คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน : คนอินเดียหลากหลาย ‘ไม่อารยัน’ อารยัน ไม่ใช่คนพื้นเมืองอินเดีย

ชาวทมิฬ อินเดียใต้ (ไม่อารยัน) แต่เป็นต้นทางส่งวัฒนธรมสำคัญๆ ให้อุษาคเนย์ เช่น อักษร, รามายณะ, มหาภารตะ, ปราสาทหิน ฯลฯ (ภาพโดย Madhusudanan Parthasarathy จาก https://www.flickr.com)

“อารยันไม่ใช่ชนพื้นเมืองของอินเดีย และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็ไม่ใช่ของชาวอารยัน”

เป็นผลวิจัยในโครงการวิจัย “โครงสร้างพันธุกรรมของบริเวณภาคกลางและใต้ของทวีปเอเชีย” ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 โดยมีนักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอย่าง เดวิด ไรคห์ ร่วมกับนักวิชาการสาขาต่างๆ เช่น นักโบราณคดี, นักประวัติศาสตร์, นักมานุษยวิทยา รวม 92 คน

ผลการวิจัยชิ้นนี้ระบุว่ามีคนหลายกลุ่มอพยพโยกย้ายจากที่ต่างๆ ไปตั้งหลักแหล่งในอินเดีย ได้แก่

คนกลุ่มแรก จากแอฟริกาเข้าไปอยู่ในอินเดีย ราว 65,000 ปีที่แล้ว แล้วกลายเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม

Advertisement

คนกลุ่มที่สอง มีการอพยพครั้งใหญ่ระหว่าง 9,000-6,000 ปีที่แล้ว จากบริเวณซากรอส (Zagros) อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน เข้าไปในอินเดีย ซึ่งเป็นชนกลุ่มแรกในโลกที่รู้จักการเลี้ยงแพะ พร้อมกับนำเทคโนโลยีการปศุสัตว์เข้าไปด้วย

คนกลุ่มนี้ที่เข้าไปอยู่ในอินเดียบริเวณเมืองโธลาวีระ รัฐคุชราต ซึ่งต่อไปจะกลายเป็น “แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ” ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง

การผสมผสานระหว่างคนทั้งสองกลุ่มนี้เองที่สร้างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุขึ้นมา

Advertisement
ฝีมือช่างอารยันทำประติมากรรมยังมีเค้ากรีกเต็มพิกัด (จากซ้าย) พระพุทธรูปประทับนั่ง พบที่เมืองตักห์ติบาไฮ ประเทศปากีสถาน (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี), พระโพธิสัตว์ ศิลา (พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา), ที่ประทับตรายุคก่อนอารยัน พบที่เมืองโมเหนโช-ดาโร อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ

คนกลุ่มที่สาม คือชาวอารยันเริ่มอพยพเข้าไปอินเดียเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว พร้อมกับนำกิ่งหนึ่งของภาษาอินโด-ยูโรเปียน คือภาษาสันสกฤต (ยุคแรก) และความรู้ในการควบคุมม้า รวมถึงขนบธรรมเนียมใหม่ๆ เข้าไปด้วย เช่น พิธีกรรมบูชายัญ อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมพระเวทที่จะสืบทอดและกลายรูปเป็นศาสนาฮินดูในภายหลัง

คนอุษาคเนย์ งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่ามีผู้อพยพอีกหลายกลุ่มที่เดินทางเข้ามาอยู่ปะปนด้วยในอินเดีย รวมถึงกลุ่มคนพูดตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (เช่น ตระกูลภาษามอญ-เขมร) ที่เดินทางไปจาก “อุษาคเนย์” ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยสรุป อารยันไม่ใช่คนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดีย แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้าอินเดียเหมือนคนอีกหลายกลุ่ม ซึ่งใหญ่บ้าง ไม่ใหญ่บ้าง อพยพเข้าไปทั้งก่อนและหลังอารยัน แล้วผสมปนเปกันจนหาไม่ได้อารยันแท้

 


 

[Getty Images]

ประชากรอินเดียมีความหลากหลายเหมือนพิซซ่า

“เพื่อให้เข้าใจประชากรของอินเดียได้ง่ายดายมากขึ้น ลองจินตนาการถึงพิซซ่าที่มีชาวอินเดียรุ่นแรกเป็นแผ่นแป้ง หรือเป็นฐานรากของคนอินเดียปัจจุบัน เพราะจากผลการศึกษาพบว่าราว 50-65% ของบรรพบุรุษชาวอินเดียนั้นสืบพันธุกรรมมาจากชาวอินเดียรุ่นแรกเหล่านี้นี่เอง

ชั้นถัดมาบนหน้าพิซซ่า คือ ซอสที่ละเลงจนทั่ว อันหมายถึงชาวฮารัปปา

ต่อมาเป็นชีสและท็อปปิ้งอื่นๆ เช่น ผู้ใช้ภาษาออสโตรเอเชียติก ชาวอารยันผู้ใช้ภาษาอินโด-ยูโรเปียน และผู้ใช้ภาษาตระกูลทิเบต-พม่าที่อพยพเข้ามาในภายหลัง” [BBC Thai]


อารยัน ในชาตินิยมฮินดูของอินเดีย

“ชาวอารยันคือกลุ่มชนดั้งเดิมที่สร้างสรรค์อารยธรรมฮินดูในอินเดีย และยังเดินทางออกไปพิชิตดินแดนต่างๆ”

ข้อความยกมานี้เป็นแนวคิดของกลุ่มชาตินิยมฮินดูปัจจุบันในประเทศอินเดีย

เมื่อพรรคชาตินิยมฮินดู “ภารติยะ ชนะตะ” (BJP) ก้าวเข้ามามีอำนาจตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แนวคิดชาตินิยมแบบนี้ดูจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยอ้างว่าชาวอารยันเป็นผู้ก่อสร้างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (หรืออารยธรรมฮารัปปา) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอารยธรรมของคัมภีร์พระเวท อันเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดในศาสนาฮินดู ที่เคยเจริญเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว อยู่ในประเทศปากีสถานและทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ร่วมสมัยกับอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมีย


“อารยัน” นักวิชาการทั่วไปหมายถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน

เป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงชนชาติใดชนชาติหนึ่งเท่านั้น เพราะภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน ครอบคลุมถึงทั้ง ภาษาละติน ที่เป็นบรรพชนให้กับอีกหลากหลายภาษาในยุโรป และ ภาษาสันสกฤต ที่มีอิทธิพลอย่างสูงทั้งในภูมิภาคเอเชีย ใต้, เอเชียกลาง, และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความแพร่หลายของภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนนี่เอง ที่ทำให้ในยุคหนึ่งชาวยุโรปได้มองพวกอารยันในฐานะเผ่าพันธุ์ชั้นปกครองที่พิชิตยุโรป

ดังนั้นเมื่อนักชาตินิยมใช้ว่าอารยัน พวกเขาจึงมักกำหนดขอบข่ายของความเป็นอารยันให้มีความหมายคับแคบอยู่เฉพาะกับ “ชาติ” ที่ตนเอง “นิยม” เท่านั้น

[ตัวอย่างชัดเจนก็คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้จำกัดความหมายของอารยันไว้ในวงแคบๆ ว่าหมายถึงเฉพาะชาวนอร์ดิกผิวขาว และมีดวงตาสีฟ้า เป็นต้น]


อารยะ, อารยัน

“อารยะ เป็นคําที่เขียนโดยทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า อารยัน ชาวเปอร์เซียโบราณก็ใช้ชื่อนี้ และอยู่ในรูปคําว่า “อิหร่าน” ในขณะที่คําว่า ไอร์ ซึ่งเรียกดินแดนปลายสุดทางทิศตะวันตกที่ชนชาวอินโด-ยูโรเปียนเคยไปถึงในยุคโบราณก็มาจากรากศัพท์เดียวกัน

สินธุ, ฮินดู

แม่น้ำสินธุซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ไหลผ่านประเทศปากีสถาน เป็นแหล่งกําเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่สุด ทั้งยังให้นามเป็นชื่อประเทศอินเดียด้วย

ชาวอินเดียรู้จักแม่น้ำสายนี้ในชื่อ สินธุ แต่ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ไม่อาจออกเสียงตัว ส ที่นําข้างหน้าได้จึงเรียกว่า ฮินดู คํานี้แพร่จากชาวเปอร์เซียไปสู่กรีซ ชาวกรีกรู้จักชื่ออินเดียทั้งประเทศในชื่อของแม่น้ำสายที่ไหลอยู่ทางทิศตะวันตก

ชาวอินเดียโบราณเรียกชื่ออนุทวีปของตนว่า ชมพูทวีป (ทวีปที่มีต้นชมพู่) หรือ ภารตวรรษ (ดินแดนของโอรสท้าวภารตะ จักรพรรดิในนิยาย) ชื่อหลังนี้รัฐบาลอินเดียปัจจุบันมีส่วนเป็นผู้รื้อฟื้น

เมื่อพวกมุสลิมรุกรานอินเดีย ชื่อที่ชาวเปอร์เซียเคยใช้เรียกอินเดียได้กลับมาสู่ความนิยมอีกในชื่อ ฮินดูสถาน และพลเมืองที่นับถือลัทธิศาสนาดั้งเดิมของภูมิภาคนี้มีชื่อเรียกว่าฮินดู

[ปรับปรุงจากหนังสือ อินเดียมหัศจรรย์ แปลจาก The Wonder that was India ของ A.L. Basham ศาสตราจารย์ด้านอารยธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กรุงแคนเบอร์รา (กาญจนี ละอองศรี บรรณาธิการแปล) สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์เผยแพร่ในวาระพิเศษ พ.ศ. 2560 หน้า 2, 40]


ประวัติศาสตร์ที่เป็นยิ่งกว่าเรื่องเก่าแก่แต่หนหลัง

สำหรับกลุ่มชาตินิยมฮินดูแล้ว การค้นพบเหล่านี้ยากจะรับได้โดยเฉพาะเรื่องที่บอกว่าชาวอารยันไม่ได้ก่อกำเนิดขึ้นในอินเดีย และอารยธรรมฮารัปปานั้นมีอยู่ก่อนที่พวกอารยันจะเข้ามาถึงเนิ่นนาน

เพราะหากพวกเขายอมรับทั้งสองเรื่องนี้ก็จะหมายความว่าวัฒนธรรมอารยัน/พระเวทไม่ใช่กระแสธารหลักที่ก่อกำเนิดอารยธรรมแห่งอินเดีย และพวกเขามีแหล่งกำเนิดมาจากที่อื่น แต่มิใช่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาภาคภูมิใจ

พวกเขารณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาและนำข้อความที่กล่าวถึงการอพยพเข้ามาของชาวอารยันออกไป

ส่วนในทวิตเตอร์ ก็มีบัญชีผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่มักโพสต์เนื้อหาประวัติศาสตร์เชิงอนุรักษนิยม พยายามโจมตีนักประวัติศาสตร์ชั้นนำของอินเดียผู้ยังคงยืนหยัดในทฤษฎีชาวอารยันอพยพ

ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดเรื่องความหลากหลายทางประชากรยังไม่น่าอภิรมย์สำหรับกลุ่มชาตินิยมฮินดู เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับเชื้อชาติบริสุทธิ์อย่างมาก

พราหมณ์รุ่นเยาว์กำลังฝึกตนเพื่อเป็นนักบวชในกรุงพาราณสี [Getty Images]

ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ จากความกลมเกลียวในความแตกต่าง

นี่จึงไม่ใช่แค่การถกเถียงเรื่องทฤษฎีเท่านั้น รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งมาจากพรรคบีเจพี มีแนวคิดชาตินิยมฮินดู ของรัฐหรยาณา ที่อยู่ติดกับกรุงนิวเดลี กำลังเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่ออารยธรรมฮารัปปาให้เป็น “อารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำสุรัสวดี” และเนื่องด้วย “สุรัสวดี” เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวทที่เก่าแก่ที่สุด นี่จึงเป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างอารยธรรมฮารัปปาและอารยัน

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำให้การถกเถียงจบลง พร้อมทั้งกระทบกับความภาคภูมิใจของฮินดูชาตินิยมอย่างแรง ทวิตเตอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตี โดยกล่าวถึง ศาสตราจารย์ไรคห์ และศาสตราจารย์สุภัทรมาเนียน สวามี สมาชิกรัฐสภา ผู้เคยเป็นอาจารย์สอนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ร่วมกันเขียนรายงานนี้ว่า “นี่เป็นเรื่องโกหกคำโต และเป็นการกระทำอันลวงโลกจอมปลอมของทั้งสองคน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่งานวิจัยค้นพบนั้นน่าตื่นเต้นและให้ความหวังที่สามารถเอาไปศึกษาต่อยอดออกไปอีกมาก เพราะมันบ่งชี้ว่าชาวอินเดียหลายรุ่นได้สร้างอารยธรรมที่ยืนยงขึ้นมาด้วยความหลากหลายทางสายเลือดและความแตกต่างทางประวัติศาสตร์

อารยธรรมอินเดียที่ยิ่งใหญ่และอยู่ในยุครุ่งเรืองที่สุดนี้คือการโอบรับ มิใช่ผลักไส ความกลมเกลียวท่ามกลางความแตกต่างคือแก่นแท้ของการผสานความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกันของประเทศอินเดีย

[จาก BBC โดย โทนี โจเซฟ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Early Indians: The Story of Our Ancestors and Where We Came From]


ทำความจริง ให้ปรากฏต่อสาธารณะ
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

อารยันมีถิ่นกำเนิดทางเหนือๆ ขึ้นไป แล้วอพยพถอนรากถอนโคนลงทางใต้ก่อบ้านสร้างเมืองมีอารยธรรมยิ่งใหญ่เป็นอินเดีย

แนวคิดอย่างนี้มีผู้บอกว่ามีขึ้นพร้อมกับการล่าอาณานิยมของยุโรป แต่จริงหรือไม่? เกินสติปัญญาผมจะหยั่งรู้

การอพยพของอารยัน เป็นความเชื่อมีนานแล้ว โดยฝังใจกลุ่มคนชั้นนำไทยสมัยก่อน เลยกระตุ้นให้เชื่อหนังสือแต่งใหม่จากจินตนาการ ว่าถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่เทือกเขาอัลไต ซึ่งอยู่ทางเหนือจีนขึ้นไป ต่อมาถูกจีนรุกราน เลยพากันอพยพถอนรากถอนโคนหลบหนีลงทางใต้หลายครั้ง กระทั่งตั้งหลักแหล่งในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก

ความเป็นอารยันจากอัลไตเข้ากันได้ดีกับกำเนิดกรุงสุโขทัย แม้หลักฐานวิชาการยืนยันว่าไม่จริงตามนั้น แต่ครูบาอาจารย์สถานศึกษาในไทยจำนวนมากและบางมหาวิทยาลัยยังครอบงำให้นักเรียนนักศึกษาเชื่อตามนั้น โดยเฉพาะ กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

ประวัติศาสตร์ไทยเนื้อหาหลักมีขึ้นจากการเมือง แล้วใช้งานการเมืองตลอดมาจนปัจจุบัน ดังนั้นที่ว่าประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยเป็นวิชาการบริสุทธิ์ จึงไม่จริง

สื่อมวลชนไทยไม่ควรหลงทางเชื่อสิ่งไม่จริงนั้น และควรร่วมกัน ทำความจริงให้ปรากฏ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image