World Soil Day 2018 เบื้องหลังรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม”

นับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2556 ที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟ่น นอร์ตคลิฟฟ์ กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็น “วันดินโลก” เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติเกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์การสหประชาชาติ จัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะต่างๆ

ทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมวันดินโลก เช่นในปีนี้ที่กลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก หรือ Global Soil Partnership (GSP) กำหนดหัวข้อการจัดกิจกรรม โดยเน้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางดิน ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร เป้าหมายประการหนึ่งเพื่อขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) ให้ได้ภายในปี 2573

สำหรับประเทศไทย ปีนี้เป็นเจ้าภาพการจัดงานวันดินโลก ตามความเห็นชอบขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาดิน

Advertisement

ธ ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาดิน

เบื้องหลังการเสนอให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” นั้น ผศ.ดร.สมชัย อนุสนธิ์พรเพิ่ม หัวหน้าภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่แรก เล่าว่า เริ่มมาตั้งแต่ปี 2543 ที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.สตีเฟ่น นอร์ตคลิฟฟ์ ได้รู้จักศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นครั้งแรก และที่นี่เองที่ ดร.สตีเฟ่น เกิดความประทับใจอย่างมากกับบทบาทของกษัตริย์นักพัฒนาดิน

“ผมอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่แรกๆ ที่มีความพยายามเสนอให้วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก เมื่อปี 2543 ปีนั้นผมกลับมาทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกที่เมืองไทย และพา ดร.สตีเฟ่น นอร์ตคลิฟฟ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผม (อาจารย์ประจำแผนกปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ) เดินทางไปสำรวจดินพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน โดยพักแรมอยู่ที่นั่น 1 คืน”

Advertisement

 

ผศ.ดร.สมชัย อนุสนธิ์พรเพิ่ม

ผศ.ดร.สมชัยเล่าว่า ดร.สตีเฟ่นประทับใจมาก เพราะที่ผ่านมาได้เดินทางไปทั้งที่แอฟริกาและอเมริกาใต้ ไม่เคยเห็นโครงการเช่นนี้มาก่อน ทั้งการใช้หญ้าแฝก การพัฒนาที่ดินแหล่งน้ำต่างๆ รวมทั้งได้ทราบว่าประเทศไทยมีโครงการพระราชดำริแบบนี้หลายแห่ง ซึ่งแต่ละศูนย์เป็นโครงการพระราชดำริเพื่อการพัฒนาทรัพยากรดินจากปัญหาของแต่ละพื้นที่

“พระองค์ทรงเป็นห่วงพสกนิกรมาก โดยเฉพาะทรงกังวลเรื่องทรัพยากรดินของประเทศไทยจึงมีพระราชดำริแก้ปัญหาที่เน้นเฉพาะเรื่อง เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทรายในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงงานในการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่างๆ”

พอปี 2545 มีการจัดงานประชุมดินโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ดร.สตีเฟ่น ซึ่งได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ และ ศ.ดร.เอิบ เขียวรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ เป็นรองประธานการจัดงาน และประธานจัดงานตอนนั้นอดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน สมพงษ์ ถีรวงศ์ จึงนำทีมไปปรึกษากับ ดร.สตีเฟ่น เสนอให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันดินโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

หลังจากนั้นเป็นต้นมาได้มีการพูดคุยกันต่อเนื่อง พอปี 2549 ในการประชุมที่ฟิลาเดเฟียก็มีความพยายามอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้น

ดร.สตีเฟ่นยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการอยู่ กระทั่งทางสหประชาชาติให้การยอมรับว่า วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก พร้อมกับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” โดย ดร.สตีเฟ่นเดินทางมาถวายรางวัล ได้เข้าเฝ้าฯและทรงมีปฏิสันถารอยู่นาน ดร.สตีเฟ่นบอกว่าพระองค์ทรงปรีชาสามารถมาก ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงมีความรู้เรื่องดินดีมากทั้งที่มิได้ทรงศึกษามาทางด้านดินโดยตรง

หัวหน้าภาควิชาปฐพีวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่มีการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันดินโลก เนื่องจากพระอัจฉริยภาพ ทรงทุ่มเทกับทุกสิ่งที่ทรงมีพระราชดำริเพื่อพสกนิกรชาวไทย ทรงเล็งเห็นว่าจริงๆ แล้วความสำคัญที่สุดคือ ดิน ถ้าเราไม่รักษาดินไว้ ต่อไปคนไทยจะทำมาหากินได้อย่างไร เกษตรกรไทยจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร

“ในความเห็นของผมพระองค์ไม่ได้ทรงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแบบล้ำเลิศ ทรงไม่เคยตรัสเรื่องเอไอ หรือการเอาเครื่องจักรกลขนาดใหญ่มาทำ มีแต่การประดิษฐ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้วิทยาการที่เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีต่างๆ ที่พระองค์ทรงคิดขึ้นมา พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาเพิ่มเติม โปรดให้จ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้”

ดังนั้น จะเห็นว่าหลายๆ โครงการพระราชดำริหรือพระราชดำรัสที่มีจะเกี่ยวกับการปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรดิน ยกตัวอย่างเช่น การใช้ประโยชน์หญ้าแฝกที่ทรงมีพระราชดำริมาตั้งแต่ 2532 และแผนแม่บทการพัฒนาและใช้ประโยชน์หญ้าแฝกตามพระราชดำริ แผนแรกปี 2536 วัตถุประสงค์เพื่อเอาหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ดิน อนุรักษ์ความชื้นไม่ให้หน้าดินพังทลาย อย่าง ทฤษฎีแกล้งดินที่ช่วยชาวนา 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่อยู่ใกล้ๆ พรุ ก็จะแก้ปัญหาความเป็นกรดให้เกษตรกรสามารถทำนาได้ หรือแม้แต่ช่วงหลังๆ โครงการชั่งหัวมัน หลายโครงการจะเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินที่ทำกินทั้งนั้น

วันดินโลก อย่าแค่เฉลิมฉลอง

ปัจจุบันทั่วโลกรับรู้แล้วว่าวันที่ 5 เป็นวันดินโลก และคนส่วนใหญ่ก็รับทราบเหมือนกันว่าวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดินผ่านรูปแบบการพัฒนาโครงการพระราชดำริต่างๆ และทุกปีก็จะมีการจัดงานที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ปีนี้กรมพัฒนาที่ดินยังคงจัดประกวดคำขวัญ คัดนิสิตนักศึกษาขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ที่โรม และที่นิวยอร์ก แสดงให้เห็นว่าทางยุโรปและอเมริกาให้ความสำคัญกับวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันดินโลก ที่นี้ก็เป็นหน้าที่ของคนไทยแล้วที่เราจะทำอย่างไรที่จะเดินตามรอยพระบาท สิ่งที่ท่านได้ทรงเหน็ดเหนื่อยตรากตรำทรงงานเพื่อพวกเรา แล้วเราจะสานต่ออย่างไร ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลเอง หน่วยงานการศึกษา หน่วยงานราชการ ที่จะมาคิดว่าเราจะทำอย่างไรที่จะเกิดผลประโยชน์กับตัวทรัพยากรจริง หรือเกิดประโยชน์กับตัวเกษตรกรหรือพสกนิกร

“ผมมองว่าเราคนไทยส่วนใหญ่เราเฉลิมฉลอง พอถึงเทศกาลทีก็บูมทีจัดงานที แต่เราน่าจะลองมาย้อนดูว่าปัจจุบันเรามีการน้อมนำพระราชดำริหรือพระราชดำรัสของพระองค์ท่านไปปฏิบัติในไร่นาจริงสักเท่าไหร่”

ยกตัวอย่าง หญ้าแฝก พระองค์ท่านทรงอยากให้นำไปใช้ป้องกันดินในพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมีอยู่ในไร่นาสักเท่าไหร่ รัฐบาลต้องกลับมาคิดว่าเราใช้เงินไปตั้งมากไปถึงมือหรือยัง หรือว่าจะต้องมีนโยบายอะไรที่หลักแหลม หรือกุศโลบายอะไรที่จะทำให้เกษตรกรยอมรับเอาไปใช้ เพราะมันจะมีประโยชน์ต่อทรัพยากรดิน

“ผมไม่อยากให้เราแค่เฉลิมฉลอง อยากให้สิ่งที่พระองค์ทรงทำมาเอาไปใช้ประโยชน์กับทรัพยากรดินจริงๆ”

‘ปอเทือง’สุดยอดพืชปุ๋ยสด

รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก “ปอเทือง” ให้เหลืองอร่ามในวันที่ 5 ธันวาคม ผศ.ดร.สมชัยบอกว่า สำหรับปอเทืองนั้น

มีการทดสอบกันมานานพอสมควรว่าเป็นพืชปุ๋ยสด ใช้สำหรับการปรับปรุงดิน เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่วสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้

มีการทดสอบในหลายพื้นที่ว่าช่วยทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นจริง และจะส่งผลต่อผลผลิตที่ปลูกตามมา ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินมีการแจกเมล็ดพันธุ์ฟรี แต่ปัญหาคือการยอมรับของเกษตรกร และการนำไปใช้ เนื่องจากปอเทืองมีระยะเวลาปลูก รอให้โตและไถกลบ แต่เกษตรกรเวลาปลูกพืชหลัก เช่น อ้อย หรือมันสำปะหลัง อาจจะเก็บเกี่ยว 10-12 เดือน จึงไม่มีช่องว่างให้ปลูกพืชเหล่านี้ ไม่มีช่วงเวลาที่จะบำรุงดิน เนื่องจากเกษตรกรไทยในปัจจุบันฐานะไม่ค่อยดี พื้นที่ถือครองก็น้อย ฉะนั้นจึงต้องการปลูกพืชหลักที่ทำรายได้ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน

ขณะเดียวกัน การปลูกปอเทืองแม้จะได้รับแจกเมล็ดพันธุ์ฟรี แต่ก็ต้องมีการลงทุน ต้องเสียค่าจ้างไถ เกษตรกรไม่มีเงินพอ

ผศ.ดร.สมชัยบอกว่า ประเทศไทยอาจจะมาถึงจุดที่รัฐบาลจะต้องกลับมาคิดถึงเรื่องเหล่านี้ อย่างโครงการประชารัฐหรือประชานิยม แทนที่เราจะไปสนับสนุนการให้ค่าใช้จ่าย อาจจะต้องมาสนับสนุนในเรื่องเมล็ดพันธุ์เตรียมสำหรับปรับปรุงดิน เพราะเมื่อรัฐบาลลงทุน พอเกษตรกรปลูกตาม จะได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการทำการเกษตร

เช่นเดียวกับกรณีของหญ้าแฝก ซึ่งอย่างไรเสียเกษตรกรก็คงเอาไปปลูกในพื้นที่ยาก เพราะมันเอาไปขายไม่ได้ เราต้องการแค่อนุรักษ์ดิน ถ้าราชการจะให้เกษตรกรยอมปลูกโดยยอมเสียพื้นที่ปลูกพืชหลัก ในระยะสั้นมันมองไม่เห็น แต่ 5-10 ปี ดินจะดีขึ้น แต่เกษตรกรรอไม่ได้ ฉะนั้นต้องมีกุศโลบายในการซับซิไดซ์ เช่น ใครมีที่ 10 ไร่ ถ้าปลูกหญ้าแฝกแค่ไหน ปีหน้าอาจจะมีการลดดอกเบี้ย ธ.ก.ส.ให้ ผมคิดว่าอย่างนี้ชาวบ้านอาจจะทำ

ที่น่าวิตกคือ ไม่เพียงกรณีของดินเสื่อม แต่ยังมีประเด็นของหน้าดินหายไป ซึ่งปัจจุบันมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศประสบปัญหานี้อยู่

ส่วนหนึ่งเราคงต้องกลับมาดูเรื่องการใส่บทเรียนเรื่องศาสตร์พระราชาให้เด็กประถมได้เรียนรู้ ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่ในเด็กเล็ก โตขึ้นจะได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรดิน และรู้จักว่าใช้หญ้าแฝกมีประโยชน์อย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นอีกแนวทางหนึ่ง รัฐบาลต้องกลับมาคิดเรื่องพวกนี้เหมือนกัน

เรามีสิ่งดีที่พระองค์ทรงคิดค้นไว้ให้ แต่เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ลงไปสู่ในมือเกษตรกรจริงๆ หรือเกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล เพื่อความกินดีอยู่ดีอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนของเกษตร ที่สำคัญคือทำให้ทรัพยากรดินมีความยั่งยืนใช้ได้ตลอดไป นี่คือสิ่งสำคัญในระยะยาว

เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม อย่างไรฐานจีดีพีก็พึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตร ถ้าเราผลิตได้น้อยลง ดินเราแย่ลง ต่อไปจะเดินหน้าลำบาก อยากให้ผู้มีอำนาจหากุศโลบายให้เกษตรกรน้อมนำไปใช้จริงๆ

วันนี้เราพูดกันมากเรื่อง “สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” แต่ในความเป็นจริง “สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” ก็คือ รู้จักการทำการเกษตรอย่าง “ชาญฉลาด” คือต้องรู้จักนำทฤษฎีมาปรับประยุกต์ เลือกทฤษฎีที่เหมาะสมมาปรับใช้ และไม่จำเป็นต้องเป็นทฤษฎีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image