เชื่อมโยงท่องเที่ยว ‘ไทย-มาเลย์-อินโดฯ’ สไตล์ ‘เพอรานากัน’

ดูเหมือนจะเป็นทิศทางที่ดี เมื่อการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม IMT-GT Peranakan & Nature Trail ขึ้นตามแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia -Malaysia -Thailand Growth Triangle :IMT-GT) ภายใต้ IMT-GT implementation Blueprint 2017-2021 พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ในการร่วมกันส่งเสริมตลาดการเป็นจุดหมายไปทางเดียวกันของภูมิภาค ด้วยการพัฒนาแพคเกจท่องเที่ยวข้ามแดนภายใต้ธีมที่น่าสนใจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกันภายในอนุภูมิภาคและนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ 3

คำว่า เพอรานากัน ภาษามลายูแปลว่า เกิดที่นี่ ส่วนความหมายคือ วัฒนธรรมผสมผสานจีน มลายู ที่มีอยู่ทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย

นำไปสู่การขยายตัวของการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงาน IMT-GT นอกจากนี้ ยังเชิญผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจากประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (DMC) ที่ต้องการขยายเส้นทางและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยสำรวจศักยภาพสินค้าตามเส้นทางภูเก็ต-พังงา-ปีนัง และนำมาร่วมเสนอสินค้าท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ พร้อมจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่มาเข้าร่วมระดมความคิดเห็นวางแนวทางในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงใหม่และส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวร่วมกัน

โดยในวันเเรกหลังจากเที่ยวบิน TG 207 แลนดิ้งลงสู่สนามบิน นำพาผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวและผู้แทนจากหน่วยงานการท่องเที่ยวไทย อินโดนีเซียและมาเลเซียประมาณ 25 คน มาถึงจุดหมาย ก่อนเดินทางเข้าพักผ่อนกันที่ ลา เวล่า เขาหลัก (La Vela Khao Lak) รีสอร์ตสไตล์บูติก ริมทะเลเขาหลัก

Advertisement

ภายในที่พักมีสระว่ายน้ำเกลือขนาดใหญ่ 5 สระ รายล้อมตัวอาคาร พร้อมภัตตาคารอาหารบุฟเฟต์นานาชาติที่มีอาหารถูกปากให้เลือกรับประทานอย่างหลากหลาย พร้อมกับดื่มด่ำบรรยากาศริมทะเลกันตลอดทั้งคืน

วันต่อมาผู้ประกอบการออกเดินทางไปที่อำเภอตะกั่วป่า ณ คลองสังเน่ห์ หรือที่เรียกกันว่า Little Amazon เพื่อล่องเรือยางชมทัศนียภาพต้นไทรโบราณอายุกว่า 100 ปี ซึ่งสองข้างทางของคลองสังเน่ห์จะได้มีโอกาสชื่นชมกับระบบนิเวศที่ยังมีความสมบูรณ์ของพรรณไม้นานาชนิดที่มีอายุนับ 100 ปี จุดนี้จะได้มีโอกาสได้พบสัตว์ตามธรรมชาติที่อยู่ในระบบนิเวศ เช่น นกเงือก กระรอก กระเเต เเต่สัตว์ถิ่นขึ้นชื่อคือ “งู” มีทั้ง งูปล้องทอง งูเขียวหางไหม้ แต่หากเป็นหน้าร้อนก็จะมีโอกาสเจอกับงูเห่า หรืองูจงอาง ที่เป็นคิงคอบร้า หรืองูที่กินงู ออกมาว่ายน้ำคลายร้อน เเละรับเเสงเเดดด้วย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เเม้ที่นี่จะขึ้นชื่อว่างูเยอะ เเต่ก็ยังไม่เคยปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวโดนงูกัดเป็นอันตรายถึงเเก่ชีวิตหรือบาดเจ็บเเต่อย่างใด เเต่มีบ้างที่งูตกลงมากลางเรือให้ได้ตกใจเล่นเท่านั้น โดยหลังจากจบการล่องเรือยางก็ออกเดินทางกันต่อเพื่อไปล่องเรือ BluAnda Catamaran ที่อ่าวปอแกรนด์มารีน่า จ.ภูเก็ต เพื่อชมบรรยากาศรอบอ่าวพังงา ซึ่งเป็นทะเลฝั่งสิมิลันที่ขึ้นชื่อในเรื่องการดำน้ำเเละกิจกรรมพายเรือเเคนูเข้าถ้ำลอด

จากนั้นวันที่ 3 ก็มีโอกาสเข้าไปชื่นชมบรรยากาศเมืองเก่าของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสองข้างทางเต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมหลากหลายของชาวจีนกับมลายู ระหว่างทางยังมีร้านกาเเฟ เบเกอรี่ เเละร้านขายผ้าพื้นเมือง ที่เราเรียกกันว่าเป็นการเเต่งกาย เเบบ บาบ๋า ย่าหยา ซึ่งก็ดูสวยงามเเปลกตา จากนั้นจึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม บ้านชินประชา ซึ่งเป็นบ้านสไตล์ชิโนโปรตุกีสหลังแรกของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันเปิดให้เยี่ยมชมเป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้ และจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของจังหวัด

สำหรับมื้อกลางวัน ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือเราได้มีโอกาสเข้าไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้าน Blue Elephant เป็นร้านอาหารไทยรสชาติกลมกล่อม เสิร์ฟในภาชนะที่หรูหรา ซึ่งเซตที่เลือกเป็นเมนูอาหาร เพอรานากัน ประกอบด้วยอาหารเรียกน้ำย่อย เป็นจูจี๋ป่าว ลูกชิ้นภูเก็ต อาหารว่างเป็น กุ้งสัมบ่ายกอเล้ง เเละอาหารหลักเป็นเเกงตูมีปลากะพง ต่อด้วยหมูฮ้อง พร้อมตบท้ายด้วยขนมหวาน ตูโบ้ ซึ่งเป็นขนมหวานเน้นกะทิ ที่เป็นจุดเด่นของ “อาหารเพอรานากัน” ต้องบอกว่าหวานมันสมคำร่ำลือ

หลังจากเยี่ยมชมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเพอรานากันอีกหลายอย่าง ก็ถึงเวลาที่ชาวคณะเดินทางไปดูเเหล่งท่องเที่ยว เชิงเพอรานากัน ที่ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยสายการบิน Firefly FY 3201 โดยคณะเข้าพักที่ Hotel Jen Penang เป็นโรงแรมตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีห้างสรรพสินค้าล้อมรอบใกล้กับแหล่งช้อบปิ้ง อาหารการกิน และสถานีรถบัสประจำทาง

วันต่อมาออกเดินทางเยี่ยมชม สวนสมุนไพรเขตร้อน (Tropical Spice Garden) ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเเหล่งพืชพรรณไม้กว่า 500 ชนิด ซึ่งพืชพรรณส่วนมากมีประโยชน์ในการประกอบอาหารเพอรานากันอีกด้วย ซึ่งทางทรอปิคอล สไปซ์ การ์เด้น ยังมีการจัดกิจกรรมให้ผู้ที่เข้าไปดูงานศึกษา ได้ลองทำครัวอาหารเพอรานากัน โดยมีเชฟท้องถิ่นคอยบอกสูตรวิธีการทำเเละการใส่เครื่องเทศทีละขั้นตอน ก่อนนั่งทานอาหารฝีมือตัวเองเป็นมื้อกลางวันซะเลย

จากนั้นช่วงบ่ายได้เยี่ยมชม Pinang Perakan Mansion ซึ่งเป็นบ้านเก่าที่เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ รวบรวมของสะสมโบราณ คล้ายๆ บ้าน ชินประชา ที่ภูเก็ต เเต่ที่นี่ข้าวของเครื่องใช้จะดูมีความหรูหรามากกว่า จากนั้นได้ไปเดินชมสตรีทอาร์ต โดยทีมงานพาไปดูจิตรกรรมบนกำเเพงบ้านเรือน ซึ่งอดไม่ได้ที่จะต้องต่อคิวถ่ายรูปได้ภาพสวยๆ กลับมาจำนวนมาก ก่อนเดินทางต่อไปยัง พิพิธภัณฑ์วันเดอร์ฟู้ด (Wonderfood Museum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์อาหารที่จัดแสดงในรูปแบบต่างๆ เป็นภาพสามมิติ

เเต่กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชน พลาดไม่ได้คือเราจะได้เข้าเยี่ยมชม วัดเก็กลกสี่ (Kek Lok Si) ซึ่งเป็นวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางที่จะขึ้นไปบนชั้นบนสุดของวัด เราจะต้องขึ้นกระเช้าไปถึง 2 ต่อ

โดยจุดเด่นของวัดเก็กลกสี่ คือเจดีย์สมเด็จพระรามหก (เจดีย์พระพุทธเจ้า 10,000 พระองค์) ซึ่งตกแต่งด้วยพระพุทธรูปสำริดและพระพุทธรูปศิลาขาวทั้งหมด 10,000 องค์ อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสามัคคีระหว่างนิกายมหายานและหินยาน ลักษณะของเจดีย์ผสมผสานฐานเจดีย์แบบจีน ไทย และยอดเจดีย์แบบพม่าเข้าด้วยกัน ชั้นบนสุดของวัดยังมีรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิมสำริดสูง 30.2 เมตร ที่เป็นที่นิยมมากราบไหว้ขอพร ซึ่งวัดเเห่งนี้นักบวชลัทธิเต๋าและพระสงฆ์ศึกษาธรรมกันอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก พูดได้ว่ามีทุกนิกายรวมอยู่ในวัด

กุลปราโมทย์ วรรณเลิศ ผู้อำนวยการกองตลาดอาเซียน เอเชียใต้ เเละเเปซิฟิกใต้ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือในลักษณะที่ประเทศไทยและสมาชิกอาเซียนในกลุ่มมีข้อตกลงกันในการทำงานด้านการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงเข้าหากัน ประเทศไทยจึงได้มีกิจกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศอาเซียน โดยดึงเข้ามาจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มมีไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อมาเรียนรู้ร่วมกันหาวิธีการที่จะพัฒนาเส้นทางตามกรอบความร่วมมือ โดยมองดูว่าใน 3 ประเทศมีอะไรเป็นจุดเด่นที่จะทำร่วมกันได้ นั่นคือวัฒนธรรมและเพอรานากัน

“ทั้ง 3 ประเทศก็มีความแข็งแรงที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศไทยก็จะมีเพอรานากันที่มีทักษะของการพัฒนาไปเป็นปัจจุบันที่ยังคงมีความทันสมัย ในขณะที่มาเลเซียก็จะมีการทำเรื่องพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน นำเสนอเกี่ยวกับอาหาร ส่วนอินโดนีเซียจะเป็นสไตล์คล้ายกัน คือมีตึกรามบ้านช่องที่เป็นสไตล์ของเพอรานากัน เราก็ดึงเรื่องนี้ออกมาและโชว์ความแตกต่าง”

กุลปราโมทย์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังมีเรื่องของธรรมชาติที่ค่อนข้างจะมีความชัดเจนในภาคใต้ นักท่องเที่ยวมาเเล้วไม่ได้แค่เรื่องของวัฒนธรรมเท่านั้น เราถึงผนวกเรื่องนั้นเข้าไปในอนาคต ถ้าตัวนี้ทำสำเร็จเราก็จะพยายามผลักดันให้กลายเป็นการทำงานร่วมกันทางการตลาด เพราะฉะนั้นการเอาเพอรานากันเข้ามาก็เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ให้พวกเขาได้ลองใส่ชุดเเละทานอาหาร

เพอรานากันที่มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามวิถีของท้องถิ่น อย่างภูเก็ตก็จะเห็นว่าอาหารเพอรานากันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปพอสมควร แต่ถ้าลองไปทานที่มาเลเซียก็จะเป็นอีกแบบ แต่ทั้งหมดก็มีการเกี่ยวโยงกันอยู่แล้ว

“ตอนนี้เรามองนักท่องเที่ยวระยะไกลที่มาจากยุโรปหรืออเมริกา เดินทางเข้ามาในไทยหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาจะมองหาจุดหมายปลายทางอย่างอื่นด้วย เวลาที่เขามองหาข้อมูล ประกาศออกไปทางสื่อโฆษณาต่างๆ ประยุกต์เข้ากับโซเชียลมีเดียต่างๆ เขาก็จะเห็นได้ว่าเวลาเข้ามาในประเทศ สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นตัวที่ตอบสนองความต้องการในวันหยุด วันว่างในช่วงที่มาภูเก็ตเเล้วทำกิจกรรมเชื่อมโยงไปหามาเลเซีย กิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างออปชั่นในการท่องเที่ยว หรืออาจจะไปเที่ยวปีนังก่อนแล้วมองย้อนกลับมาไทย ไม่ได้มองว่าจะไปเจาะเฉพาะกลุ่มที่เค้าสนใจแต่เรื่องวัฒนธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่คิดว่าความน่าสนใจคือวิถีชีวิตคน”

สำหรับกรอบพัฒนาความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ เป็นกรอบความร่วมมือที่ทำมา 20 ปี แต่ละปีก็จะมีเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันไป

“ปีนี้เราพูดเรื่องการตลาดในลักษณะกรอบความร่วมมือที่ทุกประเทศมีส่วนร่วมในการแชร์ประสบการณ์ เวลาประชุมอาเซียนหรือประชุมกรอบความร่วมมือจะมีการนำเสนอในกลุ่มซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการติดตามไปเรื่อยๆ ส่วนผลตอบรับก็จะเป็นในเชิงการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยปีหน้าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานอาเซียนเราพยายามที่จะผลักดันความร่วมมือในอาเซียนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นไปเรื่อยๆ” กุลปราโมทย์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image