ความสัมพันธ์ไทย-จีน ก่อนจะมาเป็นมิตรภาพหมื่นล้าน

(ซ้าย) นายเติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรีหมายเลข 1 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้การต้อนรับ ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยและคณะ ที่สนามบินกรุงปักกิ่ง วันที่ 30 มิถุนายน 2518 (ภาพจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518)

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 39,395.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 12.97%

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 การประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC) ครั้งที่ 6 ที่ประชุมได้ตกลงที่จะเพิ่มเป้าหมายการค้าของ 2 ประเทศ เป็น 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 (จาก www.prachachat.net)

แต่กว่าจะมาเป็นมิตรภาพมูลค่าหมื่นล้านในวันนี้เราผ่านอะไรมาบ้าง

Advertisement

43 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่นับจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 นั้น ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ในบทความชื่อ มิตรภาพจีน-ไทย (ในเอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 23 กุมภาพันธ์ 2558) ว่าทางการจีนเรียกว่า “การฟื้นฟู” ความสัมพันธ์ทางการทูต เพราะสำหรับจีนความสัมพันธ์มิเคยขาดหาย จะมีก็แต่หยุดชะงัก

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ยังกล่าวอีกว่า “ไทยกับจีนมีประวัติศาสตร์กันมาช้านาน กล่าวเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์นี้ได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษขึ้น เมื่อไทยมีการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ทำให้ระบบไพร่ที่เป็นพื้นฐานเศรษฐกิจมาแต่เดิมต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบพาณิชยกรรม

นัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้สำหรับไทยก็คือ การยุติระบบไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และสำหรับจีนก็คือ มีแรงงานจีนนับแสนคนเข้ามายังไทยเพื่อใช้แรงงานแทนพวกไพร่

แต่ที่ลักลั่นขัดแย้งกันเองของปรากฏ การณ์นี้ก็คือว่า ไทยได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตแบบบรรณาการกับจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว ในระหว่างนี้หากจะมีสิ่งใดยึดโยงความสัมพันธ์น่าจะมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรกไทยกับจีนยังคงทำการค้าด้วยกันเช่นเดิม เรื่องต่อมา ชาวไทยกับชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามายังไทยมีปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมากขึ้นจนถึงขั้นผูกพันเป็นครอบครัว”

นอกจากนี้ ท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยก็คงทราบว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนดำเนินการโดย “คณะทูตใต้ดิน” ตั้งแต่ปี 2498 ในการประชุมกลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกาที่เมืองบันดุง อินโดนีเซีย กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบปะสนทนากับ นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน จึงรับทราบถึงนโยบายและท่าทีที่เป็นมิตรของจีน

กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์รายงานเรื่องนี้ให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบ รัฐบาลไทยจึงเห็นควรให้เปิดสัมพันธไมตรีกับจีน แต่สมัยนั้นอเมริการะแวงไทยมาก จึงเห็นควรว่า จำเป็นต้องส่งคณะทูตไปอย่างลับๆ แบบใต้ดิน

คณะทูตดังกล่าวมีทั้งหมด 4 คน ได้แก่ 1.นายอารี ภิรมย์ อดีตข้าราชการกรมโฆษณาการที่มีความรู้ภาษาจีนกลางและแต้จิ๋ว ทั้งมีเพื่อนฝูงเป็นคนจีนจำนวนมาก เป็นหัวหน้าคณะ 2.นายกรุณา กุศลาศัย นักหนังสือพิมพ์ ที่มีความรู้ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ 3.นายอัมพร สุวรรณบล ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเสรีประชาธิปไตย 4.นายสอิ้ง มารังกุร ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคเสรีประชาธิปไตย

คณะทูตใต้ดินได้เข้าพบกับ ประธานเหมาเจ๋อตง และ นายโจวเอินไหล ที่พระราชวังจงหนานไห่ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2498

หลังจากนั้น 20 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีนอย่างเป็นทางการจึงเกิดขึ้น

“คณะทูตใต้ดิน” กับ “คณะรัฐบาลจีน” (จากซ้ายไปขวา) จี้หง-ล่ามภาษาไทยของประธานเหมา, จังซีเย่อ-นายกสถาบันวิเทศสัมพันธ์จีน, โจวเอินไหล-นายกรัฐมนตรีจีน, อัมพร สุวรรณบล-ส.ส.ร้อยเอ็ด, สอิ้งมารังกุร-ส.ส.บุรีรัมย์, เหมาเจ๋อตง-ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน, อารี ภิรมย์-หัวหน้าคณะทูตใต้ดินไทย, กรุณา กุศลาศัย-เลขานุการคณะทูตใต้ดิน, เผิงเจิน-นายกเทศมนตรีนครปักกิ่ง, เฉินเจียคัง-อธิบดีในกระทรวงต่างประเทศจีน, เลขานุการวิเทศสัมพันธ์จีน
นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทยเป็นตัวแทนของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาคววามสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ณ กรุงปักกิ่ง (ภาพจากหนังสือความสัมพันธ์ไทยจีน, สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีศาธารณรัฐประชาชนจีน, 2547)

ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย กับ นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

หากความสัมพันธ์ในช่วงแรกก็ไม่ราบรื่นนัก

อะไรเป็นอุปสรรคของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค้นคว้าของฝ่ายจีน ฝ่ายไทย ฯลฯ เขียนอย่างงานวิชาการที่หนักแน่นด้วยข้อมูลและอรรถรส ไว้ในบทความชื่อว่า “ความสัมพันธ์ไทย-จีนในยามยาก : คึกฤทธิ์ รัฐประหาร 6 ตุลา และธานินทร์ (ค.ศ.1975-77/พ.ศ.2518-20)” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม 2561

รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล เสนอว่า การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนปี 2518 ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในนโยบายต่างประเทศไทย ในสภาวะที่ไร้ทางเลือก

เพราะรัฐบาลก่อนหน้านั้น 3 คณะ ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเป็นมิตรกับผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา และต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและจีน เช่น ส่งทหารไทยไปร่วมสงครามเกาหลีเพื่อขับไล่กองกำลังเกาหลีเหนือ, อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในไทยและส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในอินโดจีนระหว่างปี 2504-18 ฯลฯ

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (ภาพจาก https://waymagazine.org)

แต่สถานการณ์พลิกผัน เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากสงครามเวียดนามในปี 2516 ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจในลาว, กัมพูชา และเวียดนามสำเร็จ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ซึ่งเป็นเวลาที่สถานการณ์ภายในประเทศของไทยก็ร้อนแรงอย่างยิ่ง

การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” ทำให้บุคคลระดับผู้นำประเทศด้านต่างๆ และปัญญาชนสายอนุรักษนิยมของไทยเกิดความวิตกกังวลว่า การเปิดความสัมพันธ์กับจีนจะเป็นช่องทางให้พวกฝ่ายซ้ายในสังคมไทยเข้มแข็งมากขึ้น

เช่น นายบุญชนะ อัตถากร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2518 ว่า “ผมต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย หากจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็ขออีกสัก 40-50 ปีก็แล้วกัน”

ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนคนแรก

การเลือก ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งคนแรก ก็ด้วยคลายความกังวลดังกล่าวของสังคมไทยเช่นกัน โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้เหตุผลว่า “คุณชายเป็นเชื้อพระวงศ์ คงไม่เป็นคอมมิวนิสต์”

ขณะที่รัฐบาลจีนแต่งตั้งให้นายไฉเจ๋อหมินเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนแรก โดยได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายอักษรสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2519

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ “6 ตุลา 19” นักศึกษาถูกสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหารโดยให้เหตุผลว่าเกิดภัยคุกคามจาก “จักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์” ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคเผด็จการขวาจัดของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่มีทัศนคติในด้านลบกับลัทธิคอมมิวนิสต์

ความสัมพันธ์ไทย-จีนที่เพิ่งสถาปนาได้เพียงปีเศษเกิดการชะงักงัน

การล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 (ภาพจาก AFP PHOTO/AFP FILES)

รัฐบาลธานินทร์เรียก ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี กลับมารับนโยบายใหม่ที่สั่งว่า “ท่านทูตก็อยู่เมืองจีนต่อไป แต่ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยนะ”

มกราคม 2520 รัฐบาลประกาศห้ามคณะผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปติดต่ออย่างเป็นทางการกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนภาคเอกชนต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน อย่างสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งกระจายเสียงจากมณฑลหยุนหนานของจีนเรียกร้องให้ชาวไทยผนึกกำลังกันโค่นล้มระบอบเผด็จการของรัฐบาลธานินทร์ และสร้างประเทศไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

แต่นั่นมิใช่จีนไม่หวังปรับปรุงความสัมพันธ์กับไทยแต่อย่างใด

ไฉเจ๋อหมิน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนแรก (http://www.afinance.cn)

หลังปี 2518 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนามเริ่มตกต่ำลง และเวียดนามก็เอียงเข้าหาสหภาพโซเวียตมากยิ่งขึ้น ทำให้จีนเห็นความสำคัญของประเทศไทยในทางยุทธศาสตร์ที่จะช่วยคานอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและเวียดนามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่จีนให้การสนับสนุนอยู่จะยึดอำนาจรัฐไทยได้สำเร็จหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับทำอย่างไรให้รัฐบาลไทยไม่ว่าจะเป็น “ขวา” หรือ “ซ้าย” มีท่าทีเป็นมิตรกับจีน นี่คือภารกิจสำคัญที่ไฉเจ๋อหมินได้รับมอบหมาย

ทั้งหมดที่กล่าวนี้คือเนื้อหาบางส่วนที่ผู้เขียน (รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล) ขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามเนื้อหาทั้งหมดได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคมนี้

ว่ามีอะไร หรือใครบ้าง ที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนที่ชะงักงันกลับมาราบรื่นอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image