ย้าย! พระบรมรูปทรงม้าจำลอง หนึ่งเดียวในต่างแดน หมุดสัมพันธ์มหามิตรประเทศ ‘เดนมาร์ก’

การพบ “ธงช้างเผือก” ที่ก้นหีบเก็บของสำคัญภายในบ้านพักนายกเทศบาลเมืองสเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี 2548 นำมาซึ่งความตื่นเต้น ปลื้มปีติของประชาชนคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเป็นหลักฐานประจักษ์ชัดถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไทยและเดนมาร์กในระดับราชวงศ์ ที่บอกเล่าถึงพระอัจฉริยภาพในยามที่สยามประเทศอยู่ในวงล้อมของลัทธิล่าอาณานิคม และด้วยพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงผูกไมตรีมิตรประเทศช่วยคานอำนาจกับประเทศมหาอำนาจ ที่สุดสยามสามารถรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาและคงความเป็นไทยมาได้อย่างงดงาม ส่วนหนึ่งโดยความช่วยเหลือจากมหามิตรอย่างเดนมาร์ก ซึ่งปีนี้เพิ่งมีการเฉลิมฉลองวาระครบ 160 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์ก เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ธงช้างเผือกที่พบเมื่อปี 2548 เมืองสเกน

“ธงช้างเผือก” ไม่เพียงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สื่อถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไทย-เดนมาร์ก แต่ยังเป็นที่มาของการเปิดพื้นที่อาคารหลังหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองสเกน (Skagen by-og egnsmuseum) เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวความสัมพันธ์สองแผ่นดินในครั้งกระโน้น ครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 และเสด็จต่อมายังบริเวณแหลมเกรเนน เหนือสุดของประเทศเดนมาร์ก ที่ซึ่งบรรจบกันของทะเลเหนือและทะเลแคตทีแกต เมืองสเกน

พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ชายทะเลแห่งนี้ โดยมีธงช้างปักเหนือผืนทรายปลิวไสว คือหลักฐานสำคัญที่ยืนยันถึงที่มาของธงช้างเผือกที่พบเมื่อ 13 ปีก่อน

Advertisement

พร้อมกับการบูรณะอาคารเพื่อเป็นห้องจัดแสดง “พระบรมรูปทรงม้าจำลอง” ขนาดย่อม ที่ อุดม อุนสุวรรณ สั่งทำด้วยบรอนซ์สำหรับประดิษฐานไว้หน้าอาคารแห่งนี้ เป็นหลักหมายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในหัวใจของคนไทยในเดนมาร์กกระทั่งปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองสเกน ปี 2548 ขวามือคือพระบรมรูปทรงม้าจำลอง

เอเชียเฮ้าส์ บ้านหลังเล็กแสนอบอุ่น

แม้ว่าทุกวันนี้พระบรมรูปทรงม้าจำลองจะไม่ได้ประดิษฐานอยู่ที่เดิม ณ เมืองสเกน แต่ย้ายมาอยู่ด้านหลังของอาคารเอเชียเฮ้าส์ ย่าน Indiakaj แถบท่าเรือฝั่งใต้ของเมืองโคเปนเฮเกน ยังคงมีประชาชนคนไทยเดินทางไปกราบสักการะอยู่สม่ำเสมอ ทั้งคนไทยในเดนมาร์กเองและคนไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนเมืองแห่งนี้

Advertisement

ข้อดีประการหนึ่งของการย้ายมาประดิษฐาน ณ สถานที่แห่งใหม่ก็คือ ทำให้การเดินทางไปกราบสักการะทำได้ง่ายขึ้น เพราะระยะทางจากโคเปนเฮเกนไปยังสเกน 258 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่ว่าจะโดยรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบินนานถึง 5-8 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ในนาทีนี้มีข่าวการร้องขอให้ย้ายพระบรมรูปทรงม้าจำลองอีกครั้ง โดยสถานที่ประดิษฐานครั้งใหม่น่าจะเป็นที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโคเปนเฮเกน

พญ.คุณหญิงอัมพร สุคนธมาน หนึ่งในตัวจักรสำคัญเบื้องหลังของการดำเนินการประสานงานทั้งหมดเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ย้ายพระบรมรูปทรงม้าจากสเกนมาประดิษฐานที่ด้านหลังเอเชียเฮ้าส์ ไม่ได้เห็นด้วยสักเท่าใดนัก เพราะสถานที่คับแคบ

แต่ ณ ตอนนั้นบริเวณโดยรอบยังเป็นลานโล่งๆ เมื่อทางพิพิธภัณฑ์สเกนกำหนดเส้นตายให้ย้ายทันทีเมื่อครบ 2 ปี และคุณ คาลสเตน (Carsten Dencker-Nielsen) ประธานกิตติมศักดิ์เอเชียเฮ้าส์และกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งมีความเคารพศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก เสนอให้ใช้พื้นที่บริเวณสวนด้านหลังอาคารเป็นสถานที่ประดิษฐาน พร้อมกับจัดหาเจ้าหน้าที่ไว้ดูแลอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้อย่างเต็มที่

ที่สำคัญคือ พระองค์ท่านก็เคยเสด็จเยือนที่เอเชียเฮ้าส์แห่งนี้การดำเนินการทั้งหมดจึงเกิดขึ้น กระทั่งปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 12 ปีแล้ว

“จริงๆ อยากให้พระบรมรูปทรงม้าประดิษฐานที่สถานทูตไทยตั้งแต่แรก แต่ตัวดิฉันเป็นคนดื้อรั้น เพราะเห็นว่าคนไทยที่เดนมาร์กกว่าจะเลิกงานก็เย็น-ค่ำแล้วจะไม่สามารถเข้าไปกราบสักการะได้ แต่ถ้าเป็นที่เอเชียเฮ้าส์สามารถเดินเข้ามาสักการะได้ตลอด 24 ชั่วโมง” พญ.คุณหญิงอัมพรบอก และว่า

กระทั่งทราบข่าวว่ามีการก่อสร้างอาคารล้อมอาคารเอเชียเฮ้าส์ทั้งสามด้าน จากคุณปิยะ (ปิยะ ทิพยมาศโกมล) คนไทยในเดนมาร์ก จึงเดินทางมาดูว่าเป็นจริงเท็จอย่างไร และพบว่า…

พระบรมรูปทรงม้าถูกเบียดมาก รู้สึกไม่สมพระเกียรติ จึงมองหาสถานที่ใหม่ และเห็นว่าน่าจะเป็นสถานทูตไทย เพราะเป็นที่โล่ง และเหมือนกับเป็นแผ่นดินไทย

 

ด้านหน้าเอเชียเฮ้าส์
ด้านในเอเชียเฮ้าส์แต่งด้วยไม้สัก
โต๊ะประชุมชุดใหญ่จากเมืองไทยยังคงเก็บรักษาเป็นอย่างดีที่เอเชียเฮ้าส์

เมื่อพระบรมรูปทรงม้าถูกล้อม ย้ายได้จะดีกว่าไหม

สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างอาคารบริเวณเอเชียเฮ้าส์ที่ย่าน Indiakaj ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จและมีผู้เข้ามาเช่าพักอาศัยแล้วจำนวนหนึ่ง ปิยะ ทิพยมาศโกมล เจ้าของร้านอาหารไทยในเมืองสลังรุป ประเทศเดนมาร์ก เล่าให้ฟังว่า เป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่า เริ่มมีการก่อสร้างตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน แต่เราไม่สามารถเจรจาอะไรได้ เพราะอาคารยังไม่เสร็จ ไม่สามารถอ้างว่าเหมาะสมหรือไม่ต้องรอเวลา ขณะเดียวกันเนื่องจากพื้นที่ตรงนั้นเป็นของเอกชนรายอื่น แม้เอเชียเฮ้าส์ก็ไม่มีสิทธิที่จะร้องเรียน

แม้ว่ารูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอพาร์ตเมนต์ทั้ง 6 หลัง ขนาดความสูง 3 ชั้น จะกลมกลืนกับอาคารที่มีอยู่เดิมซึ่งเป็นอาคารเก่า เช่น เอเชียเฮ้าส์ สถานที่ก่อตั้งของบริษัทอีสต์เอเชียติก ก็เป็นอาคารอายุกว่า 100 ปี แต่การที่พระบรมรูปทรงม้าซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหลังอาคารบนพื้นที่จำกัด จึงเหมือนมีกำแพงทึบล้อมทั้งสามด้าน (ด้านหน้าติดถนน)

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนที่มาเที่ยวมาถ่ายรูปกับนางเงือก (Little Mermaid) ที่สวนสาธารณะ Langelinie ริมอ่าวโคเปนเฮเกน จะพอมองเห็นพระบรมรูปทรงม้าตรงนี้ เพราะเป็นลานโล่งตลอด แต่ตอนนี้มีอาคารสร้างใหม่บังจนมองไม่เห็น” ปิยะบอก และว่า

“ท่านกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ คุณคาลสเตน ท่านเคารพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก มีความผูกพันมากเพราะที่นี่ (เอเชียเฮ้าส์) พระองค์ก็เคยเสด็จมา และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการค้าการเดินเรือ เป็นที่มาของการก่อสร้างอาคารหลังนี้ขึ้น จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่การที่มีการสร้างอาคารล้อมเอเชียเฮ้าส์ คุณคาลสเตนไม่สามารถทำอะไรได้ ยังเสนอว่าถ้าการสร้างศาลาคลุมพระบรมรูปทรงม้าจะทำให้ดูสมพระเกียรติขึ้นก็พร้อมที่จะสร้างในทันที แต่เมื่อผมนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับผู้รู้ ต่างไม่เห็นด้วย เพราะตามประเพณีเราถือว่าพระบรมรูปทรงม้าต้องอยู่ที่โล่ง เมื่อไม่สามารถแก้ไขอะไรได้คุณคาลสเตนเองก็เสียใจมาก อยากจะให้พระบรมรูปทรงม้าประดิษฐานอยู่ที่นี่ตลอดไป”

ปิยะบอก และว่า ในช่วง 12 ปีที่พระบรมรูปทรงม้าประดิษฐานอยู่ที่นี่ คนไทยไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลแค่ไหนก็จะหาโอกาสแวะมากราบสักการะ อย่างคนไทยในยุตแลนด์ (Jutland) ถ้ามาที่โคเปนเฮเกนก็จะต้องแวะมากราบทุกครั้ง บางคนจัดทัวร์มาเที่ยวก็จะมาแวะที่นี่ โดยเฉพาะวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมรูป โดยจะมีพิธีสงฆ์ มีการถวายสังฆทานทุกปี ถือเป็นงานสำคัญที่สุดของคนไทยที่อยู่ที่นี่

“ไม่ว่าเราจะขอใช้สถานที่ทำกิจกรรมเมื่อใด ทางเอเชียเฮ้าส์ยินดีเปิดประตูให้เข้ามาทำกิจกรรมเสมอ และให้พนักงานพิเศษคอยดูแลทำความสะอาด และทุกปีก่อนวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2-3 วัน ก็จะให้เจ้าหน้าที่มาทำความสะอาดเตรียมสำหรับงานที่จะมีขึ้น”

ปัจจุบันในอาคารเอเชียเฮ้าส์ก็ยังมีสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าหลวง อย่างตัวอาคารด้านในที่เห็นเป็นไม้สัก เป็นไม้ที่ส่งมาจากเมืองไทยทั้งหมด เพราะเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วเดนมาร์กไม่มีไม้เนื้อแข็ง พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตในวาระของการเปิดความสัมพันธ์ทางการค้าการเดินเรือระหว่างไทยและเดนมาร์ก

จากซ้าย – ปิยะ ทิพยมาศโกมล, อัครราชทูตที่ปรึกษา ปรารถนา ดิษยทัต, ท่านทูตวิชิต ชิตวิมาน และ พญ.คุณหญิงอัมพร สุคนธมาน

เวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
สถานทูตไทย เปิดอกให้ซบเสมอ

แม้การตกลงใจจะย้ายพระบรมรูปทรงม้าจำลองครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 จากความตั้งใจเดิมที่ อุดม อุนสุวรรณ ผู้สร้างถวายเพื่อประดิษฐานคู่กับธงช้างเผือกที่สเกน

ทว่า เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ภูมิทัศน์โดยรอบอาคารเอเชียเฮ้าส์จากที่เป็นลานโล่งถูกตีกรอบเข้ามาโดยอาคารที่อยู่นอกเหนือการควบคุม จึงมีคนไทยจำนวนหนึ่งเห็นควรว่าถ้าได้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่เป็นลานเปิดกว้างน่าจะเหมาะสมกว่า

และอย่างไรเสียสถานเอกอัครราชทูตก็ถือเป็นแผ่นดินไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 ของคนไทยในต่างแดน เป็นที่พึ่งพิงยามทุกข์ร้อน จึงเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ

ปีนี้หลังจากที่เอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กคนใหม่ ท่านทูต วิชิต ชิตวิมาน เข้าปฏิบัติหน้าที่ สิ่งแรกที่ทำคือ นำจิตอาสาเข้าทำความสะอาดรูปหล่อจำลองพระบรมรูปทรงม้าและพื้นที่ประดิษฐานโดยรอบ

“ตัวผมเองได้มาถวายบังคมพระบรมรูปตั้งแต่ 2-3 วันแรกที่มารับหน้าที่ และได้ทราบจากหลายๆ ฝ่ายว่าคนไทยในเดนมาร์กไม่เพียงในโคเปนเฮเกน แต่จากทุกที่จะมากราบสักการะท่าน ปีนี้จึงนำจิตอาสาเข้ามาทำความสะอาดพระบรมรูปและสถานที่ประดิษฐานโดยรอบ และถือเป็นโอกาสที่จะได้แสดงความเคารพสักการะพระองค์ด้วย”

วิชิต ชิตวิมาน

ท่านทูตวิชิตเปิดใจหลังจากที่ขอเข้าพบในกรณีที่มีข่าวว่าอาจจะมีการขอพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในบริเวณสถานเอกอัครราชทูตไทย เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมรูปทรงม้าจำลอง

“เกี่ยวกับความเหมาะสมในการย้ายพระบรมรูปทรงม้าจำลองจากเอเชียเฮ้าส์ และสถานที่ประดิษฐานแห่งใหม่ เช่นที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกนนั้น สถานเอกอัครราชทูตจะพิจารณาให้รอบด้าน โดยรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะผู้จัดสร้าง อาทิ พญ.คุณหญิงอัมพร สุคนธมาน ผู้แทนชุมชนไทย และทางเอเชียเฮ้าส์ ซึ่งเป็นฝ่ายรับมอบสิทธิในการดูแลพระบรมรูปทรงม้า และนำมาประมวลประกอบกับประวัติความเป็นมาและพัฒนาการในปัจจุบัน เพื่อเสนอข้อคิดเห็นและข้อพิจารณาไปยังกระทรวงการต่างประเทศต่อไป”

และว่า กับ พญ.คุณหญิงอัมพร เพิ่งได้พบกันเป็นครั้งแรก และทราบว่าจะขอพื้นที่ในบริเวณสถานเอกอัครราชทูตประดิษฐานพระบรมรูปทรงม้า อย่างไรก็ตามทราบว่าท่านได้ทำหนังสือมอบสิทธิการดูแลพระบรมรูปทรงม้าแก่คุณคาลสเตน ฉะนั้นในเบื้องต้นจึงต้องให้ทางคุณคาลสเตนทำหนังสือโอนสิทธินั้นคืนเสียก่อน จากนั้นเราจึงจะนำข้อเสนอข้อมูลทั้งหมดส่งให้กับกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป

“ความคิดในการย้ายพระองค์ท่านมาประดิษฐานที่สถานทูตก็เหมือนกับย้ายพระองค์ท่านกลับบ้าน (ประเทศไทย) ซึ่งสถานทูตเราเปิดรับความเห็นกว้างเสมอ” ท่านทูตวิชิตสรุป

การจะย้ายสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปทรงม้าจำลอง ณ เวลานี้จึงเป็นการเสนอความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย ยังมีขั้นตอนและกระบวนการก่อนจะนำเรื่องทั้งหมดผ่านไปยังกระทรวงการต่างประเทศ แล้วการดำเนินในทางปฏิบัติจึงจะเริ่มต้นขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image