เยือน ‘เขมราฐ’ แดนอีสานใต้ เจาะอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านบันทึกบนลายผ้าทอมือ

อิ้วฝ้าย

ผ้าทอทุกผืนย่อมมีเรื่องเล่า จากจุดตั้งต้นที่มาของวัตถุดิบ ผ่านกระบวนการแต่ละขั้นตอน ไปจนกระทั่งได้ออกมาเป็นชิ้นงาน กระนั้นกับผ้าบางชิ้นใช่ว่าจะสิ้นสุดเพียงนั้น กรณีที่เป็นผ้าสำคัญของคนในตระกูล เป็นมรดกที่มอบกันต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น

เช่นเดียวกับที่มาของผ้าลาย “นาคน้อย” ที่ “ป้าติ๋ว” ธนิศฐา วงศ์ปักสา ประธานกลุ่มทอผ้าฝ้ายแท้ทอมือ นำเอาภูมิปัญญาการทอผ้ามัดหมี่จากบรรพบุรุษมาทำให้แพร่หลาย โดยได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2553 ไม่เพียงเป็นการต่อยอดประกอบธุรกิจ แต่ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอีสาน เล่าขานตำนานความเชื่อของคนแถบลุ่มน้ำโขงผ่านลวดลายบนผ้าทอ เป็นเสน่ห์ที่ชวนให้ค้นหา

“ผ้าลายนาคน้อย เป็นลายพญานาคซ้อนกันและเป็นลายที่โด่งดังที่สุด หมายถึงสิ่งลี้ลับ มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเมืองเขมราฐหนาวและมืดอึมครึมผิดปกติ นาคาได้แปลงกายเป็นมนุษย์ที่สะสวยขึ้นจากแม่น้ำมาขอยืมฟืนจากยายคนหนึ่งเพื่อไปทอผ้า โดยนางได้ขอยืมฟืนไปเป็น 5 วันแล้วจะนำมาคืน เมื่อครบ 5 วันแม้ว่าเมืองเขมราฐจะกลับมามืดและหนาวเย็นอีกครั้ง แต่คราวนี้นางนาคกลับมาในชุดสไบผ้าซิ่นลายนาคน้อย พร้อมกับฟืนในมือ สวยงามจนยายต้องเอ่ยถามถึงลวดลายบนผ้าซิ่น นางนาคจึงขอให้ยายทอผ้ามัดหมี่ลายนาคน้อย และให้พร 3 ประการว่า หากผู้ใดครอบครองผ้ามัดหมี่ลายนี้ก็จะมีอายุยืน ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองสงบไม่เกิดสงคราม”

เรื่องเล่าจากป้าติ๋วดูเหมือนจะเป็นเพียงนิทานพื้นบ้าน แต่สิ่งหนึ่งที่ป้าติ๋วยืนยันว่าเป็นจริงคือ ลาย “นาคน้อย” ที่เป็นหนึ่งใน 14 ลวดลายเก่าแก่มีปรากฏในบันทึกของบรรพบุรุษที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน

Advertisement

บางลายยังเป็นลายผ้าเฉพาะตัวของแต่ละตระกูลที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาเช่น “ผ้าลายหมากไม” ของ ปรียามาศ พวงพันธ์ ที่เป็นลายโบราณประจำตระกูลซึ่งเกิดจากการ “ฟั่น” หรือเอาฝ้ายต่างสีมาทอด้วยกันจนเกิดเป็นลายซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับสืบต่อกันมาและยังเป็นลายเฉพาะ กลุ่มสตรีพัฒนา

ปรียามาศบอกว่า กลุ่มสตรีพัฒนา เป็นกลุ่มถักทอผ้าฝ้ายอีสานพื้นบ้านที่มีสมาชิกซึ่งเป็นเกษตรกรและแม่บ้านทั้งหมด 30 คน โดยเริ่มจากกลุ่มรำวงย้อนยุค ความต้องการที่จะสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมประกอบกับใช้เวลาให้เกิดประโยชน์จึงเริ่มศึกษาการถักทอผ้าแล้วได้ทำต่อเรื่อยมาจนกระทั่งเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว

ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม ปรียามาศบอกอีกว่า ถ้าเป็นสมัยก่อนทุกบ้านก็ยังทอผ้าใส่กันเองก็ทำสืบทอดกัน เพราะได้เห็นมาจากพ่อแม่ก็เอามาทำต่อ แต่เดี๋ยวนี้คนเขาไม่นิยมทำใส่กันแล้ว จึงคิดว่าถ้าเราไม่ทำสักวันหนึ่งมันก็จะสูญหายไป ซึ่งการทอผ้าแต่ละประเภทก็มีความยากง่ายต่างกันขึ้นอยู่กับผ้าผืนนั้นเป็นผ้าประเภทอะไร ถ้าเป็นผ้ามัดหมี่หรือผ้าย้อมครามจะมีกรรมวิธีที่ยากและต้องใช้เวลา

Advertisement

ปรียามาศ

สำหรับการสร้างลวดลายบนผ้า ซึ่งเรียกว่า การ “มัดหมี่” นั้น มีวิธีทำโดยใช้เชือกฟาง (เดิมใช้เชือกกล้วย) มัดบนเส้นฝ้ายเพื่อสร้างลายบนผ้าก่อนจะนำไปย้อมคราม หลังจากปล่อยให้แห้งแล้ว เมื่อแกะเส้นเชือกออก ส่วนที่ไม่ถูกน้ำครามย้อมจะปรากฏเป็นลาย สำหรับนำไปสู่กระบวนการทอผ้าตามปกติ

นั่นเป็นส่วนของการ “มัดลาย” ทว่ากว่าที่ผ้าฝ้ายจะกลายมาเป็นผ้ามัดหมี่เพื่อการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าชุดสวยนั้นต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมาย ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 เดือนกว่าจะสามารถเก็บดอกนำมา “อิ้ว” เพื่อให้เมล็ดฝ้ายหลุดออก แล้วนำไป “ดีด” ให้ฟูตีให้แตก ก่อนจะนำมา “ล้อ” จนเป็นปอยฝ้าย แล้ว “เข็น” เป็นเส้น จากนั้นจึงนำมา “เปีย” หรือเรียงเส้นฝ้ายให้ยาวต่อกัน ซึ่งระหว่างกระบวนการนี้จะต้องมีการแช่ในน้ำข้าวสุกเพื่อให้เส้นฝ้ายแข็งแรงและตากแดดให้แห้ง จึงนำไปสร้างลำผ้าและมัดหมี่โดยต้องดึงให้แน่นเพื่อกันน้ำครามซึมถูกฝ้ายซึ่งจะทำให้ลายไม่สวย

ทั้งนี้ การย้อมครามก็ต้องย้อมวันละครั้งจนครบ 8 วัน ตากแดดอีก 2 วัน นำมาล้างอีก 7-8 น้ำจึงจะตัดเชือกฟางเพื่อนำมาใส่กรงปั่นในกระบวนการทอผ้า โดยการจะให้ผ้ามีความยาวผืนละ 2 เมตร ต้องใช้ฝ้ายถึง 1,400 เส้นไม่ขาดไม่เกิน เบ็ดเสร็จต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ จึงจะได้ผ้ามัดหมี่ที่สนนราคาผืนละ 1,500 บาท ทำเอาไม่กล้าต่อรองราคากันเลยทีเดียว

ต้นฝ้าย
เข็นฝ้าย

นี่เองคือความพิถีพิถัน เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา แม้ว่าลวดลายที่ได้จะได้สวยคมเป๊ะเหมือนกับงานพิมพ์ผ้า แต่ลวดลายที่แตกต่างกันจากการ “ทำมือ” ด้วย “หัวใจ” ในแต่ละผืนนั้นให้คุณค่าที่ประเมินไม่ได้

ขณะเดียวกันสีย้อมผ้าที่ใช้ล้วนเป็นสีจากธรรมชาติ อาทิ สีแดงจากแก่นต้นฝาง นอกจากนี้ก็ยังมีสีจากเปลือกไม้ชนิดอื่น เช่น เปลือกต้นกระโดน ใบหูกวาง ใบย่านาง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาชุมชนเพื่อยกคุณภาพชีวิตโดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตเดิมที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในสังกัดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดให้ชุมชนเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่นำร่องเขตการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้

ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนรวมถึงประชาชนที่ต้องพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image