คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน : ลอยกระทง ‘นาฏกรรมแห่งรัฐ’ เริ่มกรุงเทพฯ ส่งเชียงใหม่

ลอยกระทงสมัยแรกในแผ่นดินต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแลนด์มาร์กหลักหมายกรุงเทพฯ (ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร 2546)

ลอยกระทง เป็นชื่อใหม่น่าจะมีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อาจมีตั้งแต่สมัย ร.2 แต่พบลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการในพระราชพงศาวดารสมัย ร.3 เมื่อ พ.ศ.2368 (หรือ193 ปีมาแล้ว)

ประเพณีขอขมาผีน้ำผีดินโดยลอยกระทง ไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีรากเหง้าจากลอยวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งสมัยอยุธยาและก่อนหน้านั้น

สมัยอยุธยาไม่เรียกลอยกระทง ไม่มีชื่อลอยกระทงในเอกสารเก่า มีแต่ “ลอยโคมดอกบัว” หมายถึงลอยโคมทำจากกระดาษเป็นรูปดอกบัว ซึ่งได้แบบจากโคมจีน

ลอยกระทง สมโภชพระนคร

“ลอยกระทงใหญ่” สมัย ร.3 เป็นนาฏกรรมแห่งรัฐ เสมือนสมโภชพระนครที่เติบโตเป็นกรุงเทพมหานครแท้จริงเมื่อต้นรัชกาล (ก่อนหน้านั้นกรุงเทพฯ เพิ่งก่อร่างสร้างตัว) มีในพระราชพงศาวดารว่าจัดตรงกับวันพุธที่ 23 ถึงวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2368 พระเจ้าแผ่นดินเสด็จทางชลมารค

Advertisement

กระทงใหญ่ราว 10 กระทง ทำหลายแบบหลายขนาด ทั้งเป็นถังและเป็นแพหยวกกล้วย กว้าง 4 เมตร สูง 5 เมตร ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ เช่น รูปเขาพระสุเมรุ มี 4 ทวีป ใส่เครื่องจักรกลไก บางกระทงมีมโหรีขับร้อง

ใช้ข้าคนบริวารนับร้อยทำกระทงใหญ่ เสียค่าใช้จ่ายนับไม่ถ้วน ล้วนเป็นเจ้าภาพโดยพระบรมราชวงศ์ผู้ใหญ่ และขุนนางใหญ่ เช่น เจ้าพระยาอภัยภูธร, เจ้าพระยาพระคลัง, พระยาศรีพิพัฒน์, พระพิชัยวารี, พระยาราชมนตรี, พระยาโชฎึกราชาเศรษฐี

มีประกวดประชันกระทงใหญ่ลอยแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่หน้าตำหนักแพท่าราช วรดิฐ ยาวไปถึงวัดโพธิ์-วัดแจ้ง ท้องน้ำแน่นขนัดด้วยเรือข้าราชการและเรือราษฎรดูกระทงใหญ่ “เรือเบียดเสียดแน่นกัน หลีกไม่ใคร่จะไหวดูเป็นอัศจรรย์”

เหล่านี้ล้วนเป็นภาพมีในวรรณกรรมเรื่องนางนพมาศที่ใช้ฉากกรุงสุโขทัย แต่บรรยากาศเป็นกรุงเทพฯ

ต่อมาต้องเลิกทำกระทงใหญ่ เพราะสิ้นเปลืองมาก จึงย่อลงเป็นกระทงธรรมดาสืบจนทุกวันนี้

แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณลอยกระทง มองเห็นพระบรมมหาราชวังยุคต้นกรุงเทพฯ ภาพเขียนฝีมือชาวยุโรป จากหนังสือของ จอห์น ครอว์เฟิร์ด ผู้แทนอังกฤษมาถึงสยามสมัย ร.2
ภาพเขียนจาก Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1880. Henri Mouhot. Oxford University Press, 1989

ลอยกระทงเชียงใหม่ ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ

ลอยกระทงเชียงใหม่ จัดขึ้นตามแบบประเพณีของกรุงเทพฯ เริ่มแรกโดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2460-2470

แต่ไม่เป็นที่นิยมทั่วไป เพราะชาวล้านนายังนิยมการประดับประดาประทีปโคมไฟตามบ้านเรือนตามประเพณีเคยมีมาก่อนนานแล้ว และมักจัด ตั้งธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในวัน “เพ็ญเดือนยี่”

ลอยกระทง จิตรกรรมฝาผนังสมัย ร.5 ในพระอุโบสถ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา
ลอยกระทง จิตรกรรมฝาผนังสมัย ร.4 ในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

ยี่เป็ง

ลอยกระทง วันเพ็ญกลางเดือน 12 เป็นภาษาภาคกลาง ที่ภาษาภาคเหนือเรียก ยี่เป็ง แปลว่า เพ็ญเดือน 2 [ยี่ แปลว่า ลำดับที่สอง, เป็ง แปลว่า เพ็ญพระจันทร์]

มีเหตุจากปฏิทินจันทรคติของภาคเหนือ นับเดือนเร็วกว่าภาคกลางราว 2 เดือน ดังนั้นลอยกระทงเดือน 12 ของภาคกลาง ตรงกับเดือนยี่ คือ เดือน 2 ของภาคเหนือ

เนื่องเพราะลมมรสุมจากจีนพัดพาเมฆฝนไปตกทางภาคเหนือก่อน ส่งผลให้คนทางเหนือทำนาปลูกข้าว แล้วได้เก็บเกี่ยวก่อน เริ่มนับเดือนอ้าย (เดือน 1) ก่อน ครั้นถึงเดือน 12 (ขณะนั้นภาคกลางเป็นเดือน 10 ช้ากว่าภาคเหนือ 2 เดือน) มีลอยเครื่องเซ่นขอขมาผีน้ำผีดิน เรียกชื่อประเพณีด้วยภาษาถิ่นเหนือซึ่งไม่ใช่เรียกลอยกระทง

ในภาคกลาง สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงกลางเดือน 12 ลอยกระทง แล้วถูกโปรโมตได้รับความนิยมกว้างขวาง คนทางภาคเหนือรับประเพณีลอยกระทงกลางเดือน 12 จากภาคกลาง แต่ทางภาคเหนือเข้าเดือนยี่ จึงเรียกตามภาษาถิ่นว่าประเพณียี่เป็ง

ลอยโคมยี่เป็ง เชียงใหม่ พ.ศ.2558 (ภาพถ่ายโดย มัลติฟังก์ชั่น จาก http://pantip.com/topic)

การลอยกระทงแบบกรุงเทพฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่มีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยจัดให้มีการลอยกระทงสองวันคือในวันยี่เพง (หรือวันเพ็ญเดือนยี่) ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จะมีการลอยกระทงขนาดเล็ก และในวันแรม 1 ค่ำ จะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่ โดยเริ่มกันที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปถึงสะพานนวรัฐ แต่ภายหลังมีการยอมรับและนำไป “ลอยกระทง” กันทั่วไป

การจัดทำลอยกระทงหรือแพหยวกกล้วย ให้มีขนาดและรูปร่างตามต้องการ เมื่อจุดธูปเทียนแล้วจึงปล่อยให้ลอยไปตามน้ำ ถ้ากระทงนั้นทำด้วยชิ้นกาบกล้วยขนาดฝ่ามือมีเทียนปักแล้วหรือวางประทีปแล้วจุดปล่อยให้ลอยตามกันไปเป็นสายก็เรียกว่า กระทงสาย

ถ้าทำเป็นแพหยวกกล้วยหรือกระทงใบตองขนาดกว้างประมาณ 1 คืบถึง 1 ศอก ก็อาจมีการประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อความสวยงามและอาจใส่เงินลงไปด้วย นิยมเรียกว่ากระทงน้อย

ส่วนกระทงขนาดใหญ่ซึ่งนิยมจัดเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยเจตนาให้เป็นทานนั้นเรียกว่า สะเพา คือสำเภา

และกระทงทำขึ้นเพื่อการประกวดนั้นมักตกแต่งเป็นรูปร่างต่างๆ และมี “นางนพมาศ” เป็นจุดสนใจประจำแต่ละกระทง นิยมเรียกว่า กระทงใหญ่

[สรุปจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 11 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ 2542, หน้า 5852-5853]

(ซ้าย-กลาง) กระทงใหญ่สมัย ร.3 วาดบนบานประตูพระอุโบสถวัดยานนาวา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2470 (ภาพจาก หอจดมายเหตุแห่งชาติ) (ขวา) กระทงใหญ่สมัย ร. 4-5 จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตสีมาราม กรุงเทพฯ

สระน้ำในเมืองเก่าสุโขทัย ไม่ขุดไว้ลอยกระทง

สุโขทัย เมืองแล้งน้ำ ตั้งบนที่ดอนเชิงเขา จึงต้องขุดตระพังเก็บน้ำ

ตระพังในเมืองเก่าสุโขทัย เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดกับวัง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ขุดไว้ลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ เพราะลอยกระทง เป็นประเพณีของบริเวณที่ราบลุ่ม มีน้ำไหล

“การเสริมสร้างประเพณีใหม่ๆ ขึ้น ณ แหล่งโบราณสถานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการท่องเที่ยว เช่น การจัดลอยกระทงที่สุโขทัย มิใช่ความผิด มองในมุมกลับนี่คือการสร้างสรรค์การยอมรับวัฒนธรรมการรื่นเริงรูปแบบหนึ่งร่วมกันในวงกว้าง

แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรได้ตระหนักถึงความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เราต้องรับผิดชอบส่งต่อให้สาธารณชนว่าประเพณีนี้ที่สุโขทัยเป็นของปรุงแต่งขึ้นในปัจจุบันนี้เท่านั้น

ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ในประวัติศาสตร์สุโขทัยว่าการลอยกระทงเป็นประเพณีรื่นเริงของชุมชนซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในที่แล้งน้ำโดยธรรมชาติ จนต้องจัดระบบหาทางนำน้ำมาใช้ ซึ่งเราได้เห็นประจักษ์พยานจากสิ่งก่อสร้างบนผิวดินอันปรากฏร่องรอยอยู่ชัดเจนเมื่อสมัยที่มีการริเริ่มปรับปรุงอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้”

(ธิดา สาระยา : การอนุรักษ์สุโขทัยฯ : พิมพ์อยู่ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2530 หน้า 22)

ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟในตระพัง (สระ) เมืองเก่าสุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ จ.สุโขทัย (ภาพจาก http://thaifest.tourismthailand.org)

ลอยโคมดอกบัว ต้นทางลอยกระทง
แม่น้ำหน้าวัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา

แม่น้ำเจ้าพระยา ตรงหน้าพระปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา มีบอกในกฎมณเฑียรบาล สมัยต้นอยุธยา ว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จขบวนเรือพร้อมอรรคเมเหสีในพระราชพิธีลอยโคมดอกบัว ส่งน้ำ กลางเดือน 12

ลอยกระทง มีต้นทางจากลอยโคมดอกบัวยุคต้นรัฐอยุธยา (ไม่มีในกรุงสุโขทัย)

แม่น้ำเจ้าพระยาหน้าพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ (นอกเกาะเมืองอยุธยา ด้านทิศใต้) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับลอยโคมดอกบัวขอขมาผีบรรพชนและผีน้ำผีดิน

มีบอกในกฎมณเฑียรบาล ว่าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จในขบวนเรือ พร้อมด้วยพระอรรคมเหสีกับเจ้านายใหญ่น้อย ครั้นถึงหน้าวัดพุทไธศวรรย์มีสมโภชโดยจุดดอกไม้ไฟและเล่นหนังใหญ่ แล้วลอยโคมดอกบัว ส่งน้ำ

วัดพุทไธศวรรย์ เมื่อสมัยก่อนสร้างอยุธยามีตำนานวีรบุรุษว่าเป็นพระตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับของพระเจ้าอู่ทองในเวียงเหล็ก (หรือ เมืองปท่าคูจาม)

พระเจ้าอู่ทอง เป็นบรรพชนพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา กลุ่มสยามจากรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) มีพื้นที่ซ่องสุมฐานกำลังสำคัญบริเวณนี้เป็นแห่งแรก

พระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระเจ้าอู่ทอง (อยู่ซุ้มมุขด้านทิศเหนือ) เสมือน “ปราสาทเทพบิดร”

แม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดพุทไธศวรรย์ ควรจัดพื้นที่พิเศษเมื่อถึงฤดูลอยกระทง (ตั้งแต่กลางเดือน 11 ถึง กลางเดือน 12) เพื่อลอยโคมดอกบัวและลอยกระทง พร้อมการละเล่นต่างๆ ทั้งตามประเพณีและร่วมสมัย โดยมีคำอธิบายหลายสตอรี่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามอัธยาศัย ได้ครบถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แม่น้ำเจ้าพระยา ตรงหน้าพระปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา มีบอกในกฎมณเฑียรบาล สมัยต้นอยุธยา ว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จขบวนเรือพร้อมอรรคมเหสีในพระราชพิธีลอยโคมดอกบัว ส่งน้ำ กลางเดือน 12
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image