‘บ้านเชียง’ ครั้งแล้วครั้งเล่า เปิดหลักฐานใหม่ เขย่าความรู้เก่า 40 ปีที่ยังไม่มีตอนจบ

หลุมขุดค้นที่บ้านเชียง แหล่งฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีผู้ยกให้เป็นปฐมบทโบราณคดีไทย

มีสีสันถึงขั้นสุดก็ว่าได้ สำหรับแหล่งโบราณคดีไทยนามว่า “บ้านเชียง” ตั้งแต่ประวัติการค้นพบที่ไม่ค่อยต่างจากหนังฮอลลีวู้ดที่ว่าลูกชายทูตสหรัฐสะดุดโคนไม้ล้มไปเจอเศษหม้อไห กระทั่งนำไปสู่การขุดค้นครั้งใหญ่ที่กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของโบราณคดีไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2517

ทำเอาหมู่บ้านเล็กๆ ของอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก่อนนำไปสู่จุดพลิกผันอีกรอบเมื่อยูเนสโกประกาศให้แหล่งโบราณคดีดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2535 เปลี่ยนชุมชนเงียบๆ ให้อึกทึกคึกคักด้วยการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้คู่การท่องเที่ยวไปในตัว

ไม่ว่าจะผ่านไปนานกี่สิบปี ทุกวันนี้ บ้านเชียงยังคงอยู่ในความรับรู้ของสังคมไทย ไม่ใช่เพียงจากหนังสือเรียนสังคมศึกษา ทว่ายังมีข่าวคราวอัพเดตอยู่เป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นการส่งคืนหม้อไหกำไลสัมฤทธิ์ หินดุ ลูกกลิ้งจากความครอบครองของสตรีชาวสหรัฐคืนสู่เมืองไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงข้อถกเถียงเรื่องอายุสมัยที่สร้างเสียงครางฮือเป็นระยะๆ เมื่อมีนักวิชาการเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้คลางแคลงใจว่าสรุปแล้วบ้านเชียงเก่าแก่ไปถึงกว่า 5,000 ปี หรือเฉียดๆ จริงไหม?

แม้แต่ในวินาทีนี้ การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเชียงก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมองภาพกว้างไปถึงการเชื่อมโยงข้อมูลระดับภูมิภาคที่ชวนให้ติดตามแบบตาไม่กะพริบ

Advertisement

และถึงจะมีคำกล่าวที่ว่า ไม่มี “ถ้า” ในประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวทั้งหมดนี้อาจไม่เกิดขึ้น หากไทยและสหรัฐไม่ได้เช็กแฮนด์ กระชับแน่นในความร่วมมือเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว

ที่สำคัญยังนับเป็นความสัมพันธ์ใน “ภาคประชาชน” ซึ่งเป็นแนวคิดที่กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศของไทยมองเห็นความสำคัญ กิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ 185 ปี ในปี 2561 นี้ จึงเกิดขึ้นในแนวทางของการสานต่อความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อยอดการศึกษาเกี่ยวกับบ้านเชียงให้ลึกซึ้งและหลากมิติยิ่งกว่าเก่า พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่น รวมถึงการจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงให้เป็นสากลมากขึ้น

ดร.จอยซ์ ไวท์ ผอ.สถาบันโบราณคดีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ISEAA) หนึ่งในทีมขุดค้นบ้านเชียง ระหว่าง พ.ศ.2517-2518 บรรยายพิเศษ “บทเรียนจากบ้านเชียงสำหรับการแก้ปัญหาระดับโลก” ท่ามกลางโบราณวัตถุจากบ้านเชียง ในห้องก่อนประวัติศาสตร์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 185 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ ปี 2561 เมื่อเร็วๆ นี้

กินดี อยู่ดี มีโอท็อป ไม่ชอบสงคราม

ไฮไลต์ของกิจกรรมนี้ คือการส่งเทียบเชิญไปยัง ดร.จอยซ์ ไวท์ (Joyce White) ผู้ร่วมทีมขุดค้นบ้านเชียงเมื่อครั้งยังสาวสะพรั่ง นักศึกษาไฟแรงในวันนั้น ตัดฉากมาในวันนี้ ดร.ไวท์ คือผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Institute for Southeast Asian Archaeology : ISEAA) ทุ่มเทดูแลโครงการ “บ้านเชียง โปรเจ็กต์” ที่กำลังขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงาน “Ban Chiang Northeast Thailand, Volume 2A : Background to the study of the metal remains” ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาโบราณวัตถุที่ทำจากโลหะ ออกจากโรงพิมพ์หมาดๆ เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมปีนี้

รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตอนที่ 2 เล่มเอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาโบราณวัตถุประเภทโลหะจากบ้านเชียงและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐ ตีพิมพ์เสร็จหมาดๆ กลางเดือนตุลาคม 2561 และจะมีเล่ม บี เผยแพร่ต่อไป

‘เหมือนโอท็อป One Tambon, One Product เลย’

ดร.ไวท์กล่าวในการบรรยายพิเศษในช่วงค่ำที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ท่ามกลางโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ในห้องจัดแสดง และแขกเหรื่อคนสำคัญ อาทิ ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย, ดร.วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศและอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน, อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และ พิสิฐ เจริญวงศ์ หัวหน้าทีมขุดค้นบ้านเชียงฝ่ายไทยในห้วงเวลานั้น เป็นต้น

คำกล่าวเปรียบเปรยของ ดร.ไวท์ ให้ภาพชัดดังที่เจ้าตัวอธิบายเพิ่มเติมถึงการผลิตข้าวของเครื่องใช้อย่างเช่นโลหะรูปแบบต่างๆ ได้ด้วยตนเองในชุมชน ไม่ได้เป็นแบบ “รวมศูนย์” ในลักษณะที่มีศูนย์กลางการผลิตแล้วกระจายสินค้าไปยังแหล่งอื่นๆ หากแต่ทำเอง ใช้เอง ตามรสนิยมของตัวเอง

อีกประเด็นที่นักโบราณคดีท่านนี้เน้นย้ำคือสภาพสังคมที่สามารถใช้คำว่า “สงบสุข” ไม่มีการรบพุ่งครั้งใหญ่ๆ ให้ล้มตายอย่างกลาดเกลื่อนดังเช่นแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในโลก แม้ว่าคนบ้านเชียงจะค้นพบโลหะผสมระหว่างทองแดงและดีบุก อย่าง “สัมฤทธิ์” ซึ่งนับเป็นย่างก้าวสำคัญยิ่งของเทคโนโลยียุคโบราณ

ผู้คนอายุหลายพันปีที่นอนเรียงรายในหลุม ไร้ร่องรอยการฟาดฟันด้วยอาวุธ ในขณะเดียวกันโครงกระดูกเหล่านี้ก็ยังบอกข้อมูลด้านสุขภาพที่ดีของคนในชุมชนที่กินดีอยู่ดีอีกด้วย

แม้การขุดค้นบ้านเชียงจะเกิดขึ้นเมื่อราว 50 ปีมาแล้ว แต่การศึกษายังคงดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง หนึ่งในนั้นคืองานวิเคราะห์ภาชนะดินเผาในมิติต่างๆ โดย ดร.Marie-Claude Boileau นักวิจัยศูนย์วิเคราะห์โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์แห่ง ม.เพนซิลเวเนีย

สินค้าจากหลุมศพ

สะเทือนเศรษฐกิจ พ่นพิษแหล่งประวัติศาสตร์

ไม่ใช่แค่สถานภาพการเป็นนักโบราณคดีในหลุมขุดค้น หรือคร่ำเคร่งอยู่ในห้องแล็บ แต่ ดร.ไวท์ยังมีบทบาทอย่างสูงในการช่วยเหลือทางการสหรัฐหลังปฏิบัติการครั้งประวัติศาสตร์ของการยึดของกลางซึ่งเป็นโบราณวัตถุมหาศาลจากกรณีลักลอบซื้อขายและนำเข้าโบราณวัตถุจากบ้านเชียงและแหล่งอื่นๆ อย่างผิดกฎหมายรวมนับหมื่นชิ้น สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจแก่สหรัฐ เนื่องด้วยถูกใช้ในการฉ้อฉลหลอกขอคืนภาษีเกินจริงจากการบริจาคโบราณวัตถุให้พิพิธภัณฑ์

ดร.ไวท์ ยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์โบเวอร์ส แคลิฟอร์เนีย ซึ่งสุดท้ายยอมจำนนไม่สู้คดี โดยยอมคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงให้ไทย แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งต่อทางการสหรัฐและต่อการศึกษาทางด้านโบราณคดี ที่น่าตกใจคือข้าวของเหล่านี้มีจำนวนมากกว่าที่ขุดค้นพบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากรและ ม.เพนซิลเวเนียในทศวรรษที่ 70 ถึง 175 เท่า

ถ้าแค่นี้ยังช้ำไม่พอ นักโบราณคดีอาวุโสยังระบุว่า หลายชิ้นยังมีสภาพสมบูรณ์ และเป็นโบราณวัตถุชิ้นพิเศษที่ไม่ได้พบง่ายๆ ความสูญเสียที่ไม่อาจนำคืนกลับมาได้คือข้อมูลทางวิชาการ เพราะขาดบริบทแวดล้อมในการตีความได้อย่างถูกต้อง

“อย่าซื้อโบราณวัตถุ และขอให้ตั้งคำถามอยู่เสมอว่าของเหล่านั้นมาจากไหน นอกจากนี้ควรสนับสนุนทุนทรัพย์ให้หน่วยงานที่ป้องปรามการลักลอบค้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมายด้วย” ดร.ไวท์ปิดท้าย

การถ่ายภาพภาชนะดินเผาบ้านเชียงสำหรับการตีพิมพ์เผยแพร่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการทำฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับการศึกษาและสืบค้นภายใต้โครงการ Middle Mekong Archaeology Project
การ์ตูนคุณทองโบราณ นุ่งผ้าลายสีส้มบนพื้นขาวเหมือนหม้อบ้านเชียง แมสคอตอุดรธานี

คุณทองโบราณ (มากกว่า) ‘สติ๊กเกอร์ไลน์’ และ ‘ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง’

จากสถานภาพปัจจุบันของการดำเนินงานในฝั่งอเมริกา หันมาดูความคืบหน้าในฝั่งเจ้าของพื้นที่กันบ้าง

เบญจพร สารพรม หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เปิดเผยว่า กำลังจะมีการก่อตั้ง “ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง” ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยคาดหวังให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่องราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคอีสาน รวมถึงเก็บรักษาโบราณวัตถุจากบ้านเชียงที่จะได้รับคืนมาทั้งปัจจุบันและอนาคต

สำหรับความรับรู้ของผู้คนในท้องถิ่น นอกเหนือจากในแง่ของการท่องเที่ยว หัวหน้า พช.บ้านเชียง บอกว่า ทางจังหวัดได้นำ “คุณทองโบราณ” โครงกระดูกสุนัขที่พบในหลุมศพที่บ้านเชียงไปสร้างสรรค์เป็นแมสคอตอุดรธานี โดยให้ประชาชนร่วมกันส่งประกวดจนได้ผู้ชนะซึ่งออกแบบให้นุ่งกางเกงลายหม้อบ้านเชียง หลังเปิดตัวไปในช่วงปลายปี 2560 ยังมีสติ๊กเกอร์ไลน์น่ารักๆ ให้ดาวน์โหลดไว้ใช้อีกด้วย

ส่วนการศึกษาโครงกระดูกสุนัขดังกล่าวในเชิงวิชาการ นฤพล หวังธงชัยเจริญ อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร บอกว่า ที่ผ่านมามีผู้ศึกษาไว้บ้างแล้ว โดยพบว่าเป็นสุนัขที่มีอายุมากแล้ว ส่วนสายพันธุ์น่าจะแพร่มาจากจีน สิ่งที่ควรศึกษาต่อไปคือพันธุกรรม พิธีกรรม และนิติเวช

“ควรศึกษาต่อไปว่าหมาตัวนี้อยู่ในช่วงไหนของบ้านเชียง ส่วนตัวคิดว่าน่าจะอยู่ในยุคโลหะ แต่เรายังไม่มีข้อมูลชัดเจน นอกจากนี้ก็ต้องมาพูดถึงเรื่องในเชิงพันธุกรรม ซึ่งมีปัญหาอยู่เยอะเรื่องการแพร่กระจาย ถ้ามีคนทำเรื่องดีเอ็นเอของสัตว์จะชัดเจนขึ้นว่าหมาตัวนี้อยู่ตรงไหนในแผนที่จีเนติก สัมพันธ์กับสุนัขสายพันธุ์อะไร มาจากไหน?

“เมื่อทราบช่วงเวลาและพันธุกรรมแล้ว ก็ควรศึกษาพิธีกรรมการฝังศพของคนกับสุนัข หรือคนกับสัตว์ ซึ่งเป็นประเด็นในเชิงนามธรรมที่น่าสนใจ มีหลักฐานว่าคนเอาสุนัขมาเลี้ยงตั้งแต่ 3 หมื่นปีที่แล้ว มีทั้งการฝังร่วมกับคน ในฐานะเป็นสัตว์ช่วยล่า หรือเป็นสัตว์ที่รัก ส่วนจะถูกฆ่าหรือเปล่า ต้องศึกษาในเชิงนิติเวชอีกครั้งว่าพบรอยสับตัด พบการถูกแทงไหม ในบางที่ เช่น จีนสมัยหินใหม่ เจอกระดูกสุนัขหลายแหล่งมีรอยสับตัด หรือเผาไหม้ แสดงว่าอาจใช้เป็นอาหารด้วยหรือไม่ ถ้าเราศึกษาแบบแผนการฝัง จะพบหน้าที่การใช้งานเดิมของสุนัขมากขึ้น” อาจารย์โบราณคดีอธิบายอย่างละเอียด

หลุมขุดค้นที่บ้านเชียง อุดรธานี เมื่อ พ.ศ.2518 ด้วยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและ ม.เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

เปิดข้อมูลใหม่ ‘อายุสมัย’ ที่ยังถกกันไม่จบ

ปิดท้ายด้วยความคืบหน้าจากการขุดค้นที่ วัดนาคาเทวี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดย ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ซึ่งเปิดเผยถึงการพบหลักฐานในวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ดังกล่าว เด่นชัดด้วยภาชนะดินเผาแบบบ้านเชียงยุคต้น ซึ่งมีสีออกดำคล้ำ ตกแต่งด้วยลายขูดขีด ไม่เหมือนหม้อไหใน “ภาพจำ” ซึ่งเขียนลายสีแดงอันเป็นยุคท้ายๆ ของวัฒนธรรมบ้านเชียง

ที่สำคัญคือมีการส่งตัวอย่างไปกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา พบว่ามีอายุราว 3,200-3,400 ปี

อายุสมัยจากข้อมูลใหม่ของทิพย์วรรณ สอดคล้องกับข้อเสนอของ ศ.ดร.ชาร์ล ไฮแอม ม.โอตาโก นิวซีแลนด์ ซึ่งเคยยืนยันว่ายุคเก่าสุดของบ้านเชียงมีอายุเพียง 3,500 ปีเท่านั้น ไม่ได้เก่าไปถึง 5,600 ปี หรือกว่า 4,300 ปี ตามที่มีผู้สันนิษฐานไว้ก่อนหน้า

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า บ้านเชียง เป็นแหล่งอารยธรรมยุคเก่าที่ไม่เคย “เอาต์” ไปจากความรับรู้ ความทรงจำ วิถีชิวิต และการศึกษาวิจัยของนักโบราณคดีทั้งไทยและเทศ ที่ยังคงถกเถียงเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างไม่หยุดยั้ง


ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Institute for Southeast Asian Archaeology-ISEAA และหนังสือ บ้านเชียง ปฐมบทโบราณคดีไทย โดยพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

โครงกระดูกสุนัขพบที่บ้านเชียง อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว ถูกฝังร่วมกับร่างมนุษย์ที่วัดโพธิ์ศรีใน ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “คุณทองโบราณ” ปัจจุบันกลายเป็นแมสคอตของจังหวัด มีการวาดเป็นภาพการ์ตูนรวมถึงสติ๊กเกอร์ไลน์
นักโบราณคดีไทยและลาว มีส่วนร่วมในการศึกษาและจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับภาชนะดินเผาบ้านเชียง รวมถึงแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง จากซ้าย สุรีรัตน์ บุปผา และบุนเฮือง บัวสีแสงปะเสิด
ภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมบ้านเชียงยุคต้น พบจากการขุดค้นล่าสุดที่วัดนาคาเทวี อ.เมือง จ.อุดรธานี
ใบหอกสัมฤทธิ์จากบ้านเชียง หนึ่งในวัตถุที่ได้รับศึกษาอย่างละเอียดด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหะวิทยา ดร.อลิซาเบธ ฮามิลตัน
ทีมขุดค้นบ้านเชียงของ ม.เพนซินเวเนีย คนยืนขวาสุดคือ ดร.เชสเตอร์ กอร์แมน ผู้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับบ้านเชียงจนโด่งดังทั่วโลก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image