เสียงจากชาวสวนถึง ‘ถนนยางพารา’ พร้อมจับมือนักวิจัย ขับเคลื่อนนวัตกรรมเต็มรูปแบบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวน “ยางพารา” ต้องเผชิญกับวิกฤตปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

เป็นเหตุให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนภาคการศึกษา มองหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ

ดังเช่น การบุกเบิกและคิดค้นนวัตกรรม “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” (Para Rubber Soil Cement) ของทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

Advertisement


ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ หัวหน้าโครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ เล่าว่า ถนนยางพาราดินซีเมนต์เริ่มต้นค้นคว้ามาตั้งแต่ปี 57 โดยมีถนนต้นแบบอยู่ที่ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี โดยการใช้น้ำยางพาราธรรมชาติ ทั้งน้ำยางสดและน้ำยางข้น มาดัดแปลงโครงสร้างทางเคมี เพื่อให้ยางพาราสามารถนำมาใช้ร่วมกับดินและปูนซีเมนต์ได้สำเร็จ

“หลังจากทดสอบในห้องปฏิบัติการผลที่ได้ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งข้อดีของการใช้ยางพารามาทำถนนเราพบว่าค่าที่เด่นที่สุดคือช่วยลดการซึมผ่านของน้ำ เพราะฉะนั้นจะเหมาะอย่างยิ่งเวลานำไปใช้ในพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่ชื้นแฉะ นอกจากนี้มีความแข็งแรงจากปูนและความยืดหยุ่นจากยางพาราซึ่งจะช่วยลดการแตกร้าวได้เป็นอย่างดี”

นับจากวันนั้นผ่านมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว โครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ค่อยๆ ขับเคลื่อนเป็นรูปเป็นร่างทีละเล็กละน้อย มีการดำเนินการก่อสร้างถนนต้นแบบแล้วทั้งหมด 5 ครั้งด้วยกัน

Advertisement

ครั้งที่ 1 และ 2 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 59 เป็นถนนทดสอบใน มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี โดยมีการเจาะทดสอบต่อเนื่องทุก 3 เดือน

ครั้งที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 60 เป็นถนนยางพาราแรกที่มีการใช้งานจริงที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ

ครั้งที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 51 ที่โรงเรียนบ้านดอนปิน ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ เป็นถนนยางพาราสายแรกของภาคเหนือ

และล่าสุดครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ที่ อบจ.ขอนแก่นได้ทำถนนต้นแบบเพื่อนำเสนอให้กับท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น 300 กว่าแห่ง

ทั้งนี้ ยังมีความร่วมมือกับกรมชลประทานเพื่อเป็นต้นแบบทำถนนยางพาราทั้ง 17 สำนักทั่วประเทศ และยังมีความร่วมมือกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หน่วยงานท้องถิ่น และการยางแห่งประเทศไทย ในการดำเนินการสร้างถนนยางพาราด้วย

ผศ.ดร.ระพีพันธ์อธิบายต่อว่า มจพ.ยังมีการออกแบบและเขียนข้อกำหนดการสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ ความหนา 15 ซม. หน้ากว้างประมาณ 6 เมตร ระยะทาง 1 กม. ใช้น้ำยางพาราสดซึ่งผ่านสหกรณ์ที่ลงทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยโดยตรง 12,000 กิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ มจพ.ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรสูตรการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ โดยมีการเปิดเผยสูตรการส่วนผสมและน้ำยาดัดแปลงสำหรับทำถนนยางพารา ให้สามารถดาวน์โหลดและนำไปใช้งานได้ทันที นอกจากนี้ยังมีการจดสิทธิบัตรถนนยางพาราดินซีเมนต์ และได้ประกาศโฆษณาขึ้นบนเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้เช่นกันทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

สำหรับการใช้น้ำยางพาราเพื่อก่อสร้างถนน เนื่องจากคณะวิจัยมองเห็นถึงความสำคัญของการกระจายรายได้เข้าสู่ชาวสวนยางในพื้นที่ ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล 2 ต่อ คือ 1.เรื่องโครงสร้างพื้นฐานหรือถนนที่มีคุณภาพ 2.ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยตรง

“แต่การส่งน้ำยางมาทำถนนจะต้องคงคุณภาพและต้องออกใบรับรองคุณภาพ ตลอดจนออกใบเสร็จรับเงินโดยคณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้แทนของสหกรณ์ ซึ่งจะมีการกำหนดราคาชัดเจน ตรวจสอบได้ และมีราคาสูงกว่าท้องตลาด เพื่อกระตุ้นให้ราคายางพาราดีขึ้น โดยคาดว่าจะผลักดันราคายางพาราได้กิโลกรัมละ 65 บาท” ผศ.ดร.ระพีพันธ์อธิบาย

เป็นความคืบหน้าล่าสุดของ “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” ที่ตอนนี้เหลือเพียงก้าวสุดท้ายเท่านั้น คือการกำหนดราคากลาง จากกรมบัญชีกลางเพื่อให้ถนนยางพาราสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ

“ขณะนี้ มจพ.ออกข้อกำหนดเรื่องถนนยางพาราเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดราคาค่าก่อสร้างรวมอยู่ที่ 1,388 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร และได้ส่งเรื่องเข้ากรมบัญชีกลางเพื่อทำการกำหนดราคาเป็นราคากลาง ซึ่งการก่อสร้างในอนุสิทธิบัตรมีการระบุสูตรการทำไว้ทั้งหมด สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องกังวลว่า มจพ.จะล็อกไว้เพียงเจ้าเดียว” คณะวิจัยระบุ

โดยหวังว่านวัตกรรม “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” จะเป็นทิศทางหนึ่งที่ทำให้ชาวสวนยางพาราผ่านพ้นวิกฤตเรื่องราคาได้

สวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานสมาคมเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทยเครือข่ายภาคเหนือ และประธานสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.ลำปาง ระบุว่า ติดตามโครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ ตั้งแต่การทำงานวิจัยจนถึงการทำถนนต้นแบบมาโดยตลอด จนถึงวันนี้มีความเชื่อมั่นและมั่นใจแล้วว่าโรงการนี้จะช่วยให้ราคายางพาราสูงขึ้นได้ หากภาครัฐมีการเร่งรัดและประกาศราคากลาง นำไปสู่การปฏิบัติตามมาตรการการใช้ยางของภาครัฐโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม หลายฟากฝ่ายยังกังวลว่าการใช้น้ำยางพาราก่อสร้างถนนจะมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำยางที่อาจไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาเรื่องการจัดเก็บ

สวัสดิ์ยืนยันว่า สถาบันเกษตรกรมีน้ำยางพาราที่จะรองรับโครงการนี้ได้แน่นอน

“ในส่วนของภาคเหนือตอนนี้เราได้เตรียมถังเพื่อรองรับน้ำยาง โดยรับเงินอุดหนุนจาก กยท. เพื่อรับซื้อน้ำยางในพื้นที่ ซึ่งโดยปกติเรามีการจำหน่ายน้ำยางสดให้กับสหกรณ์อื่นอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจึงมีความพร้อมในเรื่องน้ำยางพาราอย่างมาก” สวัสดิ์กล่าว

เช่นเดียวกับ เสวก ทองเกตุ ตัวเเทนเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย จ.สุราษฎร์ธานี และ สมปอง นวลสมศรี ประธานเครือข่าย สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดกระบี่ ระบุว่า สำหรับภาคใต้มีความพร้อมเรื่องน้ำยางพาราอย่างมาก ซึ่งตอนนี้ราคายางพาราเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 42 บาท โดยนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ดังนั้นถ้าสามารถผลักดันราคาได้ไปถึง 65 บาทจากที่ต้องเอาไปแปรรูปก็กลับมาขายเป็นน้ำยางสดเพื่อสร้างถนนได้

สอดคล้องกับ อดุลย์ โคตรพันธ์ ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราจังหวัดอุบลราชธานี ที่ยืนยันเช่นกันว่า การนำยางพารามาทำถนนนั้นในพื้นที่ไม่น่าหนักใจ เพราะส่วนใหญ่มีการทำน้ำยางสดอยู่แล้ว

“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ จะเป็นการยกระดับฐานะของเกษตรกรที่ขายน้ำยางสด ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นผมเห็นดีด้วยกับโครงการนี้ ส่วนเรื่องน้ำยางพาราไม่ใช่เรื่องหนักใจแต่อย่างไร ต่อให้ทำถนนหลายหมื่นกิโลเมตรก็มั่นใจว่าไม่มีปัญหาเรื่องน้ำยางพาราแน่นอน” อดุลย์กล่าว

ส่วน เรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย สมาคมคนกรีดยางฯระบุว่า เห็นด้วยกับโครงการนี้และราคากลางที่ทำไว้ที่ 65 บาท พร้อมยืนยันว่ามีน้ำยางพาราเพียงพอต่อความต้องการของโครงการแน่นอน แต่มีข้อเสนอเพิ่มเติม 2 ประเด็นคือ

1.อยากให้มีการต่อยอดงานวิจัยโดยการจัดอบรมผู้รับเหมาระดับจังหวัดหรือระดับเขตของการยางแห่งประเทศไทยให้สามารถทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ได้ ทำให้มีการกระจายโครงการไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น

2.เรื่องงบประมาณ มองว่างบของ อบต.และ อบจ.อาจจะมีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงอยากให้มีการนำเสนอรัฐบาลให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายการใช้ยางมากขึ้น และเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วยกับโครงการและอยากให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว

ขณะที่ สิริชัย ห่านวิบูลย์พงษ์ เครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย จ.บึงกาฬ ให้ความเห็นว่า โครงการนี้เป็นความหวังของเกษตรกร เนื่องจากขณะนี้ราคายางพาราตกต่ำมาก แทบจะเป็น 4-5 กิโลกรัม 100 บาทอยู่แล้ว ดังนั้นการนำยางพารามาใช้ทำถนนเป็นทางเลือกที่เห็นรูปธรรมชัดเจนในการลดปริมาณยางลง

“ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชสังคมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และพยายามหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ซึ่งข้อมูลทั้งและข่าวสารหมดนี้เกษตรกรและตัวแทนเกษตรกรก็จะนำกระตุ้นเตือนให้เกษตรกรมองเห็นช่องทางและให้ความร่วมมือกับโครงการถนนยางพาราต่อไป” สิริชัยระบุ

ด้าน นิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วน จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ และผลักดันจนเกิดถนนยางพาราต้นแบบ ที่มีการใช้งานจริงในพื้นที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการนำยางพารามาทำถนนและส่งเสริมเรื่องนี้มาโดยตลอด รวมไปถึงการนำยางพารามาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

“แนวคิดการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าต้องพูดถึงบุคคล 3 ท่าน คือ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์, ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย และ จาง เหย็น ประธานกรรมการ บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป ที่ให้แนวคิดว่าทางออกของปัญหายางพารา ต้องระบายยางออกให้มากที่สุดและเพิ่มมูลค่า ทำให้วันนี้บึงกาฬมีโรงงานหมอนยางพารา ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 193 ล้าน ในการก่อสร้างโรงงาน”

นิพนธ์ระบุอีกว่า สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมและศึกษาวิธีการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ได้ โดยในงานวันยางพาราบึงกาฬที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จะมีการสาธิตทำถนนยางพาราต่อเนื่องจากเส้นเเรกที่ อ.เซกา โดยมุ่งหวังให้เกิดการใช้ยางในพื้นที่และทำให้เกษตรกรมีความสุข

“ผมอยากเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้ยาง มากกว่าการให้เงินชดเชยเพราะการได้เงินมาไม่นานก็หมดขณะที่ยางพารายังมีอยู่เต็มท้องตลาด ดังนั้นทางออกวันนี้คือต้องระบายยาง และต้องมีแบบให้ท้องถิ่นทั่วประเทศใช้ยางพาราทำถนนได้” นิพนธ์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image