12 ปี ‘กำลังใจ’ แรงบันดาลพระทัย พัฒนาคุณภาพชีวิต ‘โลกหลังกำแพง’

ภาพจากหนังสือ ๑๒ ปี "กำลังใจ" ให้เธอผู้พลั้งพลาด ฉบับพิเศษ

หากเลือกได้คงไม่มีแม่คนไหนอยากพาลูกเข้าคุก…

แต่เดิมเด็กที่ถือกำเนิดในกำแพงเรือนจำจะได้รับการเลี้ยงดูตามมาตรฐานของราชทัณฑ์ กระทั่งเมื่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีพระดำริให้มีโครงการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์และเด็กติดผู้ต้องขังใน ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่ปี 2549 แม่และเด็กในเรือนจำจึงได้รับการดูแลให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยประทานทุนส่วนพระองค์ 3 แสนบาท เป็นกองทุนเบื้องต้น

นับตั้งแต่แม่อุ้มท้องเข้ามาในเรือนจำจะมีการให้ฝากครรภ์ โดยสถานพยาบาลทัณฑสถานหญิงกลางจะมีพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ และมีแพทย์ล่วงเวลาอยู่ตลอดวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เป็นมาตรฐานที่เรือนจำจัดให้อย่างครบครัน

รวมทั้งมีอาหารเสริมสำหรับคนท้อง การตรวจร่างกาย ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างการเล่นโยคะ มีการคัดสรรงานให้ทำโดยเลือกงานที่ไม่หนักจนเกินไป กระทั่งล่วงเดือนที่ 5 ไปแล้วจะให้พักและทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยให้จิตใจสงบ เตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเป็นแม่ รวมทั้งเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตนหลังคลอด เป็นต้น

Advertisement

 

ชฎาพร รักษาทรัพย์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง บอกว่า เมื่อโครงการกำลังใจฯ เข้ามาการดูแลเด็กก็เป็นระบบมากขึ้น โครงการกำลังใจฯ ไม่ได้มีแค่เรื่องแม่และเด็ก แต่มีหลายๆ ด้านเข้ามาประกอบกัน ทัณฑสถานหญิงกลางเหมือนเป็นต้นแบบของเรือนจำแรก และต่อมาก็ได้พัฒนามาเรื่อยๆ และประสบความสำเร็จ

“พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงใส่ใจเรื่องนี้ ในเรือนจำหญิงกลางก็มีสิ่งนี้มาตลอด เป็นโครงการที่ดีมากๆ ต่างจากเมื่อก่อนตอนที่โครงการ ยังไม่เข้ามา

Advertisement

…กว่า 10 ปีมานี้ไม่เคยมีผู้ต้องขังคลอดและเสียชีวิตในเรือนจำ ไม่มีเด็กเสียชีวิตเลย อาจเป็นเพราะเราดูแลอย่างดีก็เป็นได้ เราจับจุดตรงนี้มาพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นลำดับ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ”

จากที่ดูแลกันตามสภาพ พอมีศูนย์เด็กเกิดขึ้นก็เป็นระบบ มีห้องเป็นสัดส่วน ในห้องเด็กมีห้องให้นมลูก มีการดูแลอย่างเป็นระบบ กลางวันเมื่อแม่ไปทำงานก็เอาลูกมาไว้ที่นี่ มาให้นมเป็นระยะๆ มีคนดูแลให้ตลอด เป็นพี่เลี้ยงซึ่งได้มาจากผู้ต้องขังที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นผู้บริบาลดูแลเด็ก พอบ่าย 3 แม่ก็มารับลูกกลับเรือนนอน ซึ่งมีที่พักให้ต่างหากสำหรับแม่ลูกอ่อน

เป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสภากาชาดไทย ที่มาอบรมให้กับผู้ต้องขัง ทำให้ผู้ต้องขังได้อาชีพหนึ่งเพิ่มเติม เมื่อพ้นโทษไปแล้วก็สามารถบริบาลดูแลเด็กได้

กำเนิดโครงการ ‘กำลังใจ’

ในหนังสือ 12 ปี “กำลังใจ” ให้เธอผู้พลั้งพลาด ฉบับพิเศษ จัดพิมพ์โดยกองพัฒนาการยุติธรรม โครงการกำลังใจในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เล่าถึงที่มาของโครงการกำลังใจฯ ว่า พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงสนพระทัยในกิจการและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน เมื่อครั้งยังทรงเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย ได้เสด็จมาทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อเยี่ยมเยียนและประทานสิ่งของแก่ผู้ต้องขังและเด็กติดผู้ต้องขัง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2544 ทรงได้สัมผัสกับชีวิตของผู้ต้องขังหญิงที่ขาดโอกาส ปราศจากความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว และสัมผัสกับเด็กที่เกิดจากครรภ์ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงเป็นแรงบันดาลพระทัยให้มีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะประทานความช่วยเหลือและกำลังใจให้แก่บุคคลเหล่านี้

เมื่อทรงศึกษาจบในระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา และเสด็จกลับประเทศไทย มิได้ทรงลืมเลือนผู้ต้องขังที่รอคอยความช่วยเหลืออยู่ จึงทรงก่อตั้งโครงการกำลังใจฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2547 เพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ก้าวพลาดได้มีโอกาสกลับมาดำเนินชีวิตเป็นคนดีของสังคม

ทรงมีพระดำรัสว่า “กำลังใจ คำนี้เป็นคำไม่หรูหรา ไม่ยุ่งยาก แต่ลึกซึ้ง เป็นคำที่พูดกับใครก็เข้าใจและรู้สึกดี ทุกคนจะต้องผ่านวันเวลาที่ยากลำบาก รู้สึกท้อ ห่อเหี่ยว ทำอะไรก็ไม่มีใครรัก ทำอะไรก็ไม่มีใครเห็นว่าดี คิดว่าผู้ต้องขังที่ก้าวพลาดไปก็อยู่ในภาวะนี้ คือถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิด ต้องอยู่ในที่ซึ่งถูกจำกัดเสรีภาพ ดูอย่างไรก็ไม่ดี ยิ่งผู้ต้องขังรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง รู้สึกในทางลบกับตัวเอง ก็จะรู้สึกในทางลบกับสังคมไปด้วย การให้กำลังใจไม่ใช่การเข้าข้างตนเอง หรือลืมความผิดพลาดของตนเอง แต่ต้องนำความผิดพลาดนั้นกลับมาทบทวน เพื่อจะได้แก้ไข ไม่กลับไปทำผิดพลาดอีก ซึ่งต้องการกำลังใจที่เกิดขึ้นในตัวเองก่อน และถ้าสังคม ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ให้โอกาส ให้กำลังใจ ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีได้”

๑๒ ปี “กำลังใจ” ให้เธอผู้พลั้งพลาด ฉบับพิเศษ

โครงการกำลังใจฯ จึงมีขึ้นเพื่อช่วยให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ตระหนักว่ายังมีผู้ที่เต็มใจจะให้โอกาส และเอาใจช่วยให้พวกเขาสามารถเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ และเมื่อทุกคนได้รับโอกาสที่สมควรแล้ว จะต้องรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำซ้อนและเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้กลับมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้สังคมส่วนรวมกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกด้วย

ทั้งนี้ รายงานจากการวิจัยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า ผู้ผ่านโครงการกำลังใจฯ

เมื่อพ้นโทษกลับสู่สังคมมีการทำผิดซ้ำเพียงร้อยละ 10.16 เมื่อเทียบกับอัตราการทำผิดซ้ำทั่วประเทศที่ร้อยละ 23.74

ข้อกำหนดกรุงเทพฯ กระบวนทัศน์ใหม่ในระดับสากล

ขณะเดียวกันก็เป็นที่มาของ “ข้อกำหนดกรุงเทพฯ” (Bangkok Rules) ข้อกำหนดที่ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง แนวทางการทำงานผ่านบทเรียนจากโครงการกำลังใจฯ ที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงนำความสำเร็จของการดำเนินงานช่วยเหลือด้านสุขอนามัยในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และเด็กติดผู้ต้องขัง ในพื้นที่ต่างๆ ในรูปแบบการทำงานที่เป็นความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็ก การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสถานดูแลเด็กให้สะอาดถูกสุขอนามัย โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ

 

ที่สหประชาชาติให้การรับรองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 เป็นการนำ “การปฏิบัติ” พัฒนาไปสู่ “แนวทางปฏิบัติ” ในระดับสากล จุดเริ่มต้นของการสร้างความตระหนักถึงปัญหาของสิทธิมนุษยชนในกระบวนทัศน์ใหม่ในระดับสากล ให้มีการใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง

พระเจ้าหลานเธอฯ มีพระราชดำรัสว่า “…ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในทั่วโลก และในประเทศไทยแล้วว่า เรือนจำไม่ควรจะเป็นมุมมืดมุมหนึ่งของสังคม ซึ่งพยานหลักฐานในที่นี้ได้เห็นชัดว่า ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่ามี Bangkok Rules ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบเรือนจำ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาดังกล่าว ก็สามารถที่จะมองได้เป็นสองแง่มุมการพัฒนาในลักษณะทางกายภาพ เช่นเรื่องของชีวิตมนุษย์ทุกคน ต้องการความมั่นคงและปลอดภัย อย่างเช่นการให้มาตรฐานทางด้านการกิน การอยู่ การเจ็บไข้ได้ป่วย อย่างนี้คือการพัฒนาทางกายภาพ และในวันนี้ที่เราได้เห็นการพัฒนาคือ การพัฒนาทางด้านจิตใจ หรือ Self awareness”

Inspire by Princess @ดอยฮาง
สุนทรียะหลังกำแพงสีขาว

วันนี้ถ้าใครได้แวะเข้าไปที่เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย จะพบว่าหลังกำแพงสีขาวแห่งนี้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปพักผ่อน สูดอากาศบริสุทธิ์

รวมทั้งจิบกาแฟหอมๆ ฝีมือบาริสต้าผู้ต้องขัง บนระเบียงต้นไม้ ร้าน Inspire by Princess มีเครื่องดื่มนับสิบเมนู และขนม เบเกอรี่ ให้บริการทุกวัน

เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง แห่งนี้ พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงประทานคำแนะนำให้พัฒนาขึ้นโดยทรงน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 12 ปี โครงการกำลังใจฯ

ในวันเปิดงาน ทรงเปิดแปลงการรดน้ำแปลงผักเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบแอพพลิเคชั่น ทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น และเสด็จไปยังตลาดนัดกาดหมั้ว คัวศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม และโซน Rice สาระ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องข้าว ตั้งแต่พันธุ์ข้าว เมล็ดข้าว การแปรรูป และวัสดุเหลือใช้จากข้าว การสาธิตการทำหุ่นฟาง เป็นต้น มีบ้านตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 3 หลัง หลังที่ 1 “ปรับปรุงบำรุงดิน” หลังที่ 2 “จุลินทรีย์สุขภาพพืช” หลังที่ 3 สมุนไพรไล่แมลง โดยมีผู้ต้องขังที่ได้รับการอบรมความรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเฝ้ารับเสด็จด้วย

สำหรับผู้ที่เมื่อยขบ ที่นี่ยังมีสถานที่ฝึกทักษะผู้ต้องขัง มีการนวดตอกเส้น การนวดย่ำไฟ เรียกใช้บริการได้

นอกจากเป็นการเสริมสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังได้มีวิชาชีพติดตัวไปในวันข้างหน้าแล้ว ที่นี่เป็นกุศโลบายที่จะทำให้สังคมเห็นว่า ผู้ต้องขังที่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยแล้ว มีประโยชน์ มีคุณค่าต่อสังคม และนำมาซึ่งความช่วยเหลือจากสังคม ชุมชนที่จะย้อนกลับมาสู่เรือนจำและผู้ต้องขังเอง

ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าที่ได้เข้ามาทำประโยชน์ให้กับบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาดูงาน เข้ามาใช้บริการ ณ เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image