ดินดี-น้ำพอเหมาะ เคล็ดลับ ‘ทุเรียนภูเขาไฟ’ ของดีส่งตรงจาก ‘ศรีสะเกษ’

กว่าหลายศตวรรษที่ “ทุเรียน” ถูกเพาะปลูกอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยความเป็นผลไม้ที่มีเอกลักษณ์ด้านรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัว จึงทำให้ทุเรียนเป็นผลไม้ยอดนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนที่นำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุกปี

ปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้เกษตรกรแห่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคใต้ ยังมีภาคเหนือตอนล่างอย่าง จ.อุตรดิตถ์ ก็มีการปลูกด้วย

ขณะที่ภาคอีสานก็เริ่มมีการปลูกทุเรียน เเละล่าสุดกำลังมีทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ จดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นถูกขนานนามว่า “ทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ”

Advertisement

ทุเรียนภูเขาไฟ ได้รับความนิยมมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความพิเศษเพราะมีเฉพาะใน 3 อำเภอ คือ อ.ขุญหาญ อ.กันทรลักษ์ และ อ.ศรีรัตนะ ซึ่งได้รับใบอนุญาตสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือเป็นสินค้า GI

และถูกจำกัดอยู่ใน 3 สายพันธุ์เท่านั้น คือหมอนทอง ชะนี และก้านยาว แต่พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากสุดคือ หมอนทอง ซึ่งมีจุดเด่นที่พูสวย เนื้อสีทอง เปลือกบาง แกะง่าย เมล็ดลีบ รสชาติดี กรอบนอก นุ่มใน หวานมัน และกลิ่นไม่ฉุน ราคาขายปลีกอยู่ที่ 120-150 ต่อ 1 กิโลกรัม แต่ก็ขึ้นอยู่กับเกรดที่แตกต่างกันออกไป

เหตุที่ต่อท้ายด้วยคำว่า “ภูเขาไฟ” เพราะปลูกบนพื้นดินที่อุดมไปด้วยหินบะซอลต์ จากภูเขาไฟ มีลักษณะเป็นดินสีแดงเด่นชัด ซึ่งมีคุณสมบัติให้แร่ธาตุอาหารแก่พืชสูง หน้าดินลึก ระบายน้ำได้ดีและสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืชได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหินภูเขาไฟกระจายอยู่ทั่วไปเป็นหย่อมๆ ในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ แต่จะรวมตัวกันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่อยู่ใน 3 อำเภอ

ว่ากันตามจริงแล้วภายในจังหวัดศรีสะเกษก็มีการปลูกทุเรียนมานานแล้วกว่า 30 ปี แต่พึ่งจะมาโด่งดังทั่วโลกเอาช่วงนี้ ภายใต้ชื่อทุเรียนภูเขาไฟ บวกกับราคาทุเรียนในระยะ 2-3 ปีนี้ที่พุ่งสูงขึ้น เกษตรกรภายในจังหวัดศรีสะเกษจึงแห่กันโค่นยางพาราเพื่อปลูกทุเรียนกันเป็นแถวๆ เฉพาะภายในเขต อ.กันทรลักษ์ ก็มีการขยายพื้นที่ปลูกจาก 2,400 ไร่เป็น 4,400ไร่ เพิ่มขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

แต่ก็อย่าลืมว่าข้อจำกัดของการปลูกทุเรียนคือจำเป็นต้องใช้น้ำมากและสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงต้องมีแหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตรอย่างมั่นคง อย่าง อ่างเก็บน้ำห้วยทา ใน อ.ขุญหาญ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานศรีสะเกษ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุ 30 ล้าน ลบ.ม.ที่มีความสำคัญต่อพืชผลการเกษตรตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เฉพาะแก่ทุเรียนเท่านั้น

ห้วยน้ำทาสายน้ำหล่อเลี้ยงเกษตรกร
แอปพลิเคชั่น ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ
เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์

เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานระบุว่า ข้อดีด้านระบบฝายของอ่างเก็บน้ำห้วยทา คือเป็นตัวกักน้ำเอาไว้เพื่อส่งต่อน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญเข้าสู่พื้นที่ของเกษตรภายใน อ.ขุญหาญ ก่อนมีระบบอ่างเก็บน้ำนั้น น้ำมาเท่าไหร่ก็ผ่านไปเท่านั้น ไม่มีการกักเก็บไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งทำให้ทุเรียนขาดน้ำ ดังนั้นน้ำจึงเป็นสมบัติที่มีค่ามหาศาล พอมีแหล่งน้ำที่มั่นคง ก็ไม่แปลกที่เขาจะหันมาปลูกทุเรียน

“ส่วนใน อ.กันทรลักษ์ กำลังจะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุงขนาดใหญ่ที่กักเก็บได้ถึง 40 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่การเกษตรประมาณ 42,000 ไร่ ลองคิดเล่นๆ ดูว่าขนาด อ.กันทรลักษ์ยังไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำแต่เกษตรกรก็หันไปเตรียมปลูกทุเรียนภูเขาไฟ แล้วถ้ามีน้ำมากขึ้นเพียงพอต่อการปลูก ศรีสะเกษคงกลายเป็นแหล่งค้าขายส่งออกทุเรียนที่สำคัญของประเทศไทยก็เป็นแน่”

เมื่อมีจุดเด่นที่สร้างขึ้นมาไม่เหมือนใคร ศรีสะเกษจึงมีการจัดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ อาเซียนเทรดแฟร์ 2561” ช่วงเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเปิดการเจรจาทางการค้าเเละการลงทุน ซึ่งชาวสวนตัวจริงจะนำสินค้าการเกษตรมาจำหน่ายกันสดๆ จากสวนทั้ง เงาะ ลิ้นจี่ มังคุด ฯลฯ รวมถึงทุเรียนภูเขาไฟที่เป็นตัวชูงาน

สุชิน ตันสิงห์ อายุ 36 ปี เจ้าของสวนทุเรียนหมอนทองภูเขาไฟใน อ.กันทรลักษ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนภูเขาไฟว่า โดยปกติระยะเติบโตของทุเรียนตั้งแต่ลงดินจนถึงติดผลครั้งแรกก็จะใช้เวลาประมาณ 6 ปี ถ้าต้นสมบูรณ์ดีแค่ 5 ปีก็จะออกผล ซึ่งก่อนหน้านี้ที่อำเภอไม่ค่อยมีคนปลูกทุเรียนเท่าไหร่ แต่เราเป็นยุคแรกเริ่มถ้านับกันจริงๆ ก็ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ที่ราคาทุเรียนยังไม่ราคาดีขนาดนี้ ปกติใช้น้ำจากบ่อใต้ดินที่ขุดเอาเอง ในสวนพื้นที่ 5 ไร่ พอถึงฤดูติดผลจนพร้อมตัดขายได้ราคาต่อไร่ก็หนึ่งแสนบาท

“ในงานเทศการมีบริษัทสินค้าบริโภคเอกชนชื่อดังมากมายเข้ามาติดต่อทำสัญญากับสวนทุเรียนต่างๆ ส่วนที่สวนของตนก็มีเหมือนกันที่มาเซ็นสัญญาด้วย เขาเอายามาให้ฉีด เอาปุ๋ยมาให้ลง และก็รับซื้อทุเรียนภูเขาไฟเราไปส่งออกขาย ทำให้เรามีรายได้ที่มั่นคง” สุชินกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการปลูกกันมากขึ้น แต่ปัจจุบันทุเรียนก็ยังเป็นผลไม้ที่มีความต้องการสูงและและยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเเทบไม่เพียงพอ

แต่ก็ต้องยอมรับว่ากระแสน้ำกำลังไหลเชี่ยวแต่ก็มีบางคนเอาเรือมาขวาง เพราะผ่านมาหลายปีมีเกษตรกรหลายคนที่ไม่มีความรู้ในการปลูกทุเรียน แต่ดันตัดทุเรียนอ่อนนำมาวางขายกันเกลื่อนตลาด สร้างชื่อเสียให้กับทุเรียนภูเขาไฟอย่างมากมาย ซึ่งทางจังหวัดศรีสะเกษก็มีมาตรการแก้ไขด้วยการขึ้นทะเบียนกับทุเรียนภูเขาไฟภายใน 3 อำเภอและใช้ฉลาก QR Code สแกนผ่านแอพพลิเคชั่นชื่อว่า “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” เพื่อตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าทุเรียนภูเขาไฟนี้เป็นสวนของเกษตรกรรายใด และคืนเงินให้ในทุกกรณีที่พบว่าทุเรียนมีปัญหาด้านคุณภาพ

แต่ต้องเป็นทุเรียนที่สั่งจากสวนที่ขึ้นทะเบียนกับจังหวัดเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image