‘ฐากูร บุนปาน’ ถอดรหัสคนข่าว ยุคดิจิทัล เเละย่างก้าวของมติชนสู่ปีที่ 42

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของโลก จากกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น (digital disruption) ได้พลิกโฉมในทุกแวดวงอุตสาหกรรม แรงสั่นสะเทือนจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนทุกมิติ ยิ่งส่งผลให้เกิดการปรับตัวทางธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

และหนึ่งในแวดวงที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดแขนงหนึ่งคือ แวดวงสื่อสารมวลชนŽ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสื่อใหม่เข้ามามีบทบาทเบียดพื้นที่สื่อหลักอย่าง สิ่งพิมพ์Ž และ โทรทัศน์Ž

การเข้ามาเขย่าบัลลังก์ของ สื่อออนไลน์Ž ทำให้บรรดาสื่อเดิมต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองมาสู่โลกโซเชียลมีเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ความท้าทายของ คนข่าวŽ จึงเข้มข้นขึ้น

Advertisement

มติชนŽ เป็นหนึ่งในสื่อที่มีการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางโครงสร้างและยุทธศาสตร์ ที่สามารถผสานสื่อเดิมเข้ากับสื่อใหม่อย่างลงตัว

ในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวสู่ปีที่ 42 ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เผยถึงกลยุทธ์การปรับตัวของคนข่าว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสื่อ ขณะเดียวกันยังคงรักษา จุดเด่นŽ หรือ เอกลักษณ์Ž ของมติชน

คือการรายงานข่าว และการนำเสนอเนื้อหาและ คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

Advertisement

•สถานการณ์สื่อตลอดปีž61 เป็นอย่างไร?

ต้องแยกกันเป็นส่วนๆ ก่อนนะครับ สิ่งพิมพ์ไม่ดีแน่นอน เป็นไปตามเทรนด์ของทั้งโลกที่เเพลตฟอร์มการอ่านเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นโทรศัพท์มือถือหรืออื่นๆ ในโลกดิจิทัล

ส่วนทีวีก็ไม่ดี แล้วยังโชคร้าย 2 เด้ง อย่างแรกคล้ายกันกับหนังสือพิมพ์คือพฤติกรรมการเสพข่าวหรือเสพความบันเทิงของคนเปลี่ยนรูปแบบไปอยู่บนโลกออนไลน์ โชคร้ายซ้ำสองของทีวีคือการโอเวอร์ซัพพลาย ต้องบอกตามตรงว่าตราบใดที่ยังมีทีวี 22 ช่อง สถานการณ์ก็จะเป็นแบบนี้ คือเจ๊งหรือขาดทุนมากกว่ากำไร มันต้องปรับตัวเข้าสู่ความปกติ คือดีมานด์กับซัพพลายจะต้องพอๆ กัน แต่ตอนนี้เราโอเวอร์ซัพพลายในแง่จำนวนช่องอยู่

ด้านสื่อออนไลน์ ตอนต้นปีก็มีปัญหาเหมือนกัน เมื่อเฟซบุ๊กเปลี่ยนอัลกอริทึม ไม่ให้ฟีดหรือไม่เผยแพร่ข่าวสารของหนังสือพิมพ์ สำนักพิมพ์ สำนักข่าวต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันข่าวปลอม ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าการที่คุณไม่เผยแพร่ข่าวจริงแล้วคุณจะไปป้องกันข่าวปลอมได้ยังไง แต่ทุกคนก็ปรับตัวเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้น ค่ายที่อิงกับเฟซบุ๊กมากๆ ตอนแรกก็ได้รับผลกระทบมากหน่อย แต่ในระยะยาวก็ดีขึ้นเพราะเป็นการเอาไข่ออกตะกร้า ไม่เอาไปรวมไว้ในตะกร้าใบเดียว เป็นการป้องกันความเสี่ยงไปในตัว
แต่โดยรวมแล้วต้องบอกว่ามันยังเป็นช่วงเวลายากลำบากของคนทำสื่อ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ยังไม่นิ่ง เป็นพฤติกรรมธรรมดาหรือเป็นความเปลี่ยนแปลงธรรมดาในโลกสมัยใหม่หรือโลกดิจิทัล

•การทำหน้าที่ของสื่อในสถานการณ์แบบนี้?

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก ส่วนหนึ่งของสังคม ส่วนหนึ่งของตลาด เรามีหน้าที่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ถูกก็ต้องมีการทักท้วง ติติง วิพากษ์วิจารณ์ตามหน้าที่ อย่างที่ 2 ในเชิงธุรกิจก็ต้องไปกับตลาดด้วย คุณจะขวางเรือกลางน้ำเชี่ยวมันเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคุณมีทรัพยากรมหาศาล มีสติปัญญาอันสุดจะเฉียบแหลม ทำให้ตลาดเปลี่ยนมาอยู่ทางคุณ ซึ่งมันมักจะไม่ค่อยจริง ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือด้านหนึ่งการทำธุรกิจก็ไหลไปกับตลาด ขณะเดียวกันตามบทบาทหน้าที่ก็วิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะว่าอะไรเป็นเรื่องถูกเรื่องควร แล้วอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร

ตรงนี้ไม่ใช่กับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ผมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงอื่นด้วย เพียงแต่ที่เห็นชัดที่สุดคือทางเทคโนโลยีที่ทำให้เห็นการดิสรัป แต่ความจริงมันไม่ได้ดิสรัปวงการนะ สังเกตได้ว่าสื่อยังอยู่แต่รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป เราพูดกันมาหลายปีแล้วว่าตั้งแต่มีดิจิทัลว่าคนอ่านข่าวเยอะขึ้น อย่างน้อยที่สุดวันหนึ่งมีจำนวนคนอ่านหนึ่งเท่าจากของเดิม แล้วยังเกิดปรากฏการณ์ใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีคลิปวิดีโอ คือคลิปข่าวได้รับความสนใจมากขึ้น เฉพาะของมติชน คนดูคลิปมากกว่าคนอ่านข่าว 3 เท่า ข่าวเดียวกันถ้ามีคลิปมีคนเข้าไปดูมากกว่าปกติ

•มติชนถือว่าปรับตัวเร็วหรือช้ากว่าคนอื่นไหม?

เร็วกว่านะครับ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจหรือน่ายินดีอะไร เพราะเทียบกับสถานการณ์ดูเหมือนว่าจะปรับตัวช้าไปด้วยซ้ำ เราเริ่มกระบวนการปรับตัวประมาณปลายปีž57 แต่ความจริงควรจะปรับตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ตอนที่เห็นว่าหนังสือพิมพ์เริ่มดิ่งหัวลง แต่ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าหนังสือพิมพ์ลงแล้วจะไปทำอะไรกัน เลยไม่ถือว่าปรับตัวช้า ซึ่งการปรับตัวเป็นภารกิจที่ไม่จบสิ้น จะภูมิใจว่าปรับมาแล้ว หยุดแล้ว พอแล้ว ดีแล้ว เก่งแล้วไม่ได้ เพราะโลกมันหมุนเทคโนโลยีมันเปลี่ยนตลอด ในเชิงธุรกิจบิซิเนสโมเดล มันเปลี่ยนเพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป

คือคนส่วนใหญ่เขาอยู่กันตรงนั้น คุณยืนอยู่ตรงนี้คนเดียวแล้วตะโกนให้ตายว่าของดีอยู่ตรงนี้ เป็นของดีที่สุด ให้ทั้งตลาดมาหาคุณมันเป็นไปไม่ได้ คุณต้องเดินไปอยู่กลางตลาดแล้วประกาศว่าคุณมีของดีมีคุณภาพ จะไปบังคับคนอื่นไปบีบคอให้มาอ่านของฉัน มาดูฉันอะไรแบบนี้ไม่ได้

•วงการสื่อในปีž62 จะต่างจากปีž61 ยังไง?

ผมว่าลำบากขึ้น โดยสถานการณ์รวมๆ สภาวะเศรษฐกิจแย่ลง ก็จะซ้ำเติมความสามารถในการหารายได้ หรือขัดขวางโอกาสในการที่จะปรับตัว เพราะการปรับตัวนอกจากจะต้องมีความตั้งใจ มีความเต็มใจ มีความสมัครสมานสามัคคีทั้งองค์กร คุณยังต้องมีทรัพยากร มีเงินและมีเวลาด้วย
ทีนี้ถ้าเงินไม่ค่อยมี ยังต้องปากกัดตีนถีบอยู่มันก็ปรับตัวได้แต่ลำบาก ซึ่งปีž62 ผมมองว่าสถานการณ์ไม่เป็นใจ มันจะโหดร้ายกว่าปีž60 และปีž61

•ข้อเสนอต่อวงการสื่อ?

อึดเข้าไว้พี่น้อง (หัวเราะ) เราทนมาได้หลายปีแล้ว ทนอีกนิดเผื่อจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งก็เหมือนกับทุกอาชีพที่อยู่ระหว่างความเปลี่ยนแปลง แล้วความเปลี่ยนแปลงมันยังไม่นิ่งทีเดียว การจะผ่านไปได้อย่างแรกต้องอดทน ต้องเต็มใจที่จะปรับปรุงเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

•การเรียกร้องให้ปลดล็อกสื่อคิดว่าช้าไปไหม แล้วสื่อ สังคม ประชาชน ได้รับผลกระทบอย่างไร?

ช้ามาก จริงๆ ไม่ควรจะมีล็อกอยู่เลยด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าสื่อจะสามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ เพราะมันมีกรอบข้อห้ามบางอย่างอยู่ ทั้งกรอบทางสังคม กรอบทางจริยธรรม และกรอบทางกฎหมาย ครอบคลุมไว้หมดแล้ว ทั้งกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายคุ้มครองเด็ก คุ้มครองคนเสียเปรียบ ที่สำคัญคือมีสังคมคอยจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ หากสังเกตดูสื่อก็ปฏิบัติตัวดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะทำอะไรผิดไปตอนนี้โลกโซเชียลกระหน่ำ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่เราได้รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรได้อย่างรวดเร็ว แล้วถ้าผิดก็ปรับก็แก้ แต่ไม่ใช่ให้เขามาร้องบอกว่าผิดหรือถูกโดยที่เราไม่สามารถ โต้เถียงได้ว่ามันผิดหรือถูกจริง

กฎหมายที่เราควรเคารพนับถือ คือกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชนหรือมาจากสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่กฎหมายซึ่งออกตามใจของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มไหนกลุ่มหนึ่ง

•การเมืองดีขึ้นหรือไม่ดีมีผลสะเทือนต่อสื่อหรือไม่?

อย่าดูเป็นวัฏจักรต้องดูเป็นโครงสร้าง คือการเมืองไม่ดีแต่อาจจะดีกับเราก็ได้ถ้าเราได้ทำหน้าที่ ติติง วิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ แต่การเมืองดีคนอาจจะขี้เกียจอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์หรือสื่ออาจจะกลายเป็นส่วนเกิน เพราะการเมืองดีจะไปช่วยให้เศรษฐกิจ สังคมดี ทำให้คนมีความสุข มีเวลาที่จะไปเสพสุนทรียะทั้งหลาย บางทีข่าวอาจจะกลายเป็นเรื่องรองลงมาก็ได้ แต่ในฐานะสมาชิกสังคมเราอยากให้การเมืองดีแน่นอน

•มองอย่างไรที่คนทำงานหนังสือพิมพ์น้อยลง คน รุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยสนใจการทำสื่อ?

ต้องมอง 2 ส่วน ส่วนแรกที่ปฏิเสธไม่ได้คือผลตอบแทนของคนทำอาชีพนี้ต้องได้รับการปรับปรุง ต้องดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นี่เป็นอันหนึ่งตอนที่เราปรับตัวเราพยายามบอกกับพี่น้องและเพื่อนฝูงว่า การปรับโครงสร้างทั้งหมดต้องจบลงที่คุณภาพชีวิตของคนทำงานดีขึ้น รายได้ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น แล้วอื่นๆ ก็ต้องตามมา ซึ่งรายได้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่มันก็เป็นส่วนสำคัญมาก สำหรับคนที่อยู่ในอาชีพนี้ หรือคนที่กำลังจะเข้ามา

แต่เงินอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ดังนั้นส่วนที่สองต้องมีความท้าทายด้วย ในเจเนอเรชั่นหนึ่ง ในวัยหนึ่ง เราอยากทำอะไรที่ท้าทาย โดยเฉพาะตอนที่อายุน้อยเรามีความฝัน เราอยากทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ อยากทำอะไรที่ทำให้คนส่วนใหญ่ดีขึ้นหรือที่เรียกกันว่าอุดมการณ์

ผมไม่เชื่อว่าอุดมการณ์มันตาย แต่คุณจะทำยังไงให้อุดมการณ์กับความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่มันเดินคู่ไปด้วยกันได้ ผมไม่เชื่อว่าคนทำอาชีพนี้จะไม่เหลือ เพราะโดยตัวมันเอง มีเสน่ห์บางอย่าง เป็นงานที่สนุก ได้เป็นผู้จับตาและสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลง เป็นผู้รายงานความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันยังได้เจอคนที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่นักการภารโรง พนักงานระดับล่างสุด จนถึงนายกรัฐมนตรี หรือซีอีโอบริษัท ทำให้มุมมองต่อชีวิตแหลมคมขึ้น เพราะคุณได้เห็นบทเรียนของคนอื่น เรียนรู้ชีวิตของคนอื่น ถ้าคุณมีสติปัญญา มีความสามารถหรือสังเกตการณ์มากพอ ก็จะใช้บทเรียนของคนอื่นมาเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณได้มาก ทั้งในการทำงานและในชีวิตส่วนตัว

•คุณสมบัติของคนทำงานด้านสื่อควรเป็นอย่างไร?

อึด ถึก เพราะสื่อเป็นงานที่คุณต้องทำทุกวัน ย่อหย่อนกว่าเมื่อวานไม่ได้ มีผู้อาวุโสในวงการพูดไว้ว่า สำหรับสื่องานของพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้เสมอ แล้วงานของวันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวานเสมอ เพราะเราสั่งสมประสบการณ์ สั่งสมความรู้อะไรไว้มากขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้มันดีขึ้น

การทำให้งานดีขึ้นก็มีคุณสมบัติอยู่ไม่กี่อย่าง อันดับแรกคือความอดทน คุณต้องอึด ถึก ต้องทำงานต่อเนื่องสม่ำเสมอ ต้องมีวินัย แต่ความอดทนและมีวินัย สองอย่างไม่พอสำหรับอาชีพสื่อ คุณต้องเป็นคนใฝ่เรียนรู้ จะด้วยการอ่านซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นหรืออะไรก็แล้วแต่ ยังต้องเป็นคนช่างสังเกต เป็นคนตั้งคำถาม ต้องฉลาดมีสติปัญญา ต้องคิดเป็น ไม่ใช่เขาบอกอะไรมาแล้วเชื่อไปหมด อันนั้นคือเทปบันทึกเสียง ไม่ใช่นักข่าว
นักข่าวสำคัญกว่าเครื่องอัดเสียงคือ ต้องตั้งคำถามได้ สงสัยหรือไม่เชื่อได้ แล้วไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนหรือหักล้างสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์จนกลายเป็นความจริง ถ้าตราบใดที่มันยังเป็นแค่ข้อเท็จจริงเบื้องต้นอยู่ คุณมีสิทธิที่จะทำอะไรกับมันก็ได้ แต่ต้องรายงานให้ตรง แล้วไปหาข้อเท็จจริงอื่นมาหักล้าง ถ้าคุณหามาแล้วกลายเป็นหนุนหมด ก็จะเป็นการยกระดับจากข้อเท็จจริง กลายเป็นความจริง

•คนเสพสื่อเปลี่ยนไป ข่าวเจาะลึกแบบในอดีตยังจำเป็นอยู่ไหม?

จำเป็นสิ ผมว่าโลกมันซับซ้อนขึ้น มันหลากหลายมากขึ้น ความสนใจของคนกระจายมากขึ้น มีโอกาสเรียนรู้เรื่องต่างๆ เยอะ แต่เรื่องที่คุณได้เรียนรู้มันก็เหมือนกับหมูสามชั้น คืออาจจะเจอแค่หนังกรอบ แต่ยังไม่เจอมันหรือเนื้อที่อยู่ข้างใน ซึ่งนักข่าวมีหน้าที่จะทะลวงจากหนังกรอบเข้าไปสู่ชั้นมันและเนื้อ

•คนข่าวยุคเก่าสามารถไปกับสื่อยุคใหม่ได้ไหม แล้วจะต้องปรับตัวอย่างไร?

คุณเอาอะไรมาวัดว่าใครเก่าใครใหม่ ถ้าคุณยังกระฉับกระเฉง ยังกระตือรือร้น ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วเปิดกว้างเรียนรู้ทุกวัน คุณก็ใหม่เสมอไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณปิดกั้นตัวเองว่าฉันแน่ ฉันเก่ง ฉัน
บรรลุแล้วคุณก็เก่าทันที เพราะโลกมันมีการพัฒนามีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นเก่าใหม่อย่าวัดกันที่อายุ

•แล้วเด็กรุ่นหลังสามารถเอาการทำงานของจากรุ่นพี่มาใช้ได้อย่างไรบ้าง?

ต้องคิดเอาเอง คุณมาทำอาชีพนี้คุณต้องมีสติปัญญา มีความเชื่ออยู่พอสมควรว่าคุณไม่ใช่เด็ก นาทีแรกที่คุณก้าวเข้ามาทำอาชีพนักข่าวคุณก็ไม่ใช่เด็กแล้ว เพราะคุณทำงานที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตคนอื่น คุณต้องคิดเยอะมากเพราะในทุกคำที่คุณเขียนมันมีผลต่อชีวิตคนทั้งด้านบวกและด้านลบ จะต้องระมัดระวังเอาใจใส่ ซึ่งแปลว่าคุณต้องมีสติปัญญา มีวิจารณญาณ

ดังนั้น คุณสามารถเลือกได้ว่าจะเอาอะไรจากใคร ไม่จำเป็นต้องเลือกจากรุ่นไหน จะเก่าใหม่ สามารถเอามาได้ทั้งหมด เพียงแต่เวลาเราพูดถึงคนอาวุโสกว่าก็จะมีเรื่องเล่าที่สามารถหยิบมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจ เป็นตัวอย่างทั้งทางดีและไม่ดี ให้เราเลือกเท่านั้น

•เครือมติชนปีž62 ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 42 เป็นอย่างไร?

ธุรกิจของมติชนปีž62 จะทำต่อเนื่องจากปีž60 และปีž61 ซึ่งภารกิจของบริษัทหลักๆ มี 2 อย่าง คือ 1.การทำควอลิตี้คอนเทนต์ เพราะมติชนเกิดมาจากเนื้อหาที่มีคุณภาพ จะต้องมีการทำต่อและต้องทำให้ดียิ่งขึ้นด้วย 2.แวลูแอดของแบรนด์

ที่ผ่านมาการทำเนื้อหาที่มีคุณภาพใช้คนและทรัพยากรมหาศาล แต่ทำของดีมาแล้วขายถูกก็เลยเหนื่อยสาหัส แล้วเอาเข้าจริงก็ไม่มีความสามารถไปจ้างคนที่ดีที่เก่งหรือรักษาคนดีคนเก่งให้อยู่ได้นานๆ ดังนั้นต้องมีรายได้พอสมควรที่จะเก็บคนดีคนเก่งไว้ได้และรอมาเพิ่มอีก

ในแง่บริษัทจะทำอยู่ 2 อย่าง อะไรก็ตามที่ไม่ใช่แก่นของบริษัทจะไม่ทำ หรืออันที่ทำไม่เป็นก็ให้คนอื่นมาทำ เช่น คุณเก่งคอนเทนต์แต่ไม่เก่งเทคโนโลยี แต่ตลาดเขาไม่ลงโฆษณาแบบหว่านแล้ว เขาจะลงโฆษณาแบบยิงเปรี้ยงตัดขั้วหัวใจ ดังนั้นคุณต้องตอบสนองให้ได้

แล้วคุณมีดาต้าอนาไลติกส์หรือการวิเคราะห์ข้อมูลหรือยัง วันนี้คุณมีทราฟฟิคมหาศาลในโลกดิจิทัล ที่สามารถระบุออกมาได้เลยว่าใครเป็นลูกค้าของคุณบ้าง ต่างจากหนังสือพิมพ์ที่คุณเดาเอาว่าใครเป็นลูกค้า ดังนั้นคุณต้องแยกออกมาให้ได้แล้วนำเสนอกับกลุ่มลูกค้าของคุณ ซึ่งพวกนี้เราทำไม่เป็น แต่มันเป็นความจำเป็น ก็สามารถไปร่วมทุนหรือจ้างคนอื่นที่เขาเก่งกว่า ถนัดกว่าหรือมีความสามารถมากกว่ามาทำ แล้วคุณทำสิ่งที่คุณถนัดคือคอนเทนต์และแวลูแอดของแบรนด์ ซึ่งการพูดมันก็ง่าย แต่คุณจะไปหาคนที่รู้ใจหรือมีเคมีเข้ากันเวลาทำงานและมีความสามารถตรงที่ต้องการยากมาก

•สิ่งที่คาดหวังต่อเครือมติชนในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 42 เป็นแบบไหน?

คาดหวังว่าจะอยู่ไปถึงปีที่ 43 ปีที่ 44 และปีที่ 45 (หัวเราะ) เพราะเอาจริงๆ คุณวางยุทธศาสตร์ 20 ปี
ไม่ได้หรอกในโลกนี้ แผนธุรกิจของบริษัทที่เก่งที่สุดที่ผมเห็นเขายังวางแผนไว้ 3 ปี เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยน บิซิเนสโมเดลก็ต้องเปลี่ยน ถึงคอร์แวลูหรือค่านิยมหลักของคุณไม่เปลี่ยน แต่วิธีการจัดการต่างๆ มันเปลี่ยนหมด

ถ้าสังเกตมติชน เราก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ ช่วง 3-5 ปีมานี่เราก็เปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน โชคดีที่พี่น้องเพื่อนฝูงในเครือยอมรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็จะมียากมีง่ายแต่อย่างน้อยมันคุยกันรู้เรื่อง มีเป้าหมาย มีเป้าประสงค์เดียวกันว่าเราอยากผลิตสื่อแบบนี้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ยากอย่างที่คิด ซึ่งเราไม่ได้ต้องการเป็นสื่อที่ใหญ่ที่สุด แต่เราอยากเป็นสื่อที่คนไว้วางใจได้ที่สุด

•ในแง่คนอ่านจะได้เห็นอะไรในปีที่ 42?

ต้องถามกองบรรณาธิการนะ แต่ผมก็หวังว่าคุณภาพของเนื้อหาจะได้รับการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปตามคุณภาพและประสบการณ์ของคนทำงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image