เก็บตก ‘วันยางพาราบึงกาฬ 2562’ มหกรรมเสริมความรู้ นวัตกรรมแน่น หนุนการลงทุน

“บึงกาฬ” แม้เป็นจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของประเทศไทย แต่ด้วยศักยภาพหลากหลายมิติ ทำให้จังหวัดเหนือสุดแดนอีสานแห่งนี้เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการพัฒนาอย่างเด่นชัดที่สุด โดยเฉพาะเรื่อง “ยางพารา”

ด้วยสัดส่วนการปลูกอยู่ที่ร้อยละ 60 ของพื้นที่ สร้างมูลค่า 9,600 ล้านบาท/ปี ยางพาราจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับชาวบึงกาฬอย่างมาก

จนมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อให้บึงกาฬ “เป็นศูนย์กลางของยางพาราของภาคอีสาน” ด้วยการจัดงานมหกรรมยางพาราอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องถึง 7 ปี

นับจากครั้งแรก งานวันยางพาราบึงกาฬ ค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชาวสวนยางภาคอีสาน เพราะไม่เพียงนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเท่านั้น แต่ยังมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ความรู้ในการพัฒนายางพาราแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านการจัดนิทรรศการและเวทีเสวนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับยางพารา

Advertisement

ทั้งหมดนี้ผู้ผลักดันการจัดงานอย่าง พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ บอกว่า มีจุดมุ่งหมายเดียวคือ อุดมการณ์ที่อยากให้คนไทยยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง โดยมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่พัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็นผู้ประกอบการ

“นี่คือจุดมุ่งหมายของการจัดงานยางพาราบึงกาฬ และความพยายามตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรตื่นตัว และตระหนักถึงยุทธศาสตร์โลก รวมทั้งยุทธศาสตร์ย่อย และยุทธศาสตร์หลักของประเทศ เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จากต้นน้ำมาสู่กลางน้ำและให้ได้บรรลุถึงปลายน้ำ เกิดโรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เกิดถนนยางพาราที่คิดค้นโดยการศึกษา ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากงานวันยางพาราทั้งสิ้น”

Advertisement

ไม่เพียงเท่านี้ งานวันยางพาราบึงกาฬยังพลิกโฉมแวดวงการเกษตรครั้งสำคัญ เมื่อมีความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬครั้งที่ 2 เมื่อปี 2556 จากการแมชชิ่งระหว่าง เกษตรกรชาวสวนยาง เจ้าของโรงงาน คณะผู้บริหารจากบริษัท รับเบอร์ วัลเลย์ ที่รับซื้อรางยางพารารายใหญ่ นำโดย จาง เหย็น ประธานกรรมการ และ เจิน จ้ง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ซัพพลายเชน ในเครือรับเบอร์ วัลเลย์ พร้อมด้วย พินิจ จารุสมบัติ, นิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ และชาวสวนยาง และสหกรณ์สวนยางบ่อทอง จ.ชลบุรี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการจัดตั้ง “ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด” ขึ้นในปี 2557

และที่เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการจัดงานวันยางพาราเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 เมื่อ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ได้ยกบึงกาฬให้เป็น “บึงกาฬโมเดล” พร้อมระบุว่า งานยางพาราบึงกาฬเป็นตัวอย่างที่ดีของประชารัฐ เราได้เห็นทุกภาคส่วนจับมือร่วมกัน ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจชน ที่มารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น

“วันนี้บึงกาฬเดินมาถูกทางและทำได้สำเร็จแล้ว บึงกาฬเคยพุ่งถึงขีดสุดเมื่อยางพาราพุ่งสูงสุด และเคยตกลงมาเมื่อราคายางตกต่ำลง แต่ขณะนี้บึงกาฬกำลังจะพุ่งขึ้นอีกครั้ง ไม่ใช่จากราคายางที่เพิ่มมากขึ้น แต่จากนวัตกรรมและการแปรรูป มีผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าเข้ามาติดต่อซื้อจากต่างประเทศ” ดร.วิษณุกล่าว

จากวันนั้นจวบจนถึงการจัดงานครั้งล่าสุดที่เพิ่งปิดฉากลงไปหมาดๆ ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬ ศูนย์กลางยางพารา เศรษฐกิจก้าวหน้า การค้าก้าวไกล” ได้ยกระดับความสำเร็จขึ้นมาอีกขั้น

โดยเฉพาะหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ได้บุกตลาดเมืองชิงเต่า ประเทศจีน เป็นที่แรก โดยจดทะเบียนชื่อ “บึงกาฬ”

ขณะเดียวกัน หมอนยางพาราที่วางจำหน่ายให้กับผู้มาร่วมงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2562” ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ยังเป็นที่ถูกใจของ มาดาม ดาวยู่ตัน เจ้าหญิงสิบสองปันนา จนประสงค์ติดต่อขอรับไปวางจำหน่ายที่สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน พร้อมติดแบรนด์ใหม่ “บึงกาฬ 3 วาฬ”

นอกจากผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราจะได้รับความนิยมแล้ว สหกรณ์กองทุนสวนยางฯยังเตรียมต่อยอดเดินหน้าแปรรูปเต็มรูปแบบ ทันทีที่โรงงานจากงบประมาณ 193 ล้านบาทของรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย และเตรียมต่อยอดการแปรรูปเพิ่มเติม ต่อยอดจากงบประมาณกลุ่มภาคปี 2562 ต่อไป

ซึ่งสนามกีฬายางพาราก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และในงานวันยางพาราบึงกาฬก็มีการเปิดตัว “สนามฟุตซอลยางพารา” แห่งแรกของจังหวัด พร้อมการแข่งขันสุดลุ้นระทึกของเด็กบึงกาฬ เพื่อชิง 6 ถ้วยเกียรติยศ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 จากนายนิพนธ์ คนขยัน และผู้ครองแชมป์ปีแรก รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี คือ อำเภอโซ่พิสัย และรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี คือ อำเภอปากคาด

นอกจากการแข่งขันฟุตซอลแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์คือการประกวด “ไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2019” ชิงแชมป์ประเทศไทย ที่มี ครูสลา คุณวุฒิ, ครูเทียม-ชุติเดช ทองอยู่ และ ครูเรืองยศ พิมพ์ทอง เป็นคณะกรรมการตัดสิน ซึ่ง โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ จ.อ่างทอง ที่มาร่วมแข่งขันปีแรกเป็นผู้ได้รับชัยชนะ คว้าถ้วยรางวัลเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้การสนับสนุนการจัดงานจากบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

สำหรับกิจกรรมของเด็กบึงกาฬทั้ง 2 รายการนี้ นายก อบจ.บึงกาฬ แอบแย้มว่า ปีหน้าจะยิ่งใหญ่มากขึ้น โดยฟุตซอลจะหาวิธีการเปิดสนามเพื่อให้เด็กบึงกาฬได้มีโอกาสได้เข้ามาร่วมเล่นให้มากที่สุด เนื่องจากปีนี้มีเด็กเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 8 ทีมด้วยกัน ส่วนการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งจะเปิดให้มีแข่งขันระดับภาคอีสานก่อนจะชิงแชมป์ประเทศด้วย

และที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ สำหรับนวัตกรรมในงาน ปีนี้ไฮไลต์เด็ดอยู่ที่โซนสุดพิเศษ CHINA PAVILION กับ นวัตกรรมมีดกรีดยางไฟฟ้า รุ่น WYD001F จากสิบสองปันนา ที่มาเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีดกรีดยางเป็นนวัตกรรมใหม่มีน้ำหนักเบา ใช้งานง่าย ทำให้ชาวสวนกรีดยางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว กรีดได้น้ำยางออกมามากขึ้นและถนอมต้นยางด้วย

ยังมีการยางแห่งประเทศไทย ที่มาพร้อมนวัตกรรมและองค์ความรู้เกี่ยวกับยางพาราครอบคลุมทุกมิติ ทางด้านกรมชลประทานมีโครงการถนนยางพาราแอสฟัลติก (ถนนยางมะตอยผสมยางพารา) ที่ดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดบึงกาฬแล้ว 2 โครงการ และเตรียมก่อสร้างในปีงบประมาณ 2562 ในรูปถนนยางพาราดินซีเมนต์

ขณะที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ยกนวัตกรรมเด่นมาโชว์มากมายที่นอกจากถนนยางพาราดินซีเมนต์แล้ว ยังมีนวัตกรรมสารจับยาง IR (Innovative Rubber) ที่ต่อยอดจากปีก่อน โดยมีการปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีขึ้น

พร้อมด้วยนวัตกรรมกำจัดกลิ่นซึ่งเป็นไฮไลต์ในงานครั้งนี้ โดยมีการทดลองนำนวัตกรรมซึ่งเป็นผงแร่ธรรมชาติ ODL ใช้แก้ปัญหากลิ่นในโรงงานที่ จ.ระยอง ซึ่งจากการทดลองอย่างต่อเนื่องก็ได้รับผลตอบรับจากชาวบ้านบริเวณรอบโรงงานว่าสามารถลดปัญหากลิ่นได้เป็นอย่างดี และมีเรื่องของสารเร่งตกตะกอน SC (Super Clear) ที่สามารถเปลี่ยนน้ำขุ่นให้เป็นน้ำใสอย่างรวดเร็ว

อีกหนึ่งหน่วยงานที่ขนนวัตกรรมมามากไม่แพ้กันคือ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เริ่มต้นจากสารบีเทพ (BeThEPS) เป็นสารยืดอายุน้ำยางสดเพื่อทำยางแผ่น ลดการใช้แอมโมเนีย ข้อดีคือรักษาสภาพยางได้นานกว่าแอมโมเนียถึง 3 วัน และเป็นสารที่ไม่มีกลิ่น ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมน้ำยางพาราข้นสำหรับทำผลิตภัณฑ์โฟมยาง หรือ ParaFIT ใช้ในการทำหมอนยางหรือที่นอนยาง และ ParaTRAP หรือกาวดักแมลง

แต่ละนวัตกรรมที่รวมอยู่ในงานนี้บอกได้เลยว่าเด็ดจริง!

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ทั้งลุ้น ทั้งม่วนซื่นส่งท้ายงานวันยางพาราบึงกาฬ อย่างการแข่งขันลับมีด-กรีดยางพารา และกองเชียร์ยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทยที่ชาวบึงกาฬตั้งตารอ และแชมป์กรีดยางปีนี้เป็นของสาวน้อยธนาพร พรหมผัน ที่เดินทางมาจาก จ.สกลนคร ส่วนแชมป์กองเชียร์ยางพารา ได้แก่ อ.ศรีวิไล

ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น ช่วยปรุงรสให้ “งานวันยางพาราบึงกาฬ” ครั้งนี้ออกมากลมกล่อม เต็มอิ่ม ทั้งความรู้และความบันเทิง

ยังเป็นการปิดท้ายงานอย่างยิ่งใหญ่อีกปีหนึ่ง ส่วนบึงกาฬปีหน้าจะสนุกสนานแค่ไหน ต้องรอชม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image