รัฐแห่งขุนเขาที่แม่ระเมิง ปริศนาหลุมศพชาวเขาโบราณในเขตเทือกเขาถนนธงชัย

สภาพภูมิประเทศของบ้านแม่ระเมิงเป็นภูเขาสลับซับซ้อน

เมื่อหลายสิบปีก่อน มีรายงานว่ามีการลับลอบขุดเพื่อหาเครื่องถ้วยในหลุมฝังศพตามแนวเทือกเขาถนนธงชัยอย่างใหญ่โต เพราะเครื่องถ้วยบางชิ้นมีมูลค่าหลักแสนหลักล้าน บางชิ้นก็ตกไปอยู่ในมือของเศรษฐี คนใหญ่คนโตในบ้านเมือง ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของเอกชนก็มาก เล่ากันว่า เศรษฐีบางคนถึงกับมานั่งเฝ้าปากหลุมศพเพื่อซื้อเครื่องถ้วยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ในแง่มุมโบราณคดีย่อมมีคำถามตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวเขาโบราณที่ใช้เครื่องถ้วยชั้นดีนี้คือใคร พวกเขามีรูปแบบทางสังคมอยู่ในระดับใด เป็นชนเผ่าหรือเป็นรัฐ และพวกเขานับถือศาสนาใด

แม่ระเมิงดินแดนหลุมฝังศพโบราณ

คงเป็นโชคชะตา เมื่อหลายเดือนก่อน พวกเราทั้งสองคนได้ลัดเลาะไปตามแนวชายแดนของจังหวัดตากไปจนถึงเมืองโบราณสมัยล้านนาริมแม่น้ำเมย อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งปัจจุบันมีวัดอยู่แห่งหนึ่งชื่อ วัดห้วยลึก ทั้งนี้ก็เพื่อตามหา “เนินดินฝังศพรูปวงกลม” หรือบางครั้งถูกเรียกว่า “วงตีไก่” ทำให้ได้พบกับ พระกล้าหาญ อาสโภ (กาวิชัย) เรียกสั้นๆ ว่า “ตุ๊หาญ” เจ้าอาวาสวัดห้วยลึก พระนักอนุรักษ์ผู้ทุ่มเทให้กับงานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี

ท่านได้เล่าว่าที่เขตบ้านแม่ระเมิงพบแหล่งโบราณคดีที่พวกเราตามหา มีจำนวนนับร้อยนับพันแหล่ง มีทั้งแบบที่ฝังศพเป็นรูปวงกลม และฝังบนดอยที่เป็นเนินเป็นม่อนอยู่ทั่วไป เมื่อฟังครั้งแรก พวกเราไม่ค่อยเชื่อว่า จะมีหลุมฝังศพปริมาณมากถึงขนาดนั้น แต่พวกเราก็วางแผนกันว่าจะต้องย้อนกลับมาสำรวจให้เห็นกับตาสักหน

Advertisement

เมื่อถึงฤดูแล้งคือเดือนมกราคม พวกเราได้เดินทางกลับไปยังท่าสองยางอีกครั้งพร้อมอุปกรณ์สำรวจที่จำเป็นมุ่งไปสู่บ้านแม่ระเมิง “แม่ระเมิง” เป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ส่วนใหญ่มีชาวกะเหรี่ยง หรือ “ปกากะญอ” อาศัยทำไร่ ผู้คนยังคงวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมผสมผสานกับสังคมสมัยใหม่ อันที่จริงแล้วแม่ระเมิงเป็นหมู่บ้านใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่เมย แต่แหล่งโบราณคดีทั้งหลายนั้นก็ตั้งกระจายอยู่ตลอดแนวเทือกเขาและอยู่ในเขตหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงอันเป็นหย่อมบ้านเล็กบ้านน้อยอีกหลายหมู่บ้าน แต่เราก็เรียกรวมๆ ตามคนท้องถิ่นว่าเป็นแถบๆ หมู่บ้านแม่ระเมิง

เส้นทางไปยังหมู่บ้านต่างๆ ยังนับว่าเข้าถึงได้ยากลำบาก บางช่วงเป็นถนนดิน บางช่วงเป็นถนนปูน ถ้าถึงฤดูฝนบางหมู่บ้านจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเลยทีเดียว โชคดีที่เราได้ คุณไตรยุทธ รัตนพงษ์ เป็นคนนำทางและขับรถฝีมือดี อีกทั้งชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ยังให้ความไว้วางใจอีกด้วย

พิธีกรรมโบราณ เนินดินรูปวงกลม

หลุมฝังศพจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนที่พบตามแนวสันเขาของแม่ระเมิงแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ เนินดินฝังศพรูปวงกลม และหลุมฝังศพบนเนินเขาไม่มีเนินรูปวงกลม

Advertisement

คำให้การจากคนที่เคยลักลอบขุด ประกอบกับโบราณวัตถุที่พวกเราสำรวจพบผิวดินจึงสามารถสรุปได้ว่า เนินดินฝังศพรูปวงกลมมักจะพบเครื่องถ้วยชั้นดี เช่นของจีนสมัยราชวงศ์หมิง สังคโลกเวียงกาหลง บางครั้งก็พบเครื่องถ้วยคุณภาพต่ำเช่นสันกำแพง เป็นต้น ดังนั้น จึง กำหนดอายุของวัฒนธรรมนี้ว่าอยู่ช่วงราว พ.ศ.1900-2200

ลักษณะของเนินดินรูปวงกลมที่ว่านี้พบตั้งแต่ขนาด 10 เมตร และใหญ่ไปจนถึง 30 เมตร ซึ่งถือว่าใหญ่มาก ตำแหน่งที่ตั้งมักพบบนยอดเขา ขุดดินโดยรอบเป็นวงกลมเป็นร่องคล้ายกับคูน้ำ (แต่ไม่มีน้ำ) ส่วนวงกลมบางอันแบนราบ บางอันนูน

เนินดินฝังศพรูปวงกลมอยู่บนยอดเขา (เส้นปะสีขาวลากเพื่อช่วยผู้อ่านเห็นได้ชัดขึ้น)
ต้นไม้ขึ้นรกปกคลุมเนินดินฝังศพรูปวงกลม ทีมวิจัยกำลังวัดขนาดของเนินดิน ที่กึ่งกลางของภาพคือร่อง ซ้ายมือคือเนินดิน คนที่ยืนกำลังยืนบนขอบของเนินดิน

ส่วนหลุมฝังศพบนเนินเขามักไม่มีจุดสังเกตใด นอกจากหลุมลักลอบขุด แต่ก็มักตั้งอยู่ไม่ห่างจากเนินดินรูปวงกลมมาก หรือใกล้กับที่อยู่อาศัยของคนโบราณ เครื่องถ้วยทั้งชั้นดีและชั้นเลวได้จากหลุมพวกนี้เช่นกัน แต่คนลักลอบขุดให้การว่า มักพบของที่มีราคาเช่นกัน

ศพที่พบในหลุมฝังศพที่ว่านี้ นักลักลอบขุดบางคนเล่าว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์เป็นโครง และเป็นกระดูกและอัฐิเก็บไว้ในไหจากสุโขทัย ซึ่งพิธีกรรมแบบหลังนี้พบในปริมาณที่มากกว่า

น่าเสียดายที่หลุมฝังศพพวกนี้ถูกลักลอบขุดจนไม่เหลือหลุมที่สมบูรณ์เลย จึงทำให้ยากต่อการศึกษา หรือพูดได้เต็มปากว่ารูปแบบพิธีกรรมการปลงศพนั้นเป็นเช่นไร

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกด้านโบราณคดีที่โซแอส (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน และเป็นหัวหน้าโครงการสำรวจในครั้งนี้ ได้อธิบายว่า เมื่อร่วมร้อยปีก่อน ชาวคะฉิ่นในพม่ามีพิธีกรรมการขุดเนินดินรูปวงกลมคล้ายคลึงกันนี้เพื่อฝังศพ ร่องที่ขุดรอบเป็นวงกลมนี้ก็เพื่อแบ่งแยกระหว่างโลกของคนตายกับโลกของคนเป็น และวิญญาณของคนตายจะเดินทางไปสู่ดินแดนของคนตายได้ก็ต่อเมื่อร่องนั้นขุดจนวนรอบเป็นวงกลม

เราไม่รู้ว่า เนินดินรูปวงกลมที่พบในไทยจะสัมพันธ์กับของคะฉิ่นหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้เราเห็นว่า ชาวเขาโบราณที่กระจายตัวในเขตเทือกเขาถนนธงชัย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดนั้นมีระบบความเชื่อร่วมกัน คือการนับถือฟ้า จึงเลือกยอดเขาเป็นพื้นที่ฝังศพ

ทีมสำรวจจากขวามาซ้าย พระกล้าหาญ อาสโภ, คุณไตรยุทธ รัตนพงษ์ และอาจารย์อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล

เมืองป้อมบนยอดเขา ค้นพบครั้งแรกที่ระเมิง

บนยอดเขาและสันเขาของแม่ระเมิงนี้ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายเท่านั้น หากเป็นไปได้ว่า ยอดเขาบางแห่งคงเป็นเมืองป้อมโบราณอีกด้วย

ป้อมที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการขุดดัดแปลงยอดดอย โดยการขุดถนนล้อมรอบ ความกว้างของถนนนี้มากพอที่รถกระบะจะวิ่งได้สบายๆ ผลจากการขุดถนนนี้จึงทำให้ยอดดอยยิ่งเพิ่มความชันมากขึ้นไปอีก แต่ก็มีการเว้นทางเข้าไว้หนึ่งด้าน ซึ่งทางเข้านี้มีการขุดคูและทำคันดินสูงท่วมหัว

ยอดดอยถูกขุดเป็นเนินรูปทรงกลม สันนิษฐานว่าคือเมืองป้อม มีขนาด 150×200 เมตร
ถนนบนเขาบางสายตัดผ่าเนินดินฝังศพรูปวงกลม อาจารย์พิพัฒน์กำลังยืนในพื้นที่ระหว่างร่องของเนินดิน

ป้อมบนยอดดอยนี้พบ 2 แห่งด้วยกัน มีอยู่ที่หนึ่งมีขนาดกว้างยาว 150×200 เมตร หรือเกือบเท่ากับสนามฟุตบอล 2 สนาม ทำเลที่ตั้งของป้อมบนยอดดอยนี้ดีมาก เพราะสามารถมองเห็นพื้นที่ได้โดยรอบทั้งหมด

ในตอนแรกพวกเราก็ไม่เชื่อ คิดว่าอาจจะเป็นการขุดโดยชาวเขาปัจจุบัน แต่จากการสอบถาม ชาวกะเหรี่ยงบอกว่าเห็นมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว ที่สำคัญพวกเราได้พบหลักฐานร่วมคือ เศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาต่างๆ เช่น เวียงกาหลง สุโขทัย และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง

ดังนั้น ยอดดอยที่ถูกขุดนี้จึงมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ เป็นป้อมที่ล้อมหมู่บ้าน หรือเป็นพื้นที่พิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งอย่างหลังนี้สามารถตัดออกไปได้ เพราะไม่พบอิฐของโบราณสถาน

อาจพูดได้ว่า ป้อมบนยอดดอยที่ว่านี้ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกในไทย

ชามจากเตาในล้านนาที่ได้จากหลุมฝังศพ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงได้เก็บไว้

ทำไมแม่ระเมิงจึงเกิดเมืองป้อมขึ้นมาได้

แม่ระเมิงมีจุดเด่นในแง่ของภูมิศาสตร์ตรงที่ตั้งอยู่เกือบๆ กึ่งกลางระหว่างเมืองหรืออาณาจักรใหญ่คือ สุโขทัย เชียงใหม่ ตาก แม่สอด (เมืองฉอด?) แม่ตื่น (อมก๋อย) และเมาะตะมะ โดยอยู่ในเครือข่ายของลุ่มน้ำสาละวิน

ดังนั้น ย้อนกลับไปในสมัยโบราณ หากต้องการเดินทางเพื่อไปยังเชียงใหม่ก็จะเดินบนสันเขาข้ามไปยังเมืองแม่ตื่น จากนั้นก็ล่องน้ำไปลงยังแม่น้ำปิง ย้อนขึ้นไปถึงเชียงใหม่ หรือจะเดินทางลงไปยังตาก หรือไปสุโขทัยก็ย่อมได้

ชาวเขาโบราณพวกนี้คือใคร

หลักฐานที่ค้นพบจากการสำรวจครั้งนี้ ทำให้ต้องทบทวนกันใหม่ว่า ชาวเขาโบราณไม่ใช่กลุ่มชนที่อยู่กันแบบชนเผ่า ไม่มีการรวมกลุ่มทางสังคมที่เข้มแข็ง

หากแต่พวกเขามีระบบความเชื่อในศาสนาผีที่เข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นจะไม่พบพิธีกรรมการฝังศพในเนินดินรูปวงกลม มีการค้าขายแลกเปลี่ยนกับบ้านเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวาง และมีการจัดองค์กรทางสังคมขนาดใหญ่ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถจัดการแรงงานเพื่อขุดยอดดอย สร้างเป็นอะไรบางอย่างที่ในที่นี้ขอเรียกว่า “ป้อม”

แต่ถ้าเราลองคิดตาม ถ้ามีป้อมก็ต้องมีสงคราม แล้วสงครามที่ว่านี้คือการรบกันระหว่างใครกับใคร อาจเป็นได้ทั้งความขัดแย้งระหว่างคนบนภูเขากันเอง หรือระหว่างกลุ่มคนบนภูเขากับคนในพื้นที่ราบหรือไม่

เศษเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาล้านนาที่พบบนป้อมโบราณที่แม่ระเมิง

ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกไว้ว่า ในสมัยพระเจ้าติโลกราชต้องทรงทำสงครามปราบปรามกลุ่มที่เรียกว่า “ข่าลัวะ” ที่เชียงรุ่ง เพราะจะมาเอาเมืองยอง ลัวะคือกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บนภูเขามาช้านานก่อนคนไทจะเคลื่อนย้ายเข้ามา คำว่า “ลัวะ” ค่อนข้างเป็นคำกว้างของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท ซึ่งใช้เรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก

แต่เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ลัวะหรือคนบนภูเขา คือกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยสามารถรวมตัวกันได้จนทำสงครามกับเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่

แม่ระเมิงจึงเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญของชาติ ซึ่งสะท้อนปฏิสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการเมืองระหว่างชาวเขากับชาวลุ่มในสมัยโบราณ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ของคนบนที่สูงด้วยกันเอง ถ้าหากเราอยากจะเข้าใจว่าสุโขทัย เชียงใหม่ และเมืองในพื้นที่ราบเติบโตมั่งคั่งมาได้อย่างไร แหล่งโบราณคดีที่แม่ระเมิงคือกุญแจไขปริศนานั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image