ตั้งโจทย์-ไขปัญหา ว่าด้วยเรื่อง ‘คอร์รัปชั่น’ ในไทย

แม้ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยเมื่อปี 2017 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) จะขยับขึ้นจากปี 2016 จาก 35 คะแนน อันดับที่ 101 เพิ่มเป็น 37 คะแนน อันดับที่ 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ก็ตาม

แต่เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมแล้ว ดูเหมือนคะแนนด้านความโปร่งใสของไทย นับว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ด้านหนึ่งยังสะท้อนว่าปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยเเทบไม่ลดลงเลย ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เรื่องของ “ความโปรงใส” “การทุจริต” และ “คอร์รัปชั่น” จะถูกตั้งคำถาม รวมถึงถูกหยิบยกมาถกแถลงบนเวทีวิชาการหลายต่อหลายครั้ง

รวมถึงวงเสวนา “Thammasat Resolution Talk : ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ครั้งที่ 3” ที่ว่าด้วยเรื่อง “การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น” ที่เปิดเวทีกันช่วงบ่าย ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Advertisement

เริ่มต้นที่ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และอดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่ออกตัวว่าไม่ใช่นักวิชาการ แต่ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปี จากการสังเกตการณ์และตั้งคำถามกับสังคม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการก่อตั้งและเป็นกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย ทำให้เขามั่นใจว่า ปัจจุบันคอร์รัปชั่นไม่ได้น้อยลง แต่ยังเพิ่มขึ้นด้วย

ถามว่าสาเหตุมาจากการปฏิวัติหรือไม่ เขาตอบอย่างมั้นใจว่า “ไม่ใช่”

บรรยง พงษ์พานิช

พร้อมเน้นย้ำว่า “ไม่ว่าระบอบไหนก็มีการคอร์รัปชั่นทั้งนั้น เเต่เพราะเครือข่ายคอร์รัปชั่นมีนวัตกรรมไม่หยุดยั้ง ขณะที่เครือข่ายต่อต้านค่อนข้างเชื่องช้าไม่ได้พัฒนาตัวเอง ฉะนั้น จึงพอจะตอบได้ว่าการคอร์รัปชั่นไม่ลดลงเลย แต่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำและหลังเลือกตั้งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มันก็คงเพิ่มไปอีก

Advertisement

เป็นการเปิดประเด็นจากผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย”

บรรยงยังวิเคราะห์ต่อว่า คอร์รัปชั่นคือการใช้อำนาจรัฐไปแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่ชอบให้แก่ตนเองและพรรคพวก และยังแบ่งการคอร์รัปชั่นออกเป็น 3 ประเภท

1.ปล้นเอาดื้อๆ จากรัฐ เป็นการปล้นเอาทรัพยากรรัฐมาเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกโฉนดที่ดินสาธารณะ การโกงภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างที่เคยเป็นข่าวกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งเยอะมากแต่เราไม่ค่อยรู้สึกกัน พราะเป็นการโกงที่เราไม่เห็นซากเหมือนกับการโกงถนนก็ยังมีถนนให้เห็นอยู่ และเอาเข้าจริงกว่า 4,000 ล้านบาท เฉลี่ยเเล้วก็เหมือนเราโดนโกงกันคนละ 80 บาท เป็นต้น

2.การโกงที่หากินกับกฎระเบียบรัฐ จากการที่กฎระเบียบรัฐมีรายละเอียดค่อยข้างเยอะ อาจทำให้ข้าราชการบางคนที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวก เข้ามาทำให้ไม่สะดวกเพื่อที่จะได้มีการหยอดน้ำมันหล่อลื่น หรือเอกชนบางคนไม่ต้องการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่หยุมหยิมมากเกินไป

ซึ่งเรามีกฎระเบียบ หรือกฎหมายที่บังคับใช้กับประชาชนอยู่ประมาณ 120,000 ฉบับ มีใบอนุญาตในระบบราชการทั้งหมดราว 3,000 ใบอนุญาต ทั้งที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี แนะนำว่าประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ควรเกิน 300 ฉบับ ซึ่งของเหล่านี้เป็นที่มาของการเรียกน้ำร้อนน้ำชา หรือการคอร์รัปชั่นของกลุ่มนี้

3.กลุ่มซื้อหาความได้เปรียบทางการแข่งขัน อาจเป็นกลุ่มที่มีปริมาณไม่มากที่สุด แต่จำนวนเงินและความเสียหายที่ก่อให้กับประเทศมากที่สุด ทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งตามทฤษฎีบอกว่า ถ้าคุณโกง 100 ล้านบาท ความเสียหายที่เกิดขึ้นคือ 1,000 ล้านบาท เพราะมันจะเกิดความบิดเบือนเต็มไปหมด ซึ่งกลุ่มนี้น่ากลัวมากและมีการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง โดยการซื้อหาความได้เปรียบทางการแข่งขัน จะมีตั้งแต่รูปแบบที่ซื้อหาเพื่อจะเป็นผู้เล่นเจ้าเดียว รูปแบบซื้อหาการบริการทางเศรษฐกิจที่ได้เกินราคาที่สมควร หรือการล็อกสเปกการขายสินค้าให้ภาครัฐ ซึ่งสร้างความเสียหายในระบบอย่างที่ประเมินค่าไม่ได้และมากกว่าที่เขาได้ไปด้วยซ้ำ

บรรยงอธิบายว่า นอกจากนี้ การคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น มีกลยุทธ์ที่เห็นอยู่หลายกลยุทธ์ด้วยกัน อาทิ กลยุทธ์ “ได้กระจุกเสียกระจาย” เป็นการคอร์รัปชั่นที่คนเสียหายกระจายไปทั้งประเทศและคนที่เสียหายไม่รู้สึกตัว เช่น ทำโครงการสร้างถนนเข้าไปในหมู่บ้าน 50 หลังคาเรือน ถนนควรจะมีมูลค่า 50 ล้านบาท แต่เพราะต้องการคอร์รัปชั่นก็ทำงบโครงการไป 100 ล้านบาท เหลือเงินเข้ากระเป๋า 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่มาจากคนทั้งประเทศ 60 ล้านคน เฉลี่ยคนละ 80 สตางค์ ก็เลยไม่มีคนเดือดร้อน ส่วนประชากร 50 หลังคาเขาได้ประโยชน์และรู้สึกชื่นชม ยกย่องคนที่คอร์รัปชั่นด้วยซ้ำ

ถ้าเคยได้ยินประโยคที่ว่า “โกงไม่เป็นไร ขอให้ทำบ้าง” บรรยงบอกว่า มาจากสาเหตุนี้เอง

บรรยงบอกอีกว่า กลยุทธ์ต่อมาที่ใช้มากในระยะหลังคือกลยุทธ์ “ได้วันนี้ เสียวันหน้า” เป็นการผลักความเสียหายไปอยู่ไกลๆ แล้วให้ประโยชน์ตกใกล้ๆ เพื่อจะให้ไม่มีคนเห็น เช่น การทุจริตจากการลงทุนขนาดใหญ่ อย่างกรณีจำนำข้าวก็มีการพูดถึงอยู่ว่าเป็นการผลักความเสียหายออกไปไม่ให้มันปรากฏในระยะสั้น คนก็จะไม่ค่อยรู้สึกเดือดร้อนและมองเห็นประโยชน์ที่เกิดในระยะสั้นมากกว่า

“และกลยุทธ์ที่น่ากลัวมากขณะนี้ คือการคิดโครงการขึ้นมาเพื่อการคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ เป็นการพัฒนาของคอร์รัปชั่น ที่ทางเศรษฐศาสตร์ เป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้สร้างผลประโยชน์เลย แต่มาเอาผลประโยชน์ไป กระบวนการนี้ขยายตัวยิ่งใหญ่ เป็นการคิดโครงการขึ้นมาเพื่อการคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ โดยที่ไม่ควรจะมีโครงการเลยด้วยซ้ำ ตรงนี้น่ากลัวเเละมีผลเสียหายเยอะ” บรรยงอธิบาย

พร้อมทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นคงทำไม่ได้ ตราบใดที่ผลประโยชน์จากคอร์รัปชั่นยังสูงกว่าโทษที่ได้รับ คูณกับโอกาสที่จะถูกจับได้

ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์

ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงงานของ โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่บอกว่า ต้นเหตุของปัญหาการการคอร์รัปชั่นมีด้วยกัน 3 อย่าง คือ 1.การผูกขาด ทั้งการผูกขาดทางอำนาจ ผูกขาดทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น 2.การมีกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน สามารถใช้ดุลพินิจในการให้คุณให้โทษได้ก็เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นได้ 3.ระบบที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือการแสดงสำนึกของความรับผิดชอบ

“ฉะนั้นคอร์รัปชั่นในสังคมจะมีมากถ้ามีเรื่องเหล่านี้มาก” ผศ.ดร.ธานีอธิบาย

อย่างไรก็ดี เรื่องสำนึกและความรับผิดชอบของสังคม หรือความดีมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์และเวลา ดังนั้น ถ้าเราต้องการสังคมสาธารณะที่ดีเราจะพึ่งพาความดีส่วนบุคคลไม่ได้

พร้อมยกตัวอย่าง กรณีป้าทุบรถที่คนส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ตลาด หรือได้รับผลประโยชน์จากการมีตลาดจะมองว่ามีตลาดก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะเวลาที่อยู่ใกล้ผลประโยชน์ หรือสังคมคนสนิท ความดีในเชิงเคารพกฎหมายจะไม่ทำงาน ซึ่งกรณีนี้คนวงนอกจำนวนมากต่อว่าที่ไม่เป็นไปตามกติกาที่กำหนด

“ดังนั้น ถ้าเราอยากให้สังคมดีขึ้นในอนาคต ต้องยอมรับความจริงว่าความดีเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์และเวลา เพราะความดีไม่ใช่เรื่องง่ายมันเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมาก” ผศ.ดร.ธานีกล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “คอร์รัปชั่น” กับ “ประชาธิปไตย”

เพราะหากถามว่าในระบอบประชาธิปไตยมีคอร์รัปชั่นหรือไม่ ผศ.ดร.ประจักษ์บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่อนว่า “มี” เพราะระบอบประชาธิปไตยไม่ได้หมายว่าจะปลอดคอร์รัปชั่นเลย แต่ความสัมพันธ์ของคอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตย เป็นความสัมพันธ์ที่ต้องดูระยะเวลา คือ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่นสังคมที่เป็นเผด็จการมานาน อยู่ภายใต้การผูกอำนาจเป็นอำนาจนิยม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ช่วงแรกจะยังมีเรื่องคอร์รัปชั่นอยู่และอาจจะสูงด้วย

“มันเป็นช่วงที่กฎกติกายังไม่แน่นอน องค์กรตรวจสอบเพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชั่นยังไม่สามารถถูกสร้างขึ้นมาได้หลังอยู่ภายใต้เผด็จการมายาวนาน เนื่องจากคนที่มีอำนาจอยู่แต่เดิม เขาต้องพยายามที่จะกลับมามีอำนาจ ฉะนั้น ต้องมีการต่อสู้ในช่วงนี้เพื่อไม่ให้มีอำนาจในการตรวจสอบขึ้นมา ดังนั้น ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย จะยังไม่ใช่ช่วงที่สังคมจะปลอดจากคอร์รัปชั่นหรือสู้กับคอร์รัปชั่นได้ดี แต่ถ้าเราปล่อยให้ประชาธิปไตยทำงานโดยไม่มีการแทรกแซงหรือทำลาย ระบบจะเริ่มทำงานและโดยธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยถ้ามันทำงานได้ดี ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง ประชาชนมีส่วนร่วม สื่อมวลชนมีเสรีภาพ อำนาจจะกระจายมากกว่ากระจุก มันยากที่จะมีใครผูกอำนาจได้กลุ่มเดียว เมื่อเวลาผ่านไประบอบประชาธิปไตยที่เริ่มลงตัวหรือมีเสรีภาพแล้ว งานวิจัยชี้ว่าคอร์รัปชั่นจะลดลง”

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ผศ.ดร.ประจักษ์ยังให้แนวคิดไว้ว่า การแก้คอร์รัปชั่นนั้นสังคมไทยต้องเปลี่ยนมายเซตก่อน แล้วเรื่องอื่นตามมาทีหลัง คือ ถ้าเราเปลี่ยนมายเซตได้ถึงจะออกแบบสถาบันทางการเมือง ออกแบบกลไกและกฎหมายที่เกิดพลังมาแก้ไข แต่ถ้ามายเซตยังไม่เปลี่ยน คิดว่าลำบาก โดยเฉพาะมายเซตของที่ว่า ต้องมีอำนาจเด็ดขาดถึงจะแก้คอร์รัปชั่นได้

“สังคมไทยเชื่อว่าระบอบปกติมีคอร์รัปชั่นสูงและจะแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดถึงจะกล้าทุบโต๊ะและแก้ปัญหาได้ แต่ผมเชื่อว่าเรามีบทเรียนมาแล้วแต่เราไม่ได้เรียนรู้ว่า อำนาจที่มีส่วนใหญ่ใช้เพื่อปกป้องพวกพ้องมากกว่า แล้วยังใช้เล่นงานคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

พร้อมยืนยันว่า ถ้าไม่เปลี่ยนมายาคติตรงนี้ สังคมไทยก็จะวนอยู่กับระบอบแบบไทยไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image