‘สะใภ้เจ้า’ กับภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับหม่อมเอลิซาเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา (นางสาวเอลิซาเบธ ฮันเตอร์) ในวันเสกสมรส วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2481 (ภาพจากแคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

วันหนึ่งเมื่อสมาชิกในครอบครัวเติบโตขึ้น ก็ถึงเวลาที่จะต้องเปิดรับ “สมาชิกใหม่” อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเขย, หรือสะใภ้ ที่พ่อแม่แต่ละบ้านต่างๆ ก็แอบลุ้นอยู่ว่าคนที่ลูกเราเลือกมาจะถูกชะตากับตนเองหรือไม่

ครอบครัวใดมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง แรงกดดันก็จะมีมากขึ้นตาม เพราะการแต่งงานของคนสองคน ไม่ใช่เรื่องของเขาและเธออีกต่อไป แต่มีผลกระทบต่อใครอีกหลายคน

วีระยุทธ ปีสาลี ค้นคว้าเอกสารกว่า 50 รายการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเขียนบทความชื่อ “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล” ลงใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2561

สะใภ้เจ้า คือสตรีที่แต่งงานมีสามีเป็นเจ้านายตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ด้วยสถานะของ “สะใภ้” มีผลต่อทางการเมือง สตรีที่มาเป็นสะใภ้เจ้าแต่เดิมจึงมักเป็นระดับเจ้านายเช่นกัน จากนั้นก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นบรรดาบุตรสาวของบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นขุนนางราชสำนักหรือพ่อค้า การแต่งงานดังกล่าวจึงเป็นการใช้ระบบเครือญาติที่ช่วยเสริมสถานภาพแก่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แล้วพัฒนาไปสู่การแต่งงานกับสามัญชนที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ

Advertisement

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สืบเนื่องจากอิทธิพลของโลกตะวันตกที่แพร่ขยายมายังสยาม, การไปศึกษาในต่างประเทศของเหล่า “เจ้าชาย” ที่ทำให้ทรงมีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างขึ้น ฯลฯ หากพระมารดา (ที่เป็นเจ้านายฝ่ายใน) ก็ยังทรงพยายามเลือก “สะใภ้” จากบรรดาเจ้านายฝ่ายในด้วยกัน เช่น

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงหมายพระเนตรเจ้านายฝ่ายในที่ถูกพระราชหฤทัยไว้ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระองค์ เช่น ทรงหมายพระเนตรพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวิลัยลักษณา (พระธิดาองค์กลางในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี) ให้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดถึงกับมีพระราชปรารภว่า “จะเลี้ยงหญิงกลางให้เป็นควีน”

แม้ “สะใภ้เจ้า” ที่เป็นเจ้านายฝ่ายในจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่โปรดให้พระราชโอรสเสกสมรสกับพระขนิษฐาต่างพระมารดาเฉกเช่นที่เคยมีมาแต่เดิม สะใภ้หลวงของรัชกาลที่ 5 ทุกพระองค์จึงเป็นพระธิดาของพระอนุชาในพระองค์ นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น

Advertisement
(ซ้าย)พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณา (ภาพจาก https://th.wikipedia.org), (ขวา)หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก ชายาชาวรัสเซียในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ภาพจาก แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

หากปรากฏการณ์ใหญ่ที่โจษจันไปทั่วคือ หม่อมคัทรินชายาชาวรัสเซียในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ สะใภ้เจ้าต่างชาติที่ทำให้พระราชชนกพระราชชนนีทรงผิดหวังและพิโรธเป็นอย่างมาก เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ของการสืบราชสันตติวงศ์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สะใภ้เจ้าต่างชาติเริ่มมีเพิ่มขึ้น เช่น พ.ศ.2454 หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา หม่อมชาวรัสเซียในหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่, พ.ศ.2455 หม่อมเอลิซาเบธ รังสิต ณ อยุธยา หม่อมชาวเยอรมันในพระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์

(ซ้าย)หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา (นางสาวลุดมิลา เซียร์เกเยนา บาร์ซูโควา) หม่อมชาวรัสเซียในหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ (ภาพจาก แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม), (ขวา)หม่อมเอลิซาเบธ รังสิต ณ อยุธยา (นางสาวเอลิซาเบธ ชาร์นแบร์เกอร์) หม่อมชาวเยอรมันในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ภาพจาก ไปเมืองนอกครั้งแรก)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายทำการสมรสกับสตรีต่างชาติได้ แต่ก็ใช่ว่าจะโปรดนัก พ.ศ.2457 พระองค์ทรงให้ร่างประกาศการสมรสของพระบรมวงศานุวงศ์กับชาวต่างชาติความตอนหนึ่งว่า

“เพราะเหตุที่พระบรมวงษานุวงษ์เปนผู้ที่ได้รับพระมหากรุณา โดยพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เปนพิเศษ จึงทรงถือเอาพระเกียรติยศ ซึ่งดำรงอยู่ในตำแหน่งราชกุลปัตถัมภ์แสดงพระราชนิยมห้ามไว้ว่า

อย่าให้พระบรมวงษานุวงษ์ ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าลงไปจนถึงหม่อมเจ้า อันเสด็จประทับอยู่ในเมือง ต่างประเทศไปแต่งงานกับชนชาวต่างประเทศก่อนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถ้าท่านพระองค์ใดฝ่าฝืนขืนกระแสทำผิดต่อพระราชนิยมนี้จะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ มีการขังไว้ที่กรมสนมพลเรือนเปนอย่างเบา”

หลังประกาศนี้ออกมาเจ้านายที่จะสมรสกับชาวต่างชาติหลายคู่ต่างขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ดังเช่น พ.ศ.2480 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช กับนางสาวซีริล เฮย์คอค, พ.ศ.2481 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับนางสาวเอลิซาเบธ ฮันเตอร์, พ.ศ.2489 หม่อมเจ้าสนิธประยูรศักดิ์ รังสิต กับนางสาวอเมเลีย มอนตาลตี ฯลฯ

นอกจาก “สามัญชนต่างชาติ” แล้วยังมี “สามัญชนไทย” อีกจำนวนหนึ่ง ที่ได้เป็น “สะใภ้หลวง” โดยในรัชกาลที่ 5 มีเพียง 2 คนที่ได้รับการรับรองสถานะให้เป็นสะใภ้หลวง คือ 1.หม่อมชื้น ประวิตร ณ อยุธยา (กัลยาณมิตร) ในพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม 2.หม่อมชื้น สุริยง ณ อยุธยา (บุนนาค) ในพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์

โดยพื้นฐานครอบครัวของหม่อมทั้งสองนั้นต่างเป็นญาติสนิททางเจ้าจอมมารดาของเจ้านายทั้งสองพระองค์ และยังเป็นธิดาของขุนนางคนสำคัญ แสดงให้เห็นว่าสะใภ้สามัญชนที่ได้เป็นสะใภ้หลวงย่อมมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางชาติตระกูลกับราชสำนัก

(ซ้าย)หม่อมชื้น ประวิตร ณ อยุธยา (กัลยาณมิตร) ในพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (ภาพจาก จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์-พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย), (ขวา)หม่อมชื้น สุริยง ณ อยุธยา (บุนนาค) ในพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธ์

ในรัชกาลที่ 6 หม่อมที่เป็นสามัญชนชาวไทยที่สำคัญคือ 1.หม่อมแผ้ว ณ นครราชสีมา (ต่อมาคือท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี) ชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา 2.หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (ต่อมาคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ชายาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

หม่อมทั้งสองนี้ต่างมิได้มีบิดาเป็นขุนนาง, มิได้เป็นเครือญาติใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ แต่ก็ได้รับพระราชทานตราตั้งให้เป็น “สะใภ้หลวง” ซึ่งไม่ใช่ว่าสะใภ้เจ้าทุกคนจะได้

เฉพาะ “สะใภ้เจ้า” ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “สะใภ้หลวง” หรือ “ชายาเอก” จะต้องได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ซึ่งแบ่งว่าพระสะใภ้หลวงที่เป็นพระองค์เจ้าจะได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) ส่วนสะใภ้หลวงที่เป็นหม่อมเจ้า, สามัญชน จะได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ถ้าไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์รับรองก็มีฐานะเป็นเพียงหม่อมห้าม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา กับชายา หม่อมแผ้ว ณ นครราชสีมา (ต่อมาคือท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี) (ภาพจาก จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์-พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย)

ปัญหาของเรื่อง “สะใภ้” ยังส่งผลกระทบต่อการครองราชสมบัติอีกด้วย เช่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่มีพระมเหสีและพระราชโอรสธิดา จึงทรงพระราชดำริเรื่องการตั้งรัชทายาทไปพลางก่อน โดยมีพระราชดำริจะตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ก็เกิดเสียงคัดค้านจากพระญาติวงศ์และเหล่าเสนาบดี

เหตุผลก็คือการมีชายาเป็นชาวต่างชาติ และพระโอรสที่ไม่ได้เกิดจากหญิงไทย

ปัญหาการลำดับราชสันตติวงศ์ยังดำรงอยู่ เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชโอรส พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการถึงเสนาบดีเรื่องสันตติวงศ์ว่า

“ถ้าถึงเวลาที่ข้าพเจ้าล่วงลับไป, แม้ข้าพเจ้าไม่มีบุตร์ชาย, ข้าพเจ้าขอมอบให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาสืบสันตติวงศ์…”

พระองค์ทรงเลือกพระอนุชาองค์สุดท้อง โดยข้ามพระราชนัดดา 2 พระองค์ เพราะเกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์, ขุนนาง และประชาชน ด้วยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงมีหม่อมมารดาเป็นชาวต่างชาติ และพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชทรงมีหม่อมมารดาเป็นสามัญชนและมิได้เป็นสะใภ้หลวง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยจากทั้งหมดที่ท่านสามารถอ่านได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม”

เพราะยังมีเรื่องราวอีกหลายมุมที่ไม่ค่อยมีใครใคร่กล่าวถึง เช่น มุมมองจากครอบครัวและญาติพี่น้องของ “สะใภ้แหม่ม” ในอดีตว่ามีรู้สึกอย่างไรที่ลูกสาว, หลานสาวของตนจะแต่งงานกับเจ้าชายไทยไปอยู่ในดินแดนที่ไกลโพ้น, สถานภาพของสะใภ้เจ้า หรือพระมารดาที่มีผลต่อเจ้านายพระองค์น้อยในอนาคต ฯลฯ ซึ่ง “สะใภ้เจ้า” จะสะท้อนภาพให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (ภาพจาก 100 ปี สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุช)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image