‘ส่งชู้สอนสาว’ รัก ขวัญ ชนชั้น และความโรแมนติกเหลือร้าย วรรณกรรมไตดำ ต้นทางขับลำหลายพันปีมาแล้ว?

ไม่ใช่ชื่อคุ้นหู้สำหรับคนไทย หรือแม้แต่แวดวงวรรณกรรมท้องถิ่น สำหรับ “ส่งชู้สอนสาว” ของชาวไตดำในเวียดนาม วรรณกรรมสำคัญที่เป็นทั้งมุขปาฐะบอกเล่าสืบต่อกันมาเนิ่นนาน อีกทั้งมีลายลักษณ์จดจารด้วยอักษรไตดำจากปลายพู่กันลงบนกระดาษ กระทั่งแพร่หลายในแบบเรียนของเด็กๆ ชาวเวียดนามในปัจจุบัน

ภายใต้บทกวีความยาวกว่า 1,800 ประโยค ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว “ขวัญชาย-ขวัญหญิง” ซึ่งต้องพลัดพรากจากกันเพราะถูกผู้ใหญ่กีดกัน ก่อนลงเอยแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง ไม่เพียงชวนให้ซาบซึ้งถึงความโรแมนติกอีกทั้งดื่มด่ำกับความงดงามทางวรรณศิลป์ หากแต่เคลือบแฝงไว้ด้วยความหมายที่มากมายไปกว่านั้น นั่นคือ “การต่อสู้ทางชนชั้น”

ยิ่งไปกว่านั้น วรรณกรรมเรื่องนี้มากมายไปด้วยบทอำลาสั่งเสียคนรัก โดยอาจเป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญของบทร่ำลาตามขนบ “นิราศ” ในวรรณคดีไทยซึ่งโดยทั่วไปเชื่อว่ารับอิทธิพลมาจากวรรณคดีสันสกฤตอย่าง “เมฆทูต”

ไหนจะประเด็นความเชื่อดั้งเดิมอย่างเรื่อง “ขวัญ” ซึ่งปรากฏรายละเอียดลึกซึ้งมากมาย

Advertisement

นี่จึงเป็นผลงานสำคัญในแวดวงวิชาการมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ ที่ต้องส่องสปอตไลต์ดวงใหญ่มาให้ถึงด่วนๆ

โรแมนติกจิกหมอน ซ่อนปมสู้ ‘ชนชั้น’

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อ่านแปลและศึกษาวรรณกรรมดังกล่าว เล่าย้อนถึงที่มา “ไม่ธรรมดา” ตั้งแต่เมื่อราว 15 ปีก่อนครั้งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามที่ประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มดีกรีความยากขึ้นมาอีกนิด แต่สุดท้ายไม่นิด เพราะนอกจากจะไม่ได้รับอนุญาตให้ไปอยู่กับชาวบ้านตามความตั้งใจที่จะเป็นนักมานุษยวิทยาที่ดีแล้ว ยังต้องเรียนภาษาเวียดนาม และภาษาไตดำ แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ฝึกอ่านวรรณกรรมไตดำโดยใช้เวลาว่างระหว่างที่ยังไม่ได้รับไฟเขียวให้ลงพื้นที่

“ผมเรียนภาษาไตดำกับอาจารย์คำจอง ซึ่งมารู้ทีหลังว่าท่านเป็นลูกหลานเจ้าเมืองใหญ่ของไตดำ พอเรียนภาษาได้ 3-4 เดือนก็โดดไปเรียนวรรณกรรมเลย โดยเริ่มจากวรรณกรรมประวัติศาสตร์ก่อน แล้วค่อยมาเรียนส่งชู้สอนสาว ซึ่งชื่อสะดุดหู ตอนแรกๆ รู้สึกว่ายากมาก ถ้าไม่นั่งเรียนจริงๆ จะไม่รู้เรื่องเลย อย่างชื่อพืชพรรณ และปลา ใช้เวลานานมากในการตรวจสอบ มันง่ายมากสำหรับคนใน แต่ยากมากสำหรับคนนอก ถ้าใครรู้ภาษาถิ่นเหนือ อีสาน จะเข้าใจได้ง่ายกว่า พอเรียนได้ไม่ถึงครึ่งเล่ม รู้สึกว่านี่คือสารานุกรมชีวิตไตดำ แทบจะสามารถประมวลคำศัพท์ได้อีกเล่ม”

Advertisement

ในส่วนของเนื้อหา ซึ่งผู้หญิงมีการ “ร่ำลา” สิ่งต่างๆ เพื่อออกเรือนไปอยู่กับผัว คือสิ่งที่ยุกติบอกว่าทั้ง “กินใจ” มาก และเข้าใจยากมาก เพราะมีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม

“ลาแม้กระทั่งรางข้าวหมู เป็ด ไก่ ประตู และครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่กับผู้หญิงมากที่สุด เฉพาะฉากผู้หญิงลาบ้าน ผมเรียนกับอาจารย์อยู่ 2 สัปดาห์ นี่คือความยาก และยังมีคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย เช่น มิ่ง ขวัญ ต่างกันอย่างไร แล้วยังมีแนน กับ หิง ซึ่งไตดำมีคำอธิบายชัดเจนว่า หิง คือเงาของขวัญ อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ คำเปรียบเปรยที่มาจากธรรมชาติ เหมือนต้นนั้นคู่ต้นนี้ มี เช่น ตองจิง คล้ายๆ ข่า ขึ้นข้างผักกาดฮ้อง เป็นความโรแมนติกน่ารักกับชีวิตพื้นๆ แต่สำหรับคนนอกเข้าใจยากมาก”

ส่งชู้สอนสาวฉบับลายมือเขียนด้วยพู่กันลงบนกระดาษ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองเซอนลา เวียดนาม

มาถึงคำถามที่ว่า ทำไมส่งชู้สอนสาวของชาวไตดำจึงฮิตหนักมาก ถึงขนาดอยู่ในแบบเรียนทางการโดยส่งเสริมให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาอีกด้วย

ประเด็นยุกติมองว่า เพราะส่งชู้สอนสาวพูดเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น ดังที่ “หมาก ฟี” เจ้าของสำนวนทางการของส่งชู้สอนสาวตีความว่า วรรณกรรมเรื่องนี้คือร่องรอยเรื่องจิตสำนึกทางชนชั้น แถมตัวเอกยังเป็นหญิง แม้เป็นเรื่องเกี่ยวกับครัวเรือนก็ตาม

“ในขณะที่ประเทศไทยให้เรียนวรรณกรรมภาคกลางเป็นหลัก แต่เวียดนามให้เรียนวรรณกรรมชนกลุ่มน้อยเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งไตดำ ม้ง ขมุ และกลุ่มอื่นๆ มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ต่างออกไป การตีความของหมาก ฟี เรื่องจิตสำนึกทางชนชั้นคือสิ่งที่บรรเจิดมาก สามารถเชื่อมต่อและตอบโจทย์เรื่องการให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยและเชื้อมูลการปฏิวัติ คนเวียดนามเองรวมถึงภาครัฐของเวียดนามยกย่องไตดำมาก เพราะมีวรรณกรรมเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากมุขปาฐะก็มีลายลักษณ์ด้วย”

บทแม่ตั้งครรภ์ ไทขาว-ไตดำ ถึง ‘ทำขวัญนาค’

ศาสตราจารย์พิเศษ ประคอง นิมมานเหมินท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมท้องถิ่นอันดับต้นๆ ของไทย เป็นอีกหนึ่งท่านที่ยืนยันถึงความสำคัญของส่งชู้สอนสาว โดยเชื่อมโยงไปยังวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ที่แพร่หลายในกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท-ลาว โดยเฉพาะ “ขูลูนางอั้ว” ส่วนรูปแบบคำประพันธ์มีลักษณะเป็น “ร่าย” ซึ่งพบทั้งในกลุ่มลาว ไทลื้อ ไทเขิน ใน 1 วรรค มี 5-6 คำ คำสุดท้ายส่งสัมผัสวรรคต่อไป เป็นเช่นนี้ตลอดเรื่อง

“ส่งชู้สอนสาวเป็นเป็นวรรณกรรมสำคัญ เล่าเรื่องเป็นเรื่องความรักหนุ่มสาวที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก เล่นด้วยกันมา เป็นความรักที่หนักแน่นมั่นคง ต่อให้ผู้หญิงแต่งงานไปแล้ว 2 ครั้ง สุดท้ายก็ได้มาอยู่ร่วมกัน อ่านแล้วซาบซึ้งมาก โรแมนติก จบด้วยดี อ่านแล้วมีความสุข ต่างจากวรรณกรรมเรื่องอื่น เช่น ลิลิตพระลอ ตัวเอกตายหมด คล้ายกับเรื่องโอเปี่ยมสามลอของไทใหญ่ และขูลูนางอั้วของลาว ซึ่งจบด้วยการฆ่าตัวตาย”

“ส่งชู้สอนสาว” เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเวียดนาม คำว่า “ชู้” ในที่นี้หมายถึง “คนรัก”

ศาสตราจารย์พิเศษ ประคอง ยังลงลึกถึงรายละเอียดในช่วงหนึ่งของส่งชู้สอนสาวซึ่งกล่าวถึงตอนที่แม่ตั้งท้องในแต่ละเดือน โดยยกตัวอย่างวรรณกรรมของกลุ่มไทขาว ก่อนวนกลับมาสู่ “บททำขวัญนาค” ในสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“วรรณกรรมไทขาวในบทสวดงานศพของไทเมืองเติ๊ก มีการเชิญคนตายมากินอาหารทุกเช้าทุกเย็น บรรยายว่าวันนี้อาหารมีอะไรบ้าง และยังมีการสวดพรรณาชีวิตคน ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเริ่มตั้งแต่พ่อแม่พบกัน และแม่ตั้งท้อง แต่ละเดือนแม่อยากกินอะไร เหมือนกันเลยกับส่งชู้สอนสาวของไตดำ ส่วนคนไทยมีในบททำขวัญนาค แม่ต้องอดกินอาหารอร่อยๆ เพื่อดูแลลูก สำหรับตอนการลาจาก ซึ่งขวัญหญิง นางเอกในส่งชู้สอนสาวร่ำลาสิ่งต่างๆ นั้น ในขุนช้างขุนแผนก็มี ตอนนางวันทองลาที่นอนหมอนมุ้ง เรื่องเจืองหาญ หรือท้าวฮุ่งขุนเจืองของไทลื้อก็ร่ำลาสัตว์เลี้ยง และสิ่งของต่างๆ ขูลูนางอั้วของลาว ก็ลาสิ่งต่างๆ ก่อนไปฆ่าตัวตาย เหมือนเป็นลักษณะร่วม”

ตาสว่างต้นทาง ‘นิราศ’ พลิกประวัติศาสตร์วรรณคดีไทย

ทั้งประเด็นเรื่องลักษณะคำประพันธ์ของส่งชู้สอนสาว ที่เป็น “คำคล้องจอง” รวมถึงการ “ร่ำลา” สิ่งรอบกายอย่างมากมาย ดังที่ศาสตราจารย์พิเศษ ประคอง ตั้งข้อสังเกตนั้น สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ที่มองว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนร่องรอยสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยเชื่อว่าเชื่อมโยงกับพิธีทำขวัญ เพื่อเรียกขวัญคนตาย ไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังอาจเป็น “ต้นทาง” ของขนบการร่ำลาในวรรณคดีประเภท “นิราศ” ของไทยอีกด้วย

ภาพลายเส้นบุคคลบนกลองมโหระทึก เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว คาดว่ากำลังเป่าเครื่องดนตรีทำจากไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายแคนในพิธีกรรมบางอย่าง อาจมีการขับลำคำคล้องจอง

“บทร่ำลาน่าจะมีต้นทางสายหนึ่งอยู่ที่คำทำขวัญงานศพ เมื่อมีคนตาย เชื่อกันว่าเพราะขวัญหาย ต้องมีพิธีทำขวัญ มีผู้หญิงเป็นหมอขวัญและหมอแคน ตอนแรกเป็นพิธีเรียกขวัญเพื่อคืนร่างให้ฟื้น ตอนหลังเป็นพิธีส่งขวัญ เพื่อส่งขวัญที่เป็นผีขวัญไปอยู่ร่วมกับผีบรรพชนในโลกหลังความตาย ประเพณีสั่งเสียร่ำลาเมื่อต้องพลัดพรากจากกัน ตกทอดเป็นแบบแผนบทเดินดงในหมอลำ และช่างขับของกลุ่มคนลุ่มน้ำโขง ส่วนกลุ่มคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรียกบทชมดง พบในวรรณกรรมตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา แล้วมีพัฒนาการเป็นขนบวรรณกรรมไทย เรียกต่อมาภายหลังว่า นิราศ

สำหรับคำคล้องจองดังที่ปรากฏในส่งชู้สอนสาว เชื่อว่ายังเป็นต้นทางของคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองต่างๆ อย่าง กลอนร่าย กลอนลำ กลอนร้อง และหากไปย้อนดูข้อความในศิลาจารึกไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย อยุธยา สืบมาถึงยุคหลัง จะพบการใช้คำคล้องจองซึ่งถือว่าเป็นเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เป็นข้อความที่ถูกเน้นย้ำให้ความสำคัญ

“ส่งชู้สอนสาว อ่านแล้วตาสว่างหลายเรื่อง เช่น เความเป็นมาของนิราศ ซึ่งผมเคยเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นอย่างอื่น บางเรื่องสำคัญมาก คือเรื่องขวัญ จึงนับเป็นคุณูปการสูงยิ่งที่ยุกติ มุกดาวิจิตร มีต่อวงวิชาการวรรณกรรมไทยอย่างมหาศาล”


 

กิจกรรมเล่าสู่กันฟังหัวข้อ “ส่งชู้สอนสาว : ไตดำวรรณกรรมรำพัน” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยจะมีงานเสวนาอีกครั้งในวันที่ 25 สิงหาคม (จากซ้าย) ดอกรัก พยัคศรี พิธีกร, ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และ ศ.พิเศษ ประคอง นิมมานเหมินท์

หนังสือ จากรักโรแมนติก สู่การต่อสู้ทางชนชั้น อ่าน “ส่งชู้สอนสาว” วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไตดำในเวียดนาม โดยยุกติ มุกดาวิจิตร จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อ พ.ศ.2561

420 หน้า อัดแน่นทั้งบทวิเคราะห์ตัวบทเทียบอักษรไตดำ พร้อมคำแปลภาษาไทย และภาษาอังกฤษแบบประโยคต่อประโยค อีกทั้งบทวิเคราะห์เชิงวิชาการด้านมานุษยวิทยาในประเด็นหลากหลาย อาทิ วรรณกรรมไตในบริบทเวียดนามศึกษา, วรรณกรรมไตในบริบทไต/ไทศึกษา และ การอ่านวรรณกรรมแนวมานุษยวิทยา เป็นต้น

สนใจร่วมฟังเสวนาเกี่ยวกับวรรณกรรมสำคัญเล่มนี้ เชิญที่งานประชุมวิชาการประจำปี ด้านมานุษยวิทยา และสังคมวิทยาครั้งที่ 1 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม เวลา 13.30-15.00 น. ที่ห้องสมุดสุขกายใจ วิทยากร ผศ.ดร ยุกติ มุกดาวิจิตร และ ศ.พิเศษ ประคอง นิมมานเหมินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image