เปิดเรื่องจริง เขย่าประวัติศาสตร์ ขีดเส้นบรรทัดที่ถูกลืม สู่ปีที่ 3 ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’

สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน กับรายการทอดน่องท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3

กล้ามเนื้อน่องยังแข็งแรงพร้อมติดแฮชแท็ก #เที่ยวต่อไม่รอแล้วนะ สำหรับอดีตสองกุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ฝีปากคมมาก เพื่อนรักแต่ครั้งวัยเยาว์ที่คว้ากระเป๋าออกเดินทางร่วมกันอีกครั้ง เกิดเป็นรายการคุณภาพคับหน้าจออย่าง “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” เผยแพร่สู่สายตาแฟนานุแฟนผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี โดยครบรอบ 2 ปี พร้อมก้าวเข้าสู่ศักราชต่อไปด้วยใจระทึกพลัน

ก่อนจะถึงทริปหน้า มากรอเทปย้อนดูความเข้มข้นในรอบปีที่ผ่านมาซึ่งไม่ว่า ร้อน-ฝน-หนาว หรือฤดูกาลไหนๆ ก็มากมายด้วยสาระทางประวัติศาสตร์แบบไม่ขาดบันเทิงคดี เฉียบแหลมด้วยปมวิพากษ์จากประสบการณ์อันสั่งสมตั้งแต่เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี รั้วศิลปากร กระทั่งเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์แล้ว “อยู่ยาว” จนถึงวินาทีนี้

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ให้ความสำคัญกับแม่น้ำลำคลองและภูมิทัศน์ซึ่งสำคัญกับชีวิตคนทุกยุคสมัย

ฤดูร้อน : ขีดเส้นใต้ ‘บรรทัดที่ถูกลืม’

2561 แม้อบอ้าวตั้งแต่ต้นปียิงยาวถึงซัมเมอร์ แต่ขรรค์ชัย-สุจิตต์โนสน โนแคร์ สั่งการสตาร์ตรถมุ่งหน้าหลากพิกัด พร้อมพกปากกาเมจิกไว้ “ขีดเส้นใต้” ประวัติศาสตร์เน้นย้ำในบรรทัดที่สังคมไทยหลงลืม อาทิ “เสียงเหน่อ” เมืองสุพรรณ ที่อาจเคยถูกมองอย่างขำขันว่าแปร่งหู สุจิตต์ เปิดหลักฐานทางภาษาศาสตร์ฟันธงข้าง “คูเมืองสุพรรณบุรี” ว่าที่แท้เสียงเหน่อเยี่ยงนี้คือ “สำเนียงหลวง” ยุคกรุงศรีอยุธยา เหลือร่องรอยอยู่ในบทเจรจาโขน ขอคนสุพรรณเว้าจาได้อย่างภาคภูมิ ไม่ต้องเขิน

ยังมีเรื่องราวของ “เพชรบุรี” ที่ถูกมองข้ามด้วยระบบวิธีคิดในการศึกษาที่เน้นแต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งคู่จึงเชิญศาสตราจารย์ภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว มาเล่านิทานท้องถิ่นเรื่อง “ตาม่องล่าย” โดยมีฉากหลังคือโบราณสถานทุ่งเศรษฐี สร้างความรู้ความเข้าใจให้ตีความในประเด็น “การค้าข้ามคาบสมุทร” ในบริเวณนี้ที่มีเจ๊กกับแขกซึ่งไม่ใช่คำดูแคลน หากแต่หมายถึง “ผู้มาเยือน” ทำการสร้างความเจริญเป็นบ้านเมือง และรัฐในที่สุด

Advertisement
ทอดน่องเพชรบุรี มีวิทยากรกิตติมศักดิ์และนักวิชาการอาวุโสร่วมเดินทาง อาทิ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร และศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชาวเพชรบุรีตัวจริง

นอกจากนี้ สองกุมารสยามยังกวักมือชวน ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ฉายาอาจารย์โบราณคดีเดินเท้า 2 ปี มาขุดลึกถึงการมีอยู่ของ “อยุธยา” ในย่านกรุงเทพฯ ในตอน “ชุมชนเมือง ยุคต้นอยุธยา 500 ปีที่กรุงเทพฯ คลองบางหลวง” ชวนคุยท่ามกลางเสียงเรือหางยาว ชี้ชวนให้ชมหลักฐานด้านศิลปกรรมยุคกรุงเก่าตบท้ายด้วยถ้อยความในวรรณคดีโบราณที่ย้ำชัดว่าย่านดังกล่าวคือชุมชนใหญ่ที่เก่าแก่สุดในกรุงเทพเมืองฟ้าอมร

จากนั้น ไปเที่ยวทะเลที่ “เกาะสีชัง” โดยเรียนเชิญแขกกิตติมศักดิ์ อย่าง ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ชี้ชวนให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งโปรดฯให้สร้างพระจุฑาธุชราชฐานสำหรับเป็นที่ประทับ “เปลี่ยนอากาศ” ของเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พร้อมเอ่ยวาทะที่ต้องคว้าสมุดมาจด ว่า “ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจในรากเหง้าของตัวเอง การปลูกต้นไม้ ถ้ามีรากแก้วจะยั่งยืนเติบโต แต่ถ้ามีแค่รากฝอย โดนลมก็ล้มได้ทั้งต้น ประวัติศาสตร์ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันและอนาคต”

‘กิเลนประลองเชิง’ ร่วมทอดน่องลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งเป็นบ้านเกิด

อีกหนึ่งแขกพิเศษของรายการ คือ ประกิต หลิมสกุล หรือ กิเลน ประลองเชิง แห่งคอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ ซึ่งมาร่วมเดินทางในฐานะเจ้าถิ่น ในตอน “สมุทรสงคราม น้ำแม่กลอง เส้นทางเชื่อมสองมหาสมุทร สุดยอด Siamese Twins อิน-จัน” แฝดสยามชาวแม่กลองซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก โดยขรรค์ชัย-สุจิตต์ต่างหนุนให้ภาครัฐเอาใจใส่แหล่งน้ำคูคลองและภูมิทัศน์โดยรอบเพราะเป็นที่ตั้งชุมชนเก่าแก่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่นมาถึงปัจจุบัน

Advertisement

ฤดูฝน : ทวารวดี 4.0 สังคมต้องรู้เรื่องจริง

ครั้นเข้าสู่ฤดูฝน ขรรค์ชัย-สุจิตต์ กางร่มไปทอดน่องหลากดินแดนในวัฒนธรรมทวารวดี อาทิ นครปฐมโบราณ เปิดตำนาน “พญากง-พญาพาน” ข้างคูเมืองเก่าที่ปัจจุบันเรียกว่า คลองพญากง เชื่อมโยงโบราณวัตถุสถานชี้ชัดถึงความเก่าแก่นานกว่าพันปีก่อน โดยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่ใหญ่ที่สุดเมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมบนเส้นทางการค้าโลกยุคแรกเริ่มเมื่อราว พ.ศ.1000

จากนั้น ยังเดินทางไปยัง “เขางู” ราชบุรี ที่ทำเอาสองกุมารสยามออกอาการ “มึน” หนักมาก เนื่องจากพบว่ามีการนำข้อความจาก “กระเบื้องจาร” ซึ่งเป็นข่าวใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อนมาใช้ทั้งที่รัฐบาลยุคนั้นแถลงชัดว่าเป็นประวัติศาสตร์ปลอม ของปลอม จารึกปลอม จึงขอให้กรมศิลปากรช่วยลงพื้นที่คุยด่วน เพราะสังคมยุค 4.0 ต้องรู้เรื่องจริง ไม่ใช่ Fake News

มุมหนึ่งของโบราณสถานในเมืองคูบัว ราชบุรี ที่ขรรค์ชัยชวนสุจิตต์ปั่นจักรยานไปกลับหลายสิบกิโลจากบ้านในตัวเมืองเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน
พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทยุคทวารวดีที่เขางู ราชบุรี
อนุสาวรีย์พญากง จากตอน “เมืองนครปฐมโบราณ ใหญ่สุดนับพันๆปีมาแล้ว”
แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งซ้ายคือคลองเตย ฝั่งขวาคือบางกะเจ้า ภาพมุมสูงจากโดรน ‘มติชนทีวี’ ซึ่งมีให้ชมจุใจในทุกตอน

ถัดไป ถึงคิวพื้นที่สีเขียวอย่าง “บางกะเจ้า” ที่ทั้งคู่ควงกันไปชมบรรยากาศท่าเรือกำนันขาวอันขวักไขว่ แล้วเล่าเรื่องราวลึกซึ้งย้อนอดีตถึงเมืองพระประแดงเก่า ว่าเดิมอยู่ฝั่งตรงข้าม คือคลองเตย ก่อนย้ายมายังพื้นที่ปัจจุบันซึ่งมีความเก่าแก่ไปไกลถึงยุคกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานด้านศิลปกรรมที่วัดบางกระสอบ นอกจากนี้ ยังเสนอที่มาของชื่อบางกะเจ้าว่าไม่น่าจะหมายถึงนกกระยางอย่างที่เอกสารทางการเผยแพร่ แต่น่าจะหมายถึง ปอกระเจาซึ่งเป็นความหมายที่ 2 ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมมากกว่า

ฤดูหนาว : ค้นปริศนา เขย่าประวัติศาสตร์ เปิดสัมพันธ์ล้านนา-กรุงเทพฯ

ส่งท้ายปีด้วยฤดูหนาวที่แดดเจิดจ้า ไม่แพ้ประเด็นท้าทายของ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ที่มีต่อประวัติศาสตร์ไทยในบางช่วงบางตอน อาทิ ที่มาของประเพณีลอยกระทง ซึ่งสุจิตต์ยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้าน แต่อยากให้สังคมรับรู้ข้อเท็จจริงว่าไม่ได้มาจากสุโขทัย เช่นเดียวกับนางนพมาศซึ่งเป็นวรรณกรรมเขียนใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งคู่พาแฟนๆ รายการไปดึ่มด่ำบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามวัดพุทไธสวรรย์ ใกล้กับ “เวียงเหล็ก” ของพระเจ้าอู่ทอง แล้วไปต่อที่ป้อมเพชร ก่อนวกกลับมายังสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

“อย่าไปหลอกเขาว่าลอยกระทงในตระพังสุโขทัย เราต้องพูดความจริงกัน ว่ามันเกิดในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่มีศูนย์กลางอยู่อยุธยา” สุจิตต์ยิงหมัดตรง พร้อมเล่าที่มาของลอยกระทงว่ามีรากเหง้าจากการขอขมาผีน้ำผีดิน

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ พาแฟนๆ รายการชมพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ แม่ริม เชียงใหม่

จากนั้น หอบเสื้อกันหนาวขึ้นเหนือไปยัง พระตำหนักดาราภิรมย์ ที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งทั้งสวยงามและมากมายด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้เชื่อมโยงสัมพันธ์ล้านนา-กรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 5 เชียงใหม่หวังกระชับสัมพันธ์เพื่อสู้การกระทบกระทั่งกับอังกฤษที่ปกครองพม่า ณ ห้วงเวลานั้น

ปิดท้ายปีด้วยประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีที่ขรรค์ชัย-สุจิตต์พยักหน้าเห็นตรงกันว่ายังมีเรื่องราวให้ศึกษาอีกไม่รู้จบ โดยเดินทางไปยัง “พระราชวังเดิม” ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ ย่านบางกอกใหญ่ ชมท้องพระโรงอันโอ่อ่า สักการะพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน พิจารณากระดูกวาฬ พร้อมเปิดข้อมูลประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเช่นเคย

“พื้นที่กรุงธนบุรีที่เรารู้จักในวันนี้ เดิมเป็นเมืองมาก่อนแล้ว ต่อมาพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงโดยมีกำแพง 2 ฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก พระเจ้าตากเป็นลูกชาวจีน มีอาชีพค้าขายทางเกวียน เมื่อสบโอกาสก็รับราชการในหัวเมืองไกล คือ เมืองตาก เมืองระแหง และได้เป็นเจ้าเมืองตาก ในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 ระหว่างพม่าล้อมกรุง ได้รวบรวมไพร่พลต่อสู้จนปรากฏชื่อเป็นนายทัพที่เข้มแข็ง ต่อมาพากันตีแหกพม่าไปยังหัวเมืองฝั่งตะวันออก เริ่มหน้าใหม่ให้ประวัติศาสตร์ของตนเอง และของไทย”

นอกจากนี้ ยังทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอแนะว่า ควรมีการเปิดพระราชวังเดิมให้ประชาชนเข้าชมได้อย่างอิสระ ซึ่งจะสร้างคุณค่ามหาศาลให้กับการศึกษาไทยรวมถึงการท่องเที่ยวด้วย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ทอดน่องท่องเที่ยวตลอดปี 2561 พร้อมเปิดซีซั่นใหม่ในปีนี้ด้วยเนื้อหา สาระ ที่เข้มข้น แปลกใหม่เช่นเดิม และยิ่งไปกว่าเดิมในทุกๆ เดือนนับแต่นี้

ซักซ้อมก่อนเข้ารายการ ที่ท้องพระโรง พระราชวังเดิม ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร
เบื้องหลังรายการ ขณะถ่ายทำที่พระราชวังเดิม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image