ยกคาราวาน ‘ทำดีให้คนมองเห็น’ คืนแสงสว่างให้ชาวเมียนมา ‘แค่กำจัดต้อกระจกก็ลดคนตาบอดได้ครึ่งหนึ่ง’

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร กับผู้ป่วย one eye

เช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ที่เมืองเมาะลำไย เมืองหลวงของรัฐมอญ ประเทศเมียนมา

กะเหรี่ยงหนุ่มใหญ่วัย 50 ปี รอคอยจักษุแพทย์อย่างใจจดใจจ่อ พร้อมกับเพื่อนชาวกะเหรี่ยงจากเมืองพะอันที่นั่งรอเต็มสองทางเดินหน้าห้องตรวจ ภายในโรงพยาบาลเจนเนอรัลด์ เมาะลำไย

สองตาที่มองพื้นนิ่ง มีน้ำใสๆ เออคลอ ซู้ดเซ้ย (สะกดชื่อตามเสียงที่ได้ยิน) บอกว่าดีใจมากที่จะได้เห็นหน้าลูกๆ ทั้ง 4 อีกครั้ง หลังจากที่ต้องทนทุกข์อยู่ในโลกมืดมานานราว 4 ปี

เขาตาบอดทั้งสองข้างเพราะเป็นต้อกระจก ข้างหนึ่งบอดสนิทไปก่อนหน้าเพราะไม่ได้รับการผ่าตัดนานกระทั่งหมดโอกาสที่จะมองเห็น ขณะที่อีกข้างเห็นเพียงเงาลางๆ โชคดีที่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) มาออกหน่วยผ่าตัดตาต้อที่นี่ ตามคำเชิญชวนของ บริษัท เอสซีจี เจ้าบ้านที่มาทำธุรกิจในต่างแดนนานกว่า 20 ปี

Advertisement

ที่สำคัญคือ ปีนี้ได้ขยายความช่วยเหลือจากที่ผ่าตัดให้กับชาวมอญที่เสี่ยงตาบอดในเมืองเมาะลำไยมาติดต่อกันนานถึง 3 ปี ปีนี้มีทั้งชาวกะเหรี่ยงในเมืองพะอันอีกกว่า 100 ราย ซึ่งซู้ดเซ้ยคือหนึ่งในผู้ได้รับโอกาสนั้น

หลายคนพูดตรงกันว่าให้อวัยวะใดพิการก็ไม่ลำบากเท่า “ตา” เพราะได้แต่อาศัยคนอื่น โดยเฉพาะถ้าคนๆ นั้นเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งภรรยาและลูกๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียนอีก 4 คน ไม่เพียงภรรยายังต้องมาช่วยดูแล ลูกๆ ยังต้องออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยหารายได้เข้าครอบครัว คือความทุกข์ใจของซู้ดเซ้ย

ณ วันนี้ที่เขาได้มองเห็นอีกครั้งจึงเหมือนได้ชีวิตใหม่กลับคืนมา

Advertisement
ซู้ดเซ้ยนั่งรอหมอจ๋า
ยายโอเท้ กะลาจี

เช่นเดียวกับยาย โอเท้ กะลาจี วัย 70 ปี หนึ่งในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดตาต้อครั้งนี้ ก่อนหน้านี้คุณยายเหลือดวงตาเพียงข้างเดียวที่มองเห็นเพียงเลือนลาง เนื่องจากก่อนหน้านี้เข้ารับการผ่าต้อหิน และเมื่อเป็นต้อกระจก จักษุแพทย์ปฏิเสธการผ่าตัดเนื่องจากเครื่องมือแพทย์ที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ คุณยายจึงต้องใช้ชีวิตด้วยสายตาลางเลือนเพียงข้างเดียวอยู่นานถึง 2 ปี กระทั่งโรงพยาบาลบ้านแพ้วมาคัดกรองกลุ่มผู้สุ่มเสี่ยงตาบอด จึงได้รับการหยิบยื่นโอกาสให้อีกครั้ง

ความสุขที่ท้นเอ่อไหลผ่านความสุขให้กับผู้คนโดยรอบ รอยยิ้มที่คืนกลับมาพร้อมกับการพร่ำสวดมนต์มากมายแทบจะตลอดเวลาเพื่ออวยพรให้กับคุณหมอและทีมผู้ช่วยพยาบาลทุกคน

ยายโอ้เท้บอกว่า หลังจากนี้คุณยายก็จะได้กลับไปสอนเด็กๆ รำลิเกได้เหมือนเดิม

นี่เป็นเพียง 2 รายใน 245 ราย ที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก โครงการ Sharing A Brighter Vision 2018

 

ความสุขของจิตอาสา ราคาที่ตีค่าไม่ได้

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว บอกว่า จากข้อมูลสถิติของทางการเมียนมาชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันในรัฐมอญมีผู้ที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาโรคตาจำนวน 53,000 คน จากประชากรกว่า 2,055,000 คน ส่วนในรัฐกะเหรี่ยงมีผู้ที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาโรคตาจำนวน 31,000 คน จากประชากรกว่า 1,432,000 คน

โรงพยาบาลบ้านแพ้วในฐานะทีมผ่าตัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้เริ่มโครงการออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ เดินทางไปให้การรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ และขยายความร่วมมือไปยังประเทศใกล้เคียง ได้แก่ กัมพูชา ภูฏาน และเมียนมา ช่วยเหลือผู้ป่วยได้กว่า 100,000 คน ใน 14 ปีที่ผ่านมา

นพ.พรเทพบอกอีกว่า ต้อกระจกเปรียบเหมือนผมหงอก มาเร็วมาช้าขึ้นอยู่กับแต่ละคน เมื่อเป็นแล้วเลนส์ตาจะขุ่น ถ้าขุ่นมากก็มองไม่เห็น หยุดได้ถ้าหยุดอายุได้

“ประเทศไหนที่มีประชากรอายุยืนยาวมากๆ ย่อมมีจำนวนผู้เป็นต้อกระจกมาก จากสถิติ 53% ของคนไข้ที่ตาบอดมาจากเป็นต้อกระจก ฉะนั้น เพียงแค่เรากำจัดต้อกระจกได้ก็สามารถลดจำนวนคนตาบอดได้ถึงครึ่งหนึ่ง”

นพ.พรเทพ ให้ดูสภาพตาต้อ

สำหรับที่เมาะลำไย ปีนี้เรามาเป็นปีที่ 4 เรามีความสุขที่ทำให้เขากลับมามองเห็นอีกครั้ง โดยปีนี้เราขยายการช่วยเหลือไปยังพื้นที่กะเหรี่ยงด้วย เพราะคิดว่ามีเคสที่ต้องทนทุกข์กับดวงตาที่มองไม่เห็นอีกมาก ยกตัวอย่าง กะเหรี่ยงบางคนที่เคยผ่าต้อหินมาแล้ว ถ้าเป็นต้อกระจก ในกรณีที่การผ่าตายังเป็นแบบเปิดแผลใหญ่จะทำไม่ได้ จึงถูกทิ้งให้ลำบากจากต้อกระจก เมื่อนานเข้าก็จะตาบอด

การเข้ามาให้ความช่วยเหลือผ่าตัดต้อกระจกของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งด้วยประสบการณ์ของหมอที่มีความชำนาญสูง ผ่าแผลเล็ก จากเดิมจะกรีดเลนส์ยาว 13-14 มม. ปัจจุบันใช้กรีดเพียง 3 มม. แล้วใช้เครื่องสลายต้อกระจก นอกจากหายเร็ว อาการแทรกซ้อนยังต่ำมาก ครั้งนี้เราจึงนำเครื่องมือที่ทันสมัยมาด้วย และเลนส์แก้วตาเทียมคุณภาพสูง เพื่อให้ทุกคนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด

“การเดินทางมาลงพื้นที่ในต่างประเทศไม่ง่าย ต้องใช้คอนเน็กชั่น ใช้ความพร้อม โดยเฉพาะในปีแรกมีอุปสรรคหลายสิ่งหลายอย่าง ทางเอสซีจีช่วยประสานงานให้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเรามีความคิดตรงกันว่า อยากจะช่วยให้คนที่ต้องทนทุกข์เพราะการมองไม่เห็นได้มองเห็นอีกครั้ง แม้กระทั่งคนอายุ 80 ปี ก็อยากจะได้มองเห็น โดยที่การคัดกรองผู้ป่วย เราจะเลือกคนที่ต้อสุกเต็มที่ ไม่ได้มองที่อายุเป็นเกณฑ์ เพราะถ้าต้อสุกมากแล้วและไม่ได้รับการผ่าตัด นานไปก็จะหมดโอกาสมองเห็นอีกเลย” และว่า

“หลายคนที่พอมองเห็นแล้วจะถามชื่อผมและทีมงาน พอถามว่าเอาไปทำไม เขาบอกว่าจะสวดมนต์ขอบคุณ เพราะไม่ทราบว่าจะทำอะไรให้ได้ นี่คือความสุขที่เราได้รับจากการมาทำงานจิตอาสาแบบนี้ การที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วดำเนินการได้แบบนี้เพราะเรามีทีมที่มีจิตอาสาและทำงานอย่างเต็มที่จริงๆ” และว่า

การมาที่นี่สิ่งที่ประเทศเราได้รับคือ ความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เราสร้างทีมที่ทำความดี และทำให้เห็นว่าประเทศเรามีความชำนาญทางด้านนี้

ไม่เพียงจักษุแพทย์ 4 คน ทีมพยาบาลและผู้ช่วย รวม 32 คน ยังมีนักเรียนทุน (โครงการเอสซีจี แช์ริ่ง เดอะ ดรีม) จิตอาสา 12 คน พนักงานจิตอาสา (เอสซีจีและเอ็มซีแอล) 25 คน ล่าม 19 คน ล้วนแล้วแต่ทำงานอย่างทุ่มเทไม่เพียงแค่ 3 วัน 2 คืนของการผ่าตัด แต่ยังมีการเตรียมความพร้อมก่อนหน้ากระทั่งส่งผู้ป่วยกลับคืนสู่บ้าน

หมอจ๋าในห้องผ่าตัด

‘ยากที่สุด แต่สุขใจ’
เปิดใจคุณหมอมือผ่า

ทางด้านคุณหมอมือผ่า “หมอจ๋า” พัทธ์ศรัณย์ ธนะสุพรรณ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุและต้อกระจก โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ในฐานะหัวหน้าทีม และจักษุแพทย์อีก 3 คน คือ พญ.บุญสิริ หันจางสิทธิ์, พญ.ชุติวรรณ อมรรัตนพันธ์ และ พญ.พรรณสมร ชำนาญกิจ บอกว่า แม้โรงพยาบาลบ้านแพ้วจะเข้ามาช่วยผ่าตัดต้อกระจกให้กับชาวมอญกลุ่มเสี่ยงตาบอดที่เมืองเมาะลำไยมา 3 ปีติดต่อกัน แต่ก็ยังมีเคสยากๆ เป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะปีนี้มีการขยายความช่วยเหลือไปที่เมืองพะอัน มีเคสที่เป็นต้อหินและต้อกระจกที่สุกมากๆ กว่า 10 ราย ซึ่งในการผ่าตัดจะไม่สามารถผ่าตัดแผลใหญ่ได้ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะตาบอด

สำหรับ “ต้อหิน” เกิดจากมีความดันลูกตาสูง และทำลายเส้นประสาทลูกตาไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุ ผู้ที่สายตาสั้น/ยาวมากๆ ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน เหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งถ้าบอดแล้วบอดเลย

“ครั้งนี้เรารับมา 10 กว่าราย เนื่องจากคนที่เป็นต้อหินและเคยผ่านการผ่าตัดมาก่อน ถ้าผ่าต้อกระจกจะทำไม่ได้ เพราะจะทำลายแผลผ่าตัดต้อหิน แผลผ่าตัดจะใช้การไม่ได้ ความดันลูกตาก็จะขึ้น ทำให้ตาบอด ซึ่งหมอที่นี่ยังใช้การผ่าตัดแบบเก่า เปิดแผลใหญ่ เราใช้การเปิดแผลเล็ก และใส่เลนส์เข้าไป” หมอพัทธ์ศรัณย์บอก และว่า

หมอพัทธ์ศรัณย์ หรือหมอจ๋า
หน้าห้องผ่าตัดมีทั้งผู้ช่วยและจิตอาสา

“เคสที่ยากที่สุด ไม่ได้เป็นต้อหิน แต่เป็นต้อกระจกสุกมาก (ซู้ดเซ้ย) มองไม่เห็นทั้งสองข้าง เป็นหัวหน้าครอบครัว ใช้ชีวิตลำบากมาก ทุกวันนี้ภรรยาต้องมาดูแล ลูกๆ ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อหารายได้แทนพ่อ”

หมอจ๋าบอกว่า คนไข้รายนี้มองไม่เห็นมาเกือบปี ความยากคือ ด้วยคนไข้เคยประสบอุบัติเหตุทางตามาก่อน ฉะนั้นถุงหุ้มเลนส์ไม่ดี จึงต้องค่อยๆ ทำการผ่าตัด ถือเป็นเคสที่ยากมาก

“ตอนที่ทำยากมาก ใช้เวลาในการทำนานมาก จากปกติผ่าตาต้อใช้เวลา 7 นาที เคสนี้ใช้เวลาเกือบชั่วโมง แต่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี”

นอกจากการได้ช่วยให้คนตาบอดกลับมามองเห็นอีกครั้ง การเดินทางมาลงพื้นที่ที่เมืองเมาะลำไยแต่ละครั้ง ยังเป็นโอกาสที่จักษุแพทย์ที่นี่ได้ศึกษาเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก และแลกเปลี่ยนความรู้กันอีกด้วย


 

นั่งรอเปิดตาด้วยใจระทึก

‘เราต้องดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน’
หลักคิดทรงพระราชทาน

ในฐานะประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี นพ.เกษม วัฒนชัย บอกว่า เอสซีจีมุ่งมั่นและทุ่มเทดำเนินการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของธุรกิจ โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชนในพื้นที่เป็นหลัก

“ที่แม่แจ่ม เอสซีจีก็ทำคล้ายๆ กับบ้านแพ้ว รักษาตาแล้วขยายไปรักษาฟันคุดด้วย เรารักษาทั้งคนรวยและคนจน พยายามสร้างเอ็กเซลเลนซ์ ฟอร์ ออล ไม่ใช่ ฟอร์ เดอะ ริช ปลูกฝังให้หมอรุ่นใหม่ได้รับคอนเซ็ปต์ สำหรับที่นี่เราทำได้ 3 ปี ปีนี้จึงขยายพื้นที่ แต่รัฐทางใต้คือ รัฐทวาย ก็จนเหมือนกัน ปีหน้าจะยังมีโครงการนี้แน่นอน แต่จะไปยังทวายหรือไม่ต้องพิจารณากันอีกครั้ง” นพ.เกษมบอก

นพ.เกษม วัฒนชัย

“ชายแดนไทยกับพม่ามีระยะทางยาวที่สุด ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทรงเยี่ยมแม่สอด แม่สาย อุ้มผาง ท่านทรงรับสั่งว่าเราต้องใช้หลักมนุษยธรรม เราต้องช่วยเหลือทุกคน ประเทศเพื่อนบ้านเราต้องดีต่อเขา เราไปสร้างบ้านที่ไหน เราทะเลาะกับเพื่อนบ้าน เราย้ายบ้านหนีได้ แต่ประเทศเราย้ายไม่ได้ นี่เป็นสองข้อที่พระราชทานให้เรา”

พม่ามีนโยบายที่จะสร้างความพร้อมให้กับโรงพยาบาลตามชายแดน ผมก็ฝากว่าน่าจะทำแพร์ริ่ง จับคู่กัน เพื่อว่าจะหาสปอนเซอร์มาช่วยเหลือได้ ขณะเดียวกันโครงการต่างๆ ก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

พม่ามีคนเป็นต้อ 1.8 ล้านราย เรามาผ่าตัดปีละ 125 ราย แล้วอีกกี่ร้อยปี ต้องเอ็มเพาเวอร์ ถ้ามีการถ่ายทอดความรู้กับระหว่างโรงพยาบาลต่อโรงพยาบาลจะช่วยได้มาก นั่นคือต้องนึกถึงความยั่งยืน

เพราะถ้าประชาชนตามชายแดนทั้งสองฝั่งเห็นน้ำใจซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าจะมีความสงบเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image