ความสำเร็จอีกก้าวของไทย ศูนย์กลางวิทยาศาสตร์ฮาลาลโลก

การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยจำนวนประชากรมุสลิมมีจำนวนถึง 1.5 พันล้านคนโดยประมาณ และเมื่อกล่าวถึงชาวมุสลิมแล้วจุดเด่นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ “อาหารฮาลาล”

แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีร้านอาหารฮาลาลอยู่มากมายภายในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องชาวมุสลิมในการหาซื้ออาหารคาวหวาน แต่ในทุกกระบวนการจัดเตรียมอาหารถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากจะต้องสะอาดยังต้องถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามอีกด้วย

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการผลิตอาหารฮาลาลหรืออาหารสำหรับมุสลิมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานอาหารฮาลาลที่กำหนดไว้ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของ Codex ที่ให้ทั้งความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและเป็นผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกที่มีคุณภาพ ตามนโยบายที่จะให้อาหารฮาลาลในประเทศไทยสู่ครัวโลก เป็นที่มาของการก่อตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งศูนย์แห่งนี้ว่า เริ่มจากรูปแบบห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม และได้เติบโตขึ้นเป็นลำดับ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ โดยได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก

Advertisement

พร้อมพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ศูนย์มีห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและทันสมัย ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน จนได้รับรางวัลระดับนานาชาติจากผลงานรางวัลอันหลากหลาย ทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่การเป็นผู้นำทางด้านวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลในระดับโลก ที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศจากการสร้างความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล สร้างมูลค่าให้ฮาลาลประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว นับเป็นเกียรติสำหรับประเทศไทยกับการขับเคลื่อนงานฮาลาล ทำให้ทั่วโลกมองประเทศไทยเป็นแบบอย่าง เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผ่านการทดสอบ

ล่าสุด ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้รับการต้อนรับ ฯพณฯ นายซาเยด อาร์. อัลซายานี (H.E. Mr. Zayed R. Alzayani) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการท่องเที่ยว ประเทศบาห์เรน และคณะ เยี่ยมชมศูนย์ด้วยเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการใช้วิทยาศาสตร์สนับสนุนในเรื่องการรับรองฮาลาลอย่างดีที่สุด

Advertisement

ทั้งนี้ รศ.ดร.วินัยกล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นมิตรประเทศที่สำคัญและใกล้ชิดกับบาห์เรนมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน บาห์เรนให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศไทยในทุกระดับ และยินดีพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพที่มีมายาวนาน โดยเพิ่งฉลองวาระครบ 40 ปี เมื่อไม่นานมานี้

“ทั้งกษัตริย์บาห์เรนและนายกรัฐมนตรีจะชอบประเทศไทยเป็นพิเศษ ในการมาเยี่ยมชมศูนย์ในครั้งนี้ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีฮาลาลอย่างดีที่สุด ด้วยศักยภาพในเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์สนับสนุนในเรื่องการรับรองฮาลาลอย่างดีที่สุด เนื่องจากมีการร่วมมือสนับสนุนระหว่างองค์กรทางศาสนากับองค์กรทางวิชาการมากที่สุด”

ผอ.ศูนย์บอกอีกว่า การมาเยือนครั้งนี้ ทางบาห์เรนมีความชื่นชมมากที่ได้เห็นว่าแล็บของเรามีเครื่องไม้เครื่องมือครบเครื่อง ทั้งมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง นอกจากนั้นยังมีประเทศในกลุ่มมุสลิมส่งนักวิทยาศาสตร์มาฝึกงานที่บ้านเรา อาทิ ปากีสถาน อุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตุรกี และกัมพูชา เป็นต้น

ด้วยเห็นศักยภาพในการฝึก อบรม ปฏิบัติทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล สูง รศ.ดร.วินัยบอกว่า ในงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ในกรุงมานามา ประเทศบาห์เรน ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายนนี้ ทางบาห์เรนจึงเชิญทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ไปนำเสนอผลงานในงานด้วย โดยทางศูนย์จะนำห้องปฏิบัติการไปโชว์ แต่เป็นแล็บท็อปพับได้ไปนำเสนอ ที่มีทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี และกระบวนวิธีการที่มีศักยภาพสูง

เพื่อประกาศถึงอีกก้าวของความสำเร็จของไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของโลก”

รมต.บาห์เรนและคณะเยี่ยมชมศูนย์ฯ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image