลงานเพลงเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดคนรุ่นหลังต้องร้องเพลง “ค่าน้ำนม” ได้

ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะจดจำได้แต่นักร้อง โดยไม่ทราบว่าเพลงจำนวนมากที่เคยได้ยินเป็น

ผลงานของ ไพบูลย์ บุตรขัน (พ.ศ.2461-2515) นักแต่งเพลงและบทละครผู้ถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะในวงการลูกทุ่ง

Advertisement

ชื่อของไพบูลย์กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเตรียมเสนอชื่อเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยด้านวัฒนธรรมต่อยูเนสโก

ปีนี้ครูไพบูลย์จะอายุครบ 100 ปี สำนักพิมพ์ The Writer’s Secret จึงได้จัดงานรำลึกพร้อมกับเปิดตัวหนังสือ “คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์บุตรขัน” ซึ่งค้นคว้าเรียบเรียงโดย วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา โดยเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 5 ของหนังสือเล่มนี้ นับแต่ปี 2541

Advertisement
สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘เพลงลูกทุ่ง’ สัญญะ ‘ขบถ’

เย็นย่ำที่ร้านเฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์ แว่วเสียงแอคคอร์เดียนครวญเพลง “น้ำค้างเดือนหก” รับผู้ร่วมงานก่อน สุจิตต์ วงษ์เทศ จะร่ายที่มาต้นกำเนิดเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเน้นย้ำชัดว่าเพลงลูกทุ่งเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากล ในวัฒนธรรมป๊อป ซึ่งตอนนั้นแบ่งเป็น “เพลงผู้ดี” กับ “เพลงตลาด”

ชื่อ “เพลงตลาด” หรือ “เพลงชาวบ้าน” ถูกเรียกอย่างเหยียดจากกลุ่มชาวเพลงผู้ดี แต่บางทีก็เรียกกันเองว่า “เพลงชีวิต”

เพลงตลาด สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ต้องการความเปลี่ยนแปลงสู่ความเสมอภาคเท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตยสากล ยุคแรกมีพื้นที่ออกอากาศทางวิทยุไม่มาก จนปี 2507 จำนง รังสิกุล ให้ทำรายการเพลงชาวบ้านออกช่อง 4 บางขุนพรหม แต่โดนต่อว่าจนถอดรายการและต่อมา ประกอบ ไชยพิพัฒน์ เสนอเข้ามาทำแต่เปลี่ยนชื่อเป็นรายการ “เพลงลูกทุ่ง” ทนเสียงต่อว่าไปสักพักจนคนเริ่มหันมาฟัง ส่งผลให้รายการวิทยุและโทรทัศน์อื่นต้องมีเพลงลูกทุ่ง

“ไม่ใช่อยู่ๆ คุณประกอบคิดขึ้นมา แต่เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เศรษฐกิจ การเมือง ทำให้วัฒนธรรมรากของพื้นถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคกลาง รวมตัวอย่างธรรมชาติ แสวงหาพื้นที่ของตัวเอง เพื่อสื่อสารกับตลาดโดยตรง” สุจิตต์กล่าว

ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าเกิดหลังจอมพลสฤษดิ์เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เริ่มต้นสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นำแรงงานจากชนบทโดยเฉพาะภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ส่งผลให้สถานีวิทยุต้องเปิดเพลงชาวบ้าน-เพลงลูกทุ่งตอบสนองผู้ฟัง

ประกอบกับการเกิดขึ้นของ “วิทยุทรานซิสเตอร์” คนหอบหิ้ววิทยุไปได้ทุกที่ ฟังเพลงลูกทุ่งจากสถานีวิทยุได้ในเรือกสวนไร่นา จนเกิดผู้ฟังล้นหลาม

แต่เพลงลูกทุ่งก็ยังไม่ถูกยอมรับจากชาวกรุงกลุ่มเพลงผู้ดี แต่ช่วงสงครามเวียดนาม กลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้า ใช้เพลงลูกทุ่งเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านร่วมกับเพลงร็อกแอนด์โรล การไว้ผมยาวแบบฮิปปี้ เพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านทุนนิยมบริโภค ต่อต้านเผด็จการทหาร ต่อต้านผมเกรียนแบบทหาร

เป็นคลื่นลูกใหม่ที่กระแสเพลงในวัฒนธรรมเมืองเริ่มสั่นคลอน

จน สุรพล สมบัติเจริญ ถูกยิงตายปี 2511 ช็อกคนทั้งประเทศ คนหันมายอมรับเพลงลูกทุ่ง จนเปิดได้ในภัตตาคารและไนต์คลับที่เคยโดนกีดกัน

“เพลงตลาด-เพลงลูกทุ่ง ตั้งแต่ 2480-90 ลงมา ร้องต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องความเสมอภาค เป็นงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ ด้วยชั้นเชิงคีตกวีที่สะท้อนความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองใต้เผด็จการทหาร พรรณนาความงามของชนบท สะท้อนความไม่มั่นใจและไม่มั่นคงต่ออนาคต วงครูบาอาจารย์วรรณกรรมไทยจะต้องพิจารณาเรื่องเนื้อเพลงลูกทุ่ง เพราะวงวรรณกรรมไทยคับแคบ จำกัดเฉพาะวรรณคดีของคนชั้นสูงขุนนางผู้ดี ฉะนั้นน่าจะพิจารณากันใหม่” สุจิตต์กล่าว

จตุพล บุญพรัด, บินหลา สันกาลาคีรี, ยุทธ โตอดิเทพย์
ต้นฉบับเพลงลายมือครูไพบูลย์

ร้อยปีหาคนแบบนี้ได้ยาก

ด้าน ยุทธ โตอดิเทพย์ อดีตนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย มองว่าครูไพบูลย์ถือเป็นปรมาจารย์อาวุโสในวงการ ที่สร้างนักร้องดังหลายคน แต่งเพลงมีสัมผัสด้วยคำศัพท์ไม่ยาก พูดถึงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน มีลีลาสำเนียงเฉพาะตัว

“ใครได้เพลงครูไพบูลย์แล้วดังทั้งนั้น แมน เนรมิตร ได้เพลงเดียวก็ดัง ส่วนที่ตั้งใจปั้น ป้อนเพลงให้จะมี ชาญ เย็นแข, คำรณ สัมบุณณานนท์, นริศ อารีย์, ปรีชา บุญยเกียรติ, รุ่งเพชร แหลมสิงห์, ศรคีรี ศรีประจวบ แต่บางคนยังไม่รู้ว่าผลงานเหล่านี้คืองานครูไพบูลย์ และมีหลายเพลงอยู่ในจิตใจของคนไทยอย่างเพลง ค่าน้ำนม, กลิ่นโคลนสาบควาย”

ยังมีเพลงสำเนียงสุพรรณอย่าง หนุ่มสุพรรณฝันเพ้อ (คำรณ สัมบุณณานนท์) และเพลงที่คล้ายเป็นเพลงแหล่เพลงแรกของไทย คือ ดอกดินถวิลฟ้า (ชัยชนะ บุญนะโชติ)

“…บุญข้าไม่ถึง รักจึงได้เปลี่ยนแปรผัน ทั้งที่เกิดในบางเดียวกันเจ้าไปรับหมั้นคนถิ่นไกล…”

และท่อนแหล่ “…ถึงฟ้าจะล่ม ดินจมสูญลับ ถึงจันทร์จะดับสิ้นสุริยา ความรักยังคงดำรงจำรัส เจ้าจะซื่อสัตย์ต่อคำสัญญา…”

กลายเป็นต้นตำรับเพลงแหล่ จนต่อมามี พร ภิรมย์, ชายเมืองสิงห์ และอีกหลายคน

อีกหนึ่งนักแต่งเพลงที่ยืนยันความสามารถของครูเพลง สมพงค์ ศิวิโรจน์ ผู้แต่งเพลงวงมาลีฮวนน่า เล่าว่าตั้งแต่เด็กตื่นเช้าก็จะได้ยินเพลงครูไพบูลย์ที่ลอยมาจากลำโพงสาธารณะในหมู่บ้าน

“ที่ว่าครูไพบูลย์เป็นเบอร์ 1 ใน 100 ปีนั้น จริงแน่นอน เพลงครูเหมือนฮุกตลอดเวลา ขึ้นต้นให้เราต้องตามไปจนจบเพลง คำสัมผัส คำคม บิงโกเกือบทุกเพลง ไม่มีเฉี่ยวคาง สนองความรู้สึกว่าต้องเป็นคำนี้ สายตาครูไพบูลย์ไม่เหมือนคนทั่วไป มองม่านฝนเป็นม่านน้ำตา เป็นสายตาของคนพิเศษ เช่นแวนโก๊ะ ที่เห็นสายลมเป็นเส้น ร้อยปีก็หาคนแบบนี้ได้ยาก”

สมพงค์ชี้ให้เห็นว่าครูไพบูลย์มีลิ้นชักคำเยอะ ใช้สัญลักษณ์ ฤดูกาล น้ำขึ้นน้ำลง สายลม อย่างรักไม่สมหวัง ครูจะใช้คำที่ทำให้เห็นชัด

“…ห้องจะกลายเป็นรังหนู เรือนหอที่รอรักอยู่ จะกลับเป็นเรือนร้าง ข้าวที่มองเห็น อยู่เต็มฉาง คงเหมือนก้อนดินที่วางอยู่ตามท้องนา…” (เพลงน้ำค้างเดือนหก)

“ผมรับครูมาเต็มๆ การเขียนเพลงต้องมีครูเพลง หาเคล็ดลับตีโจทย์ 5 นาทีต้องน้ำตาร่วงให้ได้ ขึ้นต้นรู้เรื่อง จบเคลียร์และอยากฟังซ้ำ แปลกที่ว่า 100 ปีแต่ภาษาในเพลงยังล้ำสมัย คม ไม่ฟุ่มเฟือย เพลงครูไพบูลย์ควรบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ทรัพยากรมนุษย์ไม่ใช่มะม่วงที่มีทุกหน้า ครูไพบูลย์ร้อยปีมีครั้ง” สมพงค์กล่าว

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (ดำเนินรายการ), สมพงค์ ศิวิโรจน์

สองศิลปินแห่งเชียงราก

ด้านผู้จัดพิมพ์หนังสือ บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนแห่งสำนักพิมพ์ The Writer’s Secret กล่าวว่า ปีนี้ครบ 100 ปี ศิลปินหลายคน คือ เสนีย์ เสาวพงศ์, มงคล อมาตยกุล, นายผี, ไพบูลย์ บุตรขัน และอิงอร ล้วนเติบโตช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นทางการเมือง

“น่าจะมีอะไรที่ทำให้คนพวกนี้เรียนรู้จากความกล้าหาญทางความคิดและความมีสุนทรียะ บ่มเพาะเป็นคนคนหนึ่งในที่สุด เชื่อว่าสังคมไทยวันนี้ก็ไม่ต่างจากเมื่อ 80-90 ปีที่แล้ว น่าจะทำให้คนหนุ่มสาวได้เรียนรู้ เติบโตมีอิสระทางความคิด”

บินหลาก็เติบโตมากับหลายเพลงของครูไพบูลย์และมีชื่อนี้สลักอยู่ในใจ

“ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ (คีตกวีลูกทุ่งฯ) แล้วจะบอกว่ายิ่งใหญ่ก็เป็นคำที่เว่อร์ไป เหมือนคุณบุกเบิกตะวันตกของอเมริกาแล้วเจอทอง เจออะไรที่คนอื่นไม่มีทางเจอ การอ่านเล่มนี้เป็นความปีติ ตัวเราไม่รู้ว่าเราถูกสร้างด้วยครูไพบูลย์จากหลายเพลง”

ส่วน บก.ฉบับพิมพ์ครั้งแรก จตุพล บุญพรัด แห่งแพรวสำนักพิมพ์ เล่าว่า ช่วง 20 ปีที่แล้วเขาจัดพิมพ์งานของวัฒน์เกือบทุกเล่มในนามสำนักพิมพ์แพรว เล่มคีตกวีลูกทุ่งฯนี้ก็ได้ลงภาคสนามด้วยกัน เริ่มจากที่วัฒน์เขียนคอลัมน์ตามรอยลูกทุ่งลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์จนเริ่มค้นคว้าข้อมูล

“วัฒน์และครูไพบูลย์เก่งทั้งคู่ แค่เกิดต่างยุค ในคุ้งคลองเดียวกันที่เชียงราก (ปทุมธานี) วันหนึ่งอาจรู้สึกว่าคนฝีมืออัจฉริยะอย่างครูไพบูลย์เกิดหน้าบ้านแท้ๆ จึงค้นไปมาเป็นงานชิ้นนี้ เขาเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์คนกว่า 30 คน มีเพลงครูไพบูลย์ทุกชุดเปิดฟังในรถวนไปมา ตามอ่านเอกสารวิทยานิพนธ์ที่เขียนเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง หนังสืออ้างอิงเยอะมาก

“คุณวัฒน์ทำงานชิ้นนี้หนักมาก ใช้วิธีแบบนักสืบ ค่อยๆ แกะไปสู่เนื้อเพลงกว่าจะรู้ว่าชีวิตครูไพบูลย์มีปมอะไร มีคนรักกี่คน ทำไมเขียนเพลงนี้ขึ้นมา จากที่มีแค่หนังสืองานศพ วิธีการทำงานไม่น่าเชื่อว่าเป็นสารคดีชีวิต อ่านแล้วเหมือนนิยาย อาจเพราะชีวิตครูไพบูลย์เป็นนิยายในตัว” จตุพลกล่าว

งานนี้แม้ผู้เขียนจะมาไม่ได้ แต่วัฒน์ได้ฝากจดหมายน้อยมา ตอนหนึ่งย้อนความถึงการเปิดตัวครั้งแรกของหนังสือเล่มนี้

“…หวนคิดถึงความสนุกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เปิดตัวหนังสือคีตกวีลูกทุ่ง ที่ริมน้ำแม่กลอง กาญจนบุรี สนุกกันจนรุ่งสางวันใหม่ คุณชูเกียรติ เจ้าของสำนักพิมพ์แพรวและคณะ สนุกจนดึกดื่น วาณิช จรุงกิจอนันต์ สนุกเพียบแประโดยมี เริงไชย พุทธาโร คอยดูแล 20 ปีผ่านไปทั้งสามนามที่เอ่ยมา ไม่สามารถมาสนุกกับเราในวันนี้ได้แล้ว

“ผมยังคิดถึงภาพน้องๆ สนพ.แพรว ช่วนกันทำกองฟาง และนั่งร้อยดอกลั่นทม ดอกลั่นทมเป็นดอกไม้ของกวี ครูไพบูลย์รำพันถึงดอกลั่นทมไว้เป็นสิบเพลง รองลงมาคือดอกพะยอม อันหมายถึงหญิงในชนชั้นต่ำต้อย

“ปรารถนาให้สังคมไทยเสพโสตกับเพลงดีๆ ของครูไพบูลย์ ไม่ใช่แต่ละวันเสพแต่เรื่องโง่เขลา บ้าคลั่ง ทุกข์ยาก เวียนวน ได้ยินแต่ถ้อยคำต่ำช้าของคนเหลิงอำนาจ หรือเจอแต่ขยะไซเบอร์อันหยาบกระด้าง เรามีทรัพยากรบุคลากรทางวัฒนธรรมอุดมสมบูรณ์ทุกด้านเพลง วรรณกรรม จิตรกรรม การแสดง

“คนไทยควรได้เสพสุขกับศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้เยี่ยงอารยชน…”

วัฒน์ วรรลยางกูร ขณะสัมภาษณ์ ทิม อัมระปาล เพื่อนบ้านไพบูลย์ ที่มีศักดิ์เป็นน้าชาย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image