บทเรียนราคาแพง จากเรือนจำ แค่รับส่งพัสดุ เธอต้องเดินเข้าคุก

การให้ “โอกาส” เป็นของขวัญที่ดีที่สุด…

เป็นเหมือนแสงเทียนเล็กในความมืดมิด เป็นดั่งน้ำทิพย์ชโลมหัวใจในยามที่แทบสิ้นหวัง

แนวคิดการพัฒนา “เรือนจำสุขภาวะ” เริ่มต้นด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย (caring community) ขึ้นมาใช้เพื่อเปิดพื้นที่เรือนจำให้เป็นพื้นที่ของการฟื้นฟูร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เป็นการนำ “ความเป็นชุมชน” เข้ามาสู่เรือนจำซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่การลงโทษ

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงแสดงความห่วงใยในปัญหาที่ผู้ต้องขังต้องเผชิญ พระดำรัสในฐานะองค์ปาฐกในการประชุม ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2551 ทำให้คนไทยและคนในประเทศอื่นมีพลังที่ทำให้เกิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ดังความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“ถึงแม้ผู้ต้องขังหญิงจะต้องถูกแยกออกจากโลกภายนอก แต่พวกเขาไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิในการที่จะรักและได้รับความรัก….”

ในปีเดียวกัน ทรงมีพระวินิจฉัยให้ดำเนินการวิจัยเรื่อง “ชีวิตที่ถูกลืม : เรื่องเล่าของผู้หญิงในเรือนจำ” จุดเริ่มต้นของการนำเรื่องราวชีวิตของผู้ต้องขังหญิงในสังคมไทยออกสู่พื้นสาธารณะ ทำให้สังคมมีความเข้าใจในปัญหาอันซับซ้อน ความกดดันทางเศรษฐกิจ และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้หญิงที่ต้องเดินเข้าสู่เส้นทางของการเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา รวมไปถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของการต้องจากครอบครัวมาอยู่ในเรือนจำ

เช่นในกรณีของเด็กสาววัย 21 ปี ที่ครอบครัวไม่ได้มีความเดือดร้อนกับการเงินมากมายนัก แต่ด้วยความที่เธอต้องการมีรายได้เป็นของตนเองเพื่อจะได้ซื้อหาสิ่งที่อยากได้อยากมีเหมือนเพื่อนๆ เธอเลือกที่จะทำงานพิเศษ ที่สุดเธอถูกจับเพราะทำผิดใน พ.ร.บ.ยาเสพติด และต้องโทษจำคุก 9 ปี

ผศ.ดร.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย หัวหน้าโครงการวิจัย “เรือนจำสุขภาวะ : พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง” บอกว่า แนวคิดเรือนจำสุขภาวะได้มาจากการหลอมรวมความรู้ที่ได้ปฏิบัติจริงกับผู้ต้องขังหญิงมาเกือบ 10 ปีอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการดำเนินงานผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งเรือนจำกลางราชบุรี อุดรธานี และอุบลราชธานี เป้าหมายคือ ต้องการพัฒนาเรือนจำให้เป็นพื้นที่ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อผู้ต้องขังในเรือนจำให้มีสุขภาวะที่ดีในการดำรงชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นการฟื้นฟู ผู้ต้องขังได้กลับคืนสู่สังคมในฐานะพลเมืองที่มีคุณภาพ

“หลักคิดสำคัญของเรือนจำสุขภาวะเน้นแนวคิด ชุมชนแห่งความห่วงใย (Caring Community) เป็นแนวคิดที่สะท้อนการทำให้เรือนจำเป็นพื้นที่ของการฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ นำความเป็นชุมชนเข้าสู่เรือนจำ ซึ่งแต่เดิมจะเป็นพื้นที่ของการลงโทษเป็นหลัก ชุมชนแห่งความห่วงใย ในเรือนจำสุขภาวะ เป็นพื้นที่ทางสังคมซึ่งสมาชิกผูกพันกันโดย ต่างคนต่างสนับสนุนและช่วยกันประคับประคองให้ทุกกิจกรรม ทุกเรื่องราวดำเนินไปได้ด้วยดี

เน้นให้ผู้ต้องขังทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เปลี่ยนแปลงตัวเองและไม่หวนกลับคืนสู่เรือนจำอีก วิธีการทำงานของเรือนจำสุขภาวะ จึงต้องลดความเสี่ยงของโรคที่มักมีในเรือนจำ เข้าถึงบริการสุขภาพแบบองค์รวม คิดบวกมีพลังชีวิต ดำรงชีวิตภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดี ธำรงบทบาทของ แม่ ลูก และครอบครัว มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม ซึ่งหลักคิดของเรือนจำสุขภาวะ จะสามารถเป็นจริงได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการ วิธีการ กิจกรรม รวมถึงรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมภายในเรือนจำ ต้องอาศัยการมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวตนของผู้ต้องขังทุกคน ที่สำคัญผู้บัญชาการเรือนจำ เจ้าหน้าที่ ผู้คุมต้องมองเห็นคุณค่าและมองเห็นผู้ต้องขังทุกคนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา”

ผศ.ดร.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย

ผศ.ดร.ธีรวัลย์กล่าวอีกว่า เรือนจำหลายแห่งในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และบางมลรัฐของสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก โอไฮโอ เมืองนิวยอร์ก ได้เริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมของเรือนจำให้เหมือนสภาวะปกติ เหมือนกับสังคมภายนอกมากที่สุด เพราะวิธีบริหารจัดการเรือนจำแบบเดิมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาผู้ต้องขังได้ ผู้ต้องขังยังมีจำนวนมาก กระทำผิดซ้ำ ดังนั้น แนวทางการสร้างเรือนจำสุขภาวะจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่สังคมไทยควรทำความเข้าใจและร่วมเรียนรู้

บทเรียนราคาแพงบนความประมาท

ผึ้งคือนามสมมุติของเธอ ผึ้งเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี จากครอบครัวคนระดับกลาง ชีวิตน่าจะสบายไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อหัวหน้าครอบครัวอย่างพ่อเสียชีวิต แม่ซึ่งอาชีพเป็นข้าราชการครู ต้องรับภาระดูแลความเป็นอยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเรื่องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และค่าใช้จ่ายของผึ้ง

“ความจริงครอบครัวทางบ้านก็ไม่ได้เดือดร้อน แต่แม่ก็ให้เราได้ไม่มาก ทุกอย่างมันจำกัดแบบพอดิบพอดี ถ้าเราไม่มีความอยากสวย อยากผอม บ้าโฆษณา เราจะไม่เดือดร้อน แต่ด้วยความไม่เข้าใจในสิ่งที่แม่บอก ทำให้เราหงุดหงิดและตั้งใจว่าจะไม่ขอเงินแม่อีก หาเงินเองก็ได้” ผึ้งย้อนเรื่องราวอดีตให้ฟัง

ผึ้งบอกว่า สังเกตเห็นเพื่อนที่เรียนคณะเดียวกัน ทำงานมีเงินใช้แบบไม่ขาดมือโดยไม่ต้องขอทางบ้าน เมื่อสอบถามเพื่อนแนะให้ทำงานรับพัสดุส่งไปรษณีย์ ค่าจ้างวันละ 1,000-2,000 บาท

ทำงานส่งพัสดุไปที่ไปรษณีย์ได้เพียง 4 ครั้ง เธอก็ถูกจับ

“ตกใจมากค่ะ ตอนหิ้วกล่องไปส่งที่ไปรษณีย์ ตำรวจมาจับและบอกว่าในกล่องมีกัญชาอัดแท่ง ตอนแรกคิดว่ามันเป็นแค่สบู่เพราะเขาห่อมาอย่างดี สวยงาม แต่พอแกะออกมามันคือกัญชาอัดแท่ง พยายามคิดว่ามันคงไม่มีอะไร พยายามมองโลกในแง่ดีว่า มันก็แค่กัญชา โทษคงไม่หนัก แต่มันเป็นกัญชา 8 กิโลกรัม” ยังได้ยินเสียงหัวเราะของเธอขณะที่นัยน์ตามีน้ำตาคลอ

ผึ้งต้องโทษทั้งสิ้น 9 ปี แต่เธอสารภาพ โทษเลยลดลงเหลือ 4 ปี 6 เดือน และได้ยื่นอุทธรณ์ ลดลงไปอีก 6 เดือน รวมเวลาทั้งสิ้นที่ผึ้งต้องรับโทษเป็นเวลา 4 ปี ตอนนี้เธอใช้เวลาในเรือนจำผ่านไป 7 เดือนแล้ว เธอหวังว่าสักวันเธอจะได้พักโทษหรือได้รับการอภัยโทษ เวลาที่ต้องอยู่ในเรือนจำก็จะสั้นลง

“ทุกวันนี้สังคมมันไปเร็วมาก โลกก็ไปเร็วด้วยเช่นกัน ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราต่างเร้าความรู้สึก ความอยากของเราได้ตลอดเวลา มันคือกิเลสทั้งสิ้น อยากบอกวัยรุ่น วัยเรียนทุกคนได้ทบทวนตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องการ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มากน้อยเกินไปไหม บางสิ่งบางอย่างมันแทบไม่จำเป็นเลยกับชีวิต หลายคนที่มีโอกาสเรียนมีหน้าที่เรียนก็ขอให้ตั้งใจเรียน และการหางานทำพิเศษก็ควรจะดูให้ดี คิดและไตร่ตรองให้มาก อย่าเห็นแก่ค่าจ้าง” เธอบอกแม้จะรู้สึกผิดกับสิ่งที่ผ่านมา แต่ชีวิตข้างหน้ายังคงมีความหวัง

ถ้าได้ออกไปจากเรือนจำ “หนูขอโอกาสจากสังคม จากผู้ใหญ่ใจดีในการทำงานที่เราจะออกไปทำงาน ขอโอกาสคนที่อยู่ในเรือนจำให้มีที่ยืนเท่าเทียมกับคนที่อยู่ข้างนอก ชีวิตข้างในเรือนจำไม่ได้เลวร้าย จะมีน้อยมากที่เมื่อพ้นโทษแล้วจะทำผิดอีก ทุกคนที่อยู่ที่นี่ต่างเข็ดหลาบและคงไม่กลับไปทำผิดอีก จึงอยากให้สังคมได้ให้โอกาสผู้ต้องขังทุกคนด้วย”

ผึ้งบอกว่า เคยสนใจงานขายเสื้อผ้าแนววินเทจ แต่ความคิดก็เริ่มเปลี่ยนเมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ที่นี่ผึ้งได้มีโอกาสเข้าคอร์สฝึกโยคะ หนึ่งในกิจกรรมที่มีให้เลือกทำตามความสนใจ เช่น คอร์สออกแบบและทำงานหัตถกรรม อย่าง ทำผ้าบาติก ถักโครเชต์ พับกระดาษโอริกามิ ประดิษฐ์ดอกไม้จากดินน้ำมัน หรือคอร์สศิลปะบำบัด การใช้ดินสอสี สีน้ำ สีอะคริลิค การทำเทียนหอม การทำยาหม่องและน้ำมันไพล การทำสวนถาด การปลูกต้นไม้ในขวด ฯลฯ

“ถ้าพ้นโทษอาจจะขอทุนจากแม่ เปิดสอนโยคะสำหรับเด็กๆ ยืดเส้นยืดสายเพื่อให้เด็กๆ มีสุขภาพกายใจแข็งแรง ทุกวันนี้หนูฝึกโยคะในเรือนจำทุกวัน และเชื่อมั่นว่าเมื่อพ้นโทษความรู้ความชำนาญด้านโยคะจะมีมากขึ้น และสามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อตัวเองและทำประโยชน์ต่อสังคมได้”

ตั้งใจหรือไม่ ‘คุกสถานเดียว’ 14.6% เพราะยาเสพติด

ผศ.ดร.ธีรวัลย์อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีเช่นนี้ว่า อยากเตือนวัยรุ่นที่ต้องการหางานทำเพื่อหารายได้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ให้ระวังและควรเลือกงานที่มีที่มาที่ไป ทำงานกับหน่วยงานที่สังคมยอมรับ อย่าด่วนตัดสินใจทำงานตามเพื่อนชวนโดยที่เราไม่รู้ที่มาที่ไปของงาน อย่างเช่นงานส่งพัสดุให้ลูกค้าปลายทาง เราแค่ขนพัสดุไปส่งแต่เราไม่เห็นของที่อยู่ในกล่อง งานลักษณะนี้ไม่ควรตัดสินใจทำ เพราะมีผู้ต้องขังที่อยู่ในวัยเรียนตัดสินใจทำงานส่งพัสดุ แต่สุดท้ายกลายเป็นผู้ต้องขังถูกดำเนินคดี

“สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่เราต้องใช้ข้อมูลพิจารณาให้มาก การเลือกงานพิเศษทำระหว่างเรียนก็เช่นเดียวกัน ต้องมีข้อมูล สังเกต ทบทวน และควรปรึกษาพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์ก่อนตัดสินใจรับงานพิเศษมาทำ ถ้าไม่ระมัดระวังอาจตกเป็นผู้ต้องหาในคดียาเสพติดได้ ซึ่งจะทำให้อนาคตจบลงตรงนั้นทันที ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจถ้าเกี่ยวกับยาเสพติด

หากพิจารณาจำนวนผู้ต้องขังหญิงต่อประชากร 100,000 คน พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงต่อประชากร 100,000 คน สูงที่สุดในโลกคือ 68.2 คน และมีอัตราส่วนของผู้ต้องขังหญิงสูงถึงร้อยละ 14.6 ของผู้ต้องขังทั้งหมด เพราะว่าทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะเจตนาหรือไม่เจตนา กฎหมายไทยใช้วิธีจำคุกและประกาศต่อสู้กับยาเสพติดแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น”

วิถีเรือนจำสุขภาวะ เป็นความพยายามในอันที่จะพัฒนาเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำมีสุขภาวะที่ดีในการดำรงชีวิต ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เตรียมให้ผู้ต้องขังสามารถคืนกลับสู่สังคมในฐานะ “พลเมืองที่มีคุณภาพ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image