นับถอยหลังคืนอำนาจ 24 มีนาคม สวมแว่นวิชาการ มองประเทศหลังเลือกตั้ง

หลังปี่กลองการเมืองดังขึ้นเรื่อยๆ มติชน ในฐานะสื่อที่ให้ข้อมูลความรู้ เกาะติดทุกสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยืนหยัดอยู่คู่สังคมไทยกว่า 42 ปี ได้เปิดเวทีเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม ร่วมแสดงทรรศนะ วิเคราะห์ วิจารณ์ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ในหัวข้อ เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา เวลา 08.30-12.00 น. ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ

แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงวิทยากรกะทันหัน เนื่องจากภายหลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง พร้อมกำหนดวันกาบัตร 24 มีนาคม 2562 ดังนั้น เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ มติชนได้แจ้งขออภัย ขอปรับเปลี่ยนวิทยากรจากเดิมคือตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เป็นเหล่ากูรูผู้มีประสบการณ์ก้าวผ่านการเมืองไทยมาแล้วหลายระยะ ทั้งยังมีบทบาทต่อสังคมอย่างโดดเด่น

ประกอบด้วย สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และอดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone ดำเนินรายการโดย “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ และอดินันท์ เหมือนยัง อดีตพิธีกรมติชนทีวี

วันนั้นผู้ร่วมงานมากหน้าหลายตา ตั้งแต่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นิสิต นักศึกษาจากหลายสถาบัน รวมถึงประชาชนผู้สนใจอีกจำนวนมาก

Advertisement

Advertisement

เก้านาฬิกาตรง ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ขึ้นเวทีกล่าวต้อนรับ พร้อมขอบคุณเหล่าวิทยากรที่จะไขข้อข้องใจว่าเรากำลังยืนอยู่ใน “จุดไหน” ของประวัติศาสตร์ และจะเขียนอนาคตข้างหน้าอย่างไร ทว่าในฐานะสื่อ หากมีประเด็นหรือเนื้อหาใดที่เป็นที่สนใจ หรือมีผลกระทบต่อเพื่อนร่วมสังคม กรุณาบอกและชี้แนะให้มติชนและในเครือช่วยชี้แนะ อย่างที่ควรจะเป็น และอย่างที่สื่อควรจะทำ

จากนั้นสองพิธีกรเปิดเวทีให้กับ 5 กูรูโชว์วิสัยทัศน์คนละ 15 นาทีถ้วน

สวมแว่นวิชาการ มอง ‘เลือกตั้ง’ รอบด้าน

อิสริยะ คนไอที คว้าไมค์ก่อนคนแรก ฉายภาพ “เทคโนโลยี” อันมีส่วนสำคัญต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย เห็นได้จาก #แฮชแท็กทวิตเตอร์ ซึ่งถือเป็นท่าทีของคนรุ่นใหม่ต่อการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังใช้แฮชแท็กดังกล่าวไว้พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมาก ดังนั้น หากต้องการเข้าถึงเสียงของคนรุ่นใหม่ สื่ออย่างทวิตเตอร์ รวมทั้งยูทูบจึงเป็นพื้นที่ที่มองข้ามไม่ได้

แต่ด้วยกฎระเบียบอันยุ่งเหยิงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่สร้างข้อจำกัดการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย อิสริยะจึงกังวลว่าอาจเกิด “สงครามตัวแทน” ขึ้น เพราะนักการเมืองไม่สามารถสื่อสารผ่านช่องทางนี้ได้โดยตรง พร้อมฝากให้ กกต.พิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน

ปริญญา นักวิชาการด้านกฎหมาย มองว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงเป็นว่าที่นายกฯ การเมืองไทยจะเข้าสู่ “สามก๊ก” ทันที

หนึ่ง ส.ว.และพรรคการเมืองที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ สอง พรรคเพื่อไทยและเครือข่าย และ สาม พรรคประชาธิปัตย์

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ทั้งนี้ จากการเลือกตั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.รวมกันเกินครึ่งเสมอ นั่นหมายความว่า การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ส.ส.อย่างน้อย “ครึ่งหนึ่ง” จำเป็นต้องมีพรรคหนึ่งพรรคใดร่วมรัฐบาลด้วย ทว่าหนทางชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ดูจะเป็นไปได้ยาก และไม่ว่าจะพลิกแพลงสูตรจับขั้วรวมก๊กยังไงก็ดูเป็นเรื่องซับซ้อนไปเสียทั้งหมด

ปริญญาจึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ถอยกลับสู่สถานะ คนกลาง เพื่อป้องกันการเมืองไทยที่อาจจะ “ล้มเหลว” ลงได้ในอนาคต

ส่วนอดีต กกต.อย่าง โคทม ขอมอบกำลังใจให้ กกต.ชุดปัจจุบัน และขอให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา อย่าฟังผู้มีอำนาจมากนัก รวมทั้งต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะเดียวกันยังฝากข้อเสนอถึงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ว่าต้องเคารพหลักการ พรรคการเมืองต้องมี ส.ส.เกิน 250 คน ถึงจะมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ที่สำคัญคือต้องใช้นโยบายของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่มีเสียงเกิน 250 เสียง มาใช้ประโยชน์ทั้งหมด จึงจะเป็นการเคารพเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม โคทมได้เสนอให้พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 เชิญพรรคพลังประชารัฐมาพูดคุยก่อน และพยายามให้มาร่วมรัฐบาลด้วย เพราะจะทำให้เกิดการ “แบ่งปันอำนาจ” เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้บ้านเมืองสงบและมีเสถียรภาพ

ขณะที่กูรูด้านเศรษฐกิจอย่าง บรรยง มองว่า ช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งจะพบว่าเศรษฐกิจคึกคัก เนื่องจากผู้มีอำนาจเร่งรัดปิดโปรเจ็กต์ก่อนหมดอำนาจบริหาร อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่าภาพรวมด้านเศรษฐกิจภายหลังเลือกตั้งจะเป็นแบบเดิมคือ “แทบจะเติบโตต่ำที่สุดในโลก สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา” เพราะเศรษฐกิจไทยมีลักษณะอ่อนแอ แบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ 1.แข็งนอกอ่อนใน หมายถึง เศรษฐกิจภายนอกประเทศดี แต่ภายในยังอ่อนแอ 2.แข็งบนอ่อนล่าง หมายถึง คนระดับบนยังมีกำลังสูง แต่คนระดับล่างไม่ได้ประโยชน์กับเศรษฐกิจ และ 3.แข็งไม่ถาวร หมายถึง ไม่มีเสถียรภาพ

ที่สำคัญเรายังโฟกัสผิดจุด มองข้ามปัญหาแรงงาน ประกอบกับคนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์เนื่องจากการศึกษาไทย “ล้มเหลว” ผสมรวมกับการทุ่มเททรัพยากรไปในสิ่งที่ประสิทธิภาพต่ำ นั่นคือ การขยายรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แผนยุทธศาสตร์ชาติ และปฏิรูปประเทศ” ที่บรรยงกล่าวว่าเป็นการขยายรัฐขนาดมโหฬาร ทำให้ประเทศอ่อนแอลง

ปิดท้ายด้วย “คนเดือนตุลา” ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพ แถมยังเป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมศาสตร์ปีล่าสุด จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก สุรชาติ ผู้แสดงความห่วงกังวลต่อการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พร้อมเชิญชวนปลดแอก 5 ข้อ

แอกแรกนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แอกที่สอง ต้องรื้อแก้กฎหมายลูกให้ตอบสนองสังคม นำประเทศไปสู่อนาคตได้ แอกที่สาม ต้อง “เท” ยุทธศาสตร์ที่มิได้ออกแบบมาเพื่อการดำรงอยู่ในอนาคต แอกที่สี่ ทำให้ กอ.รมน.ถอยกลับไปอยู่ในสถานะเดิม มิใช่กระทรวงซ้ำซ้อน แอกสุดท้ายคือ กองทัพไทยต้องกลับสู่การเป็นทหารอาชีพ

“เราไม่ต้องการทหารการเมืองเพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่ต้องการนักการเมืองในเครื่องแบบต่อไป”

เสวนาช่วงแรกจบลงพร้อมเสียงปรบมือเกรียวกราว

24 มี.ค.เข้าคูหา รักษาสิทธิ
แก้จุด ‘เริ่มเปลี่ยน’ ให้เป็น ‘เปลี่ยนผ่าน’

ไม่นาน เก้าอี้ทั้ง 7 ตัวปรากฏขึ้นบนเวที วิทยากรพร้อมผู้ดำเนินรายการจับจองที่นั่ง พร้อมเข้าสู่การเสวนาครึ่งหลังในรูปแบบตอบข้อซักถาม

เปิดประเด็นแรกด้วยข้อกังวลและความหวาดกลัวการ “โกงเลือกตั้ง” ที่อาจเกิดขึ้น นาทีนั้น โคทม ยกไมค์คนแรก ตอบด้วยเสียงดังฟังชัด “ไม่จริงหรอก เพราะเรื่องต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ ต้องช่วยกันทำให้ดี มีมือถือก็เอามาถ่าย ฟ้องพฤติกรรมนั้นๆ ต่อสังคม”

โคทมระบุว่า การเลือกตั้งจะมีความชอบธรรมเมื่อเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ต้องให้พรรคการเมืองที่มี 250 เสียงจัดตั้งรัฐบาล และนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง นั่นคือเป็น ส.ส.

โคทม อารียา
สุรชาติเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ปรึกษาแพทย์พระมงกุฎฯ เพื่อขอยา 3 ขนาน

ด้าน สุรชาติ มาแปลก ห่วงว่า คสช.จะแพ้การเลือกตั้ง เพราะอยากเห็น “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯต่อไปภายใต้เงื่อนไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐธรรมนูญที่เป็นสถาปัตยกรรมชุดใหญ่ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์

หากเป็นเช่นนั้นจริง อาวุธข้างกายอย่าง “มาตรา 44” คงไร้ประสิทธิภาพ สุรชาติจึงแนะนำให้พบหมอพระมงกุฎฯ ขอยา 3 ขนาน ตั้งแต่ยาบำรุงหัวใจ ยาบำรุงประสาท และยากล่อมประสาทให้นอนหลับ เพราะหากมองย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะพบว่า รัฐบาลทหารที่แปลงร่างเป็นรัฐบาลเลือกตั้งมักคุม ส.ส.ไม่ได้

ก่อนจะชงมุขตบท้าย “ขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งไปซื้อหนังสือ ‘โหรมติชน’ เพราะการเดินทางของดวงดาวตอบได้มากกว่านักวิชาการ”

ส่วน บรรยง ตามติดแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศชนิดกัดไม่ปล่อย ชี้ให้เห็นรายละเอียดหลวมๆ ไร้ความชัดเจน เป็นไปได้ว่าผู้มีอำนาจหวั่นเกรงว่าอาจเป็นข้อผูกมัด บีบบังคับตนเองในอนาคต

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือเฝ้าจับตา พล.อ.ประยุทธ์ในการลงเล่นการเมือง และการตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อนั้น ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น

บรรยง พงษ์พานิช

เมื่อถามว่า คิดว่าจะมีการทำรัฐประหารและการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ปริญญา บอกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์มาตามรัฐธรรมนูญ หมายถึงผ่านการเห็นชอบแล้ว เท่ากับมีความชอบธรรม จึงไม่น่าเกิดการประท้วงแบบที่ผ่านมา ส่วนการโกงก็ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะในยุค 4.0 ทุกคนมีเทคโนโลยีในมือ และ กกต.เองต้องทำให้คนเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการโกงเกิดขึ้น

“การยึดอำนาจเป็นไปได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยุคนี้คือยุค 4.0 เป็นสมาร์ทเดโมเครซี ไม่ใช่ยุคที่ คสช.จะมาสั่งใครได้ว่าจะให้ทำอะไร จึงมองโลกในแง่ดีว่าเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม คือจุดเริ่มเปลี่ยน เชื่อว่าเปลี่ยนผ่านได้ แต่อยู่ที่ว่าวันที่ 24 มีนาคม จะออกไปร่วมกันเปลี่ยนประเทศไทยหรือไม่”

เช่นเดียวกับ อิสริยะ ที่เชิญชวนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ ป้องกันการตายน้ำตื้น ไม่กาเบอร์ผิด โดยเชื่อว่าผลการเลือกตั้งมี 2 ทางเท่านั้น คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นนายกฯต่อ 2.หากพรรค พปชร.ไม่ชนะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ จะเกิดภาพเก็บของกลับบ้าน จบเกมกันดื้อๆ หรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

ส่วนประเทศไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร 24 มีนาคมนี้ เข้าคูหา รักษาสิทธิ จับปากกาเลือก “อนาคต” ด้วยตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image