เปิดโลกวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีภาคอีสาน ยุคนี้ต้อง ‘ดิจิทัล’

ผลจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันเกิดขึ้นมากมาย

สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ “มนุษย์” มีความผูกพันกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสังคมเมือง ยิ่งผูกติดอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนเเทบเเยกออกจากกันไม่ได้ ตื่นเช้าขึ้นมา แม่บ้านต้องประกอบอาหารบนเตาแก๊ส เมื่อออกนอกบ้านก็ต้องอาศัยยานพาหนะ ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ในเเทบทุกบ้านจะมีวิทยุหรือโทรทัศน์เพื่อความบันเทิง มีตู้เย็น มีเครื่องซักผ้าเพื่ออำนวยความสะดวก มีเครื่องปรับอากาศไว้ลดความร้อน มีคอมพิวเตอร์ไว้เพื่อติดต่อสื่อสารหรือติดตามข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต

อาจกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนเมืองเเทบทุกย่างก้าว

Advertisement

สำหรับประเทศไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีกระบวนการและเป้าหมายการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญ รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ให้เกิดความตื่นเต้น เเละสร้างแรงบันดาลใจในด้านนี้

อย่างงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่จัดขึ้นโดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 11 ปีเเล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2549 นับเป็นครั้งเเรกที่กระทรวงวิทย์ ได้ริเริ่มจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้น โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจ กระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนคนไทย ตื่นตัวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

Advertisement

และเพื่อเป็นการกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนและประชาชนในเขตพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึง จึงได้มอบหมายให้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค” ทั้ง 4 ภูมิภาคขึ้น

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาคประจำปี 2561” ที่ผ่านมา จัดขึ้นที่จังหวัดขอนเเก่น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมของคนไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วยการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาส การเข้าถึงเเละร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศในภาคอีสานด้วยนิทรรศการเเละนวัตกรรมมากมาย

เมื่อมีโอกาสได้ร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯครั้งนี้ไม่พลาดเก็บไฮไลต์เด็ดของงานอย่างโซน นิทรรศการยุคนี้ต้องดิจิทัล (Digital Now) ที่มีการนำเสนอวิวัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โซนนี้ประชาชนเเละเยาวชนยังได้สัมผัสความล้ำสมัยเเละความก้าวหน้าของ “เจ้าโรโบเทสเปียน” หุ่นยนต์อัจฉริยะที่มากความสามารถ ซึ่งออกแบบโดยบริษัท เอ็นจิเนียอาร์ต จำกัด ประเทศอังกฤษ

สำหรับ “เจ้าโรโบเทสเปียน” เป็นหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ มีความสูง 175 เซนติเมตร และหนัก 33 กิโลกรัม มีลักษณะเหมือนมนุษย์จนแทบแยกไม่ได้ โดยรุ่นแรกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ.2548 ปัจจุบันได้พัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 3 โดยมีลักษณะเด่นคือการเคลื่อนไหวที่เสมือนจริงราวกับมนุษย์ รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ทั้งดวงตา และการแสดงอารมณ์ เพราะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ด้านความบันเทิง การให้ความรู้และการโฆษณา นอกจากนี้ ยังมีความสามารถพิเศษสามารถวิเคราะห์ความลึกและความตื้นของวัตถุด้วยกล้องอินฟราเรด แสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้าและเคลื่อนไหวตาและปากได้ และยังสามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วย

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ระบุว่า การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่ จ.ขอนแก่น เป็นการจัดงานมหกรรมวิทย์ภูมิภาค ครั้งที่ 3 ต้องการให้เด็กๆ เยาวชนได้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ ต่อยอดความรู้ด้านสเต็มศึกษา (STEM Education) ให้แก่เด็กๆ และเยาวชน

“นับเป็นการเสริมสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่เยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้พัฒนาความคิด ความรู้ ความสามารถ และพร้อมเติบโตไปกับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 เป็น 1 ในนโยบายวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องวิทย์สร้างคน” สุวิทย์กล่าว

ด้านพ่อเมืองอย่าง ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ขอนแก่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ขอนแก่นได้เป็นศูนย์กลางการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ระดับภูมิภาค ที่จะทำให้เยาวชนและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสได้เดินทางมาเปิดโลกทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์ อันจะส่งผลดีต่อการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมต่อไปในอนาคต

สำหรับงานมหกรรมวิทยศาสตร์ฯ จะจัดสัญจรไปทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ก่อนจะปิดท้ายที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image