ธรรมชาติ วัฒนธรรม และพลังงานบริสุทธิ์ ความลงตัวของถิ่นโบราณ ‘นครลำปาง’

“ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก” คือคำขวัญของ นครลำปาง เมืองเล็กๆ ขนาด 13 อำเภอ ดินแดนแห่งลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำงาวที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม โดดเด่นด้วยวิถีชีวิตเรียบง่าย คงไว้ซึ่งขนบประเพณีที่สืบทอดมาก่อนกาล อีกทั้งยังมีวัดวาอารามและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ที่ยิ่งสะท้อนความน่าสนใจของเมืองรองต้องห้ามพลาดนี้

ดื่มด่ำกับแหล่งท่องเที่ยวแห่งอารยธรรมล้านนา

เมื่อมาเยือนนครลำปาง หมุดหมายแรกที่นึกถึง คือ “วัดพระธาตุลำปางหลวง” ที่ อ.เกาะคา ศาสนสถานที่สำคัญ เสมือนศาลหลักเมืองแห่งนครลำปางนี้

ทันทีที่ย่างก้าวเข้าสู่วัด ก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความโบราณล้านนา และต้องสะดุดตากับประตูโขงประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้และสัตว์หิมพานต์ที่ซุกซ่อนสัญลักษณ์ประจำจังหวัดรูปไก่ขาวยืนอยู่ในซุ้มมณฑป มองเข้าไปจะเห็นองค์พระธาตุลำปางหลวง ยืนตระหง่านอยู่ภายในวัดคู่บ้านคู่เมือง พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำตามแบบฉบับล้านนา ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุ ด้านหลังพระธาตุยังมีมณฑปพระพุทธบาท นอกจากนี้ภายในวัดยังมี ‘วิหารลายคำ’ สถานที่ประดิษฐานของ ‘หลวงพ่อพระพุทธ’ พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสามปางมารวิชัยที่งดงามมากอีกแห่งของล้านนา ด้านในของวิหารลายคำมี Unseen ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง คือ “เงาพระธาตุกลับหัว” สิ่งมหัศจรรย์ที่ผู้มาชมต้องร้องว้าว

หลังสักการะพระธาตุลำปางหลวงเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ด้านหน้าศาลากลางหลังเก่าของวัดพระธาตุลำปางหลวงยังมีรถม้าคอยบริการนำเที่ยวอีกด้วย

Advertisement
วัดพระธาตุลำปางหลวง

“รถม้า” หรือแท็กซี่ม้าแห่งเมืองลำปาง อดีตคอยรับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าตัวเมือง รับส่งนักเรียน ขนของให้พ่อค้าแม่ค้า เรื่อยไปจนถึงรับพัสดุภัณฑ์มายังที่ทำการไปรษณีย์ หรือกระทั่งพาคนเจ็บไปโรงพยาบาล

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รถม้าไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเหมือนในอดีต หากแต่ใช้ในการรองรับนักท่องเที่ยว คอยบริการเป็นไกด์ตระเวนเที่ยวชมเมือง ตั้งแต่วัดที่มีตำนาน บ้านเรือนโบราณ และสถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมือง เรียกได้ว่าถ้าเรียกใช้บริการรถม้าก็จะดื่มด่ำบรรยากาศเมืองเขลางค์นครได้ทั้งรอบเล็กและรอบใหญ่ตามใจสั่งมา แม้บทบาทของรถม้าจะลดลง แต่กระนั้น รถม้าก็ยังคงมีความสำคัญกับชาวลำปางอยู่อย่างมาก โดยเฉพาะกับจิตใจของคนเลี้ยงม้าที่ผูกพันกับม้าคู่ใจมากว่า 20 ปี

Advertisement

จากนั้นไปต่อที่ “พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี” หรือโรงงานธนบดี ผู้ผลิตชามตราไก่ สินค้าลือชื่อของ จ.ลำปาง ปัจจุบันได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี จัดแสดงประวัติศาสตร์การก่อตั้งและดำเนินงาน รวมทั้งสาธิตขั้นตอนการผลิต เทคนิคการวาดแบบโบราณแห่งเดียวในประเทศ ชมชามตราไก่ขนาดจิ๋วเท่าเมล็ดข้าวเปลือก นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อป แต่งเสริมเติมลายบนถ้วยเซรามิคที่มีใบเดียวในโลกได้อีกด้วย

ตามด้วยการผ่อนคลายสบายอารมณ์ที่ บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน แหล่งน้ำพุเกิดจากสภาพทางธรณีวิทยา กลิ่นกำมะถันอ่อนๆ จากความร้อน 73 องศาเซลเซียส เกิดจากกำมะถันที่มีมากถึง 9 บ่อ รวมกันอยู่ในพื้นที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน โขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ พร้อมไอน้ำลอยกรุ่นเหนือบ่อน้ำพุร้อน ที่พร้อมเชื้อเชิญให้ชาวบ้านนำไข่มาหย่อนไว้ แล้วหนีไปแช่น้ำร้อนรอให้ไข่สุกประมาณ 17 นาที ก็จะได้ไข่แดงที่แข็ง ไข่ขาวที่เหลวคล้ายไข่เต่า รสชาติมันอร่อยติดมือกลับบ้าน

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน
กาดกองต้า ถนนคนเดินลำปาง

เย็นย่ำวันศุกร์ เที่ยวสนุกไปกับถนนสายวัฒนธรรม ถนนพื้นเมืองของชาวลำปาง มรดกในเขตเมืองเก่าที่ตั้งอยู่บน “ถนนวังเหนือ” เดิมเป็นกำแพงเมือง ผู้คนจึงเข้ามาตั้งรกรากเข้ามาอาศัยอยู่ตลอดสองข้างทาง โดยทุกเย็นวันศุกร์จะจัดให้เป็น “กาดหมั้วคัวแลง” ตลาดจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง มีตั้งแต่อาหาร ผักปลอดสารพิษ ของดีนครลำปาง และการแสดงศิลปะพื้นเมือง ประเพณีล้านนา ความงดงามเก่าแก่ทางวัฒนธรรม

หากยังดื่มด่ำไม่เต็มอิ่ม ในวันเสาร์-อาทิตย์ยังมี “กาด-กอง-ต้า” หรือถนนคนเดินลำปาง คำว่า กาด-กอง-ต้า แปลว่า ตลาด-ถนน-ท่าน้ำ ที่แห่งนี้จึงมีมนต์กลิ่นเสน่ห์ของตลาดริมน้ำยามเย็นย่ำ คลาคล่ำไปกับวิถีชีวิตผู้คน ที่เรียบไปกับบ้านไม้เก่า เรือนแถวโบราณและอาคารพาณิชย์ ชูความโดดเด่นของอาคารบ้านเรือนโบราณ ตระหง่านเรียงรายทั้งเชื้อสายฝรั่ง จีน พม่า และบ้านไม้แบบฉบับล้านนา ตั้งอยู่ติดกับสะพานรัษฎาภิเศก สะพานเก่าแก่ที่สวยงามที่สุดใน จ.ลำปาง

เช้ามืดเดินทางมาชมอีกหนึ่ง Unseen ของลำปาง ที่ “วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์” หรือวัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง อ.แจ้ห่ม ห่างจากตัวเมืองประมาณ 50 กม. มีจุดเด่นคือรอยพระพุทธบาทใหญ่และรอยพระพุทธบาทคู่ ประดิษฐานอยู่เป็นสถานที่เคารพบูชาของชาวแจ้ห่มมาช้านาน โดยการเดินทางต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ แนะนำให้ใช้บริการรถพื้นที่เพราะต้องใช้ความชำนาญค่อนข้างสูง จากนั้นเดินเท้าไปต่ออีกประมาณ 1 กม. ก็จะถึงจุดชมทิวทัศน์สูงสุดคือดอยภูผาหมอก พลับพลารับเสด็จ องค์พระธาตุสีทอง และเจดีย์สีขาวที่งดงามโดดเด่น โอบล้อมไปด้วยเทือกเขาสูง 360 องศา เบื้องล่างสามารถมองเห็นตัวอำเภอแจ้ห่ม และแม่น้ำสายเล็กคู่ขนานไปกับท้องนาสีเขียว

วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์
จุดชมวิวทางขึ้นวัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์

เมืองแห่งพลังงานปัจจุบันและอนาคต

จังหวัดลำปางยังเป็นที่ตั้งของ “โรงไฟฟ้าแม่เมาะ” หรือโรงไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผลิตไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาหลายสิบปี ในอดีตราวปี 2535-2540 โรงไฟฟ้าแห่งนี้เกิดปัญหามลภาวะจาการสะสมตัวของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ต่อมาได้ปรับปรุงเทคโนโลยี พร้อมควบคุมมลภาวะ ซึ่งสามารถนำเถ้าลอยไปใช้ประโยชน์ได้กว่าร้อยละ 80 จนได้รับการยอมรับจากชุมชน ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ทั้งในและนอกประเทศ

ข่าวร้ายคือ แม้ว่าจะมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบแล้ว แต่น่าเศร้าที่พลังงานในประเทศกำลังจะหมด เพราะพลังงานถ่านหินที่ถูกขุดมาใช้นั้นเดินหน้ามาถึงครึ่งทางแล้ว ในอีก 20 ปีข้างหน้า พลังงานเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไป

แต่ในข่าวร้ายยังมีข่าวดี เพราะประเทศไทยมีพลังงานทดแทน เนื่องจากบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ปราศจากมลพิษ เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า มีทั้งหมด 4 แห่ง คือ จ.ลพบุรี จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก และ จ.ลำปาง ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน จ.ลำปาง เป็นสถานที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้าในภาคเหนือของประเทศไทย ติดตั้งระบบการปรับหมุนแผงตามทิศทางของแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนกว่า 420,000 แผง เรียงรายบนเทือกเขาในเนื้อที่ 2,354 ไร่ ใน อ.ห้างฉัตร และ อ.เมือง ด้วยกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟให้กับประชาชนทั่วไปได้มากถึง 60,000 ครัวเรือน/ปี และได้เริ่มขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558

นอกจากนี้ยังมีโครงการ E@SE Organic ที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมายกระดับชุมชนโดยรอบ โดยลงทุนเพิ่มในการยกระดับความสูงของแผง เพื่อจัดสรรพื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อสร้างรายได้เสริม นับเป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้อย่างสูงสุด

กฟผ.แม่เมาะ และทุ่งดอกบัวตอง

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทของพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันที่มีมากขึ้นว่า เกิดจากปัจจัยหลายส่วน ทั้งด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง และจากสภาวะโลกร้อนที่เริ่มเห็นผลกระทบในปัจจุบันและจะกระทบต่อไปในระยะยาว

“แล้วเราจะอยู่อย่างไร นี่เป็นปัจจัยผลักดันให้ทุกประเทศหันมาพูดเรื่องพลังงานทดแทนมากขึ้น สุดท้ายยังติดปัญหาอยู่ว่าเราใช้พลังงานทดแทน 100 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่ เมื่อก่อนบอกว่าทำไม่ได้ เพราะพลังงานทดแทนส่วนใหญ่เกิดจากพลังงานธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ แดดจะออกตอนไหน ลมจะพัดเมื่อไหร่ จึงเกิดคำพูดว่า พลังงานทดแทนไม่สามารถใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเมื่อก่อนเราเก็บไฟไม่ได้ แต่เมื่อโลกเดินมาถึงจุดที่มีคำว่า Energy Storage เกิดขึ้น เป็นตัวปิดช่องว่างเรื่องพลังงานทดแทน มีการสร้างแบตเตอรี่เพื่อเก็บพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะสมบูรณ์แบบมากขึ้น โลกกำลังเดินไปในทิศทางที่เป็นสังคมที่สะอาดมากขึ้น คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ไม่ได้แพง และไม่กระทบกับภาระประชาชน หลายประเทศกำลังดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคเรื่องพลังงานทดแทน”

นายอมรยังกล่าวเสริมด้วยว่า ด้านบริษัทเรามีนโยบายส่งเสริมค่อนข้างชัดเจน ตั้งแต่ไบโอดีเซล โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไบโอแมส เหล่านี้คือพลังงานทดแทนทั้งหมด ภาพสังคมสมาร์ทซิตี้จะชัดเจนมากขึ้น คือการใช้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนไม่สูง ทุกวันนี้เทคโนโลยีดำเนินมาถึงจุดที่เราจะเปลี่ยนเรื่องพวกนี้ได้ อนาคตบทบาทโรงไฟฟ้าที่เป็น Conventional คือที่ใช้ถ่านหิน ใช้แก๊สธรรมชาติจะเริ่มน้อยลง เพราะมีผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนราคาที่สูง ที่ในอนาคตคดจะสูงกว่าพลังงานทดแทน

นอกจากนี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ยังมีแผนร่วมมือกับการท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง ผลักดันให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานแห่งอนาคต

“ลำปางมีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่อยู่มาอย่างยาวนาน มีโรงไฟฟ้าที่อิงกับธรรมชาติและกำลังโตขึ้นอย่างแข็งแรง เมืองนี้เป็นเมืองแห่งพลังงาน แต่มีความลงตัวที่ว่ามีทั้งเทคโนโลยี มีสภาพอากาศที่เหมาะสม มีวัฒนธรรมกึ่งโบราณ กึ่งสมัยใหม่ อาหารอร่อย อากาศดี นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำทุกวิถีทางโดยเกาะอยู่บนหลักการของบริษัทในการเป็นผู้นำด้านพลังงานทางเลือก ใช้เทคโนโลยีทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นางออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์กล่าวเสริม

และที่ขาดไม่ได้คือ แหล่งความรู้ทางธรณีวิทยาบริเวณเหมืองแม่เมาะที่ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้า “พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” (เหมืองแม่เมาะ) ไว้ จัดแสดงประวัติความเป็นมาและเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้า นำเสนอผ่านภาพยนตร์ 4 มิติ ใกล้กันยังมีสวนพฤกษชาติเหมืองแม่เมาะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางนานาพรรณไม้ ไฮไลต์เด็ดคือ ลานพื้นหญ้าทางลาด สไลเดอร์จากธรรมชาติขนาดใหญ่ไว้ให้เล่นสนุกอีกด้วย

สไลเดอร์ธรรมชาติที่สวนพฤกษชาติ เหมืองแม่เมาะ

หลังจากเต็มอิ่มกับความรู้และเล่นสนุกไปแล้ว แวะถ่ายรูปสักนิดที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา จุดชมวิวทุ่งบัวตองขนาด 84 ไร่ ของพื้นที่ภูเขาเทียมที่เกิดจากการนำดินในบ่อเหมืองมากองเก็บ ออกดอกสวยงามบานสะพรั่งในช่วงในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม

ภาพรถม้าเคลื่อนอยู่บนท้องถนน สวนกับรถยนต์ในยุคปัจจุบัน สะท้อนความขัดแย้งที่ลงตัวของเมืองลำปางในการเป็นเมืองแห่งพลังงาน ทั้งพลังงานที่มีอยู่แล้วและพลังงานในอนาคต นครลำปางจึงคงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์ของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม ประสานสอดรับกับโลกแห่งอนาคตได้อย่างลงตัว

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
แปลงผักปลอดสารพิษใต้แผงโซลาร์เซลล์
พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image