ถอดบทเรียนภารกิจกู้ภัย ‘ถ้ำหลวง’ เรียนรู้อะไรบ้าง ในความไม่พร้อม

เป็นปฏิบัติการกู้ภัยครั้งสำคัญที่สังคมไทยและสังคมโลกให้ความสนใจ

หลังผู้ประสบภัย คือ ทีมนักฟุตบอลเยาวชนสโมสร หมูป่าทีนทอล์ก อะคาเดมี่ จำนวน 13 ชีวิตพลัดหายเข้าไปในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นับตั้งเเต่วันที่ 23 มิถุนายน กระทั่งสามารถช่วยเหลือออกมาได้ในวันที่ 10 กรกฎาคม

ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดคงไม่เกิดขึ้นหากขาดองค์ประกอบสำคัญอย่าง ความเสียสละจากประชาชนและชาวบ้านในพื้นที่ ยอมให้เจ้าหน้าที่ปล่อยน้ำที่สูบจากถ้ำลงในพื้นที่นา และประชาชนที่คอยบริการรับส่ง แจกจ่ายเสบียงอาหารและสิ่งของจำเป็น

ยังมีองค์กรเอกชนและภาคการศึกษา ที่ให้ความช่วยเหลือทั้งทางตรงเเละทางอ้อม เช่น การนำนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์มาช่วยเหลือในปฏิบัติการครั้งนี้

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ เจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือหน่วยซีล รวมถึงคณะแพทย์ เเละผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งในไทยเเละต่างประเทศ ร่วมปฏิบัติการ

ซึ่งทั้งหมดสะท้อนภาพความสามัคคีจากเพื่อนมนุษย์นับหมื่นชีวิต ที่ไม่มีคำว่าเชื้อชาติมาขวางกั้นตลอดระยะเวลา 18 วันในการค้นหา รักษา และนำผู้ประสบภัยทั้งหมดออกมา

Advertisement

เปิดปฏิบัติการกู้ภัยบน ‘ความท้าทาย’

ย้อนกลับไปในวันแรกที่พบว่าเด็กเเละโค้ชหายตัวไปในถ้ำหลวง สิ่งที่ท้าทายที่สุดในช่วงเวลานั้นคือตามหาทั้ง 13 ชีวิต พร้อมความหวังว่าพวกเขาทั้งหมดยังคงปลอดภัยอยู่ภายในถ้ำ

จากนั้นเมื่อทีมดำน้ำจากอังกฤษพบตัวทีมหมูป่าที่เนินนมสาวความท้าทายที่สุดในตอนนั้น คือการนำตัวทุกคนออกมาให้ได้ ซึ่งไม่ใช่งานง่ายเลย เพราะขนาดเจ้าหน้าที่หรือหน่วยซีลเองยังเข้าไปถึงจุดนั้นอย่างยากลำบาก

ในเวลานั้นมีการประเมินทางออกของเยาวชนทีมหมูป่า ด้วย 2 วิธีการหลัก คือ 1.การนำตัวออกมาตามช่องทางถ้ำปกติ 2.การเจาะถ้ำจากด้านบน แต่ต้องรู้พิกัดที่ชัดเจนก่อน

ดังนั้น ทีมขุดเจาะถ้ำ จากสายงานธรณีวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่ถูกเรียกตัวมาในขณะนั้น ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจได้มีการเปิดเผยการทำงานของทีมขุดเจาะผ่านวงเสวนา ที่ระบุถึงความยากและง่ายของภารกิจ

ด้านหนึ่งทีมขุดเจาะต้องเจออุปสรรคสำคัญ อย่างสภาพอากาศ อีกด้านหนึ่งยังต้องประสบปัญหาเรื่องข้อจำกัดของอุปกรณ์ เช่น เฮลิคอปเตอร์ในภารกิจนี้ไม่สามารถขนย้ายปั๊มลมที่มีน้ำหนักถึง 3.5 ตันได้ ทำให้ต้องแยกชิ้นส่วนที่ถอดได้ เช่น นำล้อออก แต่ก็ทำให้เสียสมดุลอาจเป็นอันตรายต่อการขนย้ายกลางอากาศ นอกจากนี้ยังต้องใช้กำลังคนแบกอุปกรณ์เดินเท้าขึ้นภูเขาที่มีความชันถึง 50 องศาและมีความสูงกว่าหลายร้อยเมตร

ปฏิบัติการร่วมครั้งแรกของ ‘วิศวกร-นักธรณีวิทยา’

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกทีมธรณี-วิศวะ ได้พูดถึงภารกิจนี้ไว้ว่า ในต่างประเทศอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่นักธรณีวิทยาจะได้มาทำงานกับวิศวกร แต่ไม่ใช่กับประเทศไทยที่มีกรณีนี้เป็นเคสแรก ส่วนการทำงานอาจเรียกได้ว่าภารกิจถ้ำหลวงเป็นปฏิบัติการค่อนข้างลับที่มีอุปสรรคในการทำงานอยู่มาก แม้แต่ความกดดันจากสังคมก็มีผลต่อการทำงานของหน่วยปฏิบัติการได้ทั้งสิ้น

“สำหรับกรณีนี้ แรงกดดันจากสังคมมาจากความไม่รู้ของคนที่รับข่าวสาร เช่น คำถามที่ว่าทำไมถึงยังไม่สามารถนำตัวเด็กออกมาได้แม้จะมีแผนผังภายในถ้ำปรากฏตามสื่ออย่างชัดเจน แต่ในทางวิศวกรรมเมื่อคำนวณระยะทางในพื้นที่จริงแล้วกลับห่างกันหลายกิโลเมตรทีเดียว”

อีกความกังวลของสังคมที่มาพร้อมคำถามว่า “การขุดเจาะครั้งนี้จะเกิดผลกระทบหรือไม่”

เจตต์ จุลวงษ์

เจตต์ จุลวงษ์ นักอุทกธรณีวิทยา อธิบายประเด็นนี้ว่า ในส่วนที่หลายคนคิดว่ามันอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศหรืออาจทำให้ดินถ้ำถล่มนั้น ตามหลักแล้วโครงสร้างทางธรณีวิทยาของภูเขาถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมีความยาวกว่า 10 กม. ถ้าพูดกันตามจริงแล้วการเจาะถ้ำก็เหมือนเอาเข็มไปเจาะบนภูเขา เพราะเขาเจาะกันเป็นรูขนาดเล็กไม่มีทางที่จะทำให้ระบบนิเวศเสียหายได้อยู่แล้ว

เจตต์ยังอธิบายถึงมุมมองด้านอุทกธรณีวิทยาว่า โดยปกติถ้ำธรรมดาทั่วไป ถ้าน้ำเข้ามาก็ต้องไหลไป เเต่สภาพของถ้ำหลวงเป็นถ้ำหินปูน มีลักษณะเป็นรูโพรงเหมือนฟองน้ำ ทำให้น้ำไหลซึมเข้ามาได้ง่ายและเร็ว นอกจากนี้เมื่อน้ำเข้ามาและมันออกไปไหนไม่ได้ เพราะในถ้ำเป็นหลุมยุบและเกิดการทรุดตัวเยอะ

ทั้งหมดเป็นอุปสรรคที่ทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก

‘จิตอาสา’ บุคคลเบื้องหลัง ช่วยขับเคลื่อนปฏิบัติการ

ไม่เพียงเบื้องหน้าที่ปฏิบัติการด้วยความท้าทายเท่านั้น

แต่เบื้องหลังการช่วยชีวิต 13 หมูป่า ก็มีเรื่องราวท้าทายเเละเหตุการณ์ที่น่าจดจำอยู่ไม่น้อย

รัตนกรณ์ โต๊ะหมัด ผู้สื่อข่าวออนไลน์ เป็นหนึ่งในจิตอาสาที่ใช้ช่วงเวลาว่างระหว่างการทำงานเข้ามาช่วยประกอบอาหารส่งเป็นเสบียงให้เจ้าหน้าที่

“ทุกๆ หน้าที่มีความสำคัญเหมือนกัน แต่อาจอยู่ในระดับความรับผิดชอบที่ต่างกัน ถ้าไม่มีคนเก็บขยะ พื้นที่นี้ก็จะสกปรก ถ้าไม่มีคนล้างห้องน้ำ เวลาใครๆ จะเข้าไปทำธุระก็ลำบาก ฉะนั้นทุกหน้าที่ ไม่ว่าซีลหรือจิตอาสา ต่างมีจุดหมายเดียวกัน คือ ทุกคนอยากจะช่วยให้น้องๆ ออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย ผมเป็นสื่อไม่สามารถที่จะดำน้ำไปช่วยน้องๆ ได้ เลยคิดว่าการที่ทำกับข้าวก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้หน่วยซีลได้มีแรงไปช่วยน้องๆ ออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย”

เป็นมุมมองจาก รัตนกรณ์ ที่ทำให้เขามุ่งมั่นอย่างมากในการทำหน้าที่ “จิตอาสา” ให้ดีที่สุด

“ผมมองว่าคนไทยก็คือคนไทย ต่อให้จะมีเหตุการณ์อะไรก็จะเห็นแบบนี้ตลอด ว่านี่แหละคือคนไทย บางทีคนที่อยู่ทางบ้านอาจไม่เห็นว่าตรงนี้เป็นยังไง ทุกๆ คนที่นี่มีน้ำใจ บางคนมาจากบนเขา บางคนมาจากใต้เพื่อมาเป็นจิตอาสา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ”

รัตนกรณ์ โต๊ะหมัด

ภารกิจถ้ำหลวง เป็น ‘มิสชั่น อิมพอสซิเบิล’

สำหรับอาสาสมัครแต่ละคนต่างมีความเชี่ยวชาญในด้านที่ตัวเองถนัดไม่เหมือนกัน

ดังเช่น สุธี สมมาตร และสมาชิกชมรมนักปีนหน้าผาชาวกระบี่รวมทั้งหมด 15 ชีวิต ได้ใช้ความสามารถในการขุดเจาะและหย่อนตัวลงไปในโพรงหินเพื่อหาทางช่วยเหลืออื่นนอกจากจะเข้าทางปากถ้ำ

สุธี สมมาตร

“มันเป็นภารกิจที่ยากตามคำของพ่อเมือง ที่มันเป็นภารกิจ ‘มิสชั่นอิมพอสซิเบิล’ (ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้) ด้วยความยากมากเราไม่รู้เลยว่าจะไปเจออะไรบ้าง แต่ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ที่มีเพื่อให้รู้ว่าแต่ละโพรงนั้นจะไปต่อได้หรือไม่ หรือโพรงที่เข้าไปจะทะลุไปหาน้องที่เนินนมสาวได้หรือเปล่า เพราะถ้ำหลวงใหญ่โตมาก”

สุธียังเผยความในใจหลังภารกิจของตัวเองสำเร็จลุล่วงด้วยเสียงสั่นเครือจากความซาบซึ้งในน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ทั่วทุกสารทิศด้วย

“เมื่อภารกิจสำเร็จ เราต่างรู้สึกดีใจ มันยอดเยี่ยมมาก ในสถานการณ์นี้เรารวมใจกันเป็นหนึ่ง ทั้งในไทยและต่างประเทศ เหมือนกับท่อน the world will be as one ในเพลง imagine ที่ได้ร้องไป คือทั้งโลกรวมเป็นหนึ่ง จะชาติไหน ประเทศไหนเราเป็นคนเหมือนกัน”

ปิดฉากภารกิจ หลัง 13 หมูป่าออกจากถ้ำ

เชื่อว่าคนไทยและคนทั่วโลกรู้สึกยินดีไม่ต่างกัน หลังได้รับคำยืนยันว่า 13 ชีวิตหมูป่า “ปลอดภัย” เป็นที่เรียบร้อย

และสิ่งที่ทุกคนอยากรู้เหมือนกัน คือ “รายละเอียด” และ “เบื้องลึก” ของเหตุการณ์ ซึ่งคนจะออกมาพูดได้ดีที่สุด แน่นอนว่าต้องเป็นโค้ชเเละสมาชิกในทีมหมูป่านั่นเอง

แต่เนื่องจากกลัวว่าจะกระทบต่อจิตใจของเด็ก จึงมีการกำชับจากหลายหน่วยงานไม่ให้ “สื่อมวลชน” สัมภาษณ์เด็ดขาด

จากนั้นมีการตั้งโต๊ะแถลงโดยนำทั้ง 13 ชีวิต พร้อมแพทย์และหน่วยซีลมาสัมภาษณ์พร้อมกันผ่านรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” โดยให้สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติส่งคำถามล่วงหน้าเพื่อตรวจสอบว่าคำถามเหมาะสมหรือไม่ แต่ก็หนีไม่พ้นประเด็นดราม่าเกี่ยวกับตัวผู้ดำเนินรายการในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้อยู่ดี (คลิกอ่าน : ฉบับเต็ม! เปิดใจ 13 หมูป่า ในรายการเดินหน้าประเทศไทย ตอน “ส่งทีมหมูป่ากลับบ้าน”)

และดูเหมือนว่าจะมีดราม่าหลังจากช่วยเหลือ 13 หมูป่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่ามี “สื่อต่างชาติ” เดินทางไปสัมภาษณ์หนึ่งในสมาชิกทีมหมูป่าถึงบ้านพัก ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำที่พึงกระทำหรือไม่ เพราะมีการประกาศออกมาชัดเจนแล้วว่าห้ามสื่อเข้าไปสัมภาษณ์เด็กเป็นการส่วนตัว จากนั้นมีการสั่งห้ามผู้ปกครองไม่ให้มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีก

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญ สำหรับการนำเสนอข่าวเเละการควบคุมการนำเสนอข่าวในอนาคต

ขณะเดียวกันหลายหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ได้ออกมาเปิดตัว พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านการเสวนามากมายหลายสิบเวที บางเวทีเองก็ให้ข้อมูลในเชิงลึกถึงรายละเอียดต่างๆ ของปฏิบัติการซึ่งเป็นเรื่องใหม่เเละน่าสนใจ ในขณะที่บางเวทีเหมือนการมองย้อนกลับไปฉายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้มีส่วนที่ทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงอันตรายจากภัยธรรมชาติได้ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับหมูป่าที่ผ่านมา ได้สร้างองค์ความรู้ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะความตื่นตัวเรื่องภัยธรรมชาติเเละการเอาชีวิตรอดเมื่อต้องเจอกับภัยธรรมชาติ

ขณะเดียวกันยังกระตุ้นให้เกิดมาตรการป้องกันขึ้นในถ้ำสำคัญอีกหลายแห่ง อย่างเช่นการปิดถ้ำที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำมาก รวมถึงการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้ ออกมาใช้ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

สำหรับ “มหากาพย์ถ้ำหลวง” เป็นเรื่องยาวที่นอกจากจะเป็นภารกิจกู้ภัยระดับโลก ที่รวบรวมวิทยาการดีที่สุดมารวมอยู่ในประเทศไทย ยังได้มอบบทเรียนสำคัญกับสังคมไทยอีกมากมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image