2231 กรุงศรีอยุธยาท่ามกลางวิกฤต

ภาพสันนิษฐานของสมเด็จพระเพทราชา (PiteraTjay) พิมพ์ในปี พ.ศ.2238 หลังการปฏิวัติแล้ว 7 ปี (ภาพจาก Military Revolutions Wars of Europe & Asia Ottoman Turks Mohammed Siam 27 Portraits. 1695)

เมื่อพูดถึงวิกฤตของกรุงศรีอยุธยา เรามักนึกถึงการเสียเมืองแก่พม่าทั้ง 2 ครั้ง

แต่ในปี พ.ศ.2231 ปีสุดท้ายในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นปีแรกในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พ.ศ.2231 ยังเป็นช่วงเวลาที่ราชสำนักอยู่ในสถานการณ์ที่ “อ่อนไหว” ยิ่งเช่นกัน

เหตุที่ว่าอ่อนไหวนั้นจากปัจจัยภายในและภายนอก ด้วยขณะนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชผู้นำสูงสุดของประเทศทรงพระประชวร จึงเริ่มมีการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ขุนนาง

ในพระนครมีข่าวลือไปทั่ว ทั้งข่าวเรื่องการปฏิวัติ และข่าวว่าชาวฝรั่งเศสจะเอาเรือติดอาวุธเข้ามายึดครองสยาม

Advertisement

เพราะเมื่อคราวที่ออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) เดินทางไปฝรั่งเศส อัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต้องการขอเมืองบางกอกและมะริดเพื่อตั้งเป็นสถานีการค้าของฝรั่งเศส ซึ่งสมเด็จพระเพทราชาคงทราบดังกล่าวเช่นกัน

นอกจากนี้ตามประวัติศาสตร์กระแสหลักตามระบบที่เรียนกันมา สมเด็จพระเพทราชาคือขุนนางที่คิดการใหญ่ทำการปฏิวัติเพื่อหวังอำนาจ โดยอ้างว่าต่างชาติกำลังจะยึดครองแผ่นดิน


แต่วันนี้อยากจะชวนท่านดูประวัติศาสตร์ช่วงนี้อีกด้านหนึ่ง จาก รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนถึงเรื่องดังกล่าวไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2561 กับบทความที่ชื่อว่า “สมเด็จพระเพทราชา มหาบุรุษกู้ชาติ”

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ให้เหตุผลว่า ภาพลักษณ์ของสมเด็จพระเพทราชานั้นเป็นแบบทวิลักษณ์ เพราะแม้จะมีด้านลบที่ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่พ่ายแพ้แก่พม่า และทรงเป็นผู้ยุติความสัมพันธ์กับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งกำลังเจริญถึงขีดสุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

หากในด้านบวกนั้น ทรงเป็นบุรุษผู้กู้ชาติจากการที่สยามจะตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

ผู้เขียน (รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี) รวบรวมหลักฐานทางวิชาการ แล้วเขียนให้เข้าใจเรื่องทั้งหมดโดยง่าย เริ่มจากบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้น ที่กลุ่มอำนาจในราชสำนักขณะนั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มของสมเด็จพระเพทราชา และออกหลวงสรศักดิ์ 2.กลุ่มขุนนางใหม่ที่พระปีย์ หรือเจ้าฟ้าอภัยทศสนับสนุน 3.กลุ่มชาวฝรั่งเศสที่นำโดยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือฟอลคอน

เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงเริ่มแผนการปฏิวัติ แผนแรกที่ทำก็คือ “กัน” กลุ่มอำนาจอื่นไม่ให้มีโอกาสเข้าใกล้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชาทรงประเมินอำนาจของฝรั่งเศสที่ดูเหมือนว่าอยู่ในอารักขาของฟอลคอน แต่แท้ที่จริงกลับมีปัญหาภายในกันเอง เพราะต่างก็ระวังและไม่แน่ใจว่าตนนั้นต้องฟังใคร หรือเชื่อคำสั่งใครระหว่างฟอลคอนและนายพล เดส์ฟาร์จ

สมเด็จพระเพทราชา ตามจินตนาการของจิตรกร (ม.วรพินิต)
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์หรือฟอลคอน

สมเด็จพระเพทราชาจึงวางกลลวงฟอลคอนว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้เข้าเฝ้าที่พระราชวังเมืองลพบุรี ขณะเดียวกันก็ปล่อยข่าวลวงว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะทรงจับพระเพทราชาในฐานะกบฏ เช่นนี้ย่อมทำให้ฟอลคอนไม่ระแวง และวางใจไปเข้าเฝ้าเป็นแน่แท้ ซึ่งบันทึกของ พันตรี โบชอง ทหารรักษาความปลอดภัยของฟอลคอนเป็นหลักฐานยืนยัน

“นับตั้งแต่นี้จนถึงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ข้าพเจ้าประจำอยู่ที่ละโว้ตลอดกับเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ ซึ่งได้บอกถึงแต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา ในวันนั้นเอง ข้าพเจ้าได้รับประทานอาหารร่วมกับเขา เขาพูดกับข้าพเจ้าน้อยลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ครั้นพอลุกจากโต๊ะต่างก็แยกไปที่นอนของตน ประมาณ ๒ ชั่วโมงให้หลัง คือราวบ่าย ๓-๔ โมง เขาก็เรียกข้าพเจ้าเข้าไปพบ ครั้นข้าพเจ้าเข้าไปก็เห็นเขาอยู่กับบาทหลวง เดอ แบส เขาว่า

‘ท่านพันตรี เกิดเรื่องขึ้นแล้วล่ะ พระเจ้าแผ่นดินมีพระประสงค์จะจับสมเด็จพระเพทราชา’ ข้าพเจ้าบอกเขาว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อ และมีอีกหลายอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย เขาควรจะให้พวกเราไปรวมตัวกันที่บ้านของเขาซึ่งปลอดภัยมากกว่า และข้าพเจ้าจะได้สั่งให้คนฝรั่งเศสและอังกฤษเตรียมพร้อมโต้ตอบศัตรู

แต่เขากลับบอกว่า ‘ไม่’ และย้ำ (สามถึงสี่ครั้งราวกับเป็นคนบ้าที่พยายามหาคำตอบ) ว่าให้ข้าพเจ้าไปยึดอาวุธจากกองกำลังชาวสยามที่ข้าพเจ้านำขึ้นมาจากบางกอก โดยอย่าให้พวกเขารู้ตัว ข้าพเจ้าว่าจะทำตามเหมือนกับที่เคยปฏิบัติมาก่อน

พอข้าพเจ้าจะออกไป บาทหลวง เดอ แบส ก็ถามเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ว่าเขาจะเข้าวังหรือไม่ เขาตอบว่า ‘ข้าพเจ้าจะให้ทหารไปด้วย’ ในไม่ช้าข้าพเจ้าจึงไปที่กองกำลังทหารที่ข้าพเจ้ายึดอาวุธไว้และจัดให้เข้าแถว

เมื่อเห็นเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์กำลังเดินทางไปพระราชวังเพียงลำพัง ข้าพเจ้าจึงไปดักรอข้างหน้าแล้วถามว่าจะไปที่ใด เขาตอบว่า ‘จะไปพระราชวัง ตามฉันมาสิ’ เมอซิเออร์ เชอวาลิเยร์ เดส์ฟาร์จ (Chevalier Desfarges) และเดอ แฟรตเตอวิลล์ (De Fretteville) ซึ่งออกมาล่าสัตว์เดินอยู่พร้อมอาวุธครบมือ ก็เข้ามาถามข้าพเจ้าว่าจะไปไหน ข้าพเจ้าตอบว่า ‘จะไปพระราชวังพร้อมด้วยเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์’ ทั้งสองจึงเดินเข้าไปทำความเคารพและถามว่าปรารถนาจะให้พวกเขาไปด้วยหรือไม่

เมื่อเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ตอบตกลง ทั้งสองก็ปลดอาวุธฝากไว้กับทหาร เว้นแต่ปืนพกที่พวกเขาไม่ทันได้ปลดออก พวกเราเดินเข้าไปในพระราชวังเพียง ๒๐ ก้าว เมื่อเข้าไปนั้นเอง ข้าพเจ้าก็บอกกับเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ว่า ‘ฯพณฯ เหตุใดจึงไม่ออกคำสั่งให้ข้าพเจ้าจับสมเด็จพระเพทราชา’ เขาตอบว่า ‘อย่าพูดอะไรอย่างนั้นเด็ดขาด’

ในไม่ช้า เราก็เห็นสมเด็จพระเพทราชาพร้อมด้วยทหารกว่า ๒,๐๐๐ นาย แวดล้อมด้วยข้าราชบริพารเดินตรงเข้ามาหาเรา คว้าแขนเสื้อของเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์แล้วว่า ‘อ้า มันนี่แหละ’ ว่าแล้วก็บอกให้ขุนนางผู้หนึ่งเข้าไปจะจับตัดหัว เมอซิเออร์ก็องสต๊องส์อยู่ในสภาพเกือบใกล้ตาย หันหน้าไปทางสมเด็จพระเพทราชาเหมือนร้องขอชีวิต”

หลังจากนั้นสมเด็จพระเพทราชาก็ทรงวางแผนให้ นายพล เดส์ฟาร์จ นายทหารฝรั่งเศสจากป้อมที่บางกอกและที่เมืองมะริดขึ้นมาที่ลพบุรี

แผนผังเมืองลพบุรีที่วิศวกรฝรั่งเศสเขียนขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ภาพเขียนสีน้ำการต่อสู้ระหว่างกองทหารฝรั่งเศสและสยาม ที่ป้อมเมืองบางกอกทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยเริ่มจากแผนการที่ใช้ความประนีประนอมจนเป็นมาตรการที่แข็งกร้าวขึ้น และจบลงที่การสู้รบระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ซึ่งทหารฝรั่งเศสเสียเปรียบทั้งยุทธวิธีทางการรบ การหาเสบียงอาหาร และกองกำลังสนับสนุน จึงต้องยินยอมลงนามสงบศึกและออกเดินทางไปจากราชอาณาจักร

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนที่ อาจารย์ปรีดี พิศภูมิวิถี เขียนไว้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามหลักฐานอื่นที่ชาวต่างชาติผู้อยู่ในเหตุการณ์บันทึกเรื่องราวช่วงสำคัญนี้ไว้ ตลอดจนการจัดการบ้านเมืองหลังจากนั้น

ช่วยกันพิจารณาว่า หากความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีราชวงศ์บ้านพลูหลวงแล้ว ที่ร่ำลือว่า สยามอาจต้องตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสนั้นมีความเป็นไปได้เพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image