ยกระดับ ‘ผู้ผลิต’ ด้วยงานวิจัย สร้างอุตสาหกรรมมั่งคั่ง-เกษตรกรยั่งยืน

ไทยเป็นประเทศผู้ผลิต “อ้อย” มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศบราซิล สร้างรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในประเทศและส่งออกปีละ 180,000 ล้านบาท ทั้งยังสร้างงานสร้างรายได้แก่ชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 200,000 ครัวเรือน

อ้อยจึงนับเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ไม่เพียงใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเท่านั้น ยังสามารถต่อยอดไปถึงระดับอุตสาหกรรมระดับ Bio economy หรือการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างคุ้มค่า

ดังเช่น จ.นครสวรรค์ ที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมมากมาย แต่ผู้ประกอบการก็มีแนวคิดที่จะนำของเหลือเหล่านั้นมาแปรรูปให้เป็นวัสดุหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่นอกจากจะช่วยลดความสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ ยังช่วยดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ตอบโจทย์แนวคิดเกษตรอินทรีย์ที่จะช่วยพัฒนาเกษตรท้องถิ่นให้มีผลผลิตที่ยั่งยืน และเพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรม

Advertisement

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. จับมือร่วมกับบริษัทเอกชนเจ้าของอุตสาหกรรมน้ำตาลขนาดใหญ่ภายในจังหวัด ดำเนินโครงการครั้งสำคัญเพื่อยกระดับงานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ภายใต้แนวคิด “Zero Wealth” หรือแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่มีของเหลือทิ้ง

ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ นักวิจัยอาวุโสผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว.หัวหน้าทีมวิจัยโครงการระบุว่า งานวิจัยนี้ประกอบด้วย 2 โครงการหลักๆ คือ

Advertisement

1.โครงการวิจัยพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนากระบวนการหมักของเหลือจากกากอ้อยและกากน้ำตาลมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปรับสัดส่วนค่าไฮโดรเจนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการหมัก จะช่วยย่นระยะเวลาในการหมักปุ๋ยอินทรีย์จากเดิมที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะถึง 4 เดือน จะเหลือเพียงแค่ 1 เดือน

2.โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิต “ปุ๋ยอินทรีย์เคมี” สำหรับใช้ในการปรับปรุงดินและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี โดยนำปุ๋ยอินทรีย์และเคมีมาผสมกันช่วยลดต้นทุนการทำเกษตรไร่อ้อยถึง 30% ซึ่งแต่เดิมปุ๋ยอินทรีย์จะมีปริมาณธาตุอาหารที่ต่ำ หากทำเกษตรอินทรีย์จะต้นทุนสูงและใช้ปริมาณต่อแปลงสูงมากคือ 1-2 ตันต่อไร่

“แต่ถ้าเราลดปริมาณลงเป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีจะช่วยลดต้นทุน และตัวอินทรีย์เคมีได้ถูกปรับสูตรให้เหมาะสมกับชุดดินของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันทั่วประเทศด้วย ในอนาคตจะลิงค์กับ Google Maps บอกได้ว่าชุดดินการทำเกษตรแบบนี้จะเหมาะสมกับปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตรไหนด้วย” ดร.รจนากล่าว

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว.อธิบายว่า ความจริงผู้ประกอบการและเกษตรกรสามารถหาวัตถุดิบในพื้นที่มาทำ “ปุ๋ยอินทรีย์” ใช้เองได้อยู่แล้ว แต่ได้ปรับสูตรให้ได้มาตรฐานกับชุดดินของนครสวรรค์ ซึ่งเรามีความพร้อมทุกอย่างโดยมีทั้งวิทยากรและนักวิจัยที่คอยให้คำแนะนำกับเกษตรกรไร่อ้อยในนครสวรรค์ และสามารถขยายผลไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาในเครือข่ายของบริษัทเอกชนบนพื้นที่นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ และชัยนาท กว่า 10,000 ราย หรือกว่า 500,000 ไร่ โครงการนี้ช่วยต่อยอดและประยุกต์ใช้ได้จริงอย่างต่อเนื่องในทุกด้านของอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ซึ่งภาครัฐช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงอย่างยั่งยืน และได้ปริมาณผลผลิตที่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ด้าน วิเชียร คอคง หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยกว่า 50 ไร่ ใน ต.หนองโพ อ.ตาคลี นครสวรรค์ กล่าวว่า ปกติใช้แต่ปุ๋ยเคมีเพราะต้นทุนไม่แพงมาก ตอนนี้ได้รับปุ๋ยอินทรีย์เคมีจากโครงการมาทดลองใช้ในราคาตันละ 300 บาท ซึ่งถูกมาก ปกติปุ๋ยอินทรีย์ราคากระสอบละ 250 บาทต่อ 50 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากลงปุ๋ยนี้บนแปลงราว 150 ตัน ผ่านมา 1 เดือนหลังจากนั้นพบว่าต้นอ้อยที่โตขึ้นมามีสภาพดูดีพอใช้ได้

โครงการถือเป็นสัญญาณดีสำหรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะอุตสาหกรรรมน้ำตาล ยังมีโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่องถึงปี 2563 ภายใต้โครงการ “Spear head” ที่จะช่วยสรุปผลการวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำตาลและปุ๋ยอินทรีย์เคมีในแง่ของการคงไว้ซึ่งคุณภาพความหวานของน้ำตาลซูโครสในอ้อย รวมไปถึงการเพิ่มผลผลิตการเกษตรและการลดต้นทุนไปอีกหนึ่งระดับ

อาจจะกล่าวได้ว่า โครงการนี้เป็นการต่อยอดแนวคิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรชีวภาพให้เกิดประโยชน์ในทุกด้านของอุตสาหกรรม สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวิทย์ในแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่สำคัญยังตอบโจทย์การพัฒนา “อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” เพื่อการเกษตรที่มั่นคงและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image