‘ลำพูน’ ดัชนีความสุขพุ่งแรง หลัง ‘สวทช.’ หนุนผลิตผ้าทอล้านนานาโน

ตัวอย่างเส้นฝ้าย และผ้าฝ้ายทอมือ บ้านก้อทุ่ง

หลังจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำงานวิจัย 3 เทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีเอนไซม์ เทคโนโลยีพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ และเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ถ่ายทอดกลุ่มผ้าทอจังหวัดลำพูน พบสร้างรายได้ให้กลุ่มผ้าทอฯ เพิ่มขึ้นเท่าตัว

วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. บอกหลังลงพื้นที่ติดตามผลโครงการ “การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับสิ่งทอพื้นเมือง” ว่า สวทช.ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ “ผู้นำชุมชน” เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอพื้นเมือง ได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถที่จะนำไปถ่ายทอดต่อให้กับชุมชนหรือเครือข่ายของตนเองได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกลุ่มได้ ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีผู้นำชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการจำนวน 20-25 คนต่อจังหวัด สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 8 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม เป้าหมายที่ 2 เพิ่มความสามารถในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการและคุณภาพชีวิตของประชาชน ตอบโจทย์เรื่องผลงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ถูกนำไปใช้ในการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับภาคการผลิตและบริการ และภาคธุรกิจ

ตัวแทนนักวิจัยจาก สวทช. ให้ข้อมูลการเคลือบผ้านาโนลงบนผ้าฝ้ายทอมือ
วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์

สำหรับ “ลำพูน” เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย มีพื้นที่ประสบความสำเร็จแล้ว 2 พื้นที่ ได้แก่ บ้านหนองเงือก อ.ป่าซาง โดยผู้นำกลุ่มได้เข้าร่วมโครงการสร้างผู้นำถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีกับ สวทช. เพื่อแก้ปัญหาผ้าฝ้ายที่แข็งกระด้าง ให้นุ่มลื่น ช่วยป้องกันสีซีดจาง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง ช่วยแก้ไขปัญหาผ้าฝ้ายได้ตรงจุด

ปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านหนองเงือกนำองค์ความรู้มาประยุกต์และสร้างผลิตภัณฑ์นาโนที่หลากหลาย สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เทศบาลตำบลแม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีวิถิชีวิตและภูมิปัญญาเกี่ยวกับผ้าฝ้ายทอมือ

Advertisement

อีกพื้นที่เป็นพื้นที่ขยายผลจากชุมชนต้นแบบบ้านหนองเงือก คือ บ้านก้อทุ่ง อ.ลี้ โดย สท.ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคเหนือตอนบน (ศวภ.1) และศูนย์วิชาการเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเรื่องการปรับเส้นใยฝ้ายทอมือ ให้มีขนาดที่เล็กลง และทำให้เส้นฝ้ายมีหลายสีผสมกัน ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดวัตถุดิบลง ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าทึ่ง และสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น

ทั้ง 2 หมู่บ้านยังได้นำเทคโนโลยีอื่นๆ ของ สวทช. ไปปรับใช้ในกระบวนการผลิต เช่น เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) เอนไซม์อัจฉริยะ ทูอินวัน ซึ่งผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ มีจุดเด่นสำคัญคือ ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพความแข็งแรงของผ้า สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียวช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนในการผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

“นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ โดยนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ใบลำไย เปลือกต้นสะเดา ดอกดาวเรือง นำมาต้มสกัดในน้ำและทำการระเหยจนได้น้ำสีสารละลายเข้มข้น แต่หากต้องการเก็บไว้ใช้ในรูปของผงสี ก็เพียงนำสีสารละลายเข้มข้น มาผ่านลมร้อนในเครื่อง สเปรย์ดราย ก็จะได้ผงสีพร้อมใช้ เป็นต้น” ผู้อำนวยการ สท.กล่าว

ทางด้าน มาลี กันทาทรัพย์ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือ-ผ้าฝ้ายนาโนบ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน บอกว่า บ้านหนองเงือกเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมผูกพันกับอาชีพทอผ้ามายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่สภาพปัญหาการผลิตผ้าทอพื้นเมืองที่ผ่านมา มักจะมีปัญหาผ้าฝ้ายแข็งกระด้าง ผู้บริโภคไม่นิยมนำไปสวมใส่ ส่วนมากจึงนำไปใช้เป็นหัตถกรรมสิ่งทอในครัวเรือน ปัจจุบันกลุ่มผ้าทอบ้านหนองเงือกได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์และสร้างผลิตภัณฑ์นาโนที่หลากหลาย ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

มาลี กันทาทรัพย์
กัลยาณี เกตุแก้ว

เช่นเดียวกับ กัลยาณี เกตุแก้ว ฝ่ายการตลาดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน บอกว่า บ้านก้อทุ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และกำลังจะเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา สวทช.และหน่วยงานพันธมิตรได้เข้ามาอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การปั่นเส้นด้ายฝ้าย โดยมีการปรับเส้นใยฝ้ายทอมือให้มีขนาดที่เล็กลง ทำให้เส้นฝ้ายมีหลายสีผสมกัน เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดต้นทุน ทำให้กลุ่มทอผ้าฯ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ผ้าพันคอ 3 สี จากเดิมขายราคา 200 บาท เพิ่มมูลค่าได้เป็นผืนละ 400 บาท และในอนาคตวางแผนไว้ว่าต้องการพัฒนาพื้นที่สำหรับปลูกฝ้ายสีออร์แกนิค เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนที่มีปัญหาสารเคมีตกค้าง และยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฤดูฝ้ายบานได้อีกด้วย

นับเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้กลุ่มผ้อทอพื้นเมืองในจังหวัดลำพูน มีความภูมิใจและมีอาชีพที่เข้มแข็งที่จะสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองแห่งล้านนาให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นและคงอยู่สืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image