‘บัณฑิตล้นตลาด’ ปริศนาสะเทือนการศึกษา ถกปัญหา ชี้ทางออกในอนาคต

เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์มติชน ออนไลน์ เผยแพร่รายงานเรื่อง “บัณฑิตตกงาน บทสะท้อนคุณภาพการศึกษาชาติ” กล่าวถึงการพัฒนาการศึกษาของชาติเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

ซึ่งมีแนวทางในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีประสิทธิภาพในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งแผนพัฒนานี้จะประสบความสำเร็จและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น

สำคัญที่สุดคงต้องเริ่มจากการย้อนกลับไปมองเรื่องของการศึกษาและแก้ปัญหาใหญ่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้บัณฑิตไทยไม่ตกงาน ทั้งหมดเป็นเนื้อหาใจความหลักที่ปรากฏในรายงาน

เนื่องด้วยสภาวการณ์การตกงานของบัณฑิตมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวเรื่องการศึกษาได้ ก็อาจส่งผลต่อจำนวนบัณฑิตตกงานที่จะสะสมเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว

Advertisement

หากมองย้อนกลับไปในปี 2560 สถิติระบุว่า ผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรีเข้าสู่ตลาดแรงงาน 340,000 คน โดยร้อยละ 62 เป็นผู้ที่จบปริญญาตรีสายสามัญซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานน้อย โดยส่วนมากจะจบในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในขณะนี้ พบว่าในจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็น 384,000 คนนั้น มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ว่างงานมากถึง 136,500 คน หรือร้อยละ 35 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก และอาจก่อให้เกิดวิกฤตในสังคมไทยได้ในอนาคต

ล่าสุดก็ดูเหมือนจะเป็นข่าวดี เมื่อสถิติเดือนตุลาคม ปี 2561 เทียบกับตุลาคมปีที่แล้วมีจำนวนบัณฑิตที่ตกงานลดลงกว่า 61,900 คน แต่จำนวนผู้ที่ตกงานระดับปริญญาตรีก็ยังคงนั่งแท่นครองอันดับตกงานสูงสุดกว่าการศึกษาในระดับอื่น และเป็นปัญหาต่อเนื่องที่รอการแก้มาหลายขวบปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาการตกงานของบัณฑิตอาจเกิดจากเศรษฐกิจที่ถดถอย นำมาสู่การชะลอการลงทุน เมื่อไม่เกิดการลงทุนใหม่ การจ้างงานก็ลดลง หรืออาจเกิดจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารโลกที่กล่าวถึงแนวโน้มจำนวนเด็กตกงานในอีก 12 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2573) ว่าจะสูงถึง 72% เพราะในอนาคตการทำงานจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์เอไอ และนอกจากนี้ ปัจจุบันเรายังเข้าสู่ยุคของการแข่งขันไร้พรมแดน ที่วัดระดับคนจากคุณภาพของคน ทำให้การจ้างงานน้อยลงกว่าในอดีตและมีการกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลที่สูงขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ประเด็นบัณฑิตตกงานนี้ยังถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นวงกว้างในสังคมออนไลน์ด้วย โดยมีการระบุว่า การที่เด็กจบใหม่มีอัตราการว่างงานที่สูงนั้นเป็นผลพวงจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร บ้างก็ว่าเด็กเลือกงาน ต้องการทำงานที่สบายแต่เงินเดือนสูง และนอกจากนี้ยังขาดทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ขาดทักษะทางด้านภาษา ขาดประสบการณ์ในการทำงาน มีความอดทนต่ำกว่าคนรุ่นก่อนๆ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้สังคมมองได้ว่าการตกงานของเด็กจบใหม่นั้นเกิดจากปัญหาของตัวเด็กเองเป็นส่วนมาก

ในมุมมองของ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับเห็นว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มีส่วนอย่างมากกับอัตราการว่างงานของนักศึกษาที่จบใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นผลพวงจากการเมืองไทยที่ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร เพราะสังคมไทยเน้นการส่งเสริมการลงทุนและส่งออก ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในการคบค้ากับบ้านเมืองอื่นได้มากขึ้น ดังนั้นปัญหาการเมืองจึงนำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เพราะนักลงทุนมองไม่เห็นอนาคตของประเทศไทยว่าจะคลี่คลายไปอย่างไร

“เรื่องระบบการศึกษาเอง รัฐก็ยังไม่ส่งเสริมให้คนมีศักยภาพที่จะเอาความคิดของตัวเองมาขยายหรือต่อยอดได้ ซึ่งหลายประเทศในแถบเอเชียรัฐจะมีบทบาทสูงในการอยู่เบื้องหลังการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพของคน และในอนาคตจะมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา ที่เรียกว่า Disruptive Technologies หรือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก แน่นอนว่าจะสร้างทั้งโอกาสและคุกคามไปพร้อมๆ กัน เพราะจะมีการทำลายงานบางส่วนลงในอนาคต แต่จะเกิดการสร้างงานใหม่ทดแทน แล้วเราจะทำอย่างไรในการเปลี่ยนถ่ายคนไปอยู่งานใหม่ที่ต้องการทักษะแบบใหม่”

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ

รศ.ดร.วรวิทย์จึงให้ข้อเสนอเเนะว่า รัฐต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อเตรียมส่งผ่านการสร้างทักษะให้สอดรับกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องมีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ โดยสร้างคนให้คิดเป็นและต่อยอดได้ มีระบบวิธีวิเคราะห์

“นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องผลิตคนให้มีคุณภาพก่อน ต้องผลิตคนให้คิดเป็น ไม่ปิดกั้นเขา ส่งเสริมให้คนมีความหลากหลาย ไม่ผลิตคนไทป์เดียว แต่รัฐบาลไม่คิดอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของการเมือง เวลาจบลงอาจจะชี้ว่ารัฐยังล้มเหลวที่ยังคิดแบบเก่า การวางแผนตั้งไว้ 20 ปี แค่เพียงปีเดียวทุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว โลกเปลี่ยนภายในไม่ถึงปี อาจจะกลายเป็นฝันเปล่า” รศ.ดร.วรวิทย์กล่าว

และทิ้งท้ายถึงปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก คือมีการจ้างงานแบบชั่วคราวจำนวนมาก โดยการต่อสัญญากับบริษัทไปเรื่อยๆ ทำให้กลายเป็นลูกจ้างชั่วคราวไปตลอด สูญเสียสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่ควรจะได้รับ เพราะถูกจำกัดเฉพาะพนักงานประจำ เกิดความอยุติธรรมและขาดความมั่นคงในชีวิต

ขณะที่ ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มองว่าปัญหาการตกงานแม้ว่าจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่หลักๆ แล้ว “เกิดจากระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน” เพราะนักศึกษาส่วนมากจะเลือกเรียนสาขาที่เป็นเทรนด์ หรือเลือกเรียนตามเพื่อน การเลือกเรียนตามกระแสนิยม เมื่อสังคมเปลี่ยนไป เทรนด์ที่ในตอนนั้นเป็นที่นิยมก็ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันแล้ว อย่างเช่นอดีตที่นักศึกษานิยมเรียนนิเทศศาสตร์ หรือบริหารธุรกิจ เป็นต้น

“ในยุคนี้ต้องการสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และที่ขาดไม่ได้คือสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาษา ส่วนความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็มีความจำเป็นอยู่ เพราะเป็นการฝึกทักษะการวิเคราะห์ที่จำเป็นต้องมี เพราะว่าเด็กไม่ได้อยู่กับเรื่องธุรกิจการค้าเพียงอย่างเดียว แต่อนาคตข้างหน้าต้องใช้ความรู้พื้นฐานในการทำความเข้าใจและปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ดังนั้นควรจัดหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับฐานทั้งระบบ คือต้องโยงไปถึงเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน ดึงขึ้นมาให้เด็กสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้โดยใช้ฐานความรู้เหล่านี้ ทุกศาสตร์ทุกสาขาต้องมีการบูรณาการกัน เพราะปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากการที่เราไปแยกศาสตร์ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเน้นไปทางเดียว ทำให้เด็กเก่งเฉพาะเชิงเทคนิค แต่พอมองด้านสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลกก็จะวิเคราะห์ไม่ออก ถ้าให้เด็กมีการคิดวิเคราะห์ที่ทำให้เขาเข้าใจสังคม เข้าใจวัฒนธรรม มองเห็นการเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่เกิดขึ้น เด็กก็จะปรับตัวได้ เป็นสิ่งที่น่าจะผลักดันให้เกิดขึ้น”

ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป

เป็นความเห็นของ ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ที่ยังชี้แนะด้วยว่า เรื่องมนุษยสัมพันธ์ก็มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะโลกทุกวันนี้ต้องสร้างเครือข่าย สร้างความสัมพันธ์ในระดับกว้าง กับคนที่อยู่รอบตัวเราออกไป

เมื่อถามว่ามองประเด็นที่เด็กจบใหม่ไม่อยากเป็นลูกจ้างว่าอย่างไร

ผศ.ดร.เสาวลักษณ์บอกว่า ด้วยค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ที่รักความอิสระ อีกทั้งสังคมปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียที่เปิดกว้าง เด็กจึงมีความเป็นปัจเจกสูง และในอนาคตข้างหน้าเรื่องการจ้างงานโลกก็จะเปลี่ยนไป มีการจ้างงานที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการจ้างงานชั่วคราวระยะสั้นที่เป็นเทรนด์สูงมากในปัจจุบัน ซึ่งนักศึกษาต้องปรับตัวตามในอนาคตข้างหน้า

สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ จุฑาพร เอลิซาเบธ เกตุราทร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่า สถาบันการศึกษาควรจะร่วมมือกับหน่วยงานทางด้านแรงงาน คือ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงานควรจะประสานงานและมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ปกครองและเด็ก ว่าความต้องการหรืออุปสงค์ในตลาดแรงงานนั้นปรับตัวไปในทิศใดบ้าง เพื่อให้เด็กมีการเตรียมความพร้อม

อีกทั้งควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรเนื่องจากเอกชนเป็นฝ่ายจ้างงานซึ่งรู้ดีว่าหน่วยงานของตนต้องการคนแบบไหน และเพื่อที่ภาครัฐจะได้รู้ว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่ในปัจจุบันบอกว่าแรงงานของเราขาดทักษะด้านภาษาอังกฤษ และทางด้านไอที คอมพิวเตอร์ เหล่านี้ก็ย้อนกลับไปที่ระบบการศึกษาของเราอีก อย่างภาษาอังกฤษเราก็เน้นไวยากรณ์ แต่ไม่ได้เน้นการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

“เชื่อว่าเด็กไทยส่วนมาก อ่านออก เขียนได้ แต่ถ้ามีฝรั่งมาถามทางก็อาจจะเขินอายเพราะถูกฝึกให้ได้ใช้ในห้องเรียนและเอาไปใช้จริงได้ยาก ทุกคนก็จะมาแบบ How are you, I’m fine Thank you and you. เด็กพูดเหมือนกันหมดว่าเขาไม่กล้าเอาไปใช้”

จุฑาพรระบุอีกว่า การที่บ้านเราเน้นเรื่องการท่องจำ และให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์น้อย ทำให้เด็กขาดทักษะในการกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม กล้าปฏิบัติ เมื่อเข้าสู่วัยมัธยม เด็กต้องเลือกสายแผนการเรียนซึ่งเกี่ยวพันกับการที่จะเลือกคณะได้ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเลือกสายแบบนี้ เพราะเด็กยังอายุน้อยมาก 14-15 ปี เขาอายุน้อยเกินไปที่จะตัดสินอนาคตตัวเองในตอนนั้น จึงต้องฟังอาจารย์ พ่อแม่ หรือเพื่อน

จุฑาพร เอลิซาเบธ เกตุราทร

“ควรให้เด็กทุกคนมีโอกาสเลือกเรียนวิชาที่สนใจ นอกเหนือจากการเรียนวิชาพื้นฐาน เพราะส่วนมากเด็กจะมีสิ่งที่สนใจอยู่แล้ว แต่ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ เช่น ถ้าเขาสนใจคอมพิวเตอร์ก็เรียนคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะได้ทำงานในสายที่ชอบ หากลองแล้วพบว่าไม่ชอบ อย่างน้อยก็ได้ค้นพบตัวเองมากขึ้น นักศึกษาจำนวนมากบอกว่าอยากใช้เวลาช่วงมัธยมปลายในการค้นหาตัวเองและเรียนในสิ่งที่สนใจ เพื่อที่จะได้สร้างความถนัดให้กับตัวเขาเองเพิ่มมากขึ้น มากกว่าการที่บังคับให้เขาเรียน 10-20 วิชา ให้รู้อย่างละนิดละหน่อย คือเรียนวิชาเยอะมาก แต่ไม่ได้ค้นพบหรือเสริมทักษะอะไรให้กับเขา”

จุฑาพรให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมีค่านิยมที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างจะเลือกงานเพราะอยากได้งานที่สบาย เป็นอิสระ และมีค่าตอบแทนที่สูง

“ไม่อยากให้เขาคิดแต่ว่า อายุน้อยร้อยล้าน เด็กส่วนมากจะพูดถึงแต่เรื่องเงิน เรื่องวัตถุนิยม ทำยังไงก็ได้ให้รวยเร็วที่สุด ซึ่งเรามักจะได้ยินเรื่องที่เขาประสบความสำเร็จ แต่ไม่ค่อยได้ยินเวลาที่เขาล้มเหลว จึงบอกเขาเสมอว่า คนเราไม่จำเป็นจะต้องทำงานตรงสายที่เรียนมาเสมอไป เพราะถ้าจบมาไม่ตรงสายก็ยังสามารถที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม หรือพัฒนาทักษะของเราเพื่อที่จะไปทำงานได้” จุฑาพรกล่าว

พร้อมชี้ตัวอย่าง เรื่องความต้องการทางด้านการตลาดออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง ที่ถ้าไม่มีทักษะทางนี้ก็สามารถไปเรียนคอร์สสั้นๆ เพื่อเพิ่มทักษะตรงนี้

“ไม่ว่าจะจบอะไรมา ถ้าหากเป็นคนขยัน ขวนขวายหาความรู้ และไม่เลือกงานมากเกินไป ก็สามารถลดโอกาสการตกงานได้เช่นกัน”

จุฑาพรกล่าวทิ้งท้ายถึงบัณฑิตที่จบใหม่ด้วยว่า ถ้ามีคนให้โอกาสในการทำงาน ก็ต้องขยัน อดทน และลองพยายามทำให้ดีที่สุดก่อน อย่าถอดใจ และอย่าทิ้งโอกาสเพียงเพราะแค่คิดว่าไม่ใช่ ไม่อยากให้ต้องทิ้งทุกอย่างที่เรียนมา เพราะยังไงแล้ว เด็กจบใหม่ก็ยังมีโอกาสที่จะเรียนรู้ ค้นหา และพัฒนาตัวเองไปอีกนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image