ไขความลับ ‘เลือดจระเข้’ เวชสำอางสูตรใหม่ของโลก

จระเข้แม่น้ำไนล์ (ภาพจาก wikipedia)

จากรกแกะ รกหมู น้ำมันม้า พิษผึ้ง แพลงตอน เมือกหอยทาก ฯลฯ จนมาถึง “เลือดจระเข้” เหมือนจะเป็นเทรนด์ของเวชสำอางที่นำสรรพสิ่งจากสิ่งมีชีวิตมายื้อยุด ฉุดกระชากความอ่อนเยาว์ของผิวพรรณมนุษย์ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน

สำหรับ “เลือดจระเข้” อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปิดตัวใหม่อีกครั้ง พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายในแง่ของการเป็นเวชสำอางน้องใหม่ เพื่อการดูแลผิวพรรณ เพื่อการลบเลือนริ้วรอย ลดการอักเสบของสิว รวมทั้งแผลเป็น เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวพรรณ

นั่นเพราะคุณสมบัติพิเศษของ “เลือดจระเข้” ที่มีคอลลาเจนสูงมาก สูงกว่าที่มีอยู่ในเลือดมนุษย์และสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระ ยังมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ ฯลฯ

ความลับที่ซ่อนอยู่ใน ‘เลือดจระเข้’

นับแต่อดีตมีความพยายามไขความลับจากธรรมชาติ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรค เช่นกรณีของอเล็กซานเดอร์ เฟลมิ่ง ที่พยายามหาคำตอบจากการติดเชื้อของทหารที่บาดเจ็บจากสงครามจำนวนมาก กระทั่งที่สุดพบ “เพนิซิลลิน”

Advertisement

ประเด็นของ “จระเข้” นั้น ในศาสตร์ของจีนแผนโบราณมีความเชื่อเรื่องการใช้ประโยชน์จากจระเข้มานานนัก ทั้งมีการทำวิจัยเพิ่มเติมทางยามากมาย อาทิ “เนื้อ” จระเข้เมื่อผสมกับยาสมุนไพรจีนบางชนิดช่วยรักษาโรคหืดหอบ ยังไม่นับความนิยมบริโภค “เนื้อ” เป็นอาหาร ในแง่ของการให้โปรตีนสูง ไขมันต่ำ บำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดี

ไขมันจระเข้นำไปทำ “น้ำมัน” ทาถูรักษาแผลฟกช้ำและแผลสด

ขณะที่ “เลือด” ซึ่งแน่นอนว่ามีฮีโมโกลบิน ช่วยเสริมธาตุเหล็ก ปรับสมดุลร่างกาย รวมทั้งกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค

ตัวอย่างเช่น โรคความดันโลหิตต่ำ ที่การแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในกลุ่มอาการที่เกิดจากการพร่องของพลังชี่และนิยมบำรุงเลือดเพื่อการบำบัดรักษา เมื่อร่างกายสมบูรณ์ขึ้น ความดันโลหิตก็จะค่อยๆ ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งกรณีนี้เลือดจระเข้มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ร่างกายปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล แล้วอาการผิดปกติต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป

หน้าร้านขายยาแผนโบราณ ที่เมืองลูเบ็ค ประเทศเยอรมนี แสดงเวชสำอางจากไขมันจระเข้

ส่วนทางฟากตะวันตกมีความสนใจจระเข้มานานกว่ากึ่งศตวรรษ โดยตั้งข้อสังเกตจากการเป็นสัตว์นักล่าที่แข็งแกร่งและผ่านการวิวัฒนาการมากว่า 2-3 ล้านปีว่า การที่พวกมันวิวัฒนาการมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ไม่ได้อยู่ที่การมีฟันหรือกรามที่แข็งแรง มีผิวหนังที่แกร่งหนา แต่น่าจะมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่

โดยเฉพาะในเลือดที่น่าจะมีแอนติบอดีที่สามารถป้องกันทั้งแบคทีเรียและไวรัส สังเกตได้จากหลังการต่อสู้ของจระเข้ แม้ว่ามันจะมีบาดแผลมากมายขนาดไหน แต่มันไม่เคยตายเพราะการติดเชื้อเลย

ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงพยายามค้นหาความลับในเลือดจระเข้ บางการวิจัยในยุคแรกเริ่มถึงกับตั้งข้อสันนิษฐานว่า แอนติบอดีในเลือดจระเข้อาจจะมีประสิทธิภาพถึงขนาดต้านทานเชื้อเอชไอวีได้เลยทีเดียว

สุชาดา สวัสดิ์เอื้อ

สุชาดา สวัสดิ์เอื้อ เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์วิจัยในห้องปฏิบัติการ คลาส 3 สถาบันสเตท เซรุ่ม ประเทศเดนมาร์ก เล่าถึงการนำเลือดจระเข้มาทำวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการรักษาการผลิตเซรุ่ม ว่า ในยุโรปมีการนำเลือดจระเข้มาวิจัยนานแล้ว โดยเฉพาะที่สถาบันวิจัยแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นสถาบันวิจัยที่ได้รับการรับรองว่ายอดเยี่ยมติดอันดับ 1 ใน 5 แห่งของโลก มีการนำเลือดจระเข้มาทำวิจัยอย่างน้อย 40-50 ปีแล้ว

การนำ “เลือด” มาใช้ในการรักษา สามารถทำความเข้าใจได้อย่างง่ายๆ โดยเปรียบเทียบการรีดพิษงู นำเซรุ่มมาใช้เพื่อการรักษา เลือดของสัตว์ สิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์เรามี “พลาสมา” ซึ่งมีคุณสมบัติของการเป็นเซรุ่มเพื่อการรักษาโรคได้เช่นกัน

“ในยุโรปมีการนำเลือดจระเข้มาทำวิจัยและได้ผลดีหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับอินซูลิน เนื่องจากประชากรที่นี่มีปัญหาน้ำตาลในเลือดสูง กระทั่งมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยและเป็นผู้นำด้านอินซูลินและการรักษาโรคเบาหวาน”

อย่างไรก็ตาม สุชาดาบอกว่า เราไม่สามารถประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการของเลือดจระเข้ได้ และไม่สามารถเอ่ยอ้างได้ว่าเป็นการ “รักษา” เพราะไม่ใช่ว่า “ทุกคน” ที่ใช้เลือดจระเข้ในกระบวนการรักษาจะมีระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับเซลล์และการตอบรับของร่างกายแต่ละคนมากกว่า

ขณะที่ทีมนักวิจัยในประเทศไทยเองยอมรับว่า มีงานวิจัยรองรับที่ยืนยันพบว่า เลือดจระเข้มี IGF-1 (Insulin like Growth Factor-1) ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการควบคุมระดับน้ำตาลภายในเลือด ซึ่งเรื่องนี้ทีมวิจัยอยู่ในระหว่างการเร่งทดลองอย่างต่อเนื่องอยู่

จากอาหารเสริม สู่เวชสำอาง

หันกลับมาที่ประเทศไทย ดร.วิศรุต พยุงเกียรติคุณ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) และศูนย์วิจัยโปรตีนและโปรติโอมิกส์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม (ศปพ.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเลือดจระเข้มานานกว่า 10 ปีแล้ว โดย รศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัย และทีมวิจัย อาทิ รศ.ดร.ศักดา ดาดวง ผศ.ดร.นิศาชล แจ้งพรมมา ดร.ปรียานันท์ อันวิเศษ ฯลฯ พบว่าเลือดจระเข้มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น หรือต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ช่วยการสมานแผล หรือต้านมะเร็ง เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านที่หลากหลายจึงมีความน่าสนใจที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

โดยเฉพาะในส่วนของ “เปปไทด์” (Peptide) นั้น ปกติในร่างกายของจระเข้จะมีเปปไทด์ หรือโปรตีนสารสั้นๆ มีฤทธิ์ในระบบภูมิคุ้มกัน คือ เวลาที่จระเข้าต่อสู้กันบาดเจ็บ มีบาดแผล การที่อยู่ในน้ำสกปรกเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่มันยังคงมีชีวิตรอดอยู่ได้ โดยสามารถรักษาบาดแผลได้ด้วยตัวของมันเอง นั่นทำให้เรามาศึกษาว่ามีความลับอะไรซ่อนอยู่ในนั้น

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ร่วมกับบริษัท ศรีราชา โมด้า จำกัด ศึกษาวิจัยรวมทั้งพัฒนากระบวนการผลิต จนผลงานได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ได้จดสิทธิบัตรในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับรางวัลโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ จากคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและคมนาคม วุฒิสภา ปี 2555

“เราสกัดแยกเลือดแต่ละส่วนมาทดสอบ ศึกษา และได้เปปไทด์มาพัฒนา ซึ่งนอกจากการผลิตเป็นอาหารเสริมแคปซูลเลือดจระเข้ ปัจจุบันยังพัฒนาเป็นเจลแต้มสิว สกินทรีตเมนต์ ครีมบำรุงผิวหน้า แม้กระทั่งยาหม่อง โดยสารประกอบของเลือดจระเข้ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ที่น่าสนใจคือ ในพลาสมามีคอลลาเจนสูงมากกว่าที่มีอยู่ในเลือดมนุษย์และสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด”

ดร.วิศรุต และ ผศ.ดร.นิศาชล ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 เมื่อวันที่ 9-13 สิงหาคมที่ผ่านมา

‘ซีโร่ เวสต์’ เหตุผลเบื้องหลังการทำวิจัย

ดังที่กล่าวมาข้างต้น การทำวิจัยเลือดจระเข้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปี แต่ใช้เวลาในการวิจัยไปเรื่อยๆ ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพ จากในห้องปฏิบัติการสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์

เมื่อผลจากการวิจัยออกสู่สาธารณะในช่วง 5-6 ปีก่อน เกิดคำถามมากมาย นับตั้งแต่ทำไมต้องเป็น “จระเข้” เรากำลังเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่นใช่หรือไม่ ไปจนกระทั่งคุณค่าทางยาที่ว่าเป็นแค่ผลวิจัยในห้องปฏิบัติการเท่านั้นหรือเปล่า อย.ที่รับรองก็แค่รับรองในกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ไม่ได้รับรองผลในการรักษาโรค

ผศ.ดร.นิศาชล แจ้งพรมมา นักวิจัยในทีมเดียวกันจาก ศปพ. อธิบายว่า เนื่องจากในตำรายาสมุนไพรโบราณมีการใช้เลือดจระเข้เป็นหนึ่งในเครื่องยารักษาโรคมานานแล้ว และแพทย์แผนจีนได้นำมาใช้ในคนอยู่แล้ว จึงสามารถขึ้นทะเบียน อย.ภายใต้การสนับสนุนจากผลงานวิจัยของเราได้เลย พร้อมกับยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้โดยไม่มีผลข้างเคียงและผ่านการทดสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาจากความเชื่อทางการแพทย์แผนจีน

แล้วเล่าถึงจุดตั้งต้นของการทำวิจัยเลือดจระเข้ว่า มาจากการที่ฟาร์มจระเข้เชือดจระเข้แล้วทิ้งเลือดลงน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย จึงถูกร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง รศ.ดร.สมปอง ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องโปรตีนและเปปไทด์ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรกับตรงนี้ ประจวบกับเป็นยุค “ซีโร่ เวสต์” (Zero Waste) ลดของเสียให้เหลือศูนย์เลยได้ไอเดีย

ทั้งนี้โดยตั้งข้อสังเกตว่า จระเข้นั้น ถ้าเป็นจระเข้น้ำเค็มยังมีเกลือช่วยในการรักษาแผล แต่กับจระเข้น้ำจืด เมื่อมีแผลแล้วหายเร็ว และจะพบว่าจระเข้ไม่ค่อยตายด้วยการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะตายด้วยอายุขัย แก่ตาย ฟันร่วงกินอาหารไม่ได้ มองว่าน่าจะมีอะไรในจระเข้ อย่างน้อยถ้าเป็นมนุษย์เราระบบภูมิต้านทานจะอยู่ในเลือด จึงคิดว่าไหนๆ ก็จะทิ้งเลือดอยู่แล้วลองเอามาศึกษาดู เราเลยศึกษาทุกส่วน

กระบวนการในห้องวิจัย

ทางด้าน ดร.วิศรุตเสริมข้อมูลว่า ในต่างประเทศก็มีกลุ่มวิจัยอยู่ที่ออสเตรเลีย แต่เป็นจระเข้น้ำเค็ม ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพเหมือนกัน แต่การนำมาใช้ประโยชน์เรายังพึ่งพาจระเข้สายพันธุ์ไทยเป็นหลัก เพราะจระเข้น้ำเค็มค่อนข้างดุ ฟาร์มเลี้ยงจระเข้จึงมีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเลี้ยงจระเข้น้ำจืด

“ประเทศไทยเราอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงจระเข้มีความสำคัญมาก แต่ส่วนใหญ่จะเน้นที่การใช้เนื้อและหนัง ส่วนเลือดเป็นบายโปรดักส์ที่เราทิ้งไปมาก เราน่าจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซีโร่ เวสต์จึงคือเหตุผลที่เราต้องใช้เลือดจระเข้มาวิจัยอย่างเข้มข้น”

กับสัตว์ในตระกูลเดียวกับจระเข้ เช่น ตะกวด ดร.วิศรุตเชื่อว่าน่าจะไม่ต่างกัน เพียงแต่อยู่ในบัญชีรายชื่อของสัตว์ป่าคุ้มครอง ทำให้ไม่สามารถเจาะเลือดมาทำวิจัยได้ ขณะที่จระเข้ ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส อนุญาตให้เพาะเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมาย

เพราะจระเข้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เรามุ่งจะใช้ทุกส่วนให้เกิดประโยชน์ที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image