ลับลวงพราง ‘โรคติดเชื้อ’ 2019 จับตา ‘ค้างคาวแม่ไก่’ ในบทผู้ร้ายตัวใหม่

ยุคนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้…

โรคเดียวกัน เชื้อเดียวกัน เกิดกับคนคนหนึ่งอาจเป็นไข้นอนพักไม่กี่วันก็หาย แต่กับอีกคนหนึ่งอาจถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้ เพราะสภาวะของโรคที่ต่างกัน ในบริบทที่ต่างกัน รวมทั้งเกิดกับคนที่มีภูมิต้านทานที่ต่างกัน ด้วยความซับซ้อนของโรคเช่นนี้เองการรับมือจึงต้องเป็นแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนในรูปแบบของสหสาขาวิชาชีพ เพื่อการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพและรักษาได้อย่างตรงเป้าหมาย

ยกตัวอย่างเช่น ไข้สมองอักเสบที่คนส่วนมากคิดว่าเกิดจากการติดเชื้อ พบว่ามีเพียง 25% เกิดจากโรคติดเชื้อ อีก 25% เกิดจากภูมิคุ้มกันแปรปรวน ซึ่งทั้งสองชนิดนี้การรักษาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ที่สำคัญคือ อีก 50% เรายังไม่ทราบสาเหตุ!

Advertisement
ศ.นพ.ธีระวัฒน์

เป็นที่มาของโครงการทุนวิจัยแกนนำ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยที่มาด้วยอาการโรคติดเชื้อโดยที่ทราบสาเหตุเพียง 50% เท่านั้น บางพื้นที่ทราบสาเหตุแค่ 20% ฉะนั้น การรักษาที่ผ่านมาจะดูที่ความน่าจะเป็นในลักษณะของเชื้อที่พบบ่อยในพื้นที่นั้น ณ เวลานั้น

ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกของการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทั้งแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ นักสัตววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าระบบนิเวศวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านเห็บไรริ้นและแมลง ทั้งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และรวมถึงกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหมได้ร่วมมือกันศึกษาปัญหาของโรคติดเชื้อในมนุษย์ และสืบค้นต้นต่อถึงเชื้อที่ซ่อนในสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว ยุง เห็บ ไร ริ้น และแมลงต่างๆ

“เราไม่ได้ทำงานตั้งรับเฉยๆ นอกจากจะรู้ว่าเชื้อนั้นชื่ออะไร ยังอยากทราบว่าเชื้อนั้นทำไมจึงโผล่มามากขึ้นที่นั้นๆ ในเวลาต่างๆ นั่นคือดูด้านการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศวิทยาของสัตว์นำโรค หรือสัตว์คุมโรคต่างๆ ซึ่งรวมถึงสัตว์ป่า ตั้งแต่ค้างคาว ลิง สัตว์ที่อยู่บนดิน สัตว์ฟันแทะ ยุง เห็บ ริ้น ไร และแมลง โดยเป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงกลาโหม ไม่ใช่แค่เพื่อความมั่นคงของประเทศอย่างเดียวหรือความปลอดภัยของทหารที่ประจำการตามตะเข็บชายแดน แต่เพื่อสร้างแผนที่ดูว่าบริเวณนั้นๆ มีเห็บไรริ้นและแมลงอยู่มากแค่ไหน มีเชื้ออะไรบ้าง”

ค้างคาว รังโรคร้ายอันตรายถึงชีวิต
และโรคที่ไม่รู้จักชื่อ

เวลาพูดถึงสัตว์นำโรค ส่วนมากจะนึกถึงแมลง เห็บหมัดไรริ้น หนู แต่ในความเป็นจริงสัตว์ป่าที่กลายเป็นสัตว์บ้าน รวมทั้ง “ค้างคาว” เป็นแหล่งนำโรคที่สำคัญ จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างยิ่งยวด

“เราพบว่าในค้างคาวสามารถนำเชื้อโรคได้หลายประการ ตั้งแต่อีโบลา เมอร์ส ฯลฯ รวมทั้งไข้สมองอักเสบนิปาห์”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์บอกว่า จากการทำงานในพื้นที่ทำให้สามารถหาวิธีตรวจจับเชื้ออุบัติใหม่เหล่านี้ได้ด้วยวิธีการปลอดภัย ทำให้คณะทำงานสามารถตรวจเชื้ออีโบลาได้เป็นแห่งแรก และช่วยกันแชร์วิธีการให้กระทรวงสาธารณสุขและทั่วประเทศไทย ขณะเดียวกัน ก็สามารถตรวจจับโรคเมอร์สเป็นรายแรกของประเทศไทย ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการระบาดของโรคเมอร์ส

กรณีของโรคไข้สมองอักเสบ “นิปาห์” เป็นครั้งแรกที่เราสามารถตรวจไวรัสนิปาห์ได้ ซึ่งมีการระบาดที่อินเดีย บังกลาเทศ และมาเลเซีย ทุกปี มีผู้เสียชีวิตไปหลายร้อยคน

“เราพบว่าประเทศไทยมีไวรัสนิปาห์จริง และเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมแล้วพบว่ามีความคล้ายกับไวรัสนิปาห์ที่ระบาดในบังกลาเทศ 99% หมายความว่ามีความเสี่ยงมากเหลือเกินต่อการระบาดของโรคไข้สมองอักเสบที่ทำให้ปอดบวมด้วย

“ตอนนี้เรามีเชื้อจ่ออยู่ เรามีสัตว์นำโรค มีพืชผักผลไม้ที่ค้างคาวไปกินได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราตรวจคนไข้ที่มีอาการทางสมองในประเทศไทยตลอด โชคดีที่ยังไม่พบการระบาดของเชื้อนี้ ถ้าพบเชื้อนี้หมายความว่ามีการระบาดของเชื้อนี้จากคนสู่คน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในอินเดียและบังกลาเทศ”

นอกจากไวรัสนิปาห์แล้ว ในส่วนของโรคอุบัติใหม่ที่ขึ้นลิสต์การเฝ้าระวัง อาจารย์หมอธีรวัฒน์บอกว่ามี “อีโบลา” ซึ่งมีการปะทุขึ้นใหม่ ยังมี “ไข้หวัดใหญ่” ที่แม้ว่าทางกระทรวงเกษตรฯพยายามยืนยันว่าไม่มีไข้หวัดนก แต่มันมีอยู่ในพื้นที่รอบประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง

และสิ่งที่น่ากลัวคือ “โรคที่ไม่รู้จักชื่อ” ซึ่งในคณะวิจัยของเราพยายามพัฒนาการตรวจ แม้จะไม่รู้จักชื่อก็สามารถตรวจจับได้ นวัตกรรมนี้เรานำไปใช้ตรวจทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงว่าเด็กจะติดเชื้อหรือไม่ และเมื่อออกมาแล้วจะพาเชื้อออกมาสู่จังหวัดหรือไม่ เป็นผลงานที่เราบูรณาการร่วมกันพัฒนาขึ้นมาอย่างใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข

ค้างคาวแม่ไก่ ไม่ได้น่ารักอย่างที่คุณคิด

แทบจะร้อยทั้งร้อยคิดว่า “ค้างคาว” มีอยู่ตามถ้ำเท่านั้น หรือไม่ก็แถวๆ วัดป่าที่อยู่ใกล้ถ้ำ แต่ ณ เวลานี้คงต้องคิดเสียใหม่ เพราะในใจกลางมหานครอย่างกรุงเทพฯก็มีค้างคาว!

รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ในประเทศไทยมีค้างคาวราว 7-8 หมื่นตัว ส่วนมากมีอยู่ทางภาคใต้ กินมะม่วง ลูกหว้า เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ พอหน้าที่ไม่มีผลไม้ ก็จะกินกระถินณรงค์ กระถินเทพา มะขาม ที่น่าสนใจคือ กิน (ลูก) “ตำลึง” ด้วย โดยรัศมีของการบินหาอาหารอยู่ที่ 25-30 กิโลเมตร

รศ.ดร.ประทีบ

จากการสำรวจเก็บข้อมูลพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประชากรค้างคาวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว โดยโอกาสที่ค้างคาวนั้นจะเป็นแหล่งเชื้ออยู่ที่ 10-20%

“ในกรุงเทพฯก็มีค้างคาว เช่น ที่เขตหนองจอก มีค้างคาวราว 2,000 ตัว

“ที่น่าตกใจคือ ใจกลางกรุงเทพฯ อย่างสวนลุมฯก็สามารถพบเห็นค้างคาวได้เวลาเย็นๆ ราว 1 ทุ่ม ค้างคาวจะบินมาหาอาหาร กินลูกไทร ลูกหูกวาง ลูกหว้า ลูกตะขบ ฯลฯ ซึ่งจากรายงานค้างคาวเหล่านี้มาจากสมุทรปราการ 1,000 ตัว อีก 2,000 ตัว มาจากหนองจอก”

หนึ่งในโรคอุบัติใหม่ที่มีค้างคาวเป็นรังโรคคือ “ไข้สมองอักเสบนิปาห์” ซึ่งขึ้นทำเนียบโรคติดต่ออันตรายตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2559

ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า ผู้ป่วยติดเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน จนถึงอาการหนักคือสมองอักเสบ โดยอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ

นิปาห์เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ระบาดแล้วในสิงคโปร์ มาเลเซีย บังกลาเทศ และอินเดีย ปัจจุบันยังไม่มียารักษา และไม่มีวัคซีนป้องกัน อัตราการเสียชีวิต 40-100% มี “ค้างคาว” เป็นแหล่งนำโรคแพร่เชื้อสู่สุกร ม้า และคน ได้

“บังกลาเทศเป็นอีกประเทศที่มีการติดเชื้อสูง แต่การแพร่เชื้อไม่ได้มาจากหมู เพราะเขาไม่กินหมู แต่ค้างคาวเยี่ยวรดใส่ต้นอินทผลัม ซึ่งที่นั่นมีการบริโภคน้ำอินทผลัมสด โดยการตัดที่ปลายยอดแล้วเก็บน้ำหวาน ค้างคาวมาเยี่ยวใส่ในหม้อดิน”

ดร.สุภาภรณ์

เชื้อสามารถอยู่ในน้ำอินทผลัมได้อย่างน้อย 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ สามารถติดเชื้อนี้จากผลไม้ที่ค้างคาวกินและกัดแทะ

ประเทศไทยมีโอกาสที่จะติดเชื้อ เพราะเราอยู่ติดกับมาเลเซีย และเรามีแหล่งรังโรคคือสุกร โดยจากการสำรวจตั้งแต่ปี 2545 พบเชื้อในค้างคาวแม่ไก่

ข้อแนะนำคือ ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากค้างคาว เมื่อสัมผัสสิ่งคัดหลั่งไม่ว่าเยี่ยวหรือน้ำลายต้องรีบล้าง และเมื่อถูกค้างคาวกัดต้องฉีดยาเหมือนถูกสุนัขบ้ากัด ถ้าพบค้างคาวป่วยห้ามเข้าใกล้ ห้ามหยิบด้วยมือเปล่า และหากทำโรงเรือนสุกร ควรให้ห่างจากถ้ำที่จะเป็นแหล่งของค้างคาว

ที่สำคัญไม่บริโภคผลไม้ที่มีรอยฟันของค้างคาวหรือสัตว์กัดแทะ อย่าเสียดายโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งเอามาล้าง หรือฝานทิ้งก็ตาม

 

DiseaseX
ลับลวงพรางโรคติดเชื้อ

กลับมาที่ภาพรวมของสถานการณ์การรับมือโรคติดเชื้อในบ้านเรา ศ.นพ.ธีระวัฒน์บอกว่า อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ ระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักประกันสุขภาพเองก็ตาม หรือในเรื่องของบุคลากรที่ต้องรับมือกับคนไข้ที่มีความซับซ้อนขึ้น มีความหนักหนามากขึ้น และประการสำคัญคือ กำลังคนของแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขมีจำนวนไม่เพียงพอ ขาดทั้งความรู้และประสบการณ์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ลับลวงพรางโรคติดเชื้อ”

“ถ้าหมอหรือบุคลากรสาธารณสุข 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยถึง 100 คน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมโรคหรือดูแลได้ และขณะนี้ที่เรากังวลคือ ประชาชนมีความเปราะบางต่อการติดเชื้อ ซึ่งเราเล็งถึงเรื่องอาหารปลอดภัย ที่มีการใช้สารเคมีในการฆ่าหญ้าฆ่าแมลง ใช้สารเคมีเพื่อให้อาหารไม่บูดไม่เน่า สารเคมีเหล่านี้ไปทำลายอวัยวะต่างๆ โดยที่เราอาจจะไม่รู้สึกตัว ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉะนั้น เมื่อสัมผัสกับเชื้อที่ไม่รุนแรงก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ง่ายดาย”

ฉะนั้น การทำสงครามกับโรคติดเชื้อจึงต้องดูที่ตัวคนเป็นสำคัญ ต้องดูว่าเชื้อนั้นร้ายแรงจริง หรือ คนอาจจะเปราะบางมากก็ได้ นั่นคือสิ่งที่ทีมวิจัยเรากำลังทำ เรากำลังดูผลกระทบว่า ทำอย่างไรจะให้คนไทยสุขภาพดีที่สุด และทนทานต่อการติดเชื้อมากที่สุด แม้จะไม่รู้ว่าโรคนั้นชื่ออะไรก็ตาม

เราต้องมีความเคร่งครัดต่อการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด เชื้อนั้นอาจจะมาจากน้ำ จากดิน จากการที่เราสัมผัสฝอยน้ำจากการไอจามก็ตาม นั่นเป็นปราการด่านแรก ปราการด่านที่ 2 คือ หน่วยราชการจะต้องมีความพร้อมต่อการเตือนภัยว่า ขณะนี้กำลังจะมีโรคอะไรเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การระวัง 10 โรคดารา ต้องระวังโรคที่ไม่เหมือนกันในแต่ละภาค แต่ละพื้นที่ แต่ละสภาพอากาศ ซึ่งเชื้อจะมีการผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

นั่นหมายความว่า ทุกหน่วยงานต้องมีการเฝ้าระวังดูว่ามีเชื้ออะไรเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน รวมถึงระดับนโยบายต้องมีการบูรณาการกันอย่างจริงจัง ระบบสาธารณสุขเราล่มแน่ๆ ถ้าไม่มีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง

เมื่อสัตว์ป่าเป็นสัตว์บ้าน อันตรายที่คืบใกล้

ถามว่าปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยน ระบบนิเวศป่าเปลี่ยน สัตว์บางชนิด เช่น กระรอก เปลี่ยนจากสัตว์ป่าเป็นสัตว์เมือง ต้องเฝ้าระวังเพียงใด?

อาจารย์หมอธีระวัฒน์ย้อนประสบการณ์ให้ฟังว่า เมื่อ 30 ปีก่อนระหว่างที่ทำวิจัยในห้องแล็บที่สหรัฐอเมริกาเคยนำเชื้อจากกระรอกมาตรวจ เป็นเชื้อที่ไม่เคยมีใครเชื่อเลยว่าจะเกิดในคนได้ ปรากฏว่า 3 ปีที่แล้วพบว่ามีคนตายเพราะเชื้อนี้ 3 คน เป็นคนที่มีอาชีพจับกระรอก แสดงว่าเชื้อโรคมีการวิวัฒนาการตลอดเวลา

สิ่งที่เราเฝ้าระวังตอนนี้คือ เราไปหาเชื้อในสัตว์ป่า ในเชื้อชนิดเดียวกัน ถ้าหากเชื้อชนิดนั้นสมัยก่อนเราเจอในค้างคาวกินพืช แต่เราเจอในค้างคาวกินแมลง หมายความว่าเชื้อนั้นมีวิวัฒนาการข้ามสายพันธุ์ แล้วมิหนำซ้ำถ้าเราไปตรวจในสัตว์วิ่งไปวิ่งมาบนบก และพบว่ามีเชื้อนี้อยู่ในสัตว์นั้นด้วย แสดงว่าเชื้อวิวัฒนาการเข้าใกล้จะระบาดในคน และยิ่งถ้าเราเจอในหมูในหมาแสดงความยิ่งใกล้คนมากยิ่งขึ้นไปอีก

ฉะนั้น การสำรวจวิวัฒนาการสามารถสำรวจดูว่าเชื้อที่เคยจำกัดอยู่ในสัตว์ชนิดเดียวไปอยู่ในสัตว์ชนิดใหม่ แสดงว่ากำลังจ่อคิวจะเข้าคน เป็นวิธีการที่ง่ายสุด แต่ต้องลงพื้นที่ โดยจะไปจับเห็บไรริ้นแมลง ซึ่งจะไปกัดสัตว์ เราดูแหล่งรังโรคและดูตัวนำโรค

“เลี้ยงกระรอกไม่ว่า แต่ต้องรู้ว่าเขานำโรคได้ ต้องมีระยะห่างสัตว์นั้นกับเรา ฉะนั้น อย่าไปสุงสิง เพราะสัตว์นำโรคพวกนี้ตัวเขาไม่มีอาการ แต่เขาเป็นพาหะสู่คนได้ ถ้าเลี้ยงหมาก็ต้องมีความรู้ในการเลี้ยง และเปิดหูเปิดตาโรคที่ยังไม่มา ต้องเฝ้าระวังว่ามันอาจจะมาได้”

เพราะถ้าสุขภาพเราไม่ดี มีเงินเท่าไหร่ก็ต้องเอาเงินมารักษาตัวอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image