กางกฎเหล็ก ‘บินโดรน’ จากผู้บังคับอากาศยาน สู่นักบิน และการสอยร่วง

ความพยายามลอบสังหาร นายนิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ด้วย โดรนติดระเบิด 2 ลำ ขณะร่วมพิธีสวนสนามของกองทัพช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจัดขึ้นในกรุงการากัส ไม่ประสบผลสำเร็จก็จริง

แต่เหตุดังกล่าวได้สร้างความเสียหาย พร้อมทิ้งรอยแผลแก่ทหาร 7 นาย ส่วนท่านผู้นำรอดตายหวุดหวิด

เว็บไซต์เดลีเมลรายงานว่า โดรนทั้ง 2 ลำ เป็นโดรน M600 ลำหนึ่งชนเข้ากับอพาร์ตเมนต์ ส่วนอีกลำถูกกองทัพยิงทำลายจนสิ้นซาก

ไม่ว่าใครจะอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการนี้ ทว่า เหตุการณ์ดังกล่าวช่วยชี้ชัดว่า การโจมตีโดยอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ที่บังคับจากระยะไกลไม่เคยลดน้อยหายไปแต่อย่างใด

Advertisement
คลิปวิดีโอจากเว็บเดอะซันเผยนาทีกองทัพยิงทำลาย “โดรนติดระเบิด” หลังพยายามลอบสังหารนายนิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ขณะร่วมพิธีสวนสนามในกรุงการากัส
ผู้นำเวเนซุเอลาเหลือบมองบนท้องฟ้าหลังมีโดรนระเบิดระหว่างพิธีสวนสนามของกองทัพในกรุงการากัส (AFP PHOTO/VENEZUELAN TELEVISION)

เมื่อไม่นานมานี้ กองทัพอากาศ (ทอ.) ได้จัดเสวนา DRONE/UAV ในห้วงอากาศ ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน โดยมีตัวแทนจาก ทอ., สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชนร่วมพูดคุย

พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง

แม่ทัพฟ้า พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ.เปิดเผยว่า ทางการทหารใช้โดรนมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะสร้างขีปนาวุธ ถล่มตึก รวมถึงการส่งซัพพลายให้สถานีอวกาศ ISS

เพียงแต่ห้วง 10 ปีที่ผ่านมา โดรนถือเป็นเทคโนโลยีที่ไหลสู่ภาคประชาชนอย่างรวดเร็ว สร้างความตระหนกใหญ่หลวงต่อการกำกับดูแลของภาครัฐทุกชาติทั่วโลก

Advertisement

ที่ผ่านมา นอกจากจะใช้ “โดรน” เป็นเครื่องมือทางทหาร เศรษฐกิจ และสังคมแล้ว โดรนยังสร้างปัญหาการคุกคามสิทธิเสรีภาพเนื่องจากถือเป็นอากาศยานตามนิยามของพระราชบัญญัติการเดินอากาศ จึงต้องทำให้โดรนถูกกฎหมายและเกิดประโยชน์แก่ภาคเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน

ขณะที่ทางการทหาร “โดรน” ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ไม่ว่าจะปัญหาจารกรรม ก่อการร้าย หรือเฝ้าสังเกตโดยละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ทำให้ในปัจจุบันมีการพัฒนา ระบบต่อต้านโดรน ขึ้นตามลำดับ

แต่ยิ่งโดรนก้าวหน้าหรือเพิ่มการคุกคามมากเท่าไหร่ ระบบต่อต้านก็จะก้าวหน้าให้เท่าทันกันเป็นเรื่องปกติ

แน่นอนว่า ระบบต่อต้านโดรนมีตั้งแต่ซอฟต์คิลเลอร์ ฮาร์ดคิลเลอร์ รวมทั้งวางกำลังตรวจการด้วยคนแล้วเข้าจับกุมผู้ทำผิดกฎหมาย

ไม่ได้ห้ามบินโดรน แต่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย

เดิมที “โดรน” เกิดจากทหารเป็นผู้ออกแบบ ก่อนจะพัฒนาสำหรับใช้ค้นหา ลาดตระเวน หาข่าว หรือรองรับภารกิจอื่นๆ

ขณะที่ข้อดีของโดรนมีอยู่มากมาย ทว่า เมื่อเสริมอาวุธ ติดกล้อง ขึ้นบินในพื้นที่ห้ามบิน ก็สร้างอันตรายใหญ่หลวงได้เช่นเดียวกัน

แน่นอนว่า กองทัพอากาศไทยไม่ได้ห้ามบินโดรน แต่ผู้บังคับต้องบินให้ถูกต้องตามกฎหมาย และห้ามขึ้นบินในพื้นที่ห้ามบินเท่านั้น

พล.อ.ต.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ บอกว่า ทอ.มองใน 3 บริบทหลักคือ 1.ด้านความมั่นคง ในลักษณะป้องกันภัยจากฝ่ายตรงข้ามที่อาจใช้อุปกรณ์ติดอาวุธ เซ็นเซอร์ หรือกรณีที่ผู้ประสงค์ร้ายทำการละเมิดต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน

2.ด้านความปลอดภัย ทั้งต่อการบิน เช่น การบินโดรนในพื้นที่ห้ามบิน ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยแก่บุคคลสำคัญ

และบริบทสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นกว้างขวาง และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว นั่นคือ “การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล” ไม่ว่าจะนำโดรนติดกล้องแล้วบินถ่ายภาพไปเรื่อยๆ การบินรบกวนเวลาพักผ่อน รวมถึงการสูญเสียการควบคุมจนโดรนตกใส่บุคคลที่สาม

พล.อ.ต.ธนศักดิ์ เมตะนันท์

ทั้งหมดนี้ทำให้กองทัพอากาศจำเป็นต้องทำให้การบินโดรนเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งกฎหมายควบคุมโดรน หรือกฎหมายควบคุมระบบควบคุมโดรนอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับ โดรนที่ทำผิดกฎหมาย ทอ.จะเริ่มจากการพิสูจน์ว่ากระทำผิดประการใด ได้จดทะเบียนหรือบินในพื้นที่ห้ามบินหรือไม่ เมื่อพิสูจน์ทราบว่า “ผิด” จะทำการ ต่อต้าน หรือสอยร่วง เรียกง่ายๆ คือ ยิงตก โดยหน่วยบัญชาการอากาศโยธินเป็นผู้รับผิดชอบจัดหายุทโธปกรณ์ในการต่อต้าน

เช่น บินภายในเขต 9 กิโลเมตรในระยะสนามบิน เจ้าหน้าที่จะทำการต่อต้านด้วยอาวุธอันใดอันหนึ่ง อาทิ ยิงแจมเมอร์ ยิงความถี่ไปรบกวนการบิน หรือยิงปืนที่มีกระสุนจริง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ต.ธนศักดิ์ให้การยืนยันว่า การต่อต้านโดรนต้องคำนึงถึงบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีพื้นฐานความปลอดภัยเป็นหลัก ตลอดจนการต่อต้านโดรนต้องคำนึงถึงกฎหมายด้วยว่าต่อต้านอย่างไรถึงจะถูกต้อง

ง่ายที่สุดคือ ขึ้นทะเบียนผู้บังคับอากาศยานโดรน

คำจำกัดความของอากาศยานไร้นักบิน หรือโดรนนั้น ปรีดา ยังสุขสถาพร รอง ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า เป็นคำที่มีมาอย่างยาวนาน ราวปี ค.ศ.1920-1930 โดยทหารควบคุมอากาศยานไร้นักบินสำหรับฝึกซ้อมพลแม่นปืน เพื่อต่อสู้ทางอากาศยานสมัยสงครามโลก

ชื่อของอากาศยานไร้นักบินคือ “บี” หรือ “ควีนบี” แต่ด้วยเสียงดังหึ่งๆ ทำให้ได้นิกเนม “โดรน” จนเรียกติดปากมานับแต่นั้น

ทว่า ชื่ออย่างเป็นทางการของโดรนตามมาตรฐานสากลองค์การการบินพลเรือนคือ Unmanned Aerial Vehicle หรือ ยูเอวี

ส่วนนิยามในกฎหมายตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ 2497 ระบุว่า เครื่องทั้งสิ้นที่ทรงตัวอยู่ได้บนอากาศ โดยปฏิกิริยาแห่งอากาศ ยกเว้นแต่ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงคมนาคมราว 6-7 ประเภทที่ไม่ใช่อากาศยาน อาทิ เครื่องร่อน

ขณะที่โดรนจัดเป็น “อากาศยาน” เนื่องจากทรงตัวอยู่ในอากาศได้ จึงต้องมีการกำกับและควบคุมความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลสูงสุด

แม้จะเป็นอากาศยานไร้นักบิน แต่โดยพฤติการณ์แล้ว ปรีดามองว่าผู้บังคับโดรนเสมือน นักบิน คนหนึ่ง เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในอากาศยานเท่านั้น โดยผู้บังคับโดรนต้องอยู่ในกติกาสากล ต้องเข้าใจทั้ง 13 ภาคผนวก (Annex) ของไอเคโอ (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) ต้องเข้าใจกฎจราจรทางอากาศกฎการบำรุงรักษา ต้องส่งแผนการบิน ต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ใช้งานได้ติดตัว รวมถึงต้องมีประกันภัยต่อบุคคลที่สาม วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท/ครั้ง

แน่นอน ผู้บังคับโดรนไม่ได้พร้อมขนาดนั้น

ฉะนั้น ควรเริ่มจากวิธีการที่ง่ายที่สุดด้วยการ ขึ้นทะเบียนผู้บังคับอากาศยานโดรน โดย กพท.จะดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้บังคับอากาศยานโดรน และ กสทช.จะขึ้นทะเบียนขออนุญาตใช้คลื่นความถี่

หากไม่ขึ้นทะเบียนผู้บังคับอากาศยานโดรน จะมีทั้งความผิดในเงื่อนไขไม่จดทะเบียน มีโทษทางอาญาคือจำคุก ถือว่าทำการบินโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือแม้จะมีใบอนุญาต แต่ทำการบินโดยผิดเงื่อนไข จะมีโทษปรับ 50,000 บาท หากเป็นโทษที่ไม่มีใบอนุญาต ปรับ 40,000 บาท ทั้งนี้ เพราะเป็นโทษที่ยอมความได้ จึงให้มีการเปรียบเทียบปรับได้

เพจไข่แมวx วาดภาพล้อเลียน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล สมัยปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน โดยถามหา “ใบอนุญาตบิน” จากเจ้าหน้าที่บังคับโดรน

ขณะเดียวกัน โดรนมีตัวประกอบของวิทยุสื่อสาร นั่นคือรีโมตคอนโทรล ทำให้ กสทช.กลายเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องความถี่และกำลังส่งของเครื่องตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม ไปตามระเบียบ

สมศักดิ์ สิริพัฒนากุล ผอ.สำนักการอนุญาตและกำกับเครื่องวิทยุคมนาคม กสทช. ระบุว่าประเทศไทยได้กำหนดความถี่ที่ใช้ควบคุมและส่งข้อมูลกับยูเอวี/ยูเอเอส ดังนี้ ความถี่ 2.4 กิกะเฮิร์ตซ์ และความถี่ 5.7-5.8 กิกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ไวไฟในบ้าน รวมถึงความถี่ 433 เมกะเฮิร์ต โดยกำหนดว่ากำลังส่งแต่ละย่านต้องไม่เกินเท่าใด เพื่อป้องกันการกระทบกับไวไฟบ้าน หรือรบกวนสัญญาณรถไฟฟ้า

โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ควบคุมโดรนจำนวนมากมาจากเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2558 มีผู้บังคับ

สมศักดิ์ สิริพัฒนากุล

โดรนสูญเสียการควบคุม จนโดรนไปตกบนสนามหญ้าทำเนียบขาว ที่พักและสถานที่ทำงานของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ความวุ่นวาย ต้องตั้งระบบรักษาความปลอดภัยทำเนียบขาวให้หนาแน่นขึ้น

ในประเทศที่ไม่ค่อยประสบปัญหาการใช้โดรนอย่างญี่ปุ่น ทำให้กฎเกณฑ์น้อยกว่าหลายๆ ประเทศ แต่ไทยกลับมีปัญหาในระดับใกล้เคียงอเมริกา ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ออกมาควบคุมความเป็นระเบียบ ไม่สร้างความเดือดร้อนหรืออันตรายแก่ผู้อื่น

ในฐานะที่ กสทช.รับผิดชอบการขึ้นทะเบียนขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ ผู้ครอบครองโดรนสามารถขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานใหญ่ กสทช., กพท., สำนักงาน กสทช.ระดับภาคหรือระดับเขต หรือสถานีตำรวจได้ทั่วประเทศ

กรณีบุคคลใช้เพียงบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ครอบครอง ซีเรียลนัมเบอร์โดรน และภาพถ่ายโดรน สำหรับร้านค้าต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงของผู้ครอบครอง บัญชีแสดงรายการโดรน และภาพถ่ายโดรน

ดูเหมือนว่า การทำให้โดรนเป็นเรื่องถูกกฎหมายไม่ได้เป็นเรื่องยากจนเกินไป


 

 

บินโดรนให้ถูกวิธี หลีกหนีการ ‘ต่อต้าน’

ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 หรือราว 3 ปีที่แล้ว

ตอนหนึ่งในประกาศดังกล่าวได้ชี้แจงเงื่อนไขระหว่างทำการบิน ระบุว่า ห้ามบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น

ห้ามบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม เขตจำกัด และเขตอันตรายตามทีป่ ระกาศในเอกสารแถลงข่าวการบนิ ของประเทศไทย รวมทั้งสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่

แนวการบินขึ้นลงของอากาศยานต้องไม่มีสิ่งกีดขวางผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบิน

บินระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก โดยสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน

ห้ามบินภายในระยะ 9 กม. หรือ 5 ไมล์ทะเลจากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต

ห้ามละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

และอีกมากมาย โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ www.caat.or.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image