เปิดตำนาน ‘นครพระกฤษณ์’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องนครปฐม ถอดรหัสจารึกวัดศรีชุม จากปากคำ ‘ฝรั่งคลั่งสยาม’

ถือเป็นอีกหนึ่งตอนที่มีสีสันฉูดฉาดอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ประจำเดือนกรกฎาคม ซึ่งออกอากาศไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ ในตอน “เมืองนครปฐมโบราณ ใหญ่สุดนับพันๆ ปีมาแล้ว”

นั่นเพราะเนื้อหาข้นคลั่กสไตล์สองกุมารสยามที่ไม่ต้องนิยามอะไรกันมากมาย ไหนจะข้อมูลประวัติศาสตร์ โบราณคดี อีกทั้งยังมีนิทาน ตำนานแสนสนุกที่ผูกโยงกับชื่อบ้านนามเมืองในท้องถิ่น ซ้ำชวนฟินไปอีกระดับกับการรำลึกถึง “ไมเคิล ไรท์” ฝรั่งอังกฤษผู้เปิดโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยด้วยการถอดรหัสศิลาจารึกวัดศรีชุม ยุคสุโขทัย ที่เกี่ยวเนื่องแน่นหนักกับเมืองนครปฐมแห่งนี้

เปล่าเลย! ไม่ได้เปิดรายการที่พระปฐมเจดีย์ดังเช่นโปรแกรมท่องเที่ยวทั่วไป หากแต่เริ่มต้นที่ “คลองพญากง” ริมถนนซึ่งรถราขวักไขว่ กระทั่ง เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรเจ้าเก่า อดถามไม่ได้ว่าทำไมมาชิลกัน ณ จุดนี้

คลองพญากง แท้จริงคือคูเมืองนครปฐมโบราณ คาดว่าถูกขุดขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1000 ปัจจุบันทางจังหวัดกำลังสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง คาดแล้วเสร็จต้นเดือนกันยายน 2561

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังมาก ตอบทันควันเหมือนจะรู้ว่าต้องถูกตั้งคำถาม โดยระบุว่า คลองนี้นั้นหนาสำคัญยิ่งนัก เพราะเป็น “คูเมืองนครปฐมโบราณ” ขุดขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่หากดูตามหลักฐานโบราณคดี คาดว่าคงมีอายุราว 1,500 ปีมาแล้วโน่น สำหรับชื่อคลองพญากง ตั้งตามนิทานท้องถิ่นเรื่อง พญากง พญาพาน

Advertisement

“เมืองนครปฐมโบราณอยู่ระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับท่าจีน ไม่มีกำแพง มีแต่คูน้ำ เสมือนว่าเป็นเมืองท่าใกล้ทะเลที่สุด ขนานจากของตะวันออกถึงตะวันตก 3 กม. จากเหนือลงใต้ 2 กม.ครึ่ง ใหญ่สุดในอุษาคเนย์เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว คำถามคือทำไมใหญ่ คำตอบคือเพราะไม่เล็ก การค้าต้องมั่งคั่งมาก ไม่งั้นสร้างเมืองใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้ ในสมัยโบราณนครปฐมเป็นศูนย์กลางเส้นทางคมนาคมของลุ่มเจ้าพระยาฟากตะวันตก เอกสารจีนเรียกเมืองนี้ว่า หลั่งยะสิว ในตำนานเรียกเมืองศรีวิชัย ส่วนชื่อนครปฐมเป็นชื่อใหม่สมัยรัชกาลที่ 6” สุจิตต์เล่า

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน เสริมว่า สมัยยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เคยมาสำรวจเมืองนครปฐมโบราณพร้อม ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม โดยตัวเองมีหน้าที่จดบันทึกรายงานการสำรวจว่าพบอะไรบ้าง ทุกวันนี้ยังจำที่ตั้งของสถานที่และร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีได้เป็นอย่างดี แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 50 ปีแล้ว

เมืองร้าง วัดไม่ร้าง
ต่อเติมซ่อมสร้าง ‘พระประโทณเจดีย์’

จากนั้นทั้งคู่พยักหน้าชวนกันไปเที่ยวต่อที่ “วัดพระประโทณ” อันเป็นที่ตั้งของ “พระประโทณเจดีย์” ศาสนสถานเก่าแก่ยุคทวารวดี ต่อมามีคนศรัทธา สร้างเสริมเป็นยอดปรางค์ซึ่งในสมุดภาพไตรภูมิยุคกรุงศรีอยุธยาก็วาดเจดีย์แห่งนี้เป็นยอดปรางค์แล้ว

Advertisement

“เจดีย์องค์นี้เดิมเรียกว่าอะไรไม่รู้ ปัจจุบันเรียกพระประโทณเจดีย์ ได้ชื่อจากนิทานเรื่องโทณพราหมณ์ ซึ่งเป็นพราหมณ์ที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุได้อย่างสันติ นอกจากนี้นิทานพญากง พญาพาน ยังบอกว่าพญากงสร้างพระประโทณเจดีย์ล้างกรรมที่ฆ่ายายหอม เพราะโกรธที่ไม่บอกความจริงว่าตนเป็นโอรสพญากง ทำให้ฆ่าพ่อตัวเองโดยไม่รู้ จึงสร้างพระปฐมเจดีย์อุทิศให้พ่อ” สุจิตต์เล่า แล้วย้ำว่าในช่วงเวลาที่เมืองนครปฐมโบราณร้างไป แต่ศาสนสถานต่างๆ ไม่ได้ร้างไปจากความทรงจำของผู้คน หลักฐานในวรรณคดีชี้ชัดว่าได้รับการสักการะตลอดมาไม่ขาดสาย ซ้ำยังได้รับการปฏิสังขรณ์ให้งดงามรุ่งโรจน์อีกด้วย

กราบสักการะพระประโทณแล้วเสร็จ ก็มาถึงอีกหนึ่งช่วงสำคัญ นั่นคือมื้อกลางวัน ซึ่ง ขรรค์ชัย รีเควส “ข้าวหมูแดง” ร้านดัง พร้อมเล่าถึงการเดินทางในอดีต

“สมัยก่อนนั่งรถไฟหวานเย็นมานครปฐม ออกเช้ามืดจากสถานีบางกอกน้อย กว่าจะถึงก็ 2 ทุ่ม ถ้านั่งรถเมล์ก็เจอถนนลูกรัง ปลูกมะขามเทศ 2 ข้างทาง ยุคนั้นมีขนมจีนน้ำยาชามละบาท กินจนอิ่ม อร่อยมาก เดี๋ยวนี้ต้องกินข้าวหมูแดงซึ่งเป็นของขึ้นชื่อ” ขรรค์ชัยเล่า แล้วสั่งข้าวหมูแดง หมูกรอบเต็มโต๊ะ จากนั้นแวะจิบกาแฟ เครื่องดื่มประจำตัวของ สุจิตต์ อีกหนึ่งรายการนอกเหนือจากชาจีน (เครื่องดื่มชนิดอื่น เลิกแล้ว)

พระปฐมเจดีย์ ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรก แต่เป็นมหาธาตุหลวงยุคทวารวดีมีความสำคัญไม่เคยร้าง (ภาพมุมสูงจากโดรน มติชนทีวี)
อนุสาวรีย์พญากง ใกล้กับวัดพระปฐมเจดีย์ทุกวันนี้ผู้คนยังมากราบไหว้ บวงสรวง

พระปฐมเจดีย์ ‘ขอมเรียก พระธม’

ชาร์จแบตด้วยเมนูหลากหลายจนร่างกายกระฉับกระเฉงแล้ว ก็พร้อมไปต่อกันที่อภิมหาอันซีนโลเกชั่น นั่นคือ ลานกว้างทางทิศใต้ของพระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีแค่คนในพื้นที่เท่านั้นจึงจะรู้

“ปกติเวลามาพระปฐมเจดีย์จะเห็นตึกรามบ้านช่องเต็มไปหมด มองไม่เห็นองค์พระทั้งองค์ แต่ตรงนี้ดีที่สุด เห็นกว้างและเต็มองค์ ปัจจุบันเป็นที่ดินเอกชน” สุจิตต์บอก แล้วไม่รอช้า วกเข้าประเด็นประวัติศาสตร์ทันที

“พระปฐมเจดีย์อยู่นอกเมืองโบราณทางด้านตะวันตก การมีพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่นอกเมืองชี้ให้เห็นว่า ก่อนที่คนสมัยนั้นจะสร้างเจดีย์ตรงนี้ สถานที่นี้ต้องสำคัญมากๆ มาก่อนที่จะมีชุมชน จารึกวัดศรีชุมบอกว่า สถานที่ตรงนี้คือพระมหาธาตุหลวง ขอมเรียกพระธม ธม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่ ต่อมาสมัยอยุธยา คนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปเรียกว่า ประธม ที่แปลว่านอน สุนทรภู่ก็เรียกพระประธม คือพระนอน”

เล่ายังไม่ทันจบ ฝนลงเม็ดปรอยๆ เลยเปิดจีพีเอสย้ายโลเกชั่นไปยังด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สักการะพระพุทธรูปศิลาขาวนั่งห้อยพระบาทยุคทวารวดี ซึ่งมีถึง 4 องค์ องค์หนึ่งอยู่ที่ลานด้านหน้าพระปฐมเจดีย์ องค์หนึ่งอยู่ในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ อีก 2 องค์ อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร และ พช.เจ้าสามพระยา

“พระพุทธรูปองค์นี้เดิมอยู่ที่วัดพระเมรุ ถัดออกไปทางใต้ใกล้ถนนเพชรเกษมที่ผ่ากลางเมืองโบราณนครปฐม ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ทำภาพสันนิษฐานวัดนั้นออกมา จะเห็นว่าพระพุทธรูปอยู่ในซุ้ม 4 ทิศ 4 องค์”

ว่าแล้ว โชว์ภาพสันนิษฐานโดยเจ้าพนักงานถือแผนที่รายเดิม ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสุจิตต์เคยบอกว่า ถ้าเปลี่ยนคนถือ เดี๋ยวตัวเองจะชี้ไม่ถูก!

จากซ้าย สุจิตต์ วงษ์เทศ, ธัชชัย ยอดพิชัย, ขรรค์ชัย บุนปาน และเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการ ขณะทอดน่องและสักการะ “พระประโทณเจดีย์”

ไมเคิล ไรท์ มาจากไหน?

ปิดท้ายทริปนี้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุเลอค่ามากมาย ขรรค์ชัย กางร่มเดินชมโกลนพระพุทธรูปและชิ้นส่วนสถูปอย่างเพลินใจ แล้วมานั่งพักสบายๆ ใต้ร่มไม้ใหญ่ คุยกับสุจิตต์ถึงเพื่อนรักอีกคนอย่าง “ไมเคิล ไรท์” ผู้ล่วงลับ เจ้าของฉายา “ฝรั่งคลั่งสยาม” ที่ทิ้งผลงานระดับตำนานไว้ในแวดวงโบราณคดีไทยด้วยการตีความจารึกวัดศรีชุม

“ไมเคิล ไรท์ เป็นชาวอังกฤษ แต่ไม่ชอบอยู่บ้าน หนีไปอยู่ลังกาไม่ต่ำกว่า 3 ปี แล้วมากรุงเทพฯบวชเป็นพระ พอสึกก็ทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ แปลข่าวเศรษฐกิจ วันดีคืนดี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชวนมากินเหล้ากับผม บอกว่าฝากที วันๆ พูดแต่เรื่องจารึก

ก่อน 14 ตุลาฯ นักปราชญ์ทั้งประเทศอ่านจารึกวัดศรีชุมแล้วบอกไม่รู้เรื่อง คนทำจารึกเลอะเทอะ ต่อมา ผมให้ไมเคิล ไรท์ เขียนเรื่องจารึกหลักนี้ลงในศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ พ.ย.21 เขาบอกว่าเนื้อหาเป็นประวัติของมหาเถรศรีศรัทธา หลานพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด เป็นขุนศึกสุโขทัย รบหลายเมืองชนะหมด อายุ 31 ออกบวชธุดงค์ไปพระธาตุต่างๆ ไปอยู่ลังกา 10 ปี จนได้เป็นสังฆราชลังกา นักปราชญ์โต้ว่า ไมเคิล ไรท์ เพี้ยน เขาก็ไม่โกรธ เขียนอธิบายเหตุผลจนเสียงค้านชักอ่อน นักปราชญ์ที่เคยโต้เริ่มหยุดแต่ไม่ได้ยอมรับ” สุจิตต์เล่าเพลิน โดยมีขรรค์ชัยนั่งยิ้มอยู่ข้างๆ

ว่าแต่ที่เล่ามา เกี่ยวอะไรกับนครปฐม?

“ก็ตอนที่มหาเถรศรีศรัทธานั่งเรือกลับมาจากลังกาขึ้นบกแถวตะนาวศรี ผ่านช่องสิงขร มาเพชรบุรี ราชบุรี แล้วมาประชุมคนที่ในจารึกใช้ว่า คนฝูงดี ปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหลวงที่ขอมเรียกพระธม ทั้งหมดนี้คือเรื่องของพระปฐมเจดีย์ก่อนรัชกาลที่ 4 ธุดงค์มาพบ”

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ “มติชน” กางร่มชมชิ้นส่วนสถูปบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์

จารึกนี้ยังมีอีกหนึ่งคำสำคัญ อย่าง “นครพระกฤษณ์” ซึ่งเดิมนักโบราณคดีไทยเชื่อว่าอยู่ในอินเดีย แต่ไมเคิล ไรท์ บอกว่าคือนครปฐมต่างหาก เนื่องจากนครพระกฤษณะก็คือทวารวดี

ยังจบทริปไม่ได้ ถ้ายังไม่ย้อนมาแงะเงื่อนปมที่มาที่ไปของพญากง พญาพาน นิทานพื้นบ้านที่แท้จริงแล้วอิมพอร์ตจากคัมภีร์สันสกฤต

“นิทานพญากง พญาพาน เป็นเรื่องปมอิดิปุส ปมฆ่าพ่อ มาถึงไทยเป็นพญากง พญาพาน คำถามคือมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ไมเคิล ไรท์ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหม ว่ามหาเถรศรีศรัทธาเอามาเล่า ถามว่าอายุ 31 ทำไมบวช มันต้องเกิดวิกฤตสักเหตุการณ์ อาจเป็นอุบัติเหตุที่เป็นปมในใจ จึงเชื่อว่ามหาเถรทำให้พ่อตายเลยออกบวชให้พ่อ แล้วเอานิทานเรื่องนี้มา” สุจิตต์สรุป

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาระเน้นๆ จากรายการคุณภาพซึ่งได้รับคอมเมนต์สดๆ จากผู้ชมผ่านหน้าเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ และข่าวสดอย่างถล่มทลาย เน้นย้ำประวัติศาสตร์ไทยไม่น่าเบื่อ เมื่อหลุดจากความเชื่อและกล้าตั้งคำถามถึงถ้อยความในตำราเรียนที่คุ้นเคย

ทอดน่องเพลินจนเป็นตะคริว ขอเวลายืนพักด้วยแอ๊คชั่นส่วนตัว
(อดีต) สองกุมารสยาม แวะจิบกาแฟยามบ่ายเติมพลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image