ถอดรหัส ‘ปาบึก’ พายุหมุนเดือนมกราคม การเขย่าขวัญครั้งสำคัญของชาว (อ่าว) ไทย

หลังจากแผลงฤทธิ์อยู่นานหลายวัน ทำเอาประชาชนกว่า 7.2 แสนคน จากพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 97 อำเภอได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ยังไม่รวมกับตัวเลขผู้เสียชีวิตอีก 4 ราย ที่พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) พัดเอาความปั่นป่วนเข้ามายังภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย ของประเทศไทย

แม้ประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาจะออกมารายงานสถานการณ์ต่อเนื่อง ภายหลังพายุโซนร้อน “ปาบึก” ได้อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นและหย่อมความอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ พร้อมเคลื่อนตัวออกไปฝั่งอันดามันเมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ทว่าน้ำเสียงหนักแน่นของ “สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร” รองผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังช่วยยืนยันว่า ปัจจุบันนี้พายุปาบึกจบลงไปแล้ว โดยปกติแล้วเมื่อพายุเคลื่อนตัวลงฝั่งอันดามันก็จะเคลื่อนตัวต่อไป ก่อนกระแทกอินเดีย แต่รอบนี้ลงแล้วหายไป จึงนับว่าเป็นเรื่องดี

ที่น่าสนใจคือ พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อลักษณะอากาศในประเทศไทยมักมาจากทะเลจีนใต้ ปกติจะเกิดขึ้นราวเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี แม้พายุจะมีความรุนแรงถึงระดับ “ไต้ฝุ่น” ขณะอยู่ในทะเลจีนใต้ แต่จะอ่อนกำลังลงเมื่อขึ้นฝั่ง ทำให้พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยและมีอิทธิพลโดยตรงมักเป็นเพียง “ดีเปรสชั่น” เท่านั้น แต่ “ปาบึก” กลับผิดไปจากตำรา นอกเหนือจากจะมาในเดือนมกราคมแล้ว ยังทวีความรุนแรงจากดีเปรสชั่นขึ้นเป็น “โซนร้อน” ด้วย

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ชาติไทยจะพบว่าเคยมีพายุหมุนเขตร้อน 2 ลูกที่พัดผ่านอ่าวไทย อันก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก ลูกแรกคือพายุโซนร้อน “แฮร์เรียต” (Harriet) ซึ่งพัดผ่านอ่าวไทยมาถล่มแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค. พ.ศ.2505 จากนั้นในปี 2532 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-4 พ.ย. พายุไต้ฝุ่น “เกย์” (Gay) กลับมากระหน่ำซ้ำคนไทยที่รอยต่อระหว่าง อ.ปะทิว กับ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร สร้างความเสียหายอย่างมากในพื้นที่จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงตามชายฝั่งอ่าวไทย ตลอดจนจังหวัดตามชายฝั่งทะเลตะวันออก

Advertisement

ไม่แปลกที่ประชาชน ตลอดจนภาครัฐจะตื่นตัวและหวาดกลัวพายุโซนร้อน “ปาบึก” จะซ้ำรอยพายุโซนร้อน “แฮร์เรียต” หรือไม่

ข้อมูลแม่นยำ เตรียมการดีเยี่ยม รุนแรงน้อยกว่าที่คาด

“แฮร์เรียตมีความเร็วลมสูงกว่าปาบึกคือ แฮร์เรียตมีความเร็วลมอยู่ที่ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ปาบึกมีความเร็วลมขณะขึ้นฝั่งที่ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น ลมปาบึกสู้แฮร์เรียตไม่ได้ รวมทั้งฝนไม่ตกมากเท่าที่คาด ทำให้ระดับความน่ากลัวจึงไม่รุนแรงเท่าที่คาดการณ์ไว้”

สุรเจตส์กล่าวเพื่อให้เห็นภาพชัด พร้อมอธิบายถึง “ความแรง” และ “ความเร็ว” ของพายุ

สำหรับความแรงของพายุนั้น หากอยู่ในทะเลที่อุณหภูมิน้ำค่อนข้างสูง เปรียบเสมือนหม้อต้มน้ำที่มีการเติมไฟ จึงเท่ากับการเติมพลังให้พายุ โดยเฉพาะน้ำทะเลอ่าวไทยช่วงที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้พายุที่ผ่านฟิลิปปินส์เข้ามายังอ่าวไทยมีความรุนแรงขึ้น จากดีเปรสชั่นสามารถพัฒนาเป็นโซนร้อนได้ ส่วนการเคลื่อนที่ขึ้นอยู่กับลักษณะอากาศบริเวณโดยรอบ เมื่อพายุขึ้นบกแล้ว แน่นอนว่าจะอ่อนกำลังลงและวิ่งช้าลงเล็กน้อย เสมือนการขับรถผ่านทางชะลอ แต่ภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะเป็นด้ามขวาน มีภูเขา ซึ่งเหมือนหลังเต่าอันหนึ่ง เมื่อรถวิ่งผ่านต้องสะดุดและวิ่งช้าลง

ประเด็นการปรากฏตัวของพายุหมุนเขตร้อนในเดือนมกราคมนั้น สุรเจตส์อธิบายว่า ช่วงปลายปีเป็นฤดูฝนของภาคใต้ ดังนั้น จะมีฝนมากกว่าปกติ ส่วนเรื่องพายุขึ้นอยู่กับจังหวะและอีกหลายปัจจัย รวมทั้งก่อนหน้านี้ราวปี 2559 เคยเกิดพายุดีเปรสชั่น ซึ่งมีแนวทางคล้ายกับโซนร้อนปาบึก เพียงแต่ดีเปรสชั่นดังกล่าวเข้าที่ จ.พัทลุง แต่ปาบึกเข้าที่ จ.นครศรีธรรมราช

‘ปาบึก’ แผลงฤทธิ์ ถล่มจุดชมวิวและร้านอาหารบริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เสียหายตลอดแนวชายหาด

อย่างไรก็ตาม สุรเจตส์มองว่า การเตรียมพร้อมรับมือกับพายุปาบึกถือว่า “ดีมาก” เนื่องจากระบบข้อมูลและเทคโนโลยีในการพยากรณ์ทำให้เห็นการก่อตัวของพายุล่วงหน้าได้เป็นสัปดาห์ จากนั้นมีการติดตามอย่างใกล้ชิด กระทั่งวันที่ 29-30 ธันวาคม 2561 จึงมั่นใจว่าพายุลูกดังกล่าวเข้าอ่าวไทยอย่างแน่นอน ทำให้เตรียมการในส่วนที่กระทำได้คือการแจ้งเจ้าหน้าที่ให้รับทราบ ส่วนการอพยพประชาชนยังต้องรอประมาณ 3 วัน ก่อนพายุเข้าถึงเริ่มเตรียมการตั้งรับ

“แน่นอนว่าเตรียมการได้ดี เพราะประชาชนทราบข่าว ติดตาม และการรับมือค่อนข้างทำได้ดี ความเสียหายต่อชีวิตค่อนข้างน้อย ถือเป็นโมเดลในการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตได้ เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับข่าวสารมาก สื่อมวลชนเองได้ร่วมกันแจ้งเตือน เนื่องจากคลื่นในทะเลแรงมาก ถ้าไม่ประกาศหยุดเดินเรือเฟอร์รี่ที่สมุย หรือเดินเรือในอ่าวไทยปุ๊บ เชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะเกินร้อยแน่นอน

“เครื่องมือในการพยากรณ์ถือว่าแม่นยำ ทำให้เราเห็นการก่อตัวของพายุได้ล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ แต่การปฏิบัติหรือการให้ความมั่นใจส่วนใหญ่อยู่ในห้วง 3 วันก่อนเกิดเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องการติดตามพายุ และหากดูจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาจำนวนมาก บางทีอาจไม่มั่นใจ ครั้งนี้สื่อมวลชนช่วยติดตามข่าว ทำให้ช่วยตระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเสียหาย การสูญเสียชีวิต ถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนเรื่องวาตภัยเป็นเรื่องธรรมชาติ”

แนวโน้มการเกิดพายุใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าตามการคาดการณ์ของเสรี ศุภราทิตย์

ประเมินความเปราะบางของพื้นที่ร่วมกับ ปชช.
ทำ ‘วิทยาศาสตร์’ ให้เป็นเรื่องง่าย-ใกล้ตัว

หนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อย่าง “เสรี ศุภราทิตย์” ฝากเตือนระวังพายุลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ เนื่องจากปีนี้เป็นเอลนิโญ รวมทั้งอุณหภูมิของกระแสน้ำอุ่นขึ้น ดังนั้นเดือนมกราคมจะมีความผันแปร โดยเฉพาะในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้ามีแนวโน้มว่าพายุลูกหนึ่งจะเข้าทางฝั่งตะวันออกของฟิลิปปินส์ ต้องติดตามว่าลูกนี้จะส่งผลกระทบกับไทยหรือไม่อย่างไร

“เมื่อพายุปาบึกผ่านพ้นไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟู ฉะนั้นต้องเน้นย้ำไปที่การทำให้ดีกว่าเดิม จะซ่อมหลังคา ติดตั้งเสาไฟฟ้าแบบเดิมไม่ได้แล้ว คุณต้องให้แข็งแรงกว่าเดิม เนื่องจากมีประสบการณ์แล้ว ดังนั้น ในขณะบริหารจัดการพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาย่อมมีความไม่แน่นอน แนวโน้มอากาศเปลี่ยนแปลง แนวโน้มอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เดือนมกราคมอาจมีพายุเข้ามาอีก จะเข้าโดยตรงหรือไม่ เราไม่รู้ แต่หลักของการบริหารความเสี่ยงแล้ว คุณต้องปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม”

กรณีการรับมือกับพายุ เสรีแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย ซึ่งต้องยอมรับว่าครั้งนี้ขณะเกิดภัยสามารถจัดการได้ดี โดยหัวใจหลักอยู่ที่ภาคประชาชน มิใช่รัฐ เนื่องจากการที่ประชาชนจะอพยพหมายถึงความเชื่อของข้อมูลข่าวสารที่เขามีอยู่ หากก่อนเกิดเหตุได้มีการศึกษา ทำการประเมิน สำคัญที่สุดคือการประเมินความเปราะบางของพื้นที่ร่วมกับประชาชน จะทำให้การอพยพ ตลอดจนจำนวนผู้อพยพเป็นระเบียบและทำได้มากขึ้น

“ขณะนั้นตัวเลขประชาชนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่อพยพ เพราะเขาเชื่อว่าส่วนใหญ่จะนำเด็ก ผู้หญิง คนชราออกไปก่อน แต่ผู้ชายยังอยู่ เราต้องทำให้เขาเห็นว่าหากยังอยู่ก็มีความเสี่ยงสูงมาก จึงต้องประเมินความเปราะบางของพื้นที่ สมมุติว่าสตอร์มเซิร์จเข้ามา 3-5 เมตร ควรสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเลยว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้เห็นภาพ แล้วเขาจะเชื่อในวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ขณะนี้วิทยาศาสตร์เข้าไปไม่ถึงเขา”

สิ่งสำคัญที่เสรีเน้นย้ำคือ การแปลงข้อมูลเป็นองค์ความรู้ โดยองค์ความรู้อยู่ที่การวิเคราะห์และประเมินความเปราะบางของพื้นที่ร่วมกับประชาชน หากมีแอพพลิเคชั่นที่ตรวจสอบพายุได้ แต่ไม่รู้ว่าความเร็วลม 65 คืออะไร เป็นอันตรายขนาดไหน จะดีกว่าหรือไม่หากนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อบ่งชี้ว่าน้ำทะเลจะขึ้นสูงเท่าไหร่ สามารถออกเดินเรือได้ไหม หรือน้ำจะพัดตัวประชาชนปลิวหรือไม่อย่างไร

ไขปม ‘ท้องฟ้าแดงเพลิง’ เกี่ยวอะไรกับพายุเข้า?

ไม่พูดถึงไม่ได้ สำหรับปรากฏการณ์ ท้องฟ้าสีแดงฉาน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพายุโซนร้อน “ปาบึก” จะขึ้นฝั่งที่ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 4 มกราคม

หลายรายออกมาระบุว่า เคยเห็นท้องฟ้าแบบนี้เมื่อครั้งก่อนพายุแฮร์เรียตถล่มแหลมตะลุมพุกปี 2505 บ้างก็ว่า ละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างเหลือเชื่อ

อย่างไรก็ตาม คนโบราณหรือชาวทะเลเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “อุกาฟ้าเหลือง” เชื่อกันว่าเป็นสัญญาณของพายุใหญ่ที่กำลังจะเข้ามา

หากว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว “บัญชา ธนบุญสมบัติ” นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ ให้ข้อมูลว่า ท้องฟ้าสีแดงโดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจะมีพายุและไม่มีพายุ ทว่าการที่ท้องฟ้าจะเป็นสีอะไรนั้นขึ้นอยู่กับการกระเจิงของแสงอาทิตย์ โดยแสงสีขาวจากดวงอาทิตย์ประกอบด้วยสีรุ้งทั้ง 7 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ผสมรวมกัน

ดังนั้น การที่ท้องฟ้ายามกลางวันมีสีฟ้าจึงเกิดจากแสงสีฟ้าหรือสีม่วงถูกกระเจิงไปในทุกทิศทาง พูดง่ายๆ คือแสงสีฟ้าและม่วงกระจายไปทั่วฟ้า ขณะที่สีแดง สีแสด และสีเหลืองส่วนใหญ่พุ่งตรงไปในทิศทางเดิม ทำให้ช่วงเวลาเช้าและเย็นสามารถเห็นท้องฟ้าสีส้มเหลืองได้เป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอนุภาคหรือของเล็กๆ ในอากาศขนาดประมาณ 1 ไมครอน มากพอสมควร แสงสีแดงจะถูกกระเจิงไปทั่วฟ้ามากขึ้น ทำให้ท้องฟ้ากลายเป็นสีส้มแดงมากขึ้นเช่นกัน

ภาพท้องฟ้าสีแดงช่วงก่อนพายุโซนร้อนปาบึกเข้าฝั่ง ชาวทะเลเรียกว่า ‘อุกาฟ้าเหลือง’ เชื่อว่าเป็นสัญญาณของพายุใหญ่ที่กำลังจะเข้ามา
ภาพถ่ายดาวเทียมวันที่ 3 มกราคม 2562 เวลาประมาณ 11.20 น.ของประเทศไทย (เวลาในภาพเป็นเวลาที่ญี่ปุ่น) จะเห็นว่า “แขน” ของพายุโซนร้อนปาบึกยาวมาก โดยแขนของพายุคือเมฆซีร์รัส (Cirrus)
ภาพถ่ายเมฆซีร์รัส บริเวณตลาดไท จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 เวลา 08.30 น. โดยบัญชา ธนบุญสมบัติ

“หากจะเกี่ยวกับพายุคือ พายุนั้นมีลมแรง ลมดังกล่าวจะไปหอบเอาอนุภาคหรืออะไรก็ตามที่มีขนาดเล็กๆ ขึ้นไปได้ ก็จะทำให้ท้องฟ้าในบริเวณนั้นกลายเป็นสีแดงได้เหมือนกัน สำหรับเหตุการณ์อื่นนอกเหนือจากพายุ เช่น ภูเขาไฟระเบิด สิ่งที่ชัดเจนคือ ภายหลังภูเขาไฟระเบิด บางครั้งจะมีการปลดปล่อยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกไป เมื่อแก๊สชนิดนี้ไปรวมกับไอน้ำในบรรยากาศเกิดเป็นหยดอนุภาคกรดซัลฟิวริกขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางราว 1 ไมครอน เรียกว่าละอองลอย (Aerosol) ซึ่งขนาดของมันอยู่ในช่วงที่ทำให้แสงสีแดงกระเจิงได้ดี ละอองลอยเหล่านี้อาจทำให้ท้องฟ้ามีสีส้มๆ แดงๆ ได้นานถึง 2-3 เดือน ดังเช่นกรณีการปะทุของภูเขาไฟพินาตูโบ

“เรื่องสีของท้องฟ้าค่อนข้างซับซ้อน โดยสรุปคือ ไม่จำเป็นว่าทุกครั้งที่ท้องฟ้าสีแดงแล้วจะเกิดพายุเสมอไป บางครั้งอาจไม่เกิดก็ได้ แต่พายุอาจทำให้ท้องฟ้ามีสีที่ดูคุกคามได้เช่นกัน” บัญชากล่าวทิ้งท้าย

ไม่ว่าท้องฟ้าสีแดงจะเกี่ยวเนื่องกับพายุอย่างไร ลมจะนิ่ง ทะเลจะสงบขนาดไหน หากมีเครื่องมือการพยากรณ์ที่แม่นยำ ข้อมูลผ่านการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เราคงจะผ่านพ้น “ภัยธรรมชาติ” ไปได้ ดังที่เคยผ่าน “ปาบึก” ครั้งนี้มาแล้ว

สภาพเสาไฟฟ้าหักกีดขวางการจราจรบริเวณถนนศรีวิชัย ต.ปากนคร อ.เมืองนครศรีธรรมราช วันที่ 5 มกราคม ภายหลัง ‘ปาบึก’ ขึ้นฝั่งบริเวณระหว่าง อ.ปากพนัง ความเร็วลมประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยกันทำความสะอาดชายหาดละไม เกาะสมุย หลังจากพายุพัดผ่านไป
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image