ฟังแพทย์จิตเวชศาสตร์ ‘หลังคาแดง’ แนะวิธีสร้างสุขภาพจิตดี ในยุคสังคมอุดมความเครียด

“จิตเวช” เป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับผู้คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคทางจิตหรือโรคทางสมองและระบบประสาทได้เท่ากัน ซึ่งในอดีตผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวช มักจะรู้สึกไม่สบายใจในการเข้ารับการรักษา เเต่ในปัจจุบันสังคมให้การยอมรับเเละมีความเข้าใจต่อผู้ป่วยมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อ “ความกลัว” เเละ “ความอาย” ที่จะเข้ารับการรักษาลดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยในสถาบันจิตเวชเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเเละคนทำงาน ที่พบว่าเป็นโรคทางสมองเพิ่มขึ้น

นพ.ปรีชา ศรรตวรรษธำรง รองประธานมูลนิธิ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา อธิบายว่า ปัจจุบันเป็นยุคที่มีการแข่งขันสูง ทำให้คนเกิดความเครียดได้มาก ยิ่งประเทศพัฒนาขึ้นคนฉลาดน้อยย่อมเสียเปรียบ เพราะฉะนั้น ไม่อยากให้ประเทศพัฒนาเร็วเกินไปนัก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของบุคลิกของคน ที่มีพื้นฐานจากพ่อแม่สร้างมา การเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่อบอุ่นรู้จักให้ รู้จักรักคนอื่น ทำให้ลูกจดจำในแบบนั้น เเต่บางครอบครัวที่ยัดเยียด อยากให้ลูกเป็นดั่งใจตนทุกอย่างคิดว่าไม่ดีแน่ เพราะจะทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่น อาจส่งผลให้เกิดความเครียดในระยะยาวได้

นพ.ปรีชา ศรรตวรรษธำรง

พร้อมยกตัวอย่างโรคทางสมองที่พบมากในขณะนี้ คือ อาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งถือเป็นจิตเวชประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย โดยเฉพาะเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนน้อย ส่งผลให้ระบบประสาทในส่วนนี้ทำงานแบบเสียสมดุล เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันยังต้องมาดูด้วยว่าผู้ป่วยมีอาการเครียดสะสมหรือไม่ และถ้าปล่อยนานไปอาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้ หากเป็นเช่นนั้น วิธีรักษาด้วยยาอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ คงต้องลงลึกไปถึงเรื่องความรู้สึกและจิตใจ

Advertisement

“ในส่วนของโรคซึมเศร้า อาจเกิดได้จากการที่สารเคมีในร่างกายผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ในบางคนก็ไม่มีสาเหตุชัดเจนคือ อยู่ดีๆ ก็มีอารมณ์เศร้าขึ้นมา ซึ่งจากผลการทดลองพบว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นมีส่วนมาจากจิตใจทั้งนั้น ถ้าสมองไร้ซึ่งความเครียดโรคภัยต่างๆ ก็จะไม่ถามหา” นพ.ปรีชาบอก

พร้อมอธิบายถึงวิธีการกำจัดความเครียดเเละวิธีการทำให้มีสุขภาพจิตดี ดังนี้

1.มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ปฏิบัติตั้งอยู่ในกฎเกณฑ์ของกฎหมายและกฎระเบียบของสังคม

2.เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย พอเพียง อย่าทำสิ่งที่เกินความสามารถของตัวเอง

3.ปรับตัวให้เข้าได้กับทุกคน และสภาพแวดล้อมรอบตัว อย่าคิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องเสมอ

4.คิดไปทางบวก มีความหวัง ดิดดี ไม่คิดท้อแท้ ความผิดพลาดหรือความผิดหวัง เป็นเรื่องปกติ เอาความผิดหวังมาเป็นบทเรียน เพื่อปรับปรุงตัวเรากลับไปสู้ใหม่

5.ความเครียด ความทุกข์ ปัญหา ความเจ็บป่วย ความตาย ความกังวล เป็นเรื่องปกติที่จะต้องพบในทุกๆ คน ความเครียดหรือความวิตกกังวลมีไว้ให้แก้ไข ไม่เก็บสะสมไว้ โดยการมีสติทำจิตใจให้สงบ หาสาเหตุของปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไข หรือปรึกษาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องที่เรามีปัญหาหรือปรึกษาจิตแพทย์

6.กล้าตัดสินใจ มีความเด็ดขาด ไม่คิดซ้ำซาก อย่าคิดย้อนอดีต เอาความผิดพลาดหรือความสำเร็จในอดีตมาพัฒนาตัวเราในการดำเนินชีวิต คิดถึงปัจจุบันทำวันนี้ให้ดีที่สุด อย่าคิดกลัวอนาคต คิดถึงอนาคตเพื่อวางแผนไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ เป้าหมายที่เราต้องการนั้นต้องเป็นเป้าหมายที่เราสามารถปฏิบัติไปสู่เป้าหมายได้ ไม่ใช่เป้าหมายแบบเพ้อฝัน

7.ไม่สร้างปัญหาให้กับผู้อื่น หรือองค์กรที่ตนปฏิบัติงานอยู่ เป็นผู้ให้ มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตา อย่าคิดเอาแต่ได้

8.สร้างฐานะ การงาน การเงิน และครอบครัวให้มั่นคง

“เป็นวิธีกำจัดความเครียดในความคิดของผม เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเหตุของปัญหา” นพ.ปรีชาอธิบาย

นอกจากข้อปฏิบัติทางจิตใจเเล้วด้านร่างกาย นพ.ปรีชาเเนะนำว่าควรตรวจร่างกายอย่างง่ายๆ เช่น วัดความดันโลหิต วัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยสูงอายุ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่การดื่มเหล้า ส่วนเรื่องอาหารและน้ำก็ไม่ควรขาด แต่ต้องพยายามลดอาหารประเภทของหวาน แป้ง ข้าว ของเค็มจัด อาหารประเภทไขมันสูง ของทอด เพิ่มเนื้อปลา ผักเเละผลไม้

“การทางอาหารต้องทานให้พอดี โดยยึดน้ำหนักตัวหรือตัวเลขดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) เป็นเกณฑ์ เเละไม่ควรให้ลงพุง โดยเส้นรอบเอวปกติ วัดในระดับสะดือไม่รัดแน่นในผู้ชายไม่ควรเกิน 90 ซม. ในผู้หญิงไม่ควรเกิน 80 ซม. นอกจากนี้ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายและเพิ่มจำนวนไขมันดี (HDL cholesterol) ช่วยทำให้หลอดเลือดแดงไม่อุดตัน”

นพ.ปรีชาเเนะนำเพิ่มเติมว่า ยังมีเรื่องการนอนหลับ ต้องไม่ดึกเเละควรเข้านอนตรงเวลาเป็นประจำทุกคืนจนเป็นนิสัย ก่อนนอนควรทำจิตใจให้สงบไม่คิดฟุ้งซ่าน สำหรับห้องนอนควรจะเงียบสงบ ไม่มีแสงสว่างมาก มีอากาศเย็นสบาย เเละก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำชา กาแฟ โคล่า หรือน้ำปริมาณมากๆ เพราะอาจจะทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนดึกเเล้วหลับต่อยาก ซึ่งการนอนหลับควรจะนอนหลับต่อเนื่องคืนละประมาณ 8 ชั่วโมง การนอนหลับได้ลึกก็เหมือนร่างกายได้พักสร้างภูมิคุ้มกันเเละปรับสมดุลให้ร่างกาย

“สำหรับการเข้าวัดทำบุญก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เวลามีความเครียด ก็จะเข้าไปปฏิบัติธรรม ซึ่งอาจจะช่วยได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น เราไม่ควรหวังว่าจะให้พระมาช่วย เราควรเข้าวัดเพื่อฟังเทศน์เพื่อให้สมองได้คิดบ้าง ควรพึ่งพาตัวเองให้เป็นเพื่อให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน” นพ.ปรีชาอธิบาย

อย่างไรก็ตาม โรคทางจิตเป็นโรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะสมองคนถือเป็นระบบประสาทอัตโนมัติที่ไม่สามารถบังคับได้ เช่นเดียวกับระบบในร่างกาย อย่างหลอดเลือด การเต้นของหัวใจ และระบบหมุนเวียนเลือด

ดังนั้น สถาบันจิตเวชจึงมีความสำคัญต่อการดูเเลเเละฟื้นฟูสุขภาพจิต ของผู้ป่วยทั้งโรคทางสมองเเละโรคทางจิต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 

‘129 ปี หลังคาแดง’ ยกระดับสู่สถาบันจิตเวชครบวงจร

ด้วยเเนวโน้มการเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้ป่วยด้านจิตเวชในปัจจุบัน

เป็นเหตุให้ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ต้องพัฒนาอาคารและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้เพียงพอที่จะรองรับ โดย มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ได้เปิดรับบริจาคสมทบทุนสร้างอาคารเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นพ.ปรีชา ศรรตวรรษธำรง รองประธานมูลนิธิ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เล่าว่า โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยามีความเก่าแก่มากกว่าร้อยปี อาคารส่วนใหญ่ที่มีอยู่เดิมค่อนข้างเก่าและโทรมมาก โดยเฉพาะอาคารโรคสมองระบบประสาท อาคารผู้ป่วยนอกจิตเวชที่มีขนาดเล็ก และมีสภาพแออัดเป็นอย่างมาก ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเเละคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเป็นโรคทางสมองมากไม่ว่าจะเป็น โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคอัมพฤกษ์ หรือโรคพาร์กินสัน

“ดังนั้น เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่ป่วยโรคทางสมองซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากในอนาคต รพ.สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงเตรียมสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่รักษาโรคทางสมองและโรคทางจิตที่ครบครัน และสะดวกสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น”

ดร.อรนุช แสงสุริยจันทร์

สำหรับอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ จะแล้วเสร็จปลายปี 2563 เป็นอาคารสูง 12 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 20,448 ตารางเมตร งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 600 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 300 ล้านบาท อีก 300 ล้านบาท จากผู้มีกุศลจิตร่วมบริจาค โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ร่วมกับกองทัพบก จัดรายการการกุศล “129 ปี หลังคาแดง” เพื่อเปิดรับบริจาคสมทบทุนสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ผ่าน สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ซึ่งมีผู้ร่วมบริจาคหลายท่านด้วยกัน

หนึ่งในนั้นคือ ดร.อรนุช แสงสุริยจันทร์ ประธานบริษัท มนตรีทรานสปอร์ต คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้บริจาคให้โรงพยาบาลเป็นปีที่ 3 แล้ว

“ไม่ได้คิดว่าจะบริจาคเพื่อหวังผลเเต่เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำอยากจะแบ่งปันอยากช่วยสังคม โดยส่วนตัวจริงๆ เริ่มทำงานเกี่ยวกับการแบ่งปันให้สังคมมาตั้งแต่ปี 2534 เพราะเราก็คิดว่าเราทำมาหากินได้แล้วก็อยากจะตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งบริษัทเราก็ไม่ได้ใหญ่โตตอนนี้ก็อายุ 48 ปีแล้ว”

คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์

ดร.อรนุชเล่าถึงที่มาในการร่วมบริจาคครั้งนี้ว่า เริ่มจากได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพฯ ซึ่งพระองค์ตรัสกับ คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ว่า คุณหญิงเอื้อเก่งมากเพราะโรงพยาบาลนี้หาคนบริจาคยาก พอฟังเเล้วก็คิดว่าต้องบริจาคที่นี่แล้ว เพราะคนบริจาคน้อยมากจริงๆ อาจเป็นเพราะรักษาเฉพาะโรค ประกอบกับคนที่มารักษาที่นี่อายบ้าง หรือบางคนก็ถูกญาตทิ้งเป็นภาระโรงพยาบาลเลยไม่ค่อยมีคนบริจาค

สำหรับผู้มีจิตกุศลสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อสร้างอาคารเเละสมทบทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย ได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการ ที่ตึกวิจัย ชั้น 2 สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน โทรศัพท์สอบถามได้ที่ โทร 0-2442-2542, 0-2442-2500 ต่อ 5927 และ 5929

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image