‘ซุปเปอร์มาร์เก็ต’ แหล่งอาหารแห่งยุคสมัย เสียงสะท้อนจากเพื่อนต่างแดน ‘เกรน’

"เหอหม่า" ที่เมืองหางโจวให้บริการกระทั่งอาหารทะเลสดๆ

การมีขึ้นของ “อะเมซอน โก” ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่สามารถช้อปปิ้งได้โดยไม่ต้องใช้เงินสดเลยสักบาท ที่ซีแอทเทิล มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เรียกความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคยุคไอโอที ยังมี “เหอหม่า” ของอาลีบาบาอีกที่สยายปีกอย่างรวดเร็วทั้งในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และหนิงโป

…ซุปเปอร์มาร์เก็ตกำลังขยับไปอีกก้าวใหญ่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิต เชื่อมต่อระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตนำความสะดวกสบายมาสู่คนยุคใหม่ แต่อีกมุมหนึ่งก็นำความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลมาสู่วิถีท้องถิ่น

ในงานเสวนาสาธารณะที่สวนชีววิถีเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในโอกาสที่ “เกรน” (GRAIN) องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานสนับสนุนการต่อสู้เพื่อระบบอาหารของชุมชนโดยใช้ความหลากหลายทางชีวภาพ เดินทางมาเมืองไทย ถือเป็นจังหวะได้ตั้งโต๊ะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน มี วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ร่วมวงเสวนาอย่างเป็นกันเอง ดำเนินรายการโดย กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา

Advertisement

ประเด็นที่เกรนและไบโอไทยติดตามในระยะหลังๆ อีกเรื่องคือ บทบาทของบรรษัทข้ามชาติที่กระจายอาหารผ่านกลไกโมเดิร์นเทรด ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในหลากประเทศหลายทวีป และส่งผลกระทบคล้ายคลึงกัน เป็นที่มาของการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้

‘อาหารแปรรูป’ วัฒนธรรมบริโภคที่มากับโมเดิร์นเทรด

เดฟลิน คูเยค (Devlin Kuyek) “เกรน” แคนาดา เปิดเรื่องด้วยการให้ภาพรวมของสถานการณ์การค้าปลีกในระดับโลก ณ วันนี้ว่า มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อพืชท้องถิ่น โดยวิธีหนึ่งคือผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ต

ทุกวันนี้เครือข่ายของซุปเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ระดับโลก 30 แห่ง เป็นเจ้าของหนึ่งใน 3 ของร้านค้าปลีกทั่วโลก ครองส่วนแบ่งการตลาดสิ่งที่คนทั่วโลกบริโภค และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วย 3 ปัจจัย คือ หนึ่ง กระแสโลกาภิวัตน์ทุนข้ามชาติ สอง นโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการลงทุนของต่างชาติ และสาม ระบบการบริหารจัดการที่ยุ่งยากเกินกว่าธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กจะทำได้

Advertisement

เดฟลินบอกว่า ปกติแล้วการเข้ามาของซุปเปอร์มาร์เก็ตจะนำเอาวัฒนธรรมองค์กรของตนมากำหนดกฎเกณฑ์ มาตรฐาน ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งนำกระบวนการ “อาหารแปรรูป” เข้ามาใช้ เท่ากับปิดกั้นผลผลิตของท้องถิ่น และเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารของท้องถิ่นไปโดยปริยาย จะเห็นว่าตามชั้นของซุปเปอร์มาร์เก็ตจะเต็มไปด้วยอาหารแปรรูปที่ถูกกำหนดคุณภาพและราคาที่สูงขึ้น ซึ่งด้วยวิธีนี้เหมือนเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคต้องกินอาหารแปรรูปที่โภชนาการต่ำไปด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ความหลากหลายของสินค้าที่ลดน้อยลง บางครั้งอาศัยอำนาจรัฐเข้าจัดการร้านค้าท้องถิ่น ร้านเล็กๆ ริมทาง หาบเร่ ตลาดสด ฯลฯ เพื่อเปิดทางให้กับสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่งผลกระทบต่อรายได้ของท้องถิ่น เมื่อร้านค้าปลีกต้องหายไปจากตลาด เกษตรกรรายย่อยไม่มีที่จำหน่ายสินค้า

ประการสุดท้ายคือ เป้าหมายของซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มุ่งกำไรเป็นสำคัญ คนในห่วงโซ่อาหารได้รับผลกระทบ ที่สุดเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากขึ้น ไม่มีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย โดยเฉพาะระบบอีคอมเมิร์ซ

การรุกคืบของซุปเปอร์มาร์เก็ตในแอฟริกา

ซูซาน นักคัทวา (Susan Nakacwa) “เกรน” ยูกันดา กล่าวถึงภาพรวมของแอฟริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า เมื่อก่อนคนรวยเท่านั้นที่เข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ปัจุบัน 70% ของคนยูกันดาเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ตัวเลขเมื่อปีที่แล้วมีคนยูกันดาเพียง 17% (ประชากรยูกันดามี 35 ล้านคน) ที่ไม่ได้เข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต

ที่เซาท์แอฟริกามีซุปเปอร์มาร์เก็ตมานานมาก เป็นธุรกิจที่กำหนดโดยประเทศเจ้าอาณานิคม เริ่มจากแองโกลแอฟริกันจากยุโรป ปัจจุบันมีทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในแอฟริกาแล้ว

ซูซานบอกว่า “อาหาร” สำหรับเธอคือ “วัฒนธรรม”

คนแอฟริกันส่วนใหญ่ซื้ออาหารที่ตลาดนัด (Flea Market) ตลาดรูปแบบเดิมที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน ที่ซึ่งคนยังไปซื้ออาหาร เสื้อผ้าจากร้านโชห่วย จากร้านค้าเล็กๆ

“ในเคนยาผู้หญิงที่ขายปลา เราเรียกว่า “มาม่าโบกา” ถ้าขายกะหล่ำปลีก็เรียกว่า “มาม่าแคบเบจ” นี่คือวิถีของการสร้างปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่ มาเมาธ์กัน ซื้อเงินเชื่อได้ ทุกคนรู้จักกันหมด สามารถให้ลูกไปซื้อของแทนได้” และว่า

ฉันมาจากยูกันดาทางตอนกลาง เมืองที่มี “กล้วย” หลากหลายสายพันธุ์ เราเรียกว่า “มาโทเก้” เวลาที่เราหิวเราจะใช้คำว่า “มาโทเก้” แทนความหมายว่าอาหาร เมื่อไปเมืองอื่นๆ แต่ละเมืองก็จะมีอาหารเด่นที่แตกต่างกัน เมืองนี้กินลูกเดือย เมืองนี้กินมันฝรั่ง ฯลฯ

แต่พอมีซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกอย่างเปลี่ยนไป ไม่มีความหลากหลายของอาหาร ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่ทำให้อาหารเหล่านั้นไม่สามารถเข้าไปอยู่บนชั้นของซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ ไม่สามารถส่งผลผลิตให้ได้ตรงตามเวลา ไม่สามารถรับเงื่อนไขเครดิตยาวถึง 5-6 เดือนได้ รวมทั้งการที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตนำเข้าพืชผักจากต่างประเทศที่ดูสวยกว่า ทำให้เกษตรกรบางรายต้องซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลงมาใช้เพื่อให้ได้ผลผลิตงามอย่างที่บริษัทต้องการ แต่ก็ไม่สามารถต่อรองได้

ซูซานบอกอีกว่า แม้จะมีซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นการจัดการของคนในท้องถิ่นเอง แต่สู้แบรนด์นอกไม่ได้อยู่ดี ทั้งในแง่ของความดูดีของสินค้านำเข้า รวมทั้งการมีสายป่านไม่ยาว บางรายเปิดได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัวลง พร้อมกับเป็นหนี้เป็นสินมากมาย

ซึ่งผลอีกประการที่มากับการมีขึ้นของซุปเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ คือคนแอฟริกันเริ่มเป็นโรคอ้วนมากขึ้น เป็นโรคหัวใจ ฯลฯ

ไม่ห้ามโลกหมุนไปข้างหน้า ถ้าไม่ทำลายระบบอาหารท้องถิ่น

ซูซานบอกว่า การหยิบเรื่องซุปเปอร์มาร์เก็ตมาพูด ไม่ใช่ไม่ยอมรับการค้าแบบโมเดิร์นเทรด แต่ประเด็นอยู่ที่การเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ และทำลายระบบห่วงโซ่อาหารท้องถิ่น

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับแอฟริกาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และไม่ได้เกิดแค่ในทวีปนี้ เราต้องทำให้คนเข้าใจระบบที่เกิดขึ้น ธุรกิจที่เข้ามาทำกำไร แต่กำไรไม่ได้อยู่ในประเทศ แม้แต่คนทำงานที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่ได้รวยมากขึ้น”

ซูซานเล่าว่า เมื่อ 2 ปีก่อนเคยไปเคนยา แล้วก็พบว่าพืชผักที่ใช้สารเคมีปลูก “เพื่อขาย” ส่วนพืชที่ปลูกกินเองหรือเพื่อแบ่งปันกันจะไม่ใช้ ฉะนั้น ตลาดรายย่อยแบบนี้สำคัญมาก เกษตรกรรู้ว่าพืชไหนควรขายให้ใคร

เรามีปัญหาเพราะว่าเราปลูกสิ่งที่เราไม่ได้กิน ช่วงที่อยู่ใต้อาณานิคมก็ปลูกกาแฟ ชา ฝ้าย ซึ่งไม่ได้ใช้ในประเทศ แต่ส่งไปที่อื่น

มีสถิติที่น่าสนใจเคนยาปลูกชามากที่สุด แต่ไม่มีวัฒนธรรมชา ไม่ได้ใช้ชาเป็นอาหาร

ในปี 1970-1990 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พืชเงินสด เราปลูกพืชเพื่อซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้นเรื่อยๆ ปลูกถั่วเหลือง วานิลลา เหมือนกับหลายประเทศ ปลูกสิ่งที่ขายได้ ในยูกันดาช่วงที่ราคาวานิลลาสูงมาก คนปลูกวานิลลากันมาก แต่พักเดียวเมื่อราคาตก เกษตรกรปรับตัวไม่ทัน หันมาปลูกพืชอาหารอีกครั้ง

ปัจจุบันการปลูกพืชแบบธรรมชาติเริ่มหายไป เปลี่ยนเป็นปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น นี่คือแนวโน้มที่เกิดขึ้นในแอฟริกา

“อะเมซอน โก” เชื่อมต่อทั้งออนไลน์-ออฟไลน์

คุณภาพชีวิตที่สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจ

ทางด้าน ราโมน เวรา-เฮียร์เรรา (Ramon Vera-herrera) “เกรน” เม็กซิโก บอกว่า ที่เม็กซิโกปลูกพืชเศรษฐกิจหลายปีแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือ การพบว่า 82% ของอาหาร (ขนมขบเคี้ยว) ที่ผ่านกระบวนการแปรรูป โดยเฉพาะซีเรียล แป้งข้าวโพด และตอติญ่า ที่ผลิตจากโรงงานมีการปนเปื้อน

ราโมนบอกว่า 90.4% ของอุตสาหกรรมผลิตตอติญ่าใช้เครื่องจักรผลิต จากการตรวจพบการปนเปื้อนของไกลโฟเซตเกือบ 1 ใน 3 ของกระบวนการผลิต ขณะที่ตอติญ่าที่ของเกษตรกรผลิตด้วยมือไม่มีการปนเปื้อน กระบวนการผลิตมาจากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมากว่าพันปี วัตถุดิบที่ใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัย แม้แต่แมลงตัวเล็กๆ ก็สามารถกินได้ และด้วยชุมชนเอง จึงไม่ต้องขออนุญาตใคร สามารถติดต่อซื้อขายกันเองได้ นี่คือความเข้มแข็งของชุมชน

ตรงกันข้ามกับวิถีอุตสาหกรรมที่ทำลายธรรมชาติในทุกอย่าง การใช้วัตถุดิบคุณภาพต่ำ ใช้ข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรม ใช้สารทดแทนความหวาน ฯลฯ

“ในซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกสิ่งที่ขายล้วนเป็นอาหารแปรรูป ขายง่าย (สะดวกต่อการขนส่ง) ปัจจุบันเม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกอาหารแปรรูปมากที่สุดในโลก

“ที่น่าขันคือ อาหารแปรรูปเหล่านี้เปลี่ยนระบบอาหาร การผลิตซีเรียลที่ไม่ได้เพื่อเป็นการบริโภค แต่เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป”

ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เปิดทางให้อเมริกาเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารในเม็กซิโก ระหว่างปี 1999-2004 สามใน 4 ของการลงทุนในประเทศเป็นการลงทุนจากต่างชาติ โดยมูลค่าตลาดอาหารแปรรูปในเม็กซิโกปี 2017 เพิ่มขึ้นเป็น 158 พันล้านดอลลาร์

นอกจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ราโมนบอกว่า ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ การขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ ซึ่งยักษ์ใหญ่อย่างเป๊ปซี่โคเข้าไปลงทุนที่เม็กซิโก โดยมีโรงงานขบเคี้ยวถึง 17 แห่ง

ในเม็กซิโกและละตินอเมริกา มีร้านสะดวกซื้อชื่อว่า “อ็อกโซ่” (OXXO) รุกเข้าไปในทุกแห่งแทนที่ร้านค้าทั่วไป และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถึงวันละ 3 สาขา นั่นหมายความว่า “มีร้านเปิดใหม่ทุก 8 ชั่วโมง” มากกว่าปีละ 1,000 ร้านต่อปี

เฉพาะในเม็กซิโกชั่วเวลา 3 ปี จากที่มีร้าน 14,000 สาขา ตอนนี้มี 18,000 สาขา ที่สำคัญคือ การเข้าควบคุมการผลิตอาหารของร้านค้าท้องถิ่น

จะเห็นว่าผลผลิตที่ปลูกทางเหนือของเม็กซิโกที่เป็นผลผลิตของบริษัทอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกเบอร์รี่ทั้งหลาย บร็อกโคลี แตงกวา มะเขือเทศ ฯลฯ ล้วนเต็มไปด้วยสารเคมีเพื่อส่งไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ต

‘อันแมนช็อป’ และการรุกคืบของธุรกิจไร้พรมแดน

ขณะที่ การ์ตินี ซามอน (Kartini Samon) “เกรน” อินโดนีเซีย โฟกัสไปที่ผลกระทบจากการค้ารูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ อย่างอาลีบาบาที่เข้าซื้อธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เมื่อปี 2015 ชั่วเวลาเพียงปีกว่าได้ขยายเครือข่ายออกไปกว้างไกล

แต่ที่ถือเป็นทัพหน้าของการเชื่อมต่อระหว่างการค้าออนไลน์กับออกไลน์คือ “อะเมซอน” เข้ามาจับตลาดอาหารในปี 2017 มูลค่าการตลาดมากถึง 13.7 พันล้านดอลลาร์ และทำให้อะเมซอนกลายเป็นร้านค้าอาหารออร์แกนิครายใหญ่ในสหรัฐชั่วพริบตา

เดือนต่อมารัฐบาลอินเดียก็อนุญาตให้อะเมซอนเข้ามาลงทุนกว่า 500 ล้านในสินค้าประเภทอาหารในอินเดีย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วมากเพียงปีครึ่งแต่เปลี่ยนเอเชียไปมาก หรืออย่าง เจดีดอทคอม ผู้นำธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ และบริษัทค้าปลีกของจีน หนึ่งในยักษ์ใหญ่ระดับท็อปไฟว์ของโลก ก็มีโดรนเดลิเวอรี่ให้บริการ ทำให้ลดจำนวนแรงงานไปมาก เป็น “อันแมนช็อป”

“สิ่งที่ท้าทายคือ มีไม่กี่ประเทศที่สามารถควบคุม “ร้านค้ารูปแบบใหม่” ทั้งในแง่ของความปลอดภัยทางด้านอาหาร และในแง่ของสุขอนามัย นี่เป็นหัวข้อที่มีการถกกันอย่างมากในจีน หรือควบคุมการค้าแบบอีคอมเมิร์ซที่ข้ามพรมแดน ยกตัวอย่าง ที่อินโดนีเซียเริ่มเป็นกังวลเมื่อพบว่าในบรรดาอีคอมเมิร์ซมีแค่ 10% เท่านั้นที่เป็นของคนในประเทศ ไม่เพียงในแง่ของการควบคุมสุขอนามัย ยังรวมถึงภาษี”

การ์ตินีบอกว่า ในอินเดียแม้จะปลูกฝ้ายจีเอ็ม แต่ไม่อนุญาตให้ปลูกอาหารจีเอ็ม แต่ปีนี้พบว่าสิ่งเหล่านี้มากับอาหารแปรรูป สามารถซื้อขายข้ามพรมแดนได้โดยยากที่จะควบคุม เพราะหนึ่ง เทคโนโลยีที่ทันสมัย สอง พฤติกรรมของผู้บริโภค เปรียบเทียบสินค้าที่ผลิตในประเทศกับสินค้านำเข้าอย่างอาลีบาบา สินค้าในประเทศย่อมสู้ไม่ได้

ล่าสุด ที่ญี่ปุ่นหรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนาม นำระบบ “ไอซีที ฟาร์มมิ่ง” เข้ามาใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าสามารถเลือกซื้อผักที่ปลูกสดๆ ได้โดยไม่ต้องมีเกษตรกร

เหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวล และเป็นความท้าทายทั้งกับระบบอาหาร ผู้ค้าท้องถิ่น และผู้บริโภค

จ่ายสินค้าด้วยระบบคิวอาร์โค้ด แคชเชียร์ไม่ต้อง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image