SACICT เชิดชูสุดยอดครูช่าง ลมหายใจของงานศิลป์แผ่นดิน

เครื่องประดับทองโบราณ ถือเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูง ที่จะหาช่างผู้มีฝีมือ สร้างสรรค์งานได้ถูกต้องตามหลักการดั้งเดิมยากแล้วในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเชิดชูครูช่างให้มีกำลังใจ รวมทั้งประกาศให้เป็นที่รู้จัก ทุกปีศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จึงมีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”

ปีนี้ก็เช่นกัน อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ SACICT บอกว่า การเชิดชูบุคคลก็เป็นภารกิจหนึ่งของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เรามองเห็นถึงความสำคัญขององค์ความรู้ในภูมิปัญญา ซึ่งรวมถึงภูมิปัญญาที่อยู่ในตัวของครูหรือตัวบุคคล จึงมีการเชิดชู “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” จำนวน 7 ท่าน ซึ่งเป็นผู้มีทักษะเชิงช่างสูงที่สุดในภูมิขององค์ความรู้ เป็นบุคคลที่คร่ำหวอดในวงการศิลปหัตถกรรม ที่มีเทคนิคเชิงช่างชั้นสูงและเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ตกทอดมาจากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในท้องถิ่น

Advertisement

รองลงมาคือ “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ได้รับการเชิดชู จำนวน 10 ท่าน ซึ่งประสบการณ์อาจจะน้อยลงกว่า เป็นกลุ่มระดับครูช่าง ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องแสดงทักษะฝีมือช่างชั้นสูง มีการทำงานศิลปหัตถกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และต้องมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นด้วยเช่นกัน ปีนี้มี 10 ท่าน และกลุ่มสุดท้ายก็คือ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เป็นคนรุ่นใหม่ที่มารับช่วงต่อเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้หายไป เริ่มจากการเป็นลูกหลาน หรือลูกศิษย์ของครู ได้รับการถ่ายทอดในงานศิลปหัตถกรรมแขนงนั้นๆ อีก 8 ท่าน

หนึ่งในครูช่างที่ได้รับการเชิดชูในปีนี้ คือ “ไพโรจน์ สืบสาม” อายุ 40 ปี “ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2562” ประเภทเครื่องประดับทองโบราณ (บางใหญ่ นนทบุรี) ซึ่งสร้างงานมาถึง 25 ปี เจ้าของผลงานการจัดทำชุดเครื่องประดับทองโบราณให้กับโขนละคร อย่างชุดเครื่องประดับของทศกัณฐ์ในโขนพระราชทานเรื่องรามเกียรติ์ตอนนางลอย และชุดขุนศึกอินทรชิต ตอนพรหมมาศ

ไพโรจน์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมประเภทเครื่องประดับทองโบราณ

ไพโรจน์เล่าว่า ได้เริ่มต้นเรียนจิตรกรรมไทย ที่วิทยาลัยในวัง (ชาย) และได้เรียนต่อโรงเรียนเพาะช่าง ด้านการทำเครื่องประดับไทย ซึ่งหลังจากเรียนจบได้มีโอกาสเข้าไปทำงานให้กับ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานทองโบราณ โดยเริ่มจากงานซ่อมแซมของเก่า วัตถุโบราณ และพัฒนามาเป็นการทำเครื่องประดับทอง โดยทำงานกับอาจารย์วีรธรรมมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงได้ตัดสินใจออกมาสร้างสรรค์งานด้วยตนเอง มีโอกาสเป็นส่วนร่วมของช่างประณีตศิลป์ไทย จัดทำชุดเครื่องประดับทองโบราณให้กับโขนละคร

Advertisement

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสไทยนิยมเริ่มมากขึ้น ผลงานแต่ละชิ้นที่ทำขึ้นมาตนอยากให้ทุกคนสามารถจับต้องได้ทั้งในเรื่องของราคาและดีไซน์ ได้ศึกษาค้นคว้าและพัฒนา ทั้งทีมงาน เทคนิคและเครื่องมือมาประยุกต์ใช้ ทั้งการหล่อ ประกอบ แต่ในส่วนการเก็บรายละเอียดต่างๆ ก็จะใช้มือทำทั้งหมด โดยยึดขั้นตอนและอุปกรณ์แบบภูมิปัญญาดั้งเดิม” และว่า

ระยะเวลาในการสร้างงานต่อชิ้นขึ้นอยู่กับแบบ เฉลี่ยแล้วชิ้นหนึ่งประมาณ 1-2 เดือน เวลาที่งานเสร็จออกมาแล้วคนได้ใช้คนชอบ มันรู้สึกเต็มตื้นอยู่ข้างในหัวใจ สำหรับรางวัลเชิดชูเกียรติที่ได้รับในครั้งนี้ ดีใจที่มีคนเห็นความตั้งใจ เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำเพราะมันไม่ใช่แค่เรา แต่ยังรวมถึงการสร้างชื่อเสียงให้ชุมชนของตนเองได้เป็นที่รู้จัก รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่เรามีมันไม่ควรจางหาย สามารถต่อลมหายใจได้

“ภาคภูมิใจที่ได้เห็นลูกศิษย์ของเรามีความสนใจในงานจนนำมาประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว ได้เห็นการพัฒนาของเขาที่ก้าวหน้าขึ้นไปทำให้รู้สึกภูมิใจและถือเป็นความสำเร็จของเราด้วย และสิ่งสำคัญสุดตนได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์งานต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image