ล้วง ‘ความลับ’ ในศิลา กัมพูชา 3 ยุค

เดินฝ่าแดดสู่ปราสาทนครวัด

มติชนอคาเดมี ในเครือมติชน จัดทัวร์เยี่ยมชมโบราณสถานที่กัมพูชา ด้วยชื่อชวนระทึกว่า “ความลับหลังกำแพงศิลา”

เช้าวันศุกร์ 14 กันยายน คณะออกเดินทางจากสุวรรณภูมิด้วยเที่ยวบินพีจี 903 ของบางกอกแอร์เวย์ส ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนบินลงที่เสียมเรียบ เห็นพื้นที่ราบด้านล่างเจิ่งนองด้วยน้ำจากทะเลสาบใหญ่หรือโตนเลสาบ

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ หรือ “อาจารย์ศานติ” วิทยากร ปูพื้นให้ก่อนว่า ประวัติศาสตร์กัมพูชากำหนดให้ยุค “พระนคร” ที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดเป็นแกนกลาง

แยกเป็น 1.สมัยก่อนพระนคร รัฐยุคแรกเริ่ม จากรัฐเมืองท่ากลายเป็นรัฐขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ฟูนัน” หรือ “ฝูหนาน” ในภาษาจีนกลาง ศูนย์กลางอยู่แถวตอนล่างของกัมพูชา คือ จ.ตาแก้ว และเวียดนามใต้ที่ออกแก้ว

Advertisement

และรัฐที่ถือว่าเป็นบรรพบุรุษสายตรงคือ “เจนละ” สันนิษฐานว่าศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเศรษฐปุระ ปัจจุบันคือจำปาศักดิ์ และปากแม่น้ำมูล ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-13

2.สมัยพระนคร พุทธศตวรรษที่ 15-20 กัมพูชาย้ายเมืองหลวงมาอยู่บริเวณเมืองพระนคร หรือนับแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ภูเขามเหนทรบรรพต หรือพนมกุเลน ประกาศเอกราชจากชวา จนถึงปี พ.ศ.1974 ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ยกทัพมาตีเมืองพระนครหลวงสำเร็จ

3.สมัยหลังพระนคร จากพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24 ย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองบาสาณ เมืองจตุรมุข หรือพนมเปญยุคแรก และเมืองละแวก เมื่อละแวกแตกย้ายไปหลายที่ก่อนมาตั้งที่อุดงค์มีชัย ประมาณ 200 ปี แล้วจึงมาอยู่ที่พนมเปญปัจจุบัน

Advertisement

การเดินทาง 2 คืน 3 วันครั้งนี้ วางน้ำหนักที่ 2 ยุคแรก

นอกจากอาจารย์ศานติ ทริปนี้ยังมีคุณเชียง วัน มัคคุเทศก์กัมพูชา ผู้มีโครงใบหน้าละม้ายบรรพบุรุษบนกำแพงศิลา และปราสาทหิน ให้ข้อมูลควบคู่กับปล่อยมุขเป็นระยะ

กัมพูชาแบ่งเป็น 21 จังหวัด ปีหน้า 2562 จะเป็น 25 จังหวัด

เมืองหลวงของกัมพูชา เรียกว่า “ราชธานีพนมเปญ” ไม่เรียก “กรุง” เพราะกรุงหรือกรง คือเขตการปกครองระดับจังหวัด อย่างเสียมเรียบ คือกรงเสียมเรียบ

ที่หมายแรก คือมหาปราสาทบันทายฉมาร์ อยู่ที่ จ.บันเตียเมียนเจย หรือศรีโสภณเดิม

มื้อกลางวันที่ร้าน “ประกายพรึก” มีจานเด็ดเป็นปลาต่างๆ ซึ่งเป็นวัตถุดิบเบสิกสำหรับกัมพูชา ที่อุดมด้วยแหล่งน้ำ นาข้าว

ก่อนเดินทางด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม.ต่อชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 2 ชม.เศษถึงที่หมายแรก คือ “บันทายฉมาร์”

บันทายฉมาร์ห่างจาก อ.ตาพระยา อำเภอชายแดนของ จ.สระแก้ว แค่ 20 กม.เท่านั้นเอง แต่การเดินทางจากประเทศไทยยังไม่สะดวก

สะดวกเมื่อไหร่ น่าจะเรียกแขกล้นหลาม

บันทายฉมาร์ในภาษาเขมรแปลว่า “ป้อมเล็ก” สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประมาณปี พ.ศ.1700 เศษ

อีกชื่อคือไผทสมัน เอกสารไทยโบราณเรียกว่า “พุทไธสมัน” ซึ่งเป็นสร้อยนามของเจ้าเมืองสุรินทร์ในเวลาต่อมา

หินที่ใช้ก่อสร้างตัดและชักลากจาก “สระเพลง” อ.ตาพระยา ในฝั่งไทย

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอุทิศให้ศรีนทรกุมาร ราชโอรสที่สิ้นพระชนม์จากสงครามกับจาม และปราบกบฏภรตราหู และเป็นที่ฝังศพขุนศึก 4 นาย ที่มุมปราสาท

ภาพสลักบนกำแพงเล่าเรื่องการรบและเหตุการณ์สำคัญในสงคราม เช่น การตัดหัวมาถวาย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุคนั้น

ปราสาทสร้างด้วยหิน บนยอดเป็นหน้าของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเหมือนที่พระนครหลวง มีกองหินระเกะระกะ สวยดิบๆ ไปอีกแบบ

กำแพงด้านหลังมีภาพสลักของอวโลกิเตศวรพันกร หรือพันมือ แต่บางส่วนโดนทลายลงมาแล้วส่งไปขาย ถูกจับได้ที่ประเทศไทย ตอนนี้ส่งกลับมาอยู่ที่พนมเปญ

ใช้เวลา 2 ชั่วโมงเศษกับการสัมผัสกับบันทายฉมาร์ กลับมาเข้าพักอย่างผ่อนคลายเต็มที่ ที่โรงแรมโซฟิเทล อังกอร์ โภคีธรา กอล์ฟแอนด์สปารีสอร์ท ในเมืองเสียมเรียบ

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน เป็นวันแห่งการเยือน “กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก” ที่ จ.กัมปงธม ทางตอนเหนือของทะเลสาบ ระหว่างทางแวะชมสะพานกัมปงกะเดย สร้างด้วยศิลาแลงในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ข้ามแม่น้ำกัมปงกะเดย

สะพานแห่งนี้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ใช้ลำเลียงไพร่พล และอาวุธยุทโธปกรณ์ในศึกขับไล่กองทัพจามที่เข้ายึดพระนครหลวงอยู่ระยะหนึ่ง

ตัวสะพานกว้างถึง 15 เมตร และใช้งานตลอดมา เพิ่งมาทำถนนเพื่อลดภาระสะพานเร็วๆ นี้เอง

อาหารกลางวันริมทะเลสาบ อากาศสบายๆ น้ำใสแจ๋ว แต่เห็นชัดว่ามีการบุกรุกก่อสร้างชายฝั่งทะเลสาบกันมาก

รถวิ่งผ่านบ้านเรือน ทุ่งนา ที่น้ำเอ่อล้นขึ้นมาไปยังสมโบร์ไพรกุก ซึ่งยูเนสโกบรรจุเป็นมรดกโลกเมื่อเดือน กรกฎาคม ปี 2560 ที่ผ่านมา

เป็นแห่งที่ 3 ของกัมพูชา ต่อจากเมืองพระนคร หรืออังกอร์และปราสาทพระวิหาร

สะพานหินกัมปงกะเดย สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ใช้การสมบุกสมบันมาหลายร้อยปี และยังใช้การได้อยู่
ผ่านเทวดายุดนาค เข้าประตูด้านใต้ของนครธม

สมโบร์ไพรกุก คืออิศานปุระ ราชธานีอาณาจักรเจนละของพระเจ้าอิศาน วรมัน ครองราชย์ พ.ศ.1159 ผู้รวมเอาฟูนันและเจนละเข้าด้วยกัน

เป็นโอรสของพระเจ้าจิตรเสน หรือพระเจ้ามเหนทรวรมัน ผู้บุกเบิกอาณาจักรเจนละโดยผนวกฟูนันหรือฝูหนานเข้ามา สมโบร์ไพรกุกหรืออิศานปุระอยู่ในยุคก่อนเมืองพระนคร อาจารย์ศานติบอกว่า ถ้ายึดลำดับเวลา ควรเริ่มต้นทริปที่สมโบร์ไพรกุกก่อน แต่เวลาไม่ลงตัวจึงสลับมาเป็นวันที่สอง

กลุ่มปราสาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มตอนเหนือ หรือปราสาทสมโบร์ มีทั้งเหนือด้านในและเหนือด้านนอก มีปราสาทที่สร้างจากยุคฟูนันก่อนยุคสมโบร์ ในกลุ่มนี้ที่เด่นๆ มีปราสาทอาศรมฤๅษี สร้างจากหินทั้งแผ่นมาเข้าสลัก ปราสาทจัน ปราสาทไทรหรือเจรย

กลุ่มตอนกลาง หรือกลุ่มปราสาทโตว์ (สิงโต) กลุ่มนี้มีปราสาทอิฐขนาดใหญ่ มีรูปสิงห์ยืนสง่าประดับบันไดทางขึ้น ลวดลายบนทับหลัง ชี้ว่าน่าจะสร้างหลังรัชกาลพระเจ้าอิศานวรมัน ประมาณ พ.ศ.1200-1224

กลุ่มด้านใต้ หรือกลุ่มปราสาทเนียะก์ป็วน หรือนาคพัน หรือเยียปวน (ยายพัน) มีปราสาทที่แสดงถึงสถาปัตยกรรมอินเดีย มีภาพสลักหน้าคนเป็นอินเดีย มีปราสาทซึ่งมีปราสาทบริวารแปดเหลี่ยม เป็นลักษณะเฉพาะ น่าจะสร้างใน พ.ศ.1259-1180 สมัยพระเจ้าอิศานวรมัน

ปราสาทที่สร้างด้วยอิฐมีเทคนิคการฝนอิฐจนเรียบยาด้วยยางไม้ ก่อแบบสนิท และมีวิธีเรียงอิฐในส่วนยอดของปราสาทให้สอบเข้าอย่าน่าทึ่ง

หน้าปราสาทโตว หรือปราสาทสิงโต มีสิงโตอินเดียเฝ้าประตู 4 ด้าน แต่ปัจจุบันเหลือคู่เดียว ที่สมโบร์ไพรกุก
โรงแรมโซฟิเทล อังกอร์ โภคีธรา ร่มรื่น และสะท้อนศิลปะอังกอร์

ชมความอลังการเก่าแก่กันพอสมควร กลับออกมาพบกับโลกปัจจุบัน วัยรุ่นกัมพูชาเปิดเพลงสมัยใหม่ เล่นน้ำที่ขึ้นสูงอย่างสนุกสนาน

เดินทางกลับถึงเสียมเรียบค่ำๆ ดินเนอร์พร้อมกับชมนาฏศิลป์กัมพูชาที่โซฟิเทล อังกอร์ โภคีธราฯ

อาทิตย์ที่ 16 กันยายน ทัศนวิสัยคมชัด แดดเปรี้ยง เป็นโปรแกรมทัวร์ “นครวัด-นครธม” แบบเต็มวัน

ชื่อของ “นครธม” หมายถึง “พระนครหลวง” หรือ “เมืองพระนคร” ศูนย์กลางอาณาจักรขอม ประกอบด้วยเทวสถาน ศาสนสถาน และพระราชวังหลวง

ส่วน “ปราสาทนครวัด” เป็นศาสนสถานอยู่ทางใต้ของเมืองพระนคร

นครธมเป็นเมืองหลวงในยุคพระนคร เริ่มเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ย้ายเมืองหลวงมาที่พนมกุเลน ประมาณ พ.ศ.1300 เศษ และต่อมาพระเจ้ายโศ วรมันที่ 1 สร้างเมืองพระนครศรียโศธรปุระขึ้นมาในปี พ.ศ.1400 เศษ

จามจากเวียดนามกลางมาตีพระนครใน พ.ศ.1720 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รบชนะขับไล่จามออกไป พระนครศรียโศธรปุระถูกทำลายเสียหาย

จึงสร้างพระนครศรียโศธรปุระเมืองที่ 2 ซ้อนเหลื่อมกับเมืองพระนครเมืองแรก มีศูนย์กลางที่ปราสาทบายน

เรียกว่า “นครธม” พงศาวดารอยุธยาเรียก “เมืองนครหลวง” หรือ “พระนครหลวง”

พ.ศ.1974 เจ้าสามพระยาตีนครหลวงแตก เป็นอันสิ้นสุดยุคพระนคร มีการย้ายลงทางใต้สร้างราชธานีใหม่อีกหลายเมือง

ปราสาทนาคพัน นครธม
ยุทธนาวีขอม-จาม ในทะเลสาป ระเบียงคตปราสาทบายน นครธม

ส่วนปราสาทนครวัดสร้างโดยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1656-1693

คณะเดินเท้าลอดประตูเมืองที่สลักเป็นหน้าของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ก่อนไปชมปราสาทบายน หรือบรรยงค์ ปราสาทบาปวน และพระราชวังหลวงที่เหลือแต่ฐาน และมีปราสาทพิมานอากาศอยู่ด้านใน

นั่งรถต่อไปเพื่อเยือนปราสาทนาคพัน พุทธสถานมหายาน จำลองจากสระอโนดาต อยู่บนเกาะกลางบารายขนาดใหญ่ ต้องเดินไปบนสะพานไม้เล็กๆ ที่ทอดข้ามบาราย

เมื่อเจ้าสามพระยาตีนครธม ได้นำประติมากรรมสัมฤทธิ์จากปราสาทแห่งนี้กลับไปกรุงศรีฯ ต่อมาเมื่อบุเรงนองตีกรุงศรีฯแตกครั้งที่ 1 ได้นำประติมากรรมเหล่านี้ไปที่หงสาวดี

ปัจจุบันอยู่ที่วัดพระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์

ภาคบ่ายเป็นรายการชมนครวัด นอกจากสถาปัตยกรรมของปราสาท จุดเด่นคือภาพสลักเรื่อง รามายณะ และมหาภารตยุทธ

รวมถึงภาพ “เนะ สยำ กก” หรือกองทัพจากสยาม เป็นภาพกองทหารเดินแถวในลีลาผ่อนคลาย ต่างจากขบวนทัพอื่น

อ.ศานติชี้ว่าชื่อของนครวัดในสมัยแรกๆ คือ “พระพิษณุโลก” และมีหลักฐานว่ามีภิกษุไทยเดินทางมาสักการะพระพิษณุโลกแห่งนี้ในสมัยอยุธยา ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลอีกชุด ที่ระบุว่านครวัดถูกทิ้งร้างจนกระทั่งอังรี มูโอต์มาพบ ใน พ.ศ.2402

จบการสัมผัสนครวัด เดินทางไปสนามบินเตรียมเดินทางกลับในเที่ยวบินค่ำ

การเดินทางไปในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ พบว่าปราสาทหินและกำแพงศิลา ทั้งเปิดเผยและปิดบัง “ความลับ” ของอดีตไว้เกินกว่าจะคาดคิด

ทั้งการต่อสู้ ภูมิปัญญา ชัยชนะ ความสูญเสีย ความรุ่งโรจน์และเสื่อมโทรมของอารยธรรมและอาณาจักรที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของภาคพื้น

บางส่วนเป็นที่รับรู้ อีกหลายเรื่องยังรอการพิสูจน์ ค้นพบและตีความ

มาเห็นพระนครและนครวัดแล้ว คงจะตายง่ายๆ อย่างที่พูดๆ กันคงไม่ได้

อ.ศานติ แนะนำฤาษีวาลมีกิร่ายโศลก ปฐมบทของรามายณะ ที่บันทายฉมาร์

หมายเหตุ –See Angkor and Die หรือ See Angkor Wat and Die วาทะก้องโลกของ Arnold Joseph Toynbee นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีชาวอังกฤษ หลังเยือนนครวัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image