จากป้อมเพชร ถึงปิ่นเกล้า ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่อง’เจ้าพระยา’ ค้นปริศนา’ลอยกระทง’มาจากไหน?

แม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างป้อมเพชร ถึงวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งมีพิธีจองเปรียงในเดือนสิบสอง กษัตริย์เสด็จลงเรือพระที่นั่งจากวังหลวงมาขอขมาผีบรรพชน

ร้อนแรงยิ่งกว่าแสงอาทิตย์ช่วงบ่าย 2 ก็คงต้องเป็นประเด็นสุดท้าทายความเข้าใจเก่าๆ ที่ ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ไม่ติดกระดุมบน ร่วมกันนำเสนอผ่านรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในชื่อตอน “ลอยกระทง กำเนิดกรุงศรีอยุธยา นางนพมาศ วรรณกรรมกรุงเทพฯ” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ออกอากาศทุกวันอังคารสุดท้ายของเดือน เวลา 14.00 น. ผ่านเฟซบุ๊กมติชน, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรมและยูทูบมติชนทีวี

เปิดฉากสวยซึ้งตรึงอารมณ์ ณ ริมฝั่งเจ้าพระยา ตรงข้ามวัดพุทไธศวรรย์ อันใกล้เคียงกับที่ตั้งของ “เวียงเหล็ก” ของพระเจ้าอู่ทอง

“อย่าไปหลอกเขาว่าลอยกระทงในตระพัง สุโขทัย เราต้องพูดความจริงกัน ว่ามันเกิดในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่มีศูนย์กลางอยู่อยุธยา ตระพังน้ำนิ่ง ขุดขึ้นมาใช้ในวัดกับวัง เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ขุดไว้ลอยกระทง ย้ำนะครับ ผมไม่ได้ต่อต้านประเพณีลอยกระทงที่สุโขทัย แต่คัดค้านคำอธิบายทั้งเรื่องการเผาเทียนเล่นไฟในจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทง และเรื่องนางนพมาศที่มักเชื่อกันว่ามีตัวตนจริงในยุคสุโขทัย ประดิษฐ์กระทงถวายพระร่วง แต่จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องแต่งในยุคกรุงเทพฯ เป็นคู่มือสอนผู้หญิงที่จะรับราชการ”

สุจิตต์ ยิงหมัดตรง แล้วอธิบายเพิ่มเติมแบบรัวๆ ว่า “เผาเทียนเล่นไฟ” ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีความหมายกว้างๆ ถึงงานทำบุญไหว้พระ และมีการละเล่นเป็นแนว “มหรสพ” เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับลอยกระทง จากนั้นจึงย้อนเล่าความหลังครั้งยังหนุ่มแน่น ว่าแรงผลักดันที่จะอธิบายความจริงต่อสังคมในประเด็นนี้ คือแรงผลักดันในการก่อตั้ง นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2522 หน้าปกงดงามขรึมขลังด้วยภาพอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

Advertisement

“ผมมีส่วนในการเริ่มต้นงานเผาเทียนเล่นไฟที่สุโขทัยด้วยซ้ำ ตอนนั้นเป็นม้าใช้ให้รุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเป็น ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เขาขอแรงให้ไปช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมของอุทยาน ซึ่งยังเป็นยุคเริ่มต้น ผมเลยหอบศิลปวัฒนธรรมฉบับปฐมฤกษ์ไปขายในงานเผาเทียนเล่นไฟนั่นแหละ แต่เนื้อหาคัดค้านคำอธิบายของกรมศิลป์ในช่วงนั้นที่บอกว่าคนยุคสุโขทัยลอยกระทงในตระพัง”

สำหรับที่มาของการลอยกระทง สุจิตต์ อธิบายว่า มีรากเหง้ามาจากการขอขมา ผีน้ำผีดิน ในศาสนาผี ไม่ใช่พุทธ หรือพราหมณ์ ส่วนที่เรียกตอนหลังว่าขอขมาแม่พระคงคา แม่พระธรณี เป็นการยืมศัพท์ของอินเดียมาใช้เท่านั้น

การขอขมาแบบโบราณใช้หยวกกล้วย เอาดอกไม้ใบไม้ปัก แล้วลอยไปตามน้ำ แล้วค่อยพัฒนาเป็นรูปแบบอื่นๆ ที่ตอนหลังเรียกว่า “ลอยกระทง” ซึ่งเป็นคำเรียกที่เกิดทีหลัง

Advertisement
สุจิตต์ วงษ์เทศ วาดลีลาบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เล่าเรื่องลอยกระทงยุคกรุงเทพฯ

“อยุธยาไม่มีคำว่าลอยกระทงนะครับ แต่มีการลอย ไม่ใช่ไม่มี แบบเก่าเขาใช้กระบะสี่เหลี่ยมทำจากหยวกกล้วย จัดเป็นช่องๆ เหมือนตาราง ภาษาเขมร กบาน สมัยเด็กๆ ผมยังทำอย่างนี้เพื่อลอยกระทงอยู่ ไม่รู้จักกระทงแบบที่คนกรุงเทพฯรู้จักเพราะอยู่บ้านนอก เอกสารฝรั่งสมัยอยุธยาโดยเฉพาะลาลูแบร์มีบันทึกเกี่ยวกับการลอยโคมกระดาษแบบจีนไปตามแม่น้ำ บอกว่า นั่งเรือจากอยุธยาไปละโว้ เพื่อเข้าเฝ้าพระนารายณ์ในเดือนสิบสอง 2 ฝั่งน้ำมีโคมกระดาษลอยเต็มไปหมด เอกสารโบราณเรียก ลอยโคมดอกบัว เพราะทำเป็นรูปดอกบัว ราชทูตลังกาที่เข้ามาในสมัยนั้นบันทึกไว้ ส่วนในกฎมณเฑียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยาระบุว่าเดือนสิบสองมีพิธีจองเปรียง ซึ่งเป็นคำเขมร แปลว่า จุดไฟไขพระโค เปรียงเป็นไขน้ำมันที่เอามาจากข้อวัว ข้อควาย จองเปรียงคือการจุดไฟเพื่อบูชา เป็นพิธีในคติพราหมณ์ฮินดูผสมผสานศาสนาผี”

สุจิตต์ ยังลงลึกในรายละเอียดว่า ในพิธีดังกล่าว พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา อัครมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง จะเสด็จลงเรือพระที่นั่งตรงวังหลวงตามฤกษ์ผานาทีที่พระโหราธิบดีให้มา เคลื่อนขบวนพยุหยาตราไปทางตะวันตก โค้งลงทางหัวแหลม เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านหน้าวัดไชยวัฒนาราม มาถึง “วัดพุทไธศวรรย์” แล้วทำพิธีในบริเวณนี้เพื่อขอขมาไหว้สาผีบรรพชนนี่คือสิ่งที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลอย่างชัดเจน

“มีหนังใหญ่ที่วัดพุทไธศวรรย์ มีจุดระทา มีดอกไม้ไฟเต็มไปหมด หมายความว่าเป็นมหกรรมยิ่งใหญ่มาก นี่แสดงให้เห็นความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ของวัดพุทไธศวรรย์ตลอดระยะเวลาก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 ส่วนหลังเสียกรุงผมไม่ทราบ เพราะไม่มีในเอกสารบันทึก เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาควรให้ความสำคัญกับบริเวณนี้มากกว่าที่เป็นอยู่”

มาถึงตรงนี้ ขรรค์ชัย เล่าถึงความหลังครั้งยังหนุ่มเหน้า ว่าตอนเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี รั้วศิลปากร เคยมาขุดที่อยุธยา ตกเย็นเมื่อเสร็จงาน แวะแก้ผ้ากระโดดแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดพุทไธศวรรย์แห่งนี้ แล้วดำผุดดำว่ายข้ามไปอีกฝั่ง เป็นความทรงจำแจ่มชัดที่เจ้าตัวพูดไปหัวเราะไป ซ้ำยังหันไปถาม สุจิตต์ เพื่อนซี้ว่า “จำได้ไหม?” แล้วพากันหัวเราะจนน้ำตาไหล

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเราะอย่างอารมณ์ดีเมื่อย้อนอดีตวีรกรรมวัยหนุ่มครั้งสำรวจ-ขุดค้นที่อยุธยา

อ.ช้าง ของชาวมติชน ยังเล่าถึงเมื่อคราวได้ทุนวิจัยจากองค์กรต่างประเทศ พาพี่ๆ น้องๆ นักศึกษาคณะโบราณคดีมาเก็บข้อมูลในเกาะเมืองอยุธยา เช่าบ้านอยู่ใกล้วัดหน้าพระเมรุ ตกค่ำมีสังสรรค์ตามประสา ก็คว้าอุปกรณ์ทำครัวมาทำ “กับแกล้ม” เล็กๆ น้อยๆ

“ทำกับข้าวเป็น เพราะอยู่บ้านก็เป็นลูกมือแม่อยู่แล้ว” ขรรค์ชัย ย้อนอดีตพร้อมรอยยิ้มจางๆ ก่อนชี้ให้ดูซากโบราณสถานริมทางที่เจ้าตัวเคยมาสำรวจ โดยบอกว่ายุคนั้นต้องถือไม้หรือมีดพร้ามาฟันหญ้าที่ขึ้นรก ไม่เหมือนตอนนี้ แต่สิ่งที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ

“ร้อนจนหนังลอก” อ.ช้างกล่าวแล้วหัวเราะเย้ยแดดอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะชวน สุจิตต์ มุ่งหน้าไปยัง “ป้อมเพชร” ซึ่งเป็นจุดที่กษัตริย์อยุธยาล่องเรือต่อมาจากวัดพุทไธศวรรย์

“มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่างานสมัยใหม่ต้องทำความเข้าใจ เพราะอาจเป็นครีเอทีฟ อีโคโนมี เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือเรื่องของโบราณราชประเพณี ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินกับมเหสีต้องจัดแข่งเรือกัน นี่คือพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์จากไร่นา ส่วนน้ำที่มากแล้ว ก็ขอร้องให้ลด คือเป็นพิธีไล่น้ำ ส่งน้ำ ให้ลดเร็วๆ จะมีเรือพระเจ้าแผ่นดินลำหนึ่ง เรือมเหสีลำหนึ่ง ถ้าเรือมเหสีชนะ ทำนายว่าข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ถ้าเรือพระเจ้าแผ่นดินชนะ ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วม ฟ้าจะผ่า เพราะฉะนั้นเรือพระเจ้าแผ่นดินไม่เคยชนะ”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เดินรับลมที่โชยพัดผ่าน “ปากน้ำบางกะจะ” แล้วชมจุดต่างๆ ของป้อมเพชรที่ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววิวดีที่ควรค่าแก่การมาเยี่ยมเยือน ทั้งยังล้ำค่าด้วยความสำคัญต่อประวัติศาสตร์อยุธยา โดยเป็นป้อมใหญ่สุดทางทิศใต้ มีไว้ดูแลเส้นทางน้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า มองย้อนไปทางวัดอรุณราชวราราม เชื่อว่าในยุคต้นรัตนโกสินทร์มีงานประเพณียิ่งใหญ่ โดยใช้คำว่า “ลอยกระทง” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

ตัดฉากปิดท้ายย้ายวิกมาที่กรุงเทพมหานคร แต่ยังคงอยู่บนสายน้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือวัดระฆังและสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งมองเห็นโค้งแม่น้ำ ฝั่งขวาคือโรงพยาบาลศิริราช ฝั่งซ้ายคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถัดไปคือพระบรมมหาราชวัง และพระปรางค์อันตระการตาของวัดอรุณราชวราราม

“เราไม่รู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าลอยกระทงเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อไหร่ แต่ไม่ใช่ในสมัยอยุธยา เพราะในเอกสารไม่มีคำว่าลอยกระทง แต่มาพบสมัยรัตนโกสินทร์ที่เริ่มใช้คำนี้ โดยปรากฏในพระราชพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ซึ่งบอกว่ามีการเกณฑ์คนมาทำกระทงใหญ่ เป็นรูปแพหยวกบ้าง เขาพระสุเมรุบ้าง บางทีทำเป็นกระจาดชั้นๆ บางครั้งใหญ่ขนาดมีมโหรีลงไปลอยเรือเล่นได้ด้วย เข้าใจว่าลอยกันบริเวณท่าราชวรดิษฐ์ หน้าวังหลวง ไปจนถึงพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นที่ลอยประกวดกระทง มีการบันทึกไว้ว่ามีเรือเบียดเสียดแน่น นี่เป็นงานสำคัญ จึงมีบันทึกไว้ค่อนข้างละเอียด” สุจิตต์เล่า พร้อมเรียกภาพกระทงใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 บนบานประตูพระอุโบสถวัดยานนาวา จาก ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วย ก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรมมาโชว์ ต่อด้วยรูปกระทงใหญ่สมัยรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5 บนจิตรกรรมในวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์

ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วย บก. ศิลปวัฒนธรรม หารือเรื่องแผนที่สำหรับประกอบรายการก่อนเริ่มถ่ายทำ

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานอันไพเราะใน “นิราศเดือน” โดย เสมียนมี กวียุค ร.3 เรียงร้อยถ้อยความว่า

“เดือนสิบสองล่องลอยกระทงหลวง ชนทั้งปวงลอยตามอร่ามแสง ดอกไม้ไฟโชติช่วงเป็นดวงแดง ทั้งพลุแรงตึงตังดังสะท้าน”

จบบทกวีก็เข้าสู่ประเด็นฮอตอย่าง “นางนพมาศ” ที่กลายเป็นเรื่องถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนผ่านโลกออนไลน์เป็นประจำในเดือนสิบสองของทุกปี โดยสุจิตต์ยืนยันตลอดมาว่า ไม่เคยมีตัวตนจริง ซ้ำยังเพิ่งแต่งขึ้นในยุคกรุงเทพฯ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ไว้

“ตำนานนางนพมาศนี้ กรมดำรงฯก็ทรงมีลายพระหัตถ์เอาไว้แล้วว่า ท่านทรงเข้าใจว่า ร.3 มีส่วนในการพระราชนิพนธ์เรื่องนางนพมาศเป็นนิยาย บทพรรณนาในเรือ มีฉากที่อ่านแล้วพบว่าเป็นฉากกรุงเทพฯ”

สุจิตต์กล่าว ก่อนทิ้งท้ายให้สังคมขบคิดร่วมกันว่า ทั้งหมดนี้ คือภาพรวมของเรื่องลอยกระทง ซึ่งไม่ได้หยุดเพียงการเป็นประเพณีโบราณ หากแต่กลายเป็น “วัฒนธรรมป๊อป” ในเวลาต่อมา

“เพราะฉะนั้น เรื่องตำนาน พิธีกรรมต่างๆ ที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งบอกว่าใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ สำหรับผมแล้ว นี่แหละโคตรหลักฐาน หรือหลักฐานโคตรๆ แต่ไทยไม่มีประวัติศาสตร์สังคม มีแต่ประวัติศาสตร์สงคราม เลยไม่รู้จักอารมณ์ของสังคม”

เป็นการปิดกล้องรายการอย่างเข้มข้น คมคาย สไตล์สองกุมารสยามเช่นเคย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image