เพลินของอร่อย-อิ่มวัฒนธรรม @จันทบุรี เมืองรองต้องห้ามพลาด

แม้ไม่ใช่จังหวัดที่นึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว แต่ “จันทบุรี” นับเป็นจังหวัดที่สร้างความประทับใจและตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อย่างทะเล ภูเขา และน้ำตก ที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก

“เมืองจันท์” ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่เด็ดกว่านั้นคือ อาหารถิ่นเลิศรส อาหารทะเลสดใหม่ และผลไม้ยอดนิยมอีกมากมาย เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด และพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้เองทำให้จังหวัดเล็กๆ ติดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกแห่งนี้ มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายในด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

เที่ยวชิวชิว…แบบวิถีคนเมืองจันท์

หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ห้ามพลาดหากได้ไปเมืองจันท์ แนะนำให้ไปเยือน “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” สักครั้ง

Advertisement

ที่แห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรีด้านตะวันตก เดิมเรียกว่า “บ้านลุ่ม” เป็นชุมชนที่ทำการค้าขายและเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของจังหวัดในสมัยก่อน

ถึงแม้จะไม่ใช่สถานที่ยอดฮิตที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว หรือเต็มไปด้วยสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แต่จุดเด่นของ “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” อยู่ที่วิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของชุมชน ที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะเรื่องเชื้อชาติและศาสนา รวมไปถึงอาคารบ้านเรือนริมน้ำเก่าแก่ตั้งแต่สมัย ร.5 ตลอดเส้นทางกว่า 1 กิโลเมตร

บนถนนสายแรกของจังหวัด ที่มีชื่อว่า “ถนนเลียบนที” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนสุขาภิบาล”

Advertisement

สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์จุดแรกที่ต้องไปคือ บ้านหลวงราชไมตรี ซึ่งเป็นตึกแบบฝรั่ง ภายในมีประวัติตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ของหลวงราชไมตรี ซึ่งท่านถือเป็น “บิดาแห่งยางพารา ภาคตะวันออก”

ปัจจุบันบ้านหลวงราชไมตรี เปิดให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว มี 10 ห้องพักด้วยกัน ที่เป็นไฮไลต์คือ “ห้องนายพ่อ นายแม่” เดิมเป็นห้องพักของหลวงราชไมตรี รองลงมาคือ “ห้องครัวนายเเม่” ในอดีตเป็นห้องครัวของบ้านหลวงราชไมตรี

ความน่าสนใจของที่นี่เริ่มต้นจากทายาทของหลวงราชไมตรี ที่เห็นความสำคัญของชุมชนและบ้านเก่า จึงตัดสินใจเปิดบ้านพักหลังนี้เป็นที่พัก โดยมีคนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกันดูแล ด้วยการขายหุ้น 8,800 หุ้น ระดมเงินทุนจัดตั้ง บริษัท จันทบูรรักษ์ดี ขึ้นมาบริหารจัดการ

ถัดจากบ้านหลวงราชไมตรี จะมีจุดสำคัญนั่นคือ ท่าประชานิยม (ท่าใหญ่) เป็นหนึ่งใน 8 ท่าน้ำที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชุมชนในอดีต เดิมที่ท่าน้ำแห่งนี้เคยมีสะพานไม้ตะเคียนทองสวยงามขนาดใหญ่ชื่อว่า “สะพานเฉลิมจันท์” เพื่อใช้ข้ามฟากแต่ถูกกระแสน้ำเชี่ยวซัดพังทลายเมื่อปี 2491 ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ชื่อและภาพเก่าแก่เท่านั้น

ระหว่างเดินเยี่ยมชมชุมชนสิ่งที่นักท่องเที่ยวเพลิดเพลินมากเป็นอันดับ 2 รองจากการถ่ายรูป คือ ขนมโบราณ อาหารพื้นถิ่น และของกินอร่อยตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น โรตีกลมชุมชนริมน้ำ, ขนมข้าวตัง, ข้าวเกรียบน้ำจิ้ม, ไอติมตราจรวด, กวยจั๊บป้าไหม, ขนมเทียนแก้วลุงจุ่น, ขนมโก๋แม่กิมเซีย, ขนมไข่ป้าไต๊, ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงเจ๊หน่อย, Sometime ร้านกาแฟบางเวลา ที่มีศิลปินการ์ตูนเป็นเจ้าของร้าน และน้ำมะปี๊ด สูตรเด็ดของจังหวัดจันทบูร

ทุกเมนูรับรองว่าอร่อยเด็ดแต่หากยังไม่อิ่มแนะนำให้ไปต่อที่ “ตรอกท่าใหม่” แหล่งรวมของอร่อย 100 ปี

ถนนสายนี้เป็นศูนย์รวมของร้านเก่าแก่ ทุกร้านคือตำนาน ไม่ว่าจะเป็น “ก๋วยเตี๋ยวเลียงป้าติ๊ด” เจ้าแรกในอำเภอท่าใหม่ เริ่มขายมาตั้งแต่รุ่นยายสมัยนั้นหาบขายตามบ้าน มาถึงรุ่นแม่และรุ่นหลานคือ ป้าติ๊ด วัย 73 ปี

“ก๋วยเตี๋ยวเลียง” ถือเป็นเมนูอาหารถิ่นที่หาทานได้เฉพาะในเมืองจันท์ เนื่องจากวัตถุดิบที่เป็นพระเอกของชามคือ “เร่วหอม” พืชสมุนไพรหาได้ในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการปรุงน้ำซุปที่ต่างจากก๋วยเตี๋ยวทั่วไป เช่น ใช้น้ำอ้อยหรือน้ำตาลอ้อยเพื่อเพิ่มรสหวาน เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีร้านอร่อยอีกมากมาย เช่น “ทองม้วนคุณใบ้” เป็นเจ้าแรกที่คิดค้นเตาขนมทองม้วนแบบเล็ก โดยมีคุณยายใบ้วัย 72 ปี เป็นทายาทดูแลร้าน มีร้านทองม้วนนิ่มห่อแข็ง “ร้านแม่สงบ” ผู้คิดค้นสูตรทองม้วนเค็มเจ้าแรกในท่าใหม่ เป็นต้น

หากเป็นคนที่ชื่นชอบการชิมอาหารอร่อย มาเที่ยวเมืองจันท์รับประกันไม่ผิดหวัง!

ล่าสุด จังหวัดจันทบุรียังตอกย้ำความเป็นเมืองแห่งอาหารอร่อยด้วยการจัดงาน “ชื่น ชิม ชม อาหารถิ่น จันทบูร” ในวันที่ 20-23 กันยายนนี้ ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี โดยมีตัวแทนชุมชนในจังหวัดจันทบุรีขนของอร่อยมาร่วมงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “ข้าวคลุกพริกเกลือ” อาหารพื้นถิ่นของคนจันท์ ที่นำน้ำพริกเกลือหรือน้ำจิ้มซีฟู้ดคลุกกับข้าวสวย แล้วทานคู่กับอาหารทะเลและไข่ต้ม, “ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ เจ๊เพ็ญ” อัดแน่นด้วยเครื่องทะเลและกั้งตัวใหญ่, “ก๋วยเตี๋ยวผัดยายลั้ง” อาหารพื้นถิ่นสูตรเฉพาะของชุมชนบางกะจะ โดยผัดเส้นก๋วยเตี๋ยวเข้ากับน้ำกุ้งที่ผ่านการเคี่ยวจนเข้มข้น รสชาติกลมกล่อม, “หอยนางรม ฟาร์มป้าหลุยลุงทม” หอยไซซ์ใหญ่พิเศษ ส่งตรงจากชุมชนท่าแฉลบ เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดจันทบุรี และเมนูอื่นๆ อีกมากมาย

ศึกษาประวัติศาสตร์-วิถีชีวิตคนจันท์ ผ่านการท่องเที่ยว

สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตและเรื่องราวคนเมืองจันท์ นอกจากเยี่ยมชม “ศาลหลักเมืองจันทบุรี”, “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ซึ่งเป็นสถานที่สะท้อนความศรัทธาของคนในจังหวัดและบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี และ “หอจดหมายเหตุ” ที่บอกเล่าเรื่องราวของคนเมืองจันท์ในทุกยุคทุกสมัยแล้ว

ยังสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนผ่านอาชีพ ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นการทอ “เสื่อกก” หรือ “เสื่อชี” เส้นใยละเอียดที่สืบทอดมาจากชาวญวน รวมไปถึงการ “ขุดพลอย”

ในอดีตคนเมืองจันท์จำนวนไม่น้อยยึดอาชีพเกี่ยวข้องกับพลอยอย่างครบวงจร ทั้งการขุด เผา เจียระไนพลอย รวมถึงการขาย

พณทรรศน์ บุญสิทธิ์ มัคคุเทศก์ผู้เกิดและเติบโตในเมืองจันท์ เล่าว่า ในอดีตไม่มีที่ไหนเผาพลอยมาก่อน จันทบุรีเป็นที่แรก โดยเริ่มมาจากอุบัติเหตุไฟไหม้บ้านเรือนในชุมชนริมน้ำจันทบูร บริเวณนั้นมีบ้านคนที่มีอาชีพทำพลอย พอไฟมอดเขาก็เข้าไปในบ้านแล้วพบว่าพลอยที่ถูกไฟเผามีสีสวยงามมากกว่าเดิม จึงเกิดอาชีพเผาพลอยขึ้น

ปัจจุบันยังมีการขุดพลอยอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและอนุรักษ์การหาพลอยแบบโบราณ บ่อพลอยเหล็กเพชร อยู่ในพื้นที่รอยต่อของตำบลบางกะจะ และตำบลสีพยา เป็นสถานที่ที่ใช้ทำอาชีพขุดพลอยกันจริงๆ และเป็นบ่อพลอยเพียงไม่กี่แห่งในจันทบุรีที่ยังคงใช้วิธีขุดชั้นดินลงไปหา นอกจากนี้ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้เรียนรู้และสัมผัสขั้นตอนการขุดดินหาพลอยและการร่อนแร่แบบโบราณด้วยตัวเอง

ไม่เพียงเท่านี้จังหวัดจันทบุรียังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกมากมาย เช่น ตลาดทุบหม้อ, ป้อมไพรีพินาศ, หาดแหลมสิงห์, หาดแหลมเสด็จ, หาดเจ้าหลาว, จุดชมวิวเนินนางพญา, วนอุทยานเขาแหลมสิงห์, อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว และเขาคิชฌกูฏ เป็นต้น

วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี บอกว่า จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีลักษณะเป็นตัวแทนของประเทศไทยทั้งหมด คือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประเพณี

วิทูรัช ศรีนาม

“ย้อนกลับไปเรามีประวัติศาสตร์สำคัญทุกยุค ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ ที่อำเภอโป่งน้ำร้อนของจันทบุรี พบซากไดโนเสาร์อายุเป็นล้านปี เรายังเป็นยุคร่วมของนครวัด นครธม เห็นได้จากปราสาทขอมที่วัดทองทั่ว ทั้งยังเป็นเมืองประวัติศาสตร์การกู้ชาติในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเป็นเมืองประวัติศาสตร์สำคัญในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112”

“นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 200 กิโลเมตร แต่มีจุดผ่านแดนถาวรไปยังประเทศกัมพูชา ฉะนั้นจันทบุรีจึงเป็นเส้นทางสำคัญด้านการท่องเที่ยว”

สำหรับนโยบายด้านการท่องเที่ยวพ่อเมืองจันทบุรีเผยว่า มีความพยายามร่วมกันในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมในเรื่องของความเป็นเจ้าบ้าน ตลอดจนคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว และไม่เร่งพาคนเข้ามาพร้อมกันมากๆ เนื่องจากบทเรียนของการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ผ่านมาจะเน้นเรื่องรายได้ แต่มีอีกกระแสคือการมุ่งพัฒนาเรื่องคุณภาพและความสุขในใจ น่าจะยั่งยืนกว่าและมีค่ามากกว่าเงินหรือรายได้ซึ่งเป็นแค่ผลพลอยได้

“ประเทศไทยมีบทเรียนเยอะ อย่างเรื่องการเกษตรพออะไรราคาดีก็ไปปลูกกันเยอะ พอเยอะราคาก็ตก การท่องเที่ยวก็เช่นกัน เรามีบทเรียนจากหลายแห่ง ที่คนไปเยอะจนเกินขีดความสามารถที่รับไหวทำให้ไม่ยั่งยืน เราก็มีตรงนั้นเป็นบทเรียน ซึ่งโชคดีที่วิถีคนเมืองจันทบุรีก็มีพื้นฐานเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว”

 

วิทูรัชยังอธิบายด้วยความพอใจต่อการท่องเที่ยวในขณะนี้ แม้จันทบุรีเป็นเมืองรองก็ตาม พร้อมเน้นย้ำว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำจันทบุรีให้เหมือนใคร

“ถามว่าเราจะพัฒนาเมืองจันทบุรีให้เหมือนกับพัทยาแล้วเราจะสู้เขาได้ไหม ผมว่าไม่มีทาง เพราะฉะนั้นในแต่ละที่มีอะไรดีก็ควรจะไปทางนั้น ทุกพื้นที่มีด้านที่ไม่เหมือนกัน เราควรรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ ที่เรามีอยู่ตรงนี้ให้ดี” วิทูรัชทิ้งท้าย

ชูศักยภาพ ‘จันทบุรี’ เป็น ‘เมืองรองต้นแบบ’

ในภาพรวมจังหวัดจันทบุรีมีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน มีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ใกล้เคียงกับเมืองหลัก ด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวนี้เอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงยกจันทบุรีเป็น “เมืองรองต้นแบบ” ของการท่องเที่ยวไทย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวไว้ในงานสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ การท่องเที่ยวเมืองรอง และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน หรือเมืองรองฟอรั่ม ณ จันทบุรี ว่า การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองเป็นกลไกที่จะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

พร้อมยกตัวอย่างว่า เมื่อก่อนเราตื่นเต้นกับการเข้ามาและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว แต่เราไม่ได้ถามว่าเขาไปใช้จ่ายที่ไหนบ้าง การที่เขาใช้เงิน 3,000 บาท ในการซื้อเครื่องดื่มหรู กับการซื้อมันต้มกับคุณป้าราคา 45 บาท มันมีความหมายกับคุณป้าและมันลดความเหลื่อมล้ำได้ ถ้าคิดแบบนี้นโยบายท่องเที่ยวจะเปลี่ยนมุม

วีระศักดิ์ยังระบุถึงปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมการท่องเที่ยวในอนาคตนั่นคือ “รถไฟ”

“อีก 5 ปี นับจากนี้รถไฟจะเปลี่ยนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการเดินทางในประเทศ และจะให้ความเป็นธรรมในสิ่งที่เราไม่เคยคุ้นเคยมาก่อน เมื่อรถไฟที่วิ่งเข้ามาแม้ไม่มีคนเข้ามาแวะเที่ยวที่เมืองจันทบุรี แต่คนที่เดินทางเกิดอยากกินเส้นจันท์ผัดปู หรือปูเผา เขาก็ไม่ต้องลงจากรถแต่สามารถสั่งและจ่ายเงินผ่านออนไลน์ ให้มาส่งที่โบกี้ตอนรถไฟผ่านสถานีได้เลย โดยที่เขาไม่ต้องลงมาค้างแรม ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือเมืองรองจะเตรียมตัวอย่างไรทั้งเรื่องเมือง คน ระบบ เมนู และราคา” วีระศักดิ์อธิบาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image