“งูใหญ่” กลายเป็น “ช้างเผือก” สตอรี่ เหนือสุดในสยาม “เขาขุนน้ำนางนอน” แม่สาย เชียงราย

“สตอรี่” มีมากในนิทาน, ตำนาน, พงศาวดาร ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็น (คือเรื่องเล่าปากต่อปากตามความทรงจำตกทอดมา) ซึ่งทุกท้องถิ่นสมควรคัดเลือกใช้คัดสรรได้ทั้งคุณค่าและมูลค่าทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ปัญหาอยู่ที่ระบบการศึกษาของไทยไม่สากล, ไม่เข้าถึง จึงไม่ตาสว่างทางความเข้าใจถ่องแท้ต่อภาษาสัญลักษณ์ในนิทาน, ตำนาน, พงศาวดาร และเรื่องเล่าเหล่านั้น เลยพาลตัดทิ้งจากความทรงจำ แถมวางท่าเหยียดๆ อีกต่างหาก เสมือนสังคมวิปริตผิดปกติอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นได้ขนาดนั้น

พระเจ้าพรหม แห่งโยนก-ล้านนา บรรพชนพระเจ้าอู่ทอง อยุธยา-สุพรรณ เป็นความเชื่อของคนชั้นสูงในราชสำนักอยุธยา มีเอกสารหลายเล่มยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรสืบเนื่องทั้งสมัยอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แทนที่จะรักษาความเชื่อตามพยานหลักฐาน แล้วยอมรับเบื้องต้นว่ายังไม่เข้าใจความหมายแท้จริงซึ่งแฝงอยู่เบื้องหลังความเชื่อนั้น เพื่อรอเวลาศึกษาทำความเข้าใจต่อไป

Advertisement

แต่นักวิชาการกึ่งดิบกึ่งดี กลับตัดทิ้งไปอย่างเหยียดๆ ว่าเป็นเอกสารเชื่อถือไม่ได้ เพราะเขียนขึ้นจากความไม่รู้หรือรู้ผิด เพราะสำคัญผิดว่าตนรู้ถูกต้องกว่า

ผมไม่เห็นด้วยกับทัศนะของนักวิชาการกลุ่มนี้

นิทาน, ตำนาน, พงศาวดาร และเรื่องเล่าต่างๆ เป็นวรรณกรรมบอกความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่งที่คนแต่ก่อนต้องการสื่อสารสู่คนอื่นๆ ในสมัยนั้น

Advertisement

แต่คนสมัยนี้ในสังคมต่างไป ย่อมเข้าใจไม่ตรงกับคนสมัยโน้น หรือไม่เข้าใจเลยก็ได้

ในทางที่สมควรก็คือต้องศึกษาทำความเข้าใจแบบคนในอดีตโดยไม่ตัดสินผิดถูกด้วยความเข้าใจแบบปัจจุบัน

พระเจ้าพรหม วีรบุรุษในตำนาน เวียงพางคำ บริเวณโยนก (จากจินตนาการของ “ปิยะดา” พิมพ์ครั้งแรกในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2547)


พระเจ้าพรหม เวียงพางคำ (อ. แม่สาย จ. เชียงราย)

บรรพชนพระเจ้าอู่ทอง อยุธยา-สุพรรณ

พระเจ้าพรหม กับ พระเจ้าอู่ทอง ไม่มีตัวตนจริง

แต่เป็นวีรบุรุษในตำนาน ตัวแทนอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ที่เคลื่อนไหวตามเส้นทางคมนาคมการค้าจากดินแดนภายในภาคพื้นทวีป ลงไปลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก แล้วทอดยาวถึงคาบสมุทรตอนบนของภาคใต้

อันเป็นผลจากการค้าสำเภาของจีนแผ่กว้างขวางถึงอ่าวไทย ดึงดูดให้มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1500

คนชั้นนำในราชสำนักอยุธย เชื่อตามคำบอกเล่าว่าพระเจ้าพรหมเป็นบรรพชนพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าพรหม วีรบุรุษในตำนานของตระกูลภาษาไต-ไท กลุ่มโยนก มีบ้านเมืองต่อเนื่องกระจายบริเวณลุ่มน้ำกก-อิง-โขง (จ. เชียงราย-จ. พะเยา) มีเชื้อสายสืบต่อไปเป็นพระเจ้าอู่ทอง วีรบุรุษในตำนานของตระกูลภาษาไต-ไท กลุ่มสยามสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี-เพชรบุรี-นครศรีธรรมราช) บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก แล้วทอดยาวถึงคาบสมุทร

อนุสาวรีย์พระเจ้าพรหม อยู่บริเวณหน้าที่ว่าการ อ. แม่สาย จ. เชียงราย

 

บุคคลร่วมสมัย

พระเจ้าพรหม (บรรพชนพระเจ้าอู่ทองกับพระร่วง) เป็นวีรบุรุษในตำนานร่วมสมัยขุนเจือง (บรรพชนพญามังรายกับพญางำเมือง)

พระเจ้าพรหม เชื้อสายสิงหนวัติ จากลุ่มน้ำสาละวิน ในพม่า เป็นผู้นำกลุ่มตระกูลภาษาไต-ไท มีทายาทเป็นพระเจ้าอู่ทอง (อยุธยา-สุพรรณ) กับ พระร่วง (สุโขทัย)

ขุนเจือง เชื้อสายปู่เจ้าลาวจก จากบริเวณดอยตุง ในไทย เป็นผู้นำกลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร มีทายาทเป็นพญามังราย (เชียงราย-เชียงใหม่) กับ พญางำเมือง (พะเยา)

“สตอรี่” มีในตำนานและนิทาน

ตำนานและนิทาน เป็นความทรงจำสืบเนื่องยาวนานมาก ที่แสดงความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ ในประวัติศาสตร์ทางสังคมและวัฒนธรรม

แม้ไม่เป็นหลักฐานทางตรง แต่เป็นร่องรอยบอกได้ทางอ้อมถึงความเป็นมาของท้องถิ่น ซึ่งมี “สตอรี่” ที่แสดงเรื่องราวเติมเต็มสิ่งขาดหายไปและหาไม่ได้จากที่อื่น

 

เวียงพางคำ ได้ชื่อจากตำนานพรหมกุมารตีพานคำ เชิญงูจากแม่น้ำ ชูลำตัวขึ้นบกกลายเป็นช้างคู่บารมี (พานทำจากทองคำ, พางหรือพาน หมายถึงฆ้องไม่มีปุ่มตรงกลาง ลาวเรียกพังฮาด)


ความทรงจำของคนชั้นนำ

พระเจ้าอู่ทอง สืบเชื้อสายจากพระเจ้าศิริไชย (ทายาทพระเจ้าพรหม เวียงพางคำ) เป็นความทรงจำมีในราชสำนักอยุธยา สืบเนื่องตั้งแต่สมัยต้นๆ (โดยที่สามัญชนคนทั่วไปทั้งในเมืองและนอกเมืองไม่รับรู้ด้วย เพราะมีความทรงจำคนละชุด)

ความทรงจำเหล่านี้เป็นพยานถึงอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ขยายตามเส้นทางการค้าจากดินแดนภายใน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

1. ราชสำนักพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) เชื่อว่าเชื้อสายพระเจ้าพรหมองค์หนึ่ง คือ ศิริไชยเชียงแสน เป็นบรรพชนของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

พบหลักฐานจากชื่อบ้านนามเมือง พระมหาจักรพรรดิยกบ้านท่านา (ริมแม่น้ำท่าจีน) ขึ้นเป็นเมือง ให้ชื่อว่า เมืองนครไชยศรี ตามนามบรรพชนว่าศิริไชยเชียงแสน

2. ราชสำนักพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2199) เชื่อว่าพระเจ้าพรหม (แห่งโยนก) เป็นบรรพชนของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดา อยู่ในอยุธยา (พ.ศ. 2176-2185) ฟังคำบอกเล่าจากนักปราชญ์ราชสำนักพระเจ้าปราสาททอง แล้วบันทึกว่า

“มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ พรหมเทพ…เป็นผู้สร้างอาณาจักรสยาม เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรก…” [จากหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต พ.ศ. 2182]

3. ราชสำนักพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199-2231) เชื่อว่าเชื้อสายพระเจ้าพรหมองค์หนึ่ง ศิริไชยเชียงแสน เป็นบรรพชนของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

มีบันทึกในเอกสารฝรั่งเศส 2 เล่ม ได้แก่ (1.) บาทหลวงตาชาร์ด และ (2.) ลาลูแบร์

4. นักปราชญ์ล้านนา เชื่อว่าเชื้อสายพระเจ้าพรหม (แห่งโยนก) โยกย้ายลงไปสถาปนาอยุธยา มีบันทึกใน พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน แต่งในล้านนาราวหลัง พ.ศ. 2200

5. กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์พระราชพงศาวดารสังเขป ว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อสายพระเจ้าพรหม (แห่งโยนก) โดยจับเรื่องในตำนานสิงหนวัติ รวมกับนิทานท้องถิ่นกำแพงเพชร

เริ่มด้วยกษัตริย์เมืองเชียงรายพ่ายศึก ได้อพยพชาวเมืองเชียงรายหนีลงมาทางทิศใต้ แล้วสร้างบ้านเมืองใหม่บริเวณเมืองแปบ ซึ่งเป็นเมืองร้างอยู่ริมแม่น้ำปิง (อยู่คนละฟากเมืองกำแพงเพชรปัจจุบัน) ภายหลังให้ชื่อใหม่ว่าเมืองไตรตรึงษ์

ต่อมามีลูกเขยเป็นสามัญชนคนเข็ญใจชื่อ นายแสนปม ได้เป็นกษัตริย์เมืองเทพนครพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน มีโอรสชื่อ เจ้าอู่ทอง ซึ่งต่อมาคือผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา

6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 ทรงเชื่อเรื่องเชื้อสายวงศ์ของพระเจ้าพรหมมาสร้างแล้วครองอยุธยา (ตามพระราชพงศาวดารสังเขป ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องนี้ว่า

“มีพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้หมอดีนส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือไจนีสเรโปสิตอรี ที่เมืองกิ่งตัง เมื่อปีกุญ จุลศักราช 1213 พ.ศ. 2394 ว่าพระเจ้าอู่ทองเปนราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสี ครองราชย์สมบัติอยู่ 6 ปี เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร จึงย้ายมาตั้งราชธานีที่เมืองศรีอยุธยา”

(ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์อยู่ในหนังสือ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา)

คูเมืองกับกำแพงดินเวียงพางคำ พบหลักฐานในตัวอำเภอปัจจุบันเป็นแนวถนนคูเมือง แยกจากถนนพหลโยธิน อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย

งูใหญ่กลายเป็นช้างเผือก

เวียงพางคำ อ. แม่สาย จ. เชียงราย เป็นเมืองโบราณ อยู่เหนือสุดของไทยสยาม ใกล้พรมแดนไทย-พม่า

เวียงพางคำ ได้นามจากช้างพานคำ ซึ่งได้จากพานหรือพาง (อีกทอดหนึ่ง) เป็นเครื่องประโคมทำจากโลหะ มีบอกในตำนานสิงหนวัติ (ของล้านนา) ดังนี้

งูใหญ่ลอยน้ำแม่ของ (แม่น้ำโขง) จากทางทิศเหนือ เมื่อพรหมกุมารโดดน้ำจับคองูไว้ได้ งูก็กลายเป็นช้างเผือก แต่ไม่ขึ้นจากน้ำแม่ของ

หมอเมืองให้เอาพานทำด้วยทองคำ ตีประโคมเชิญช้างเผือกจึงจะขึ้น พรหมกุมารก็ทำตามนั้น ช้างเผือกขึ้นจากน้ำแม่ของเป็นช้างคู่บารมีพระเจ้าพรหม ขี่ขับไล่ขอมดำหนีไปจากดินแดนโยนก

ต่อมาเปลี่ยนนามเวียงสีทวง เป็นเวียงพานคำ แล้วสมัยหลังกลายเป็นเวียงพางคำ

พาน หรือ พาง หมายถึง ฆ้องทรงกลมพื้นหน้าเรียบเสมอกันไม่มีปุ่มกลาง ในประเพณีลาวเรียก พังฮาด ปัจจุบันบางแห่งเรียก กังสดาล

[คำบอกเล่านี้มีโครงเรื่องเดียวกับช้างคู่บารมีขุนเจือง (เมืองพะเยา) ตระกูลมอญ-เขมร]

คูเมืองกับกำแพงดินเวียงพางคำ มีถนนพหลโยธินตัดผ่าน แต่เหลือซากเป็นแนวยาวในสวนสาธารณะฝั่งตรงข้ามถนนคูเมือง อ.แม่สาย จ.เชียงราย


แผนผังเวียงพางคำ

ผังเมืองแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนเวียงเดิมและเวียงใหม่ที่ขยายเพิ่มภายหลัง ผังเมืองวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้

เวียงเดิมผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 550 x 1,550 เมตร ส่วนเวียงใหม่ที่อยู่ถัดขึ้นไปทางทิศเหนือ ผังรูปวงรี กว้าง 7,000 x 750 เมตร มีคูน้ำคันดินชั้นเดียว กว้าง 152 เมตร สูง 3 เมตร

ปัจจุบันที่ร่องรอยเดิมของเวียงพางคำ ได้แก่ แนวคูน้ำ และคันดิน ซึ่งบางจุดเหลือเพียงคูน้ำลึก เนื่องจากคันดินได้ถูกไถทำลายจนหมดสภาพไป โดยมีหลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่ดังนี้

1. ทิศเหนือ ปรากฏแนวคันดินที่ด้านเหนือของวัดเวียงพาน

2. ทิศตะวันออก ปรากฏแนวคันดินด้านทิศตะวันออกขนานไปกับถนน จนถึงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง (บ้านป่ายาง)

3. ทิศใต้ ปรากฏแนวคันดินด้านทิศตะวันตกของถนน ซึ่งใช้เป็นแนวเขตของสถานีใบยาสูบแม่สาย

4. ทิศตะวันตก มีหลักฐานสภาพคูน้ำคันดินที่สมบูรณ์มากกว่าด้านอื่น โดยแบ่งเป็นพื้นที่หลังวัดเวียงพาน หลังโรงพยาบาลแม่สาย หลังวัดพรหมวิหาร และหลังสถานีใบยาสูบ

[ข้อมูลจากเทศบาลตำบลแม่สาย อ. แม่สาย จ. เชียงราย]

ขอบคุณ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ที่นำสำรวจเวียงพางคำ และอนุเคราะห์ข้อมูลโบราณคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image