เมื่อ ‘การต้านทุจริต’ ถูกใช้ทำลายประชาธิปไตย และ ‘รัฐประหาร’ ไม่ใช่หนทางปราบโกง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย)

“ปราบคอร์รัปชั่น” เป็นเหตุผลหนึ่งในการรัฐประหารครั้งล่าสุดของ คสช. ซึ่งยกเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดอีเวนต์ถ่ายรูปแสดงพลังใหญ่โตหลายครั้ง แม้ผลสำเร็จอาจไม่ได้สะท้อนไปในทิศทางเดียวกับท่าทีที่มุ่งมั่นขึงขัง

ผลงานหนึ่งที่ผู้สนับสนุนอาจยกเป็นคดีตัวอย่างว่ามีความเอาจริงเอาจังในการปราบโกง คือคดีจำนำข้าวที่มีการลงโทษอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกยึดอำนาจ

แม้ยังมีข้อสงสัยเกิดขึ้นมากมายในคดีจำนำข้าวที่ยังไม่จบ และขอบเขตความรับผิดชอบเชิงนโยบายของนายกรัฐมนตรี จนถึงข้อสงสัยในความเสมอหน้าในการตรวจสอบทุจริตฝ่ายต่างๆ

แต่สิ่งที่คณะรัฐประหารตอกย้ำตลอดมาสอดคล้องกับการชุมนุมภาคประชาชนช่วงก่อนการรัฐประหารคือ ความเลวร้ายของเหล่านักการเมืองที่เต็มไปด้วยการทุจริตโกงกินอันนำไปสู่ความล่มจมของประเทศชาติ

Advertisement

โดยละเว้นการชี้นิ้วไปยังภาคราชการ กองทัพ หรือกระทั่งนักการเมืองที่มานำม็อบเอง

ความอึดอัดคับข้องในสภาวะความรู้สึกว่าตกอยู่ในยุคนักการเมืองโกงกินสิ้นชาติ นำไปสู่การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง และต้องการผู้นำที่มีความเป็นกลาง เข้ามาปราบโกง จัดระเบียบบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย

แต่ผลที่ปรากฏใน 4 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่าการรัฐประหารใช่ทางออกที่แท้จริงจากปัญหาทุจริตหรือไม่

Advertisement

ศ.โยชิฟูมิ ทามาดะ นักวิชาการด้านไทยศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ศึกษาการเมืองไทยมายาวนาน ได้บรรยายในโอกาส 70 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “Anti-Corruption Politics สู้กับทุจริตเพื่ออะไร”

“การทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ แต่การต่อต้านการทุจริตเป็นปัญหาใหญ่กว่า สำหรับการเมืองแบบประชาธิปไตย เมื่อการต่อต้านทุจริตมาทำลายระบอบประชาธิปไตย”

ศ.โยชิฟูมิกล่าว และว่า แม้ว่าต้องป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ไม่ควรทำลายระบอบประชาธิปไตย น่าจะมีการศึกษา “ทุจริตวิทยา” จึงจะเข้าใจปัญหาของการทุจริต และปัญหาของการต่อต้านการทุจริต

ศ.โยชิฟูมิ ทามาดะ นักวิชาการด้านไทยศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

ถ้าทุจริตคือมะเร็ง การฆ่าผู้ป่วยคงไม่ใช่ทางรักษา

มีผู้เปรียบการทุจริตเป็นโรคมะเร็ง เช่นที่ J.D. Wolfensohn ผู้ว่าการธนาคารโลกประกาศในปี 2539ว่า “เราต้องสู้กับการทุจริต ซึ่งเหมือนเป็นโรคมะเร็ง” และ D. Cameron อดีตนายกฯสหราชอาณาจักร พูดในปี 2560 ว่า “การทุจริตแย่กว่าโรคมะเร็ง”

แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ศ.โยชิฟูมิมองว่าการทุจริตเป็นต้นเหตุของเผด็จการทหาร ที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามทุจริต โดย กปปส.อ้างความร้ายแรงของการทุจริต เรียกร้องการแก้ปัญหาและการปฏิรูป โดย “คนดี” เหล่านี้ปฏิเสธทั้งทักษิณและประชาธิปไตย

The Asia Foundation มีการสำรวจความเห็นผู้เข้าร่วม กปปส. ส่วนใหญ่อธิบายมาชุมนุมว่าเพื่อทำลายระบบทักษิณ เพื่อปฏิรูประบบการเมือง เพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อถามว่าการปฏิรูปคืออะไรส่วนใหญ่ตอบว่าปฏิรูปเรื่องการทุริต และทักษิณทุจริตต้องกำจัด

“ถ้าเปรียบการทุจริตเป็นโรคมะเร็ง แต่การฆ่าผู้ป่วยไม่ใช่ทางที่ดี หากเข้าใจเรื่องการทุจริตไม่ดีพอ เราจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตยง่ายขึ้น”

“การทุจริต” มีคำนิยามที่หลากหลาย 1.ตามกฎหมายกำหนด 2.ทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ 3.การทุจริตนอกอำนาจทางการ เช่น นักธุรกิจที่เป็นฝ่ายรุกใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือ 4.การร่างกฎหมายตามใจ

“เมื่อขาดคำนิยามการทุจริตที่ชัดเจนจึงเกิดปัญหา เช่น กรณีทางด่วนขั้นที่สอง (ทางพิเศษศรีรัช) บริษัทญี่ปุ่น Kumagaigumi ตั้งบริษัท BECL ทำสัญญากับรัฐบาลไทย สร้างทางด่วนเอง และได้ค่าก่อสร้างจากค่าผ่านทางคันละ 30 บาท แต่หลังสร้างเสร็จ รัฐบาลไทยขอร้องให้ลดราคาเป็น 20 บาท ทาง บ.ญี่ปุ่นปฏิเสธและต้องขายหุ้นทั้งหมด นักวิชาการคนหนึ่งอธิบายว่า นี่คือการทุจริตอย่างหนึ่ง”

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ปี 2560 ไทยอยู่อันดับที่ 96 เท่าอินโดนีเซียที่ทำคะแนนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ขณะที่ไทยได้คะแนนเท่าปี 2555

ธุรกิจต้านคอร์รัปชั่น ปราบศัตรูเพื่อศีลธรรม

“เมื่อการทุจริตถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองและถึงที่สุดก็ปฏิเสธการเมือง โดยใช้เพื่อลบความชอบธรรมจาก 1.สิ่งที่คู่ต่อสู้ทางการเมืองกำลังกระทำอยู่ 2.กระบวนการหรือพฤติกรรมที่ตนเองไม่ชอบ ร้ายกว่านั้นคือ ด่าการทุจริตจนถึงรังเกียจการเมือง โดยมีแนวโน้มด่านโยบายอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบทางการเมืองว่าเป็นการทุจริต” ศ.โยชิฟูมิกล่าว

จากที่การทุจริตถูกมองว่าเป็นปัญหาด้านการปกครอง นักวิชาการสนใจปัญหาทุจริตมากขึ้นเพราะมองว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ กระแสต้านทุจริตรุนแรงขึ้นใน 30 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากปัญหาการเมืองกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ

ปี 2540 เป็นต้นมา ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกมองการทุจริตเป็นศัตรูของธรรมาภิบาล จึงรับหน้าที่ต่อต้านทุจริต ซึ่งมีส่วนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเพราะไม่อยากเสียเปรียบนักธุรกิจที่ทุจริต และกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศมากขึ้น นับจากที่สหรัฐเริ่มมี FCPA เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เอาผิดการติดสินบนนอกประเทศในปี 2520 จนสหประชาชาติร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านทุจริต (UNCAC) ในปี 2546 และมี 183 จาก 193 ประเทศให้สัตยาบันแล้วในปี 2560

ความสนใจปัญหาทุจริตขยายตัวขึ้นจากที่รัฐบาลประเทศต่างๆ มีการร่างกฎหมาย ไปสู่ภาคเอกชน จนถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน

“เมื่อองค์กรระหว่างประเทศช่วยอุดหนุนการต่อต้านการทุจริตบางพวก เช่น นักวิชาการกับเอ็นจีโอที่หากินกับงานนี้จนกลายเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง รวมถึงที่เมืองไทยมีเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น การทุจริตเกิดเป็นศัตรูใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น เมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์จึงต้องมีศัตรูใหม่เพื่อจับมือกันต่อสู้ เพื่อผู้ดำเนินการจะได้เกิดศีลธรรม”

ประติมากรรมกลโกงชาติคดีจำนำข้าว ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดแสดงเมื่อปี 2558 ระบุว่าเป็นการโกงเชิงนโยบายที่สร้างความหายนะให้กับประเทศมากที่สุด

ยุติธรรมเลือกปฏิบัติ สู่เครื่องมือการเมือง

ศ.โยชิฟูมิมองว่า การต่อต้านทุจริตในไทยรุนแรงขึ้นหลังตั้งองค์กรปราบปรามต่างๆ อย่าง ป.ป.ช. ที่เน้นด้านการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ปัญหาคือการต่อต้านทุจริตไทยเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง เช่น ขบวนการยุติธรรมมีลักษณะเลือกปฏิบัติ การทุจริตเป็นข้ออ้างต่อต้านประชาธิปไตย และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ปัญหาหนึ่งคือ ไทยมีการปราบปรามการทุจริตที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่เสมอกันเมื่อเทียบกับต่างชาติ เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง กทม. บริษัทออสเตรียติดสินบนให้ซื้อในราคาแพง กรณีนี้ประเทศไทยลงโทษหนัก มีการสั่งจำคุกประชา มาลีนนท์ 12 ปี แต่ที่ออสเตรียไม่เอาผิดบริษัทที่ติดสินบน แต่สั่งให้จ่ายค่าชดเชย กทม.

คดี บ.มิตซูบิชิ ฮิตาชิ เพาเวอร์ ซิสเต็มส์ (MHPS) ทำสัญญารับงานโรงผลิตไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช มีการจ่ายสินบน 20 ล้านบาท อัยการญี่ปุ่นฟ้องพนักงานผู้ใหญ่ 3 คน ไม่โทษพนักงานพื้นที่ ส่วนฝ่ายไทย ป.ป.ช. เปิดเผยว่าคนรับเงินคือข้าราชการกรมเจ้าท่า นักการเมืองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจน้ำ 4-5 คน โดยอธิบายว่าจับมือกับฝ่ายญี่ปุ่นมาหลายปีแล้วจึงทราบว่าอะไรเป็นอะไร แต่ไม่นานนี้ กรรมการ ป.ป.ช. ตั้งใจพูดว่าการรับสินบนคดีเกิดขึ้นในการควบคุมของรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

คดีจีที 200 รัฐบาลไทยซื้อมาจำนวนมาก การใช้งานเกิดปัญหาตั้งแต่ปี 2551 มีผู้บริสุทธิ์ถูกจับจากการตรวจจับของเครื่องนี้ จนอังกฤษห้ามส่งออกปี 2553 และลงโทษผู้ผลิตปี 2556 ที่ผ่านมามีคนร้องเรียนเอาผิดรวม 12 คดี ตั้งแต่ปี 2556 แต่ ป.ป.ช.ทำงานช้ามาก ล่าสุดกรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า “เครื่องนี้เป็นความเชื่อเหมือนพระเครื่อง ฉะนั้นมีประโยชน์”

“มีบทความของบีบีซีเทียบคดีจีที 200 กับจำนำข้าวว่า ท่าที ป.ป.ช.ต่างกันมาก จีที 200 อยู่ในระหว่างรวบรวมหลักฐาน แต่จำนำข้าวความคืบหน้ารวดเร็วมาก มีการลงโทษไปแล้ว หรือในกรณีการขายข้าวแบบจีทูจีปลอมนั้น ที่มีการซื้อแพงขายถูกแล้วรัฐบาลขาดทุน ถ้าคิดแบบญี่ปุ่นไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นนโยบายสังคม (Social Policy) ค่าข้าวถึงมือชาวนาแล้วเรียกค่าเสียหายกับนายกฯได้อย่างไร”

มองในแง่ความรวดเร็วของคดีเทียบกับ คดีโรงพัก 396 แห่ง ที่เดิมแยกเป็น 9 ภูมิภาค แต่มีการเปลี่ยนเป็นสัญญาเดียว บริษัท PCC รับงาน 5,848 ล้านบาท เมื่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา (มิ.ย.2555) ขยายเวลาแล้วก็ยังสร้างไม่เสร็จ สตช.ได้เลิกสัญญาแล้วยังต้องจ่ายค่าชดเชย 96 ล้านบาทให้ PCC ต่อมา DSI เห็นควรสั่งฟ้องข้อหาฮั้วประมูลและฉ้อโกง แต่เมื่อ ส.ค.2559 อัยการสั่งไม่ฟ้อง และล่าสุด ส.ค. 2561 ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อหาการทุจริต

“การทุจริตมีปัญหาหลายอย่าง และไทยก็มีการทุจริตมากมาย แต่เมื่อมีการตีความการทุจริตแบบไม่แน่นอน จึงใช้การทุจริตเป็นเครื่องมือทางการเมือง คือการตราหน้าว่าทุจริตเพื่อเรียกความชอบธรรมต่อการกระทำที่ผิดกติกา มีอะไรก็ตราหน้าว่าเป็นการทุจริตหมด ไม่ชอบนักการเมืองก็ว่าทุจริต โดยมีปัจจัยเสริมคือกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความยุติธรรม แล้วองค์กรต่อต้านการทุจริตเชื่อถือได้แค่ไหน เมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไทยแถลงว่าให้คะแนนร้อยเปอร์เซ็นต์ในความตั้งใจปราบปรามทุจริตในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

“ด้านประชาชนไทยที่สนับสนุนรัฐประหารสองครั้ง ปี 2549 และ 2557 เพราะหวังว่าทหารจะเข้ามาขจัดทุจริต และการเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการศึกษาว่าในบังกลาเทศและปากีสถานมีสถานการณ์เหมือนไทย ที่คนด่าการทุจริตของนักการเมือง ต้องการผู้นำที่อยู่เหนือการเมือง จึงเปิดทางให้ทหารเข้ามาแก้ปัญหา คนที่ไม่เชื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของคนโกง แต่ทำรัฐประหารแล้วก็ไม่ดีขึ้น เพียงแต่ทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น คนที่พอใจคือคนที่ต้องการทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น”

คดีโรงพักร้างที่ดีเอสไอพบความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ป.ป.ช.ยังอยู่ในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน

อย่าทำให้ ‘ประชาธิปไตย’ = ‘ทุจริต’

ศ.โยชิฟูมิเสนอว่า ต้องแยกเรื่องการทุจริตกับเรื่องประชาธิปไตย เพราะการบอกว่าขจัดทุจริตแล้วจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้นไม่จริง หรือบอกว่าเป็นประชาธิปไตยจะมีการทุจริตมากขึ้นก็ไม่เกี่ยวกัน

“ไม่มีการเลือกตั้งก็มีการทุจริต เราควรไว้ใจประชาชนมากขึ้น การเลือกตั้งเป็นวิธีที่ตรวจสอบอำนาจที่ดีอันดับหนึ่ง ประชาชนอาจตรวจสอบไม่เก่งหรือตรวจสอบผิด แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่มีการตรวจสอบ ทหารข้าราชการทุจริตก็ทำอะไรไม่ได้ การให้ประชาชนตรวจสอบไม่ได้หมายความว่าลงโทษ แต่คือการให้ ส.ส.สอบตก เป็นการลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับนักการเมือง”

ส่วนการปราบปรามคอร์รัปชั่นให้ได้ผล ศ.โยชิฟูมิมองว่ากระบวนการยุติธรรมต้องเป็นกลางและเข้มงวดกับทุกอย่างจึงเป็นผล เพราะเมื่อผู้มีอำนาจมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะไม่ถูกจับก็แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้

เขายังยืนยันว่าวิธีปราบทุจริตที่ได้ผลคือการจับผู้กระทำผิดอย่างเป็นกลางและเข้มงวด เช่นที่องค์กรต้านคอร์รัปชั่นในฮ่องกง สิงคโปร์ และยุโรปที่จับผู้ทำผิดอย่างเข้มงวดโดยไม่เลือกฝ่ายจะทำให้ปราบปรามทุจริตได้จริง

เพราะต่อให้มีการทำโอเพ่นดาต้า เปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนตรวจสอบ แต่หากไม่นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิด สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถปราบปรามปัญหาทุจริตได้

จีที 200 ที่กรรมการ ป.ป.ช.มองว่าวินิจฉัยถูกหรือผิดยาก เพราะเป็นความเชื่อเหมือนพระเครื่อง เจ้าหน้าที่รู้สึกคุ้มค่า
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image